แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
ครั้งที่ ๙๐๕
สาระสำคัญ
วิ.สมาธิ.พรหมวิหารนิเทส.เมตตาพรหมวิหาร - ชั้นต้น ควรเจริญเมตตาในตน สัง.นิทาน.ปัพพตสูตร - กัปหนึ่งนานเพียงไร อัง.จตุกก.เมตตาสูตร - สมถภาวนา ไม่สามารถดับสังสารวัฏฏ์ได้
ผู้ฟัง ผมก็มีเรื่องที่จะเล่า ที่ว่าไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าอย่าฆ่าสัตว์ ต้องให้มีเมตตาด้วย คือ แถวบ้านผมมีเด็กๆ มาก ลูกผมก็ยังเล็ก ตัวเท่าๆ กัน จับแมลงวันมาขังในถุงพลาสติก ผมก็เห็นแมลงวันชักดิ้นชักงอตาย ตีเขาไม่ให้เขาจับ เขาก็ไม่ยอม เผลอเขาก็จับ ผมก็สอนเขาว่า แมลงวันอยู่ในถุงพลาสติกหายใจไม่ออกก็ตาย เปรียบเหมือนตัวเขา ถ้าอยู่ในถุงพลาสติกก็หายใจไม่ออกเหมือนกัน และถ้าพ่อแม่ตามหาลูก หรือลูกจะหาพ่อแม่ ก็หาไม่เจอ จะทำอย่างไร น่ากลัวไหมเวลาเกิดเรื่องอย่างนี้ เขาคิดได้ ก็รีบปล่อยทันที
สุ. นี่เป็นการอบรมเจริญกุศล ที่จะฝึกหัดอบรมตั้งแต่เด็ก ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตาที่สอนให้คนอื่นมีเมตตา ต้องอบรมตั้งแต่เด็ก เท่าที่สามารถจะกระทำได้ นั่นเป็นสิ่งที่ถูก
ถ. อาจารย์เคยสอนให้แผ่เมตตาให้ตัวเราเองก่อน ใช่ไหม
สุ. ขอกล่าวถึงข้อความใน วิสุทธิมรรค พรหมวิหารนิเทส เมตตาพรหมวิหาร ซึ่งมีหัวข้อว่า
ชั้นต้น ควรเจริญเมตตาในตน
ต้องละเอียด คือ ต้องพิจารณาความหมายของพยัญชนะที่ว่า
ก็ก่อนทีเดียว พระโยคีควรเจริญเมตตาในตนนั่นแหละบ่อยๆ อย่างนี้ว่า ขอเราจงมีความสุข ปราศจากทุกข์ หรือว่าขอเราจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเบียดเบียน ไม่มีเครื่องเดือดร้อน เป็นผู้มีความสุข บริหารตนเถิด
หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในวิภังค์ว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุมีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ คือ แผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ฉันเดียวกับบุคคลเห็นบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ แล้วพึงชื่นชม ฉะนั้น
คือ มีข้อความค้านว่า สำหรับผู้ที่บอกว่าควรจะเจริญเมตตาในตนก่อน จะไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุมีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ และคำที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า เมตตาเจโตวิมุตติซึ่งแผ่ไปไม่เจาะจงโดยอาการทั้ง ๕ เป็นไฉน คือ แผ่ไปว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเดือดร้อน ไม่มีเครื่องคับแค้น เป็นผู้มีสุข บริหารตนเถิด ขอสรรพปาณสัตว์ ... ขอสรรพภูต ... ขอสรรพบุคคล ... ขอสรรพสัตว์ผู้มีอัตภาพจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเดือดร้อน ไม่มีเครื่องคับแค้น เป็นผู้มีสุข บริหารตนเถิด ฉะนี้ เป็นต้น
และคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในกรณียเมตตสูตรว่า
ขอสรรพสัตว์จงมีสุข จงมีความสุข มีความเกษม ขอจงมีอาตมันถึงความสุข ฉะนี้ เป็นต้น
คำทั้ง ๓ นั้นก็ผิด เพราะว่าในคำทั้ง ๓ นั้น ท่านมิได้กล่าวภาวนา คือ หมายเจริญเมตตาในตน
เพราะพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นข้อความที่เจริญเมตตาในบุคคลอื่นทั้งหมด เช่น ตลอดทิศหนึ่ง หรือว่าในสัตว์ทั้งหลาย
ข้อความต่อไปเป็นคำเฉลย
คำแก้มีว่า
ขอเฉลยว่า ก็คำทั้ง ๓ นั้นไม่ผิด
พระไตรปิฎกย่อมผิดไม่ได้
เพราะเหตุไร เพราะคำทั้ง ๓ นั้น ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถอัปปนา (คือ สมาธิขั้นที่เป็นฌาน) ส่วนคำนี้ท่านกล่าวด้วยสามารถเป็นพยาน
จริงอยู่ แม้หากพระโยคีจะเจริญเมตตาในตนโดยนัยเป็นต้นว่า ขอเราจงมีสุข ดังนี้ ตั้งร้อยปี หรือพันปี อัปปนาย่อมไม่เกิดแก่พระโยคีนั้นแน่ แต่ถ้าเมื่อพระโยคีเจริญว่า ขอเราเป็นผู้ถึงสุข ดังนี้ ตราบที่พระโยคีทำตนเป็นพยานว่า เราใคร่สุข เกลียดทุกข์ และต้องการอยู่เป็นสุข ไม่อยากตาย ฉันใด แม้สัตว์เหล่าอื่นก็เช่นกัน ดังนี้แล้ว เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในพวกสัตว์เหล่าอื่นย่อมเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ที่จะสำเร็จได้ ไม่ใช่ในขณะที่นึกถึงตัว แต่การที่จะนึกถึงตนเอง เป็นแต่เพียงพยาน ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อตนเองรักสุข เกลียดทุกข์ ฉันใด บุคคลอื่นก็ ฉันนั้น
อย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวถึงว่า เวลาที่ลูกจับแมลงวันใส่ไว้ในถุงพลาสติก วิธีสอนคือบอกว่า แมลงวันหายใจไม่ออก เพราะฉะนั้น ก็เป็นทุกข์ เหมือนกับถ้าเขาถูกจับอยู่ในถุงพลาสติก เขาก็หายใจไม่ออกเหมือนกัน ฉันใด ก็ควรจะมีเมตตาต่อบุคคลอื่น ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เพียงคิดถึงตน ยังไม่ใช่การเจริญเมตตา แต่เมตตาจะสำเร็จก็ต่อเมื่อคิดถึงบุคคลอื่น หรือสัตว์อื่น ขอให้รู้สภาพของจิตที่เป็นเมตตา และเปรียบเทียบดู ถ้าท่อง ขณะนั้นเป็นเมตตาจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นแต่เพียงท่อง เพราะเท่าที่สังเกต หลายท่านท่องเก่ง แต่ท่องเสร็จ จบ ไม่เมตตาเลยทันทีที่ท่องจบ
ผู้ฟัง เรื่องเมตตาผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก อย่างผมอยู่บ้านที่มีหลายหลังติดกัน หนูก็มาก เห็นหนูออกมาหากินตามเข่งขยะ ตามบ้าน ตามครัว เพื่อนบ้านเขาก็ฆ่า ตี เอาน้ำร้อนลวก ผมก็บอกว่า ปล่อยไปเถอะ อย่าไปฆ่าเลย หนูเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่รู้จักผิดชอบหรอก ชีวิตของหนูลำบาก ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกว่าจะได้กินแต่ละมื้อ ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อนบ้านเขาบอกว่า ไม่ได้หรอก พวกหนูนำเชื้อโรคมา ต้องฆ่าให้หมด ก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรดี
สุ. แสดงให้เห็นว่า การอบรมจิตแม้ในขั้นของสมถภาวนา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ย่อมยิ่งยากกว่า ใช่ไหม เพราะเพียงแต่ที่จะให้เมตตาจิตเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะพิจารณาเห็นได้ชัดๆ ว่า ย่อมดีกว่าอกุศล แต่เมตตาก็ยังไม่เกิด และยังไม่ใช่การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะขัดเกลา และกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะอบรมเจริญ เพียงแค่นี้ และไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้ที่จะต้องอบรมจนกว่าจะเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในการที่จะมีเมตตาจิตจริงๆ ได้มากขึ้น แต่ต้องอบรมนาน เพราะต้องใช้เวลาเป็นภพๆ เป็นชาติๆ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสได้อย่างแท้จริง ไม่ควรที่จะขาดการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะเกื้อกูลให้ สติเกิดระลึกได้ในสภาพของอกุศลว่าเป็นอกุศล จึงจะเป็นปัจจัยให้กุศลอื่นๆ รวมทั้งเมตตาเจริญขึ้นได้
มีท่านผู้ฟังที่ถามเสมอถึงระยะเวลายาวนานของกัปว่า จะมีระยะเวลานานเท่าไร เพราะการอบรมเจริญภาวนาในเรื่องของเมตตาก็ดี หรือว่าสติปัฏฐานก็ดี ไม่ใช่เป็นเรื่องของชาตินี้ชาติเดียว หรือว่าเพียง ๑๐ ชาติ ๒๐ ชาติ แต่ต้องเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนชาติทีเดียว
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปัพพตสูตร มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอแล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ
ภิกษุรูปนั้นทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อาจอุปมาได้ ภิกษุ
แล้วจึงตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุ เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมา (เป็นผ้าไหมที่เนื้อละเอียดบางมาก) แล้วปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไปเพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล
บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบ สูตรที่ ๕
เพราะฉะนั้น การอบรมจิตซึ่งเป็นเรื่องของการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ดี ภาวนา คือ การอบรม และรู้ตามความเป็นจริงได้ในชีวิตประจำวันว่า ธรรมที่เป็นกุศลค่อยๆ เพิ่มขึ้นบ้างไหม ในวันนี้ ในเดือนนี้ ในปีนี้ ในชาตินี้ เทียบกับในกัปหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงกัปเดียว ซึ่งทุกท่านก็ท่องเที่ยวมาแล้วใน สังสารเกินกว่าแสนกัป และไม่ทราบว่าจะท่องเที่ยวไปอีกนานเท่าไร แต่ถ้าอบรมเจริญธรรมที่เป็นกุศลได้มาก ก็จะทำให้สังสารนี้สั้นลง
ถ้ายังรู้สึกว่างเป็นการยากอยู่ ก็จะต้องมีความเพียร คือ ค่อยๆ อบรมไป ไม่ใช่ว่าจะเร่งรัด เพราะมีคำที่แสดงไว้ว่า ถึงแม้ว่าเป็นต้นไม้ที่ปลูกและจะให้ผลภายใน ๓ ปี ผู้นั้นก็ไปคิดคำนวณว่าใน ๓ ปีนี้จะต้องรดน้ำจำนวนเท่าไร และก็รดในวันนั้น ให้ได้จำนวนเท่านั้น แต่ต้นไม้นั้นก็ไม่สามารถที่จะออกดอกออกผลได้ แม้ว่าจะใช้น้ำจำนวนเท่ากับที่จะรดในเวลา ๓ ปี แต่รดเพียงชั่วเวลาเดียว หรือว่าวันเดียว หรือว่าเดือนเดียว ก็ไม่สามารถที่จะได้ผล ฉันใด การอบรมเจริญปัญญา ท่านที่เข้าใจว่า ต้องใช้ความเพียรมาก ความเพียรนั้นย่อมเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ใช่ความเพียรที่จะระลึกศึกษารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับตามปกติ ตามความเป็นจริง
การที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น เติบโตขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยกาลเวลาเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ ไม่ใช่ไปพากเพียรใช้ชั่วเวลาของชาตินี้ และคิดว่า ท่านสามารถที่จะเป็นพระโสดาบัน หรือว่าพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ในเวลาไม่นานเลย ท่านผู้นั้นก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่ถ้าได้ทราบถึงอดีตชาติของแต่ละท่านที่สะสมมา ไม่น้อยเลย เป็นกัปๆ และไม่ใช่เพียง ๑,๐๐๐ กัปเท่านั้น แต่ว่ามากกว่านั้น
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดมุ่งหวังที่จะเจริญสมถภาวนาให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ โดยไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะดับสังสารวัฏฏ์ได้
ข้อความมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวก เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจเมตตาฌาน และถึงความปลื้มใจด้วยเมตตาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในเมตตาฌานนั้น น้อมใจไปในเมตตาฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยเมตตาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติอุบัติมีอยู่ ฯ
ชาตินี้คงจะยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ แต่สามารถอบรมเจริญ สติปัฏฐานที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติหนึ่งชาติใดข้างหน้าได้
ถ้าท่านผู้ใดเพียงแต่ต้องการที่จะถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะไปเกิดในพรหมโลกถึง ๑ กัป ก็ยังต้องเกิดในอบายภูมิ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น อย่าลืม การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญในชีวิต และการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเองจะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้น เนื่องจากสติสัมปชัญญะสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตตรงตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า จิตประกอบด้วยเมตตาหรือว่า ไม่ประกอบด้วยเมตตา เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นเพราะมีปัญญารู้ในลักษณะของเมตตาและรู้ในเหตุที่จะให้เกิดเมตตา เมตตาก็ย่อมเจริญ พร้อมกับเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจกรุณาฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยกรุณาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในกรุณาฌานนั้น น้อมใจไปในกรุณาฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยกรุณาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าอาภัสสระ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๒ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าอาภัสสระ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง ฯ
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของผู้ที่มีใจประกอบด้วย มุทิตา โดยนัยเดียวกัน เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๔ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ ฯลฯ
ส่วนความต่างกันของผู้ที่เป็นปุถุชนและผู้ที่เป็นพระอริยะ คือ ผู้ที่เป็นปุถุชนย่อมเกิดในนรกบ้าง เดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนผู้ที่เป็นอริยสาวก ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่ปุถุชน และผู้ที่เป็น พระอริยสาวก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาเหมือนกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๙๐๑ – ๙๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960