แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
ครั้งที่ ๙๐๖
สาระสำคัญ
ขุท.ชาดก มหามังคลชาดก -อะไรเป็นมงคล
เรื่องของการอบรมเจริญเมตตา ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องของสมถภาวนาด้วย ไม่ได้ทรงแสดงแต่เฉพาะเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานเท่านั้น
ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กว่าสติปัฏฐานจะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถเป็นปัญญาที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงชาติเดียว ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๑๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ๑๐,๐๐๐ ชาติ หรือ ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ แต่เป็นกัปๆ เพราะฉะนั้น ในระหว่างกัปๆ ก็ควรอบรมเจริญกุศลขั้นอื่นทุกขั้นด้วย ทั้งในขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นของเมตตา ซึ่งล้วนเป็นบารมี และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของเมตตา ซึ่งเป็นกุศลที่จะให้บุคคลที่ต้องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทอบรมให้มีมากขึ้น เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น ก็เพื่อละคลายอกุศลให้เบาบางลง ให้น้อยลง โดยต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การอบรมเจริญเมตตาเป็นเรื่องของจิตซึ่งเป็นกุศล มีความหวังดี มีความเป็นมิตร มีความรู้สึกเอ็นดู ใคร่ประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่น แม้ในขณะที่มองดูบุคคลอื่น สายตาที่มองดูก็ยังประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าไม่พิจารณาจะทราบไหมว่า ชั่วในขณะที่เห็นนี้ จิตประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า และเมตตากับบุคคลใดได้แล้วบ้าง และกับบุคคลใดยังไม่สามารถจะเมตตาได้
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านรู้สึกว่า บางครั้งมีเมตตาต่อสัตว์เดรัจฉาน จะมีได้ง่ายกว่ามนุษย์ด้วยกัน เพราะบางทีในรถประจำทาง ถ้าเห็นเด็กเล็กๆ ก็ยังรู้สึกเมตตา แต่บางคนเห็นแล้วรู้สึกกลัว ซึ่งในขณะที่กลัว ไม่ใช่เมตตาในบุคคลนั้น เป็นความรู้สึกที่เกรงกลัว เป็นลักษณะของโทสมูลจิต ไม่ใช่สภาพของจิตที่อ่อนโยนหรือแช่มชื่น เพราะฉะนั้น เมตตาเป็นเรื่องที่ละเอียด แม้แต่เห็นก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นจิตประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า
ถ. เมตตานี้ไม่ได้เกิดปัจจุบันทันด่วน แต่ติดตัวของบุคคลนั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร
สุ. ถูกต้อง
ถ. เพราะฉะนั้น ที่เขาแสดงความเมตตา จิตเขามีอยู่แล้ว จึงได้แสดงออกมา เขาไม่ได้ดัดขึ้นเดี๋ยวนั้น
สุ. มีปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดขึ้น เมตตาก็เกิด แต่ยังไม่พอ ต้องอบรมเจริญให้มากขึ้น วันนี้เมตตามากไหม ทุกคนควรพิจารณาว่า วันนี้ท่านเมตตามากไหม เพิ่มขึ้นบ้างหรือเปล่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เมตตาเพิ่มมากขึ้นอีกหรือเปล่า
ถ. ถ้าบุคคลผู้นั้นมีเมตตา เขาก็เจริญอยู่เสมอ เป็นหลักธรรม
สุ. แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจะรู้ไหมว่า จิตในขณะนี้ประกอบด้วยเมตตา หรือไม่ประกอบด้วยเมตตา
ถ. ผมเข้าใจว่า คนที่มีเมตตาแล้ว ต้องประกอบด้วยเมตตา
สุ. บุคคลในโลกนี้มีอุปนิสัยต่างๆ กัน ที่มีอุปนิสัยในการให้ทานเป็น ทานุปนิสัยก็มี ที่มีอุปนิสัยในการรักษาศีลเป็นสีลุปนิสัยก็มี แต่ว่าจะพอไหม การที่ให้ทานเพียงครั้งคราว และก็มีการวิรัติทุจริตเพียงครั้งคราว ควรอบรมเจริญกุศลให้เพิ่มขึ้นอีกไหม ของทุกคน ของแต่ละคนด้วย
ถ. แต่คนที่ไม่มีเมตตาจิต ผมก็เชื่อว่า เขามาศึกษาธรรมอย่างนี้ เขาก็คงเจริญเมตตา
สุ. แต่ต้องเจริญด้วยความเข้าใจถูกจึงจะเจริญได้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง
ผู้ฟัง ผมก็เคยตั้งใจจะให้เมตตาเกิดตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เพิ่งได้มาฟังอาจารย์เข้าใจแจ่มแจ้ง คือ จะพยายามอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าคนไหนไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน เมตตาย่อมเกิดยาก ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่บรรยายมา เพราะประสบกับตัวผมเอง อย่างข้างบ้าน มีเรื่องขัดใจกันอยู่ เขาโกงของผมไป เราก็ตัดใจแล้วว่า ช่างเถอะ ของในโลกนี้ก็อยู่แค่ในโลกนี้ ไม่ได้ไปไหน จากที่นี่ก็ไปอยู่ที่อื่น ไม่พ้นไปจากโลกนี้ อีก ๒ วัน เราก็ตาย แต่พอเห็นหน้าแล้วอดคิดอาฆาตไม่ได้ เมื่อได้ยินอาจารย์ ๒ อาทิตย์ที่แล้วมา พอมีสติรู้ทันทีเลย พอเห็นหน้าเขา มีสติรู้ทันที ความโกรธเกิดหรือไม่เกิด ระลึกได้ รู้ทันที มีเมตตาหรือไม่มี พอเห็นหน้าก็ขุ่นเคือง โทสะเกิด คนนี้เอาของเราไป แต่พอมีสติเราระลึกได้ว่า เรากำลังขุ่นเคือง แทนที่จะขุ่นเคือง เมตตาเกิดขึ้นทันที อภัยให้ คิดว่าเป็นพี่เป็นน้อง หรือเป็นญาติ ความเมตตาจะเกิดขึ้นทันที แต่ถ้าไม่มีสติ เจริญอีกสักร้อยปีพันปี ก็ไม่มีทางที่เมตตาจะเกิดได้
สุ. เพราะฉะนั้น อย่าลืม การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญในชีวิต และการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเองจะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้น เพราะสติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตตรงตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า จิตประกอบด้วยเมตตาหรือว่าไม่ประกอบด้วยเมตตา และเมื่อมีปัจจัยที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นเพราะมีปัญญาที่รู้ในลักษณะของเมตตา และรู้ในเหตุที่จะให้เกิดเมตตา เมตตาก็ย่อมเจริญ พร้อมกับเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน
และผู้ที่จะเจริญเมตตา จะต้องเข้าใจจุดประสงค์ให้ถูกต้องด้วยว่า อบรมเจริญเพื่ออะไร เพื่อต้องการนิมิต เพื่อให้จิตสงบ เพื่อให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือว่าเป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะเมื่อยังมีสังสารวัฏฏ์อีกยาวนาน และไม่รู้ว่าเมื่อใดบารมีจะสมบูรณ์ถึงพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ก็ควรที่จะอบรมเจริญกุศล ทุกประการ เพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
ถ้าท่านคิดว่าท่านจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ท่านไม่เจริญเมตตาเลย หรือท่านคิดว่าเมตตาเกิดยาก ก็เลยไม่อบรมเจริญให้เมตตาเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ก็ควรที่จะได้คิดว่า แม้เพียงเมตตาท่านก็ยังว่าเกิดยาก และปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะยิ่งยากกว่าสักแค่ไหนที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรท้อถอย ไม่ควรที่จะให้อกุศลมีกำลัง และคิดว่าเมตตาเกิดไม่ได้ ขอผ่านไป ซึ่งที่ถูกแล้ว ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนั้น ควรพิจารณาว่า เมตตาควรที่จะเกิดได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้ ถ้าค่อยๆ อบรมเจริญไป เมตตาก็ย่อมจะค่อยๆ มีกำลังขึ้น จนกระทั่งเป็นผู้ที่มีจิตใจสม่ำเสมอ ไม่ว่าด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็ประกอบด้วยเมตตา
ถ. ฟังดูแล้ว เมตตาเป็นเรื่องที่ดีมาก ทุกคนปรารถนาที่จะให้เมตตาเกิด แต่ก็ไม่เกิด ผมมีข้อสงสัยว่า เราจะทำอย่างไรที่จะให้เมตตาเกิด มีเหตุปัจจัยอะไรที่เราจะพิจารณาในขณะนั้น มีบ้างไหม
สุ. เห็นโทษของอกุศลขณะนั้นทันที เพราะอกุศลเกิด เมตตาจึงเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศล เมตตาก็ไม่เกิด
ขุททกนิกาย ชาดก มหามังคลชาดก มีข้อความที่แสดงว่า อะไรเป็นมงคล ซึ่งทุกท่านต้องการมงคล ไม่ต้องการอวมงคล หรือว่าสิ่งที่ไม่ใช่มงคล ท่านต้องการมงคลจนกระทั่งบางครั้งท่านแสวงหา คิดว่ามงคลนั้นอยู่ที่วัตถุ พยายามหาวัตถุ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเข้าใจว่ามงคลจะเกิดจากการมีวัตถุสิ่งนั้น หรือจากการท่องคาถาต่างๆ แต่ใน มหามังคลชาดก แสดงว่า เมตตาเป็นมงคล ไม่ใช่อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างนี้ ท่านที่ต้องการมงคล ไม่แสวงหาอื่นแล้ว ใช่ไหม เมตตาเกิดขึ้นขณะใด มงคลมีแล้วในขณะนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ท่านต้องการมงคลมากเท่าไร ขึ้นอยู่กับจิตใจของท่านที่ประกอบด้วยเมตตา ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มงคลมากเท่าที่เมตตาเกิดขึ้น
ข้อความใน มหามังคลชาดก ข้อ ๑๔๗๓ – ๑๔๘๒ มีว่า
นรชนรู้วิชาอะไรก็ดี รู้สุตะทั้งหลายอะไรก็ดี กระซิบถามกันว่า อะไรเป็นมงคล ในเวลาปรารถนามงคล นรชนนั้นจะทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้อันความสวัสดีคุ้มครองแล้ว ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ฯ
ทุกคนรักชีวิต เป็นห่วงชีวิต อยากจะให้มีแต่ความสวัสดีทั้งชาตินี้และชาติหน้า เป็นผู้ที่มีความรู้สาขาต่างๆ แต่ก็ยังแสวงหาซึ่งมงคลว่า อะไรจะทำให้เกิดความสวัสดีที่จะคุ้มครองได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ข้อความต่อไปมีว่า
เทวดาและพรหมทั้งปวง ทีฆชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลาย บุคคลใดอ่อนน้อมอยู่เป็นนิตย์ด้วยเมตตา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเมตตาของบุคคลนั้นแลว่า เป็น สวัสดิมงคลในสัตว์ทั้งหลาย
อย่าลืมสังเกตตัวเองว่า เป็นผู้ที่อ่อนน้อมอยู่เป็นนิตย์ด้วยเมตตาหรือเปล่า มงคลไม่ได้อยู่ที่อื่น บุคคลอื่น วัตถุอื่น แต่อยู่ในขณะที่กำลังอ่อนน้อมด้วยเมตตา
ข้อความต่อไปมีว่า
ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง แก่หญิงและชาย พร้อมทั้งเด็ก เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความ อดกลั้นของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล
เพราะฉะนั้น พิจารณาได้ในชีวิตประจำวันว่า ถ้าตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่มงคล เช่น เวลาที่ไม่อดทนต่อคำชั่วร้าย หรือว่าลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ หรือว่าไม่ถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง ขณะใดที่เป็นอย่างนั้น ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา และไม่ใช่สวัสดิมงคล เพราะข้อความมีว่า ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง แก่หญิงและชาย พร้อมทั้งเด็ก
พิจารณาให้ละเอียด เพราะว่าบางคนอาจจะไม่ถ่อมตนกับผู้หญิง หรืออาจจะไม่ถ่อมตนกับเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ ในขณะนั้นมีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่หวังที่จะให้ผู้อื่นเดือดร้อนระคายเคืองขุ่นใจเพราะกิริยาหรือวาจาของตน เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ถ่อมตน และมีความเมตตา มีจิตที่อ่อนโยนแก่หญิงชาย พร้อมทั้งเด็ก ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอายุน้อยกว่าก็ไม่ถือตนว่าเป็นผู้ใหญ่ เพราะบางครั้งถ้าพิจารณาจริงๆ เด็กบางคนก็เป็นผู้ที่รอบคอบ พิจารณาเหตุผลต่างๆ ได้ถูกต้องดีกว่าผู้ใหญ่บางท่านก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น สามารถที่จะถ่อมตนกับบุคคลทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย พร้อมทั้งเด็ก และขณะใดที่อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ขณะนั้นจิตประกอบด้วยเมตตาที่จะไม่มีโทสะให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะโทสะที่เกิดขึ้น และไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
ผู้ใดเป็นผู้มีปัญญาดี มีความรู้ปรุโปร่งในเมื่อเหตุเกิดขึ้น ไม่ดูหมิ่นมิตรสหายทั้งหลายด้วยศิลปะ สกุล ทรัพย์ และด้วยชาติ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่ดูหมิ่นสหายของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในสหายทั้งหลาย.
ทุกคนมีสหาย พิจารณาจิตใจของท่าน กาย วาจาของท่าน กับเพื่อนๆ ทั้งหลายว่า ดูหมิ่นมิตรสหายทั้งหลายบ้างหรือเปล่าในเรื่องของศิลปะ ความสามารถ ในเรื่องสกุล ในเรื่องทรัพย์ หรือว่าในเรื่องชาติ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนั้น ขณะนั้นไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่ดูหมิ่นสหายของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในสหายทั้งหลาย
ในระหว่างสหายทั้งหลาย ถ้าท่านเมตตาต่อสหายทั้งหลายจริงๆ กาย วาจาของท่านจะทำให้สหายของท่านรู้สึกสบายใจ รักใคร่ สนิทสนม คุ้นเคย เป็นกันเอง ไม่มีช่องว่างที่กั้นด้วยสกุล ทรัพย์ หรือชาติกำเนิดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของเมตตาจริงๆ ที่จะอบรมเจริญอยู่เรื่อยๆ ทั้งกาย วาจา ใจ
ข้อความต่อไปมีว่า
สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกัน เป็นมิตรแท้ของผู้ใด ผู้มีคำพูดมั่นคง อนึ่ง ผู้ใดเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร แบ่งปันทรัพย์ของตนให้แก่มิตร บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการได้ประโยชน์เพราะอาศัยมิตรและการแบ่งปันของผู้นั้นว่า เป็นความ สวัสดิมงคลในมิตรทั้งหลาย
สำหรับภรรยาที่ดี ที่เป็นมงคล มีข้อความว่า
ภรรยาของผู้ใดมีวัยเสมอกัน อยู่รวมกันด้วยความปรองดอง ประพฤติตามใจกัน เป็นคนใคร่ธรรม ไม่เป็นหญิงหมัน มีศีลโดยสมควรแก่สกุล รู้จักปรนนิบัติสามี บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีในภรรยาของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในภรรยาทั้งหลาย
ข้อความต่อไป เป็นสวัสดิมงคลในพระราชา มีข้อความว่า
พระราชาเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงพระอิสริยยศใหญ่ ทรงทราบความสะอาดและความขยันหมั่นเพียรของราชเสวกคนใด และทรงทราบราชเสวกคนใดด้วยความเป็น ผู้ไม่ร้าวรานกับพระองค์ และทรงทราบราชเสวกคนใดว่ามีใจจงรักภักดีต่อพระองค์ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีของราชเสวกนั้นๆ ว่า เป็นสวัสดิมงคลในพระราชาทั้งหลาย
บุคคลใดมีศรัทธาให้ข้าวน้ำ ให้ดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณข้อนั้นของบุคคลนั้นแลว่า เป็นความสวัสดีในสวรรค์ทั้งหลาย
สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งด้วยญาณ ผู้ยินดีแล้วในสัมมาปฏิบัติ เป็นพหูสูต แสวงหาคุณ เป็นผู้มีศีล ยังบุคคลใดให้บริสุทธิ์ด้วยอริยธรรม บัณฑิตทั้งหลายยกย่องคุณความดีของสัตบุรุษนั้นว่า เป็นความสวัสดีในท่ามกลางพระอรหันต์
ความสวัสดีเหล่านี้แล ผู้รู้สรรเสริญแล้ว มีสุขเป็นผลกำไรในโลก นรชนผู้มีปัญญา พึงเสพความสวัสดีเหล่านี้ไว้ในโลกนี้ ก็ในมงคลมีประเภท คือ ทิฏฐมงคล สุตมงคล และมุตมงคล มงคลสักนิดหนึ่งที่จะเป็นมงคลจริงๆ ไม่มีเลย
จบ มหามังคลชาดกที่ ๑๕
สำหรับบางท่านที่เข้าใจว่า มงคล ได้แก่ ทิฏฐมงคล คือ เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเข้าใจว่าการเห็นสิ่งนั้นเป็นมงคล หรือเข้าใจว่าสุตมงคล คือ การได้ยินสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือจะเป็นการท่องก็เหมือนกัน เพราะเป็นการได้ยินนั่นเอง ในขณะที่ท่องนึกถึงคำ คิดว่าขณะนั้นเป็นมงคล หรือเข้าใจว่ามุตมงคล คือ ได้สัมผัส ได้กลิ่น หรือได้ลิ้มรสอาหารบางประเภท ก็เข้าใจว่าเป็นมงคล แต่ข้อความใน มหามังคลชาดก มีว่า ในมงคลมีประเภท คือ ทิฏฐมงคล สุตมงคล และมุตมงคล มงคลสักนิดหนึ่งที่จะเป็นมงคลจริงๆ ไม่มีเลย. เพราะว่ามงคลจริงๆ คือ เมตตา
ถ. ผมคิดว่า คนที่รับผิดชอบกิจการงานที่ต้องปกครองคนซึ่งมีอุปนิสัย ต่างๆ กัน จะเจริญเมตตาตลอดไม่ได้ จะเป็นเมตตากับทุกคน เห็นจะลำบาก
สุ. แต่ละขณะจิตย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าบุคคลนั้นสะสม เหตุปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดขึ้น เมตตาก็เกิดได้ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานรับผิดชอบมากแค่ไหน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๙๐๑ – ๙๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960