แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955


    ครั้งที่ ๙๕๕

    สาระสำคัญ

    คิดนึกด้วยความยินดีพอใจ จิตจำแนกเป็น ๔ ชาติ กุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ


    . คำว่า ปัจจัย แทนสภาพธรรม ใช่ไหม

    สุ. ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

    สำหรับปรมัตถธรรม ๔ ที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งมี ๓ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ และรูปปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงปัจจัย ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ คือ สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยโดยอดีตคือดับไปแล้ว จึงได้เป็นปัจจัยให้สภาพของจิตเจตสิกข้างหน้าเกิดขึ้น หรือว่าเป็นปัจจัยโดยปัจจุบัน คือ เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกันทันที

    นิพพาน ไม่มีการเกิดขึ้น แต่นิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิต โลกุตตรจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น ที่โลกุตตรจิตเป็น โลกุตตรจิตเพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ โลกุตตรจิตจะปราศจากการรู้แจ้งนิพพานไม่ได้ นิพพานเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงดับความยินดีหรือความต้องการ

    สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นขอให้สังเกตพิจารณาดูว่า เป็นที่ตั้งของ ความยินดี ความต้องการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏ ทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย หรือเรื่องราวที่คิดนึก ก็คิดนึกด้วยความยินดีพอใจ

    เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติธรรม เวลาที่มีการคิดนึก การคิดนึกถึงคำเป็นโวหารต่างๆ นั้น ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่คิด เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ก็เป็นอารัมมณปัจจัยของจิตที่คิด

    . พอจะเข้าใจหมายความว่า เมื่อมีจิตเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไป อย่างท่านจูฬปัณทกควักผ้าเช็ดหน้า ตอนนั้นท่านเกิดอกุศล ท่านพิจารณาว่าร่างกายเรานี้ไม่สะอาด เมื่อเช็ดหน้าก็เปรอะเปื้อน จิตนั้นดับไป ทอดเวลายาวนานแล้วมาเกิดทีหลัง อย่างนี้เป็นปัจจัยสะสมอยู่หรือเปล่า

    สุ. สิ่งที่สะสมจะมาเกิดพร้อมกันทันทีได้อย่างไร เพราะมีทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง กุศลบ้าง มัจฉริยะบ้าง อิสสาบ้าง

    . มีกำลังเมื่อไรก็โผล่มา

    ส. แล้วแต่ปัจจัยอีกเหมือนกัน ให้ทราบว่า ที่จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ไม่ละการยึดถือว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เช่น ในขณะที่คิดนึกนี้ บางคนไม่อยากจะคิดนึกเลย อยากให้สติระลึกรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น ดูเหมือนว่าจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะหยุดคิด หรือไม่ให้คิด ไม่ชอบที่จะให้เกิดคิดขึ้นเพราะคิดว่า เวลาที่คิดแล้วก็ไม่สงบ เป็นห่วงกังวล วิตกต่างๆ นานา แต่นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะการอบรมเจริญปัญญา ไม่สำคัญว่าจิตจะคิดหรือไม่คิด และแม้แต่ความคิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่ยับยั้งหรือว่าหยุดคิดไม่ได้ แต่ปัญญาจะต้องรู้แม้แต่ขณะที่คิดว่า เป็นสภาพที่กำลัง รู้คำ นึกถึงคำ เพราะมีสัญญา ความจำในเสียงที่ทำให้นึกถึงคำต่างๆ เกิดขึ้น ถ้าไม่เคยได้ยินเสียงนั้น คำนั้นเลย จะคิดนึกอย่างนั้นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังคิดก็รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้ารู้จริงจะห่วงกังวลไหมที่จะไม่ให้คิด แต่เพราะยังเป็นตัวตนอยู่ ก็ไม่อยากที่จะให้เกิดคิดขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ว่า แม้ความคิดก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และใครที่คิด

    นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปกติธรรมดา โลภมูลจิตนั่นเองคิด ให้ทราบด้วยว่า วันหนึ่งๆ โลภมูลจิตเกิดมากน้อยสักแค่ไหน ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในกุศลที่เป็นไปในทาน หรือศีล หรือความสงบ หรือสติปัฏฐาน ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้าขณะที่คิด ไม่สบายใจ หงุดหงิด กังวล เดือดร้อน ไม่แช่มชื่น ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนที่คิด แต่โทสมูลจิตคิด

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงต้องรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมที่กำลังคิด รู้ในลักษณะที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลและเห็นว่า สภาพนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาในจิตแต่ละขณะจนกระทั่งถึงพร้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นอกุศลที่คิดอย่างนั้น และความคิดก็แสนที่จะวิจิตร ลองนึกดูว่า ท่านเคยคิดอะไรบ้าง ไร้สาระมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวนี้อาจจะรู้ว่าไร้สาระ แต่ในขณะที่ไม่รู้ ช่างเป็นสาระที่สำคัญ แต่ให้ทราบว่า นั่นคือความวิจิตรของจิตที่จะเกิดขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครบังคับบัญชา แต่นามขันธ์ปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นความคิดแต่ละขณะ ซึ่งนี่เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ถ้าไม่รู้ จะละการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้อย่างไร ไม่มีหนทางเลยที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน โดยไม่รู้อะไรในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก

    เพราะฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า จิตมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ จิตที่รู้แจ้งอารมณ์เมื่อเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะก็สั่งสมสันดานของตนเอง ไม่ว่าจะปรากฏเกิดขึ้นเป็นโลภมูลจิต ก็มีการสะสมที่โลภะนั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นไปในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย

    เวลาที่โทสะเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่สะสมอยู่ในจิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ต้องรู้ตามความเป็นจริง

    สำหรับลักษณะของจิตประการที่ ๒ ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินีมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า จิตฺตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง

    สภาพรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะขณะนอนหลับ ขณะที่ตื่น ขณะที่เห็น ขณะที่คิดต่างๆ

    ฉะนั้น ในคำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ว่าเป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ส่วนมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่า กุศลจิตและอกุศลจิตอยู่เสมอ แต่ยังไม่คุ้นกับมหากิริยาจิต แต่ขอให้ทราบว่า จิตทั้งหมด ไม่ว่าจะมีประเภทต่างๆ ประการใดก็ตาม โดยการเกิด คือ โดยชาติ หรือ ชา – ติ มี ๔ ประเภท คือ เป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็น วิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑

    ส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังจะคุ้นเคยกับคำว่า กุศลจิตและอกุศลจิต แต่ยังไม่คุ้นกับ คำว่า วิบากจิตกับกิริยาจิต

    กุศลจิตเป็นสภาพของจิตที่ดี เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ กุศลวิบากในอนาคต เพราะฉะนั้น เมื่อมีกุศลซึ่งเป็นเหตุมี ก็จะต้องมีผลของกุศลนั้น คือ จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นเพราะกุศลเป็นปัจจัย จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกุศลนั้น เป็นวิบากจิต และวิบากเจตสิกนี้ข้อความในอรรถกถามีว่า

    แม้ว่าเจตสิกก็เป็นวิบาก แต่เพราะเหตุว่า จิตเป็นประธาน เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า วิบากจิต

    หรือแม้จิตตชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะจิตในขณะนั้น รูปก็ไม่ได้เกิดเพราะจิตเท่านั้น แต่ว่าเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน แต่ทรงใช้คำว่า จิตตชรูป ซึ่งหมายความรวมถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยว่า รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกเป็นสมุฏฐาน ฉันใด เวลาที่เป็นวิบากจิตก็เหมือนกัน ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากจิตก็เป็นวิบากเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกุศล ถ้าเป็นกุศลวิบาก

    สำหรับอกุศลจิตก็เป็นเหตุ เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เป็นสภาพธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุคืออกุศลมี ก็เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากและเจตสิกที่เป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้นร่วมกันเป็นผลของอกุศล กุศลและอกุศลจึงเป็นเหตุ วิบากจิตและวิบากเจตสิกเป็นผล

    นอกจากกุศล อกุศล และวิบากแล้ว มีจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบากด้วย เพราะไม่ใช่จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกุศลและอกุศล

    เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมด โดยชาติ คือ โดยการเกิดแล้ว จำแนกเป็น ๔ ชาติ หรือเป็น ๔ ประเภท คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑

    เป็นชื่ออีกเหมือนกัน ใช่ไหม ถ้าไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิริยา

    ขณะปฏิสนธิ ที่ทุกท่านมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกในภพนี้ในชาตินี้ ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลจิตไม่ได้ เป็นอกุศลจิตไม่ได้ เพราะขณะนั้นไม่ได้กระทำกรรมใดๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็น วิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย กรรมที่ได้กระทำแล้วจะเป็นกรรมหนึ่งกรรมใดก็แล้วแต่ ถ้าเป็นการเกิดในภูมิมนุษย์ซึ่งเป็นสุคติภูมิ ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์ในอบายภูมิ เช่น เกิดในนรก หรือว่าเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็เป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิก็เป็นอกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยา

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับลงไปแล้ว กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป กรรมนั้นยังเป็นปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเป็นวิบากสืบต่อจากปฏิสนธิจิต กระทำภวังคกิจ ไม่ได้กระทำปฏิสนธิกิจ

    ปฏิสนธิจิต หมายความถึงจิตที่กระทำกิจสืบต่อจากภพก่อน ทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดต่อจากจุติจิตและดับไป ซึ่งกรรมนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น แม้ว่าไม่ได้กระทำกิจปฏิสนธิคือสืบต่อจากชาติก่อน แต่ก็กระทำภวังคกิจ รักษาดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นสืบต่อไปจนกว่าจะถึงจุติ ซึ่งจะทำให้สิ้นสุดจากการเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้

    . ไม่ใช่ตัวรักษาภวังค์

    สุ. ปฏิสนธิจิตขณะเดียว ไม่ใช่หลายขณะ เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว หมดเลย หรือว่าขณะนี้ก็ยังมีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่

    กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตและเจตสิกเกิด แต่เมื่อปฏิสนธิจิตและเจตสิกดับไปแล้ว กรรมนั้นกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลตามที่ปฏิสนธิจิตเป็น เป็นเปรตก็เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดหนึ่งชนิดใดก็เป็นชนิดนั้น เป็นคนไหน ก็เป็นคนนั้น

    . หมายความว่า ส่งผลให้เป็นคนนั้น และเป็นคนนั้นตลอดชาติไป

    สุ. จะเปลี่ยนจากบุคคลนี้ให้เป็นคนอื่นได้ไหม

    ถ. ไม่ได้

    สุ. ทำไม

    . เพราะกรรมยังมีอยู่

    สุ. แน่นอน ไม่ใช่เพราะเราหวัง สมมติว่า เราทำบุญวันนี้ก็เป็นเทวดาวันนี้ ใช่ไหม ไม่ได้ ยังไม่ได้ให้ผล

    . ที่ผมอ่านเจอในพระไตรปิฎก บางคนเร็วเหลือเกิน ชั่วเดี๋ยวเดียว ทำกาลกิริยาในขณะนั้น ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้น ชั้นนี้ ไม่รู้จักทุคติเลย เป็นกัปๆ เนิ่นนานเหลือเกิน

    สุ. ต้องจุติก่อน ถ้ายังไม่จุติจิต จะไปเป็นเทวดาเดี๋ยวนี้ไม่ได้

    . หมายความว่า กรรมนี้ส่งผลจนกว่าจะหมดภพชาติในภูมินั้นๆ

    สุ. ก็แล้วแต่ ยังให้ผลไม่หมดก็ได้ ก็เกิดอีกเพราะกรรมนั้น ถ้าเป็นกรรมแรง กรรมที่มีกำลัง ยังให้ผลไม่หมด ก็ยังสามารถที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไปได้อีก

    ถ. การกระทำของเรานี้กับสมัยพุทธกาล รู้สึกว่า ผู้ที่ถวายทานกับ พระอริยบุคคลส่งผลไกลเหลือเกิน ไกลมาก แต่การกระทำของเราในปัจจุบันนี้ไม่รู้จะส่งผลเหมือนการกระทำต่อพระอริยบุคคลหรือเปล่า

    สุ. ไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้ ส่วนท่านใดรู้ ก็เป็นเรื่องของท่านที่รู้ คนที่ไม่รู้ก็อยากจะรู้โดยที่ไม่สามารถจะรู้ได้

    . คนที่เขาถวายดอกไม้เล็กน้อย หรือกระทำอัญชลีกรรมเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลนานเหลือเกิน

    สุ. แสดงให้เห็นว่า กุศลไม่ใช่มีเฉพาะทานอย่างเดียว โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงกุศลว่า ได้แก่ ทาน คือ การให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ คิดว่านั่นเป็นบุญแล้ว เป็นกุศลแล้ว แต่ลืมกุศลอื่น ถ้าไม่มีเงินทอง หรือว่าบังเอิญขาดเงิน กุศลอื่นยังมีอีกมากที่จะกระทำได้ แต่ส่วนใหญ่ทุกคนลืมกุศลประการอื่น เพราะไม่ได้เข้าใจในอรรถของกุศล

    กุศล หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นโลภะ ความหวัง ความต้องการ ความพอใจ ความยึดมั่น ไม่ใช่โทสะ ซึ่งเป็นความหยาบกระด้าง ความขุ่นเคือง ไม่ใช่โมหะ คือ การไม่รู้ลักษณะของกุศลและอกุศล

    ใครก็ตามที่ไม่รู้ลักษณะของกุศลและอกุศล ย่อมเจริญกุศลไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้อรรถ คือ ลักษณะสภาพของกุศลธรรม จะเข้าใจเพียงว่า ท่านสามารถจะทำกุศลได้เฉพาะเวลาที่ท่านมีเงินทองทรัพย์สินเท่านั้น แต่ลืมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถึงแม้ไม่มีเงิน แต่มีวัตถุ มีสิ่งของที่จะเจือจาน ที่จะสละ ที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ ท่านช่วยได้ไหม ถ้าไม่ได้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

    และถ้ายังไม่เห็นว่า การกระทำอย่างใดควรเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ ท่านก็จะคิดเศร้าหมองใจว่า ท่านขาดเงิน ท่านทำบุญต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ซึ่งความจริงไม่ต้องมีเงิน กุศลอื่นก็มีหลายประการที่จะทำได้ แม้แต่ความรู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น มีความรู้สึกเสมอกันกับบุคคลอื่น มีคำพูดที่อ่อนหวานด้วยใจจริง ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน ขณะนั้นทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ

    ตรงกันข้าม ถ้ายังมีมานะสำคัญตนว่า สูงกว่าบุคคลอื่น หรือว่ายังมีเขา ยังมีเรา ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษหรือว่าไม่เป็นโทษที่คิดอย่างนั้น ที่เข้าใจว่าจะต้องมีความสำคัญตน จะต้องมีการแบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา จะต้องไม่ช่วยเหลือ จะต้องไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน จิตที่คิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น เป็นโทษหรือไม่เป็นโทษ

    เพราะฉะนั้น กุศล คือ สภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ ถึงแม้จะไม่มีเงิน ไม่มีวัตถุ ไม่มีสิ่งของที่จะให้แก่บุคคลอื่น แต่ยังสามารถที่จะมีสภาพของกุศลธรรมที่ไม่เป็นโทษ ทางกาย คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทางวาจา ไม่ดูถูก ดูหมิ่น ทางใจประกอบด้วยความเมตตา กรุณา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดร้ายกับผู้อื่นได้ ในขณะนั้นเป็นกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564