แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
ครั้งที่ ๙๕๑
สาระสำคัญ
จุดประสงค์ของการฟังและการศึกษาธรรม สัง.สคาถ.จิตตสูตร - โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต อถ.ธัมมสังคณี.อธิบายจิต ปัณฑระ ความหมายว่า บริสุทธิ์ ตรัสหมายเอาภวังคจิต
สุ. ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้นที่เกิดพร้อมกัน ทันทีที่จิตเกิดขึ้น จิตนั้นจะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดพร้อมกับจิต รูปที่เกิดพร้อมกับจิตมีจิตเป็นสมุฏฐาน คือ เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยให้รูปเกิดพร้อมกับจิตทันทีที่จิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะซึ่งเรียกว่า จิตตชรูป
จิตไม่ได้สั่งให้รูปเกิด เพราะรูปเกิดพร้อมกับจิตทันทีที่จิตเกิดขึ้นใน อุปาทขณะนั่นเอง แต่ต้องเว้นปฏิสนธิจิต เพราะในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิตที่เรียกว่า จิตตชรูป แต่มีรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่เรียกว่า ปฏิสนธิกัมมชรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ซึ่งหลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ตั้งแต่ ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ดวงแรก จิตเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นพร้อมกัน เว้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ คือ จิตเห็น ๒ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ๒ ดวง และจุติจิตของพระอรหันต์ นอกจากจิตเหล่านั้นแล้ว ทุกขณะที่จิตเกิด มีรูปที่เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต
นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องศึกษาต่อไป ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจลักษณะความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา เพื่อให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงทราบแล้วว่า จุดประสงค์ของการฟังและการศึกษาธรรมนั้นเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ละเอียดขึ้น ที่ต้องกล่าวถึงจุดประสงค์บ่อยๆ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะต้องฟังธรรมและพิจารณาจนกว่าจะมีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เมื่อสติปัฏฐานยังไม่สามารถที่จะมีปัจจัยให้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะยังเป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่ ยังไม่ใช่ผู้ที่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งเป็นพละ มีกำลังที่สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็จะต้องทราบว่า แม้ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด แต่ความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และความเป็นผู้มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการอย่างอื่นนั้น จะทำให้สติเกิดเป็นไปในกุศลประการต่างๆ
แต่ถ้าฟังโดยไม่พิจารณาให้แยบคาย อาจจะมีความต้องการกุศล เพราะว่า ทุกคนไม่ชอบอกุศล ความเป็นตัวตนมีอยู่ ทำให้รังเกียจในอกุศลด้วยความเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่ด้วยความรู้ว่า แม้อกุศลใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น หรือแม้กุศลที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบแต่ละขณะ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นกุศล กุศลนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลมีการสะสมมาวิจิตรต่างๆ กัน บางคนก็มีอกุศลมาก บางคนก็มีกุศลมาก แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐานรู้ว่า แม้สติปัฏฐานจะไม่เกิด แต่ก็มีสังขารขันธ์ซึ่งเป็นความเข้าใจจากการฟังอุปการะเกื้อกูลให้กุศลขั้นอื่นๆ เกิด และแม้กุศลขั้นอื่นๆ นั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
และเมื่อเป็นอย่างนี้ กุศลนั้นๆ จะเป็นบารมีที่จะอุปการะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นขั้นๆ เพราะบารมีเต็มเปี่ยม ด้วยการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานนั้นเองที่จะเกื้อกูลให้กุศลขั้นต่างๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนที่ต้องการบารมี หรือต้องการที่จะเจริญกุศล
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน แม้ในขั้นของการฟัง แม้ในขั้นของการเกิดกุศลขั้นต่างๆ เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นและน้อมศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ที่สติปัฏฐานยังไม่มีกำลัง จะเห็นได้ว่า ความเป็นตัวตนยังมีกำลังมาก ไม่ว่าจะในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่รังเกียจอกุศล ในขณะที่ต้องการกุศล ก็เป็นไปตามกำลัง คือ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นกุศลของเรา เป็นอกุศลของเรา เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะดับความเป็นตัวตน ความเป็นเรา ความเป็นของเราได้ ก็โดยการพิจารณาจนมีความเข้าใจที่มั่นคง และเจริญสติปัฏฐาน และแม้ สติปัฏฐานไม่เกิดก็รู้ว่า มีปัจจัยของกุศลขั้นอื่นๆ ที่จะเกิด โดยไม่เป็นผู้ที่ติดในกุศล มิฉะนั้นแล้ว โลภะจะทำให้มีความต้องการ มีความพอใจ มีความอยากได้ในกุศล ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น กุศลนั้นไม่เป็นบารมี เพราะยังเป็นช่องรั่วที่ทำให้กุศลเหล่านั้นไม่ถึงความสมบูรณ์เต็มที่ที่จะทำให้สติปัฏฐานสามารถที่จะประจักษ์ได้ว่า กุศลนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ทีท่านผู้ฟังเจริญสติปัฏฐานแล้ว และก็ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ นี้ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพราะสังขารขันธ์ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นศรัทธา ที่เป็นปัญญา ที่เป็นวิริยะ ที่เป็นโสภณเจตสิกอื่นๆ ปรุงแต่ง ทำให้เกิดกุศลขั้นการฟังต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นตามขั้นของความเข้าใจ เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งจะมีการศึกษาจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมสติ เป็นไตรสิกขา
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังปรมัตถธรรมเรื่องจิต เพื่อที่จะให้เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะของจิต ที่กำลังมีในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ซึ่งเป็นเรื่องจิตที่ได้ทรงแสดงไว้มากในพระไตรปิฎก แต่จุดประสงค์จริงๆ นั้น เพื่อให้สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า
… โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต
เวลานี้โลกของท่านผู้ฟัง คือ ที่นี่ กำลังอยู่ที่นี่ กำลังเห็น โลกเห็นมี เห็น สิ่งต่างๆ โลกได้ยินก็มี ทั้งหมดนี้เป็นโลกที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ลองพิจารณาตามความเป็นจริงที่จะให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นในลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นโลก ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ หรือได้ยินอยู่ในขณะนี้ จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็นนี่เอง ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเพียงธาตุรู้ เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง สติสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้ามีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่บังคับ ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานทราบว่า การฟังเป็นเพียงปัจจัยที่สติจะเกิดหรือไม่เกิด แล้วแต่การสะสม
ทางหูที่กำลังได้ยิน ในขณะนี้เองเสียงกำลังปรากฏ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะระลึกลักษณะของเสียง เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังปรากฏ รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง หรือเพราะการฟังจึงรู้ว่า เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปรากฏได้เพราะจิตเกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏนั่นเอง เพราะฉะนั้น ก็จะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังรู้ ซึ่งใช้คำว่า จิต แต่ก็อย่าเพิ่งคิดว่า เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วเวลาที่พูดถึงเรื่องจิต
เวลานี้จิตกำลังมี กำลังเกิดขึ้น กำลังรู้ทางหู คือ ได้ยิน กำลังรู้ทางตา คือ เห็น เป็นสิ่งที่สามารถจะประจักษ์แจ้งชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แต่เพราะยังไม่ประจักษ์นั่นเอง จึงต้องฟังเรื่องของจิตอีก ซึ่งเป็นสภาพที่มีจริง ที่กำลังเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์คงไม่ลืมว่า ไม่ใช่เพื่อจะรู้มากๆ ว่า จิตมีกี่ดวง ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง แบ่งเป็นประเภทอย่างไร แต่จุดประสงค์ แม้ว่าจะเรียนละเอียดอย่างนั้น ก็เพื่อที่จะรู้ชัดในสภาพของจิตซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้ในขณะนี้
ขอทบทวนข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายจิตตนิทเทส ซึ่งมีข้อความว่า
ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร
ที่ชื่อว่า มโน เพราะรู้อารมณ์
ที่ชื่อว่า หทัย เพราะความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน
อย่าลืม เป็นสภาวะอยู่ภายใน ในจนกระทั่งลึกซึ้ง และมองไม่เห็นเลย เพราะจิตไม่ได้อยู่ภายนอกที่จะสัมผัส กระทบ หรือแสวงหาได้ แต่ที่จะรู้ลักษณะของจิตได้ ก็ต่อเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ สีสันวัณณะข้างนอก แต่เป็นธาตุรู้ภายใน เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งต่างจาก รูปธาตุทั้งหลาย เพราะรูปธาตุทั้งหลายแสวงหาได้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นธาตุอะไร ก็ตาม อยู่ที่โน่นบ้าง อยู่ที่นี่บ้าง แต่ว่าธาตุรู้ไม่มีใครจะไปแสวงหาที่อื่นได้ ไม่สามารถที่จะเข้าห้องทดลองและสร้างธาตุรู้ขึ้น
ธาตุรู้เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นรู้ในขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ชัดในลักษณะของธาตุรู้ คือ พิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่มีการเห็นก็จะไม่รู้ว่า มีธาตุรู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ สีสันวัณณะปรากฏเพราะมีสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ไม่เกิดขึ้นเห็น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ธาตุรู้เป็นภายใน เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ
ที่ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะความหมายว่า บริสุทธิ์ คำนี้ตรัสหมายเอาภวังคจิต
เวลาที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือคิดนึกทางใจ ดูเหมือนทุกท่านจิตบริสุทธิ์ ไม่ปรากฏว่าชอบ ไม่ปรากฏว่าชัง แต่เวลาที่มีการเห็นเกิดขึ้นจึงรู้ว่า มีกิเลสมากน้อยแค่ไหนจากสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย ไม่มีการคิดนึก จิตของทุกท่านเป็นปัณฑระ บริสุทธิ์ เป็นภวังค์ ไม่ปรากฏความชอบ ความชังใดๆ เลย
ต่อเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้จิตเห็นเกิดขึ้น เมื่อนั้นจะทราบได้ว่า ไม่บริสุทธิ์ เพราะมีความชอบ ความติด ความพอใจในสิ่งที่เห็นบ้าง หรือว่ามีความชัง มีความไม่แช่มชื่น มีความไม่ชอบ มีความไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ในขณะที่ชอบ ในขณะที่ชัง เพราะเห็น เพราะได้ยิน เพราะได้กลิ่น เพราะลิ้มรส เพราะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะคิดนึก
แต่เวลาที่จิตเป็นภวังค์ คือ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ในขณะนั้นจะไม่ทราบเลยว่า มีกิเลสมาก เพราะไม่มีการปรากฏ
ที่ชื่อว่า มนายตนะ อธิบายในคำว่ามนายตนะนั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ จริงดังนั้น ธรรมมีผัสสะ เป็นต้น ย่อมเกิดในมนะนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก ย่อมประชุมที่มนะโดยเป็นอารมณ์ แม้เพราะความหมายว่า เป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้น โดยอรรถว่า เป็นสหชาตปัจจัย
นี่เป็นคำอธิบายใน อัฏฐสาลินี เพื่อที่จะให้มีการพิจารณา และเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ที่กำลังเกิดขึ้นรู้ในขณะนี้ ซึ่งถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ จะไม่ปรากฏเลย เมื่อไม่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตก็ไม่มี ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีการป่วยไข้ได้เจ็บ ไม่มีการประจวบกับสิ่งที่ไม่พอใจ หรือพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ แต่เพราะมีจิตซึ่งเป็นที่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุมของธรรมอื่น มีผัสสะ เป็นต้น สิ่งต่างๆ จึงปรากฏ
ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องมีปัจจัย มีสิ่งที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่ามีเฉพาะจิตเกิดขึ้น แต่จิตนั้นเองเป็นที่อาศัยของธรรมอื่น เช่น ผัสสะ ธรรมชาติที่กระทบ
ในขณะนี้ที่เห็น ผัสสะไม่ได้กระทบเสียง แต่ในขณะที่ได้ยินเพราะผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งกระทำกิจกระทบเสียงพร้อมกับจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง ทางตา ผัสสะกระทบสิ่งที่ปรากฏ จิตก็เห็นสิ่งที่ผัสสะกระทบ ทางหู ผัสสะกระทบเสียง จิตก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ผัสสะกระทบ
เพราะฉะนั้น จิตเป็นบ่อเกิด เป็นที่อาศัย เป็นที่ประชุมของธรรมอื่น เป็น สภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยให้ผัสสะเกิดขึ้นกระทำกิจ และก็ดับไปแต่ละขณะ แต่ในขณะที่เห็นนี้ ไม่ปรากฏว่าดับเลย ใช่ไหม สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาก็ยังคงปรากฏเสมือนไม่ดับเลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่านามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก รูปก็เกิดดับเร็วกว่าที่คิด ไม่ใช่ว่าจะดำรงคงอยู่นานๆ อย่างนี้ แต่โดยสภาพของรูป ย่อมเป็นสภาพที่หยาบกว่าจิตที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ชั่วอายุ สั้นๆ ของรูปๆ หนึ่งที่ยังไม่ดับไป จิตเกิดดับหลายขณะ
ที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังปรากฏเสมือนไม่ดับไปเลย เป็นเพราะเหตุว่านามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏนั้น เกิดดับเร็วกว่ารูปธรรมมาก จึงทำให้ดูเหมือนรูปธรรมที่ปรากฏก็ยังคงปรากฏอยู่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ว่านามธรรมนั้นเกิดดับเร็วกว่า
ข้อความต่อไปมีว่า
ที่ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรู้แจ้งอารมณ์
คือ เป็นประธาน หรือว่าเป็นใหญ่ในการรู้ ซึ่งโดยศัพท์หมายความว่า ถึงก่อนในการรู้ โดยอรรถหมายความว่า เป็นประธาน หรือว่าเป็นหัวหน้า เป็นอินทรีย์ ในการรู้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960