แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952


    ครั้งที่ ๙๕๒

    สาระสำคัญ

    อถ.ธัมมสังคิณี.อธิบายคำว่า จิต


    เวลานี้ทราบว่า ขณะที่เห็นนี้มีจิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน หรือว่าขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ถ้าที่ใดมีจิตเกิดขึ้น ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีแต่จิตโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้เลย แต่ว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นอินทรีย์ เป็นมนินทรีย์ในการรู้อารมณ์

    ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ที่เห็นนี่เป็นจิต เวลาเห็นแล้วจำได้ หมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่จำ ไม่ใช่สภาพธรรมที่หมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ จิตเพียงเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นอินทรีย์ในการรู้อารมณ์ที่ปรากฏ คือ ในการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าในการได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู

    ข้อความต่อไป

    ที่ชื่อว่า ตชฺชา มโนวิญญาณธาตุ ในบทนี้ จิตดวงเดียวเท่านั้นตรัสโดยชื่อถึง ๓ ชื่อ คือ ชื่อว่า มนะ เพราะความหมายว่า รู้

    ชื่อว่า วิญญาณ เพราะความหมายว่า รู้แจ้ง

    ชื่อว่า ธาตุ เพราะความหมายว่า เป็นสภาวธรรม หรือมิใช่สัตว์

    คำอธิบายคำว่า จิต ใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีอธิบายต่อไปว่า

    จะอธิบายคำว่า จิตตํ ต่อไป ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า จิตตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ใน คำว่า จิตตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร

    ถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาจากตำราที่มีผู้รวบรวมไว้ ก็จะทราบว่า ลักษณะของจิต ๖ อย่างที่กล่าวถึงในตำราทั้งหลายเหล่านั้น มาจากข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคิณี ที่อธิบายคำว่า จิต ซึ่งสามารถจะแยกออกได้เป็นข้อๆ คือ

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ๑

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า จิตตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ใน คำว่า จิตตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิตจึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ๑

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ๑

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ข้อนี้ส่วนมากในตำราจะแยกออกเป็น ๒ คือ เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ และเพราะวิจิตรด้วยสัมปยุตตธรรม

    ประการสุดท้าย คือ

    ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร

    และขอกล่าวถึงตามลำดับ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของจิตตามที่กล่าวไว้ใน อัฏฐสาลินี

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    ทุกท่านคิดเสมอ ถ้าลองพิจารณาสังเกตความคิดก็จะเห็นได้ว่า ช่างคิดเสียจริง และคิดไปต่างๆ นานา มีใครคิดว่า จะหยุดคิดบ้างไหม หรือคิดว่า จะไม่ต้องคิดก็ได้

    แต่ไม่มีทางยุติความคิดได้เลย จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด อยากจะ สงบๆ คือ หยุดไม่คิด เพราะเห็นว่า เวลาที่คิดแล้วเดือดร้อนใจ เป็นห่วง วิตกกังวล กระสับกระส่ายด้วยโลภะบ้าง หรือด้วยโทสะบ้าง คิดว่า ถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะดี แต่ ให้ทราบว่า จิตนั้นเองเป็นธรรมชาติที่คิด เพราะรูปคิดไม่ได้ และถ้ามีการพิจารณาลักษณะความคิดของตัวท่านเอง ก็จะทราบได้ว่า เพราะเหตุใด หรือว่าทำไมท่านจึงคิดอย่างนั้นๆ ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลยก็ยังคิดได้ ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล แต่ส่วนใหญ่แล้วขอให้พิจารณาว่า ความคิดของท่านเป็นกุศลหรืออกุศลในวันหนึ่งๆ

    ตามปกติ อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต และอกุศลจิตที่เกิด ก็คิดไปในเรื่องของอกุศลอย่างละเล็กละน้อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างอยู่เรื่อยๆ จนปรากฏว่า เป็นเรื่องเป็นราวซึ่งท่านยึดถือเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งทั้งหมดนั้นให้ทราบว่า เป็นเพราะจิตเกิดขึ้นคิดเรื่องนั้นเท่านั้นเอง ที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า เรื่องที่คิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ หรือว่าเป็นเรื่องที่จริงจัง แต่ ถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้น เรื่องนั้นจะไม่มี

    เพราะฉะนั้น ที่ท่านกำลังคิด และมีความรู้สึกยึดถือผูกพันในเรื่องราวที่คิด เห็นว่าเป็นจริงเป็นจังนั้น ให้ทราบว่า เป็นเพราะจิตเกิดขึ้นคิดตามการสะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอกุศลจิตที่คิด แต่จะเห็นไหมว่า เป็นอกุศลที่คิด เพราะในขณะนั้นพอใจในเรื่องที่คิด เพลิดเพลินไปในเรื่องที่คิดด้วยความยินดีที่เป็นโลภะ หรือว่าขณะนั้นอาจจะเป็นความคิดที่ไม่สบายใจ เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโทสะที่คิดในขณะนั้นก็ได้ แต่ว่าให้นึกถึงความคิดที่อาจจะเกิดคิดขึ้นมา และจะรู้ว่าขณะนั้นช่างคิดได้ถึงอย่างนั้น ซึ่งลักษณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่คิด

    ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    คำว่า รู้ มีความหมายหลายอย่างตามลักษณะ และประเภทของธรรมนั้นๆ เช่น เจตสิกก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่ว่าไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้ เจตสิกแต่ละประเภทเกิดขึ้นพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกที่ได้กล่าวถึงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต พร้อมกับจิต แต่เป็นธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์ จะกระทบอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ หรือถ้าไม่กระทบอารมณ์ จะรู้อารมณ์ได้ไหม

    ถ้าผัสสเจตสิกไม่กระทบอารมณ์ ก็รู้อารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์โดยกระทบอารมณ์ ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์ด้วย แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์

    สำหรับปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้ถึงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเป็นลักษณะของปัญญาที่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ว่าสำหรับจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ มีคำอธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างผัสสะที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างสัญญาที่หมายรู้ลักษณะของอารมณ์ หรือจำอารมณ์ และไม่ใช่เป็นการรู้อย่างปัญญาที่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ

    ขณะนี้อารมณ์ที่ปรากฏต่างกันไหม ที่กำลังเห็นนี้ต่างกันไหม ตามความเป็นจริง ตามปกติ ธรรมเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เห็นสิ่งเดียว อย่างเดียวเท่านั้นทางตา หรือว่าเห็นสิ่งต่างๆ ลักษณะต่างๆ ทางตา

    เห็นอย่างเดียว สีเดียวหมด หรือว่าเห็นสิ่งต่างๆ ลักษณะต่างๆ และความละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ เพชรแท้กับเพชรเทียม เหมือนหรือไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร ปรากฏทางตาต่างๆ กัน ใครรู้ จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่าน ย่อมปรากฏลักษณะนั้นในกระจกเงาต่างๆ กัน ฉันใด ขณะนี้มีจักขุปสาทเป็นรูปที่มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถรับกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงไม่สามารถที่จะปรากฏรูปร่างสัณฐานทางตา แต่โสตปสาทเป็นรูปพิเศษที่มีลักษณะที่สามารถกระทบเฉพาะเสียง เพราะฉะนั้น เวลานี้ที่เสียงปรากฏกับได้ยิน สภาพที่รู้เสียง ไม่ปรากฏ ทางตา ไม่มีเสียงปรากฏทางตาเลย แต่ว่าเสียงมีจริง และเป็นรูปที่กระทบกับ โสตปสาท ซึ่งเป็นรูปที่มีคุณลักษณะพิเศษที่กระทบเฉพาะเสียง ทางตาก็มีจักขุปสาทซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบเฉพาะสี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีใดๆ ก็ตาม จะเป็นเพชรแท้ เพชรเทียม หยก หิน หรือแม้ดวงตาซึ่งมีแววริษยา ขณะนั้นก็ปรากฏกับจิตซึ่งกำลังเห็นสิ่งต่างๆ ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา

    เคยมองตาคนอื่นไหม ตาของแต่ละคนมีความหมาย แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะมีสัญญาที่หมายรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏได้ละเอียดแค่ไหน เพราะบางครั้งแม้แต่เพียงการมอง ถ้าจิตของบุคคลนั้นประกอบด้วยความริษยา รูปร่างภายนอกอาจจะไม่ปรากฏเลย แต่ก็ยังปรากฏแววของความริษยาที่นัยน์ตาของบุคคลนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง ไม่ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างไร จิตรู้แจ้งในลักษณะที่กำลังปรากฏ คือ เพียงเห็น

    รู้แจ้งในที่นี้ หมายความถึงเห็นลักษณะต่างๆ ของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่า สิ่งใดๆ จะเกิดขึ้น รูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งหมด จักขุวิญญาณหรือจิต รู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ จึงรู้ความหมาย รู้สัณฐาน คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ ตามลักษณะอาการของสิ่งที่ปรากฏ

    ทางหู มีเสียงเดียวเท่านั้นปรากฏ หรือว่ามีเสียงต่างๆ ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเสียงต่างกันเพราะเหตุปัจจัยอย่างไร อาการที่ต่าง ลักษณะที่ต่างนั้นๆ ปรากฏกับจิตที่รู้เสียง จึงชื่อว่า รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงสัตว์ร้อง เสียงสัตว์นานาชนิดต่างๆ กัน ก็มีเสียงต่างๆ กัน หรือแม้แต่เสียงคนที่ร้องเลียนเสียงสัตว์ จิตก็ยังรู้แจ้งในเสียงที่ได้ยินนั้น เพราะความต่างกันของลักษณะของเสียงนั้นมี ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นเสียงสัตว์จริงๆ หรือว่าเป็นเสียงคนที่ร้องเลียนเสียงสัตว์ แต่เพราะอาการต่างๆ ลักษณะต่างๆ เสียงต่างๆ ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไร จิตรู้แจ้งในอารมณ์ คือ รู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏ

    เสียงที่เยาะเย้ย มีไหม สำเนียงที่ถากถาง ดูหมิ่น ดูถูก มีไหม ก็ปรากฏทั้งหมดกับจิตที่รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ที่ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏได้ อย่าลืมว่า มีสภาพรู้ มีธาตุรู้ที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ ทางจมูก จิตก็รู้แจ้งอารมณ์ต่างๆ ลักษณะของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ สัตว์ทุกชนิดมีกลิ่นต่างๆ กัน และพืชพันธุ์ต่างๆ ก็มีกลิ่นต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นดอกไม้นานาชนิด กลิ่นอาหาร กลิ่นแกง กลิ่นขนม ไม่เห็น เพียงได้กลิ่น รู้ไหมว่าแกงอะไร

    ลักษณะต่างๆ ของแกงต่างๆ ปรากฏกับจิตที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ กลิ่นกระเทียม กลิ่นหอม ทุกคนรู้ทั้งนั้น ใช่ไหม แต่ละกลิ่นก็มีลักษณะต่างๆ ซึ่งจิตรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ นั้น

    ทางลิ้น รสอาหารก็มีมากมายต่างๆ ไป ซึ่งจิตก็รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของ รสต่างๆ เช่น รสเกลือ รสน้ำตาล น้ำส้ม มะนาว มะขาม ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม ต่างๆ กัน ใครรู้ เพราะว่าจิตลิ้มรส จิตรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ แม้ว่าจะต่างอย่างละเอียด จิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะความต่างนั้นได้

    เวลาที่ปรุงอาหาร เวลาที่ลิ้มรส จิตก็ยังรู้แจ้งในรสนั้นว่า ยังขาดอะไร ยังจะต้องปรุงอะไร ใส่อะไร เติมอะไร หรือแม้แต่รสผลไม้ทุกชนิด รสชา รสกาแฟ

    นี่แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะปัจจัย เพราะผัสสะกระทบอารมณ์ใด จิตที่เกิดพร้อมผัสสะก็รู้แจ้งในลักษณะอาการที่ต่างๆ กันของอารมณ์นั้นๆ

    ทางกาย มีการกระทบสัมผัส ก็ยังรู้ถึงความต่างกันว่า เย็นลม หรือว่าเย็นน้ำ หรือว่าเย็นอากาศ หรือสิ่งที่กระทบสัมผัสนั้นเป็นผ้าไหม หรือว่าเป็นผ้าขนสัตว์

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งท่านเจริญสติปัฏฐานได้เล่าให้ฟังว่า ท่านกำลังยืนอยู่ที่ถนน ก็เกิดระลึกถึงลักษณะที่แข็งที่ปรากฏ ต่อไปก็คิดว่า แข็งนี้เป็นถนน และต่อไปก็คิดว่า แข็งนี้เป็นรองเท้า ต่อไปก็คิดว่า แข็งนี้เป็นถุงเท้า นี่เป็นความคิด

    แต่ลักษณะจริงๆ เป็นเพียงสภาพแข็ง ขณะที่แข็ง ลักษณะนั้นปรากฏ แต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิดคิดนึกขึ้น ซึ่งยับยั้งไม่ได้ แม้ความคิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่จะคิดว่า แข็งนี้อะไร แข็งนี้ถนน ต่อไปก็คิดว่า แข็งนี้คือรองเท้า และต่อไปก็คิดว่า แข็งนี้คือถุงเท้า ซึ่งทุกท่านจะทราบได้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งความคิด

    แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์แต่ละขณะและก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กำลังคิดถึงถนน ในขณะที่กำลังคิดถึงรองเท้า หรือในขณะที่คิดถึงถุงเท้า ในขณะนั้นไม่ใช่ชั่วขณะที่รู้แจ้งลักษณะที่แข็ง

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเห็นได้ว่า ต้องรู้ชัด แม้ในขณะที่กำลังคิด ว่าเป็นแต่เพียงสภาพที่คิด เพราะถ้าปัญญายังไม่มั่นคง เวลาที่มีลักษณะของ สภาพธรรมปรากฏทางกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นลักษณะที่อ่อนนุ่มหรือแข็งก็ตาม ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร นั่นขณะหนึ่ง และภายหลังเกิดจะต้องการรู้ว่า แข็งนั้นเป็นอะไร บางท่านก็อาจจะต้องลืมตา หรือเปิดไฟขึ้นดูว่า กำลังกระทบสัมผัสอะไร แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ชั่วขณะที่แข็ง ยังไม่ทันนึกคิดอะไรเลย จะไม่มีโลกของถุงเท้า ไม่มีโลกของรองเท้า ไม่มีโลกของถนน ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติเลย มีแต่สภาพธรรมที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แม้สภาพที่รู้แข็งก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้แข็ง ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่รู้เสียง

    แต่ภายหลังจะเห็นได้ว่า เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเกิดคิดนึกถึงเรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏจนลืมว่า แท้ที่จริงแล้ว ในขณะที่เพียงแข็งปรากฏกับสภาพที่รู้แข็ง ในขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยและก็ดับไป เพราะมีการคิดถึงถนน ซึ่งไม่ใช่ในขณะที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะของแข็ง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า รู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งเป็นอรรถของจิตที่เป็นสภาพรู้ ก็ต้องรู้ชัดในความหมายว่า รู้แจ้งอารมณ์ หมายความถึงรู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564