แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970


    ครั้งที่ ๙๗๐

    สาระสำคัญ

    ปฏิสนธิจิตมีอวิชชานุสัย ปฏิจจสมุปปาทะไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ที่แต่ละขณะจิต มายาทั้งหมด คือ โลภะ


    ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่รู้ว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นอวิชชา ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นอวิชชา

    ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดที่เกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตจะต้องมีอวิชชานุสัย แม้ว่าโมหเจตสิกไม่ได้เกิดกระทำกิจการงานในขณะที่กุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ขอให้ดูสภาพของเด็กที่ขณะจิตต่อๆ ไป เต็มไปด้วยอวิชชา และเมื่อเติบโตขึ้น มีการศึกษา มีการเล่าเรียน มีการประกอบอาชีพการงานต่างๆ หมดอวิชชาหรือเปล่า ก็ยังคงไม่รู้เหมือนเดิม ถ้าไม่มีการศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยละเอียด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองนั้นมีอวิชชา คือ ไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้อะไร เพราะเห็นก็เข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้นเป็นการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา

    และเวลาที่มีอวิชชา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร มีการกระทำต่างๆ ที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แม้ว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า โดยสภาพที่แท้จริงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ยังมีกรรม คือ การกระทำที่เป็นอกุศลบ้าง กุศลบ้าง

    แต่ต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ขณะใดที่ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ขณะนั้นเป็นเพียงอกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม เป็นการสั่งสมสันดานทีละเล็กทีละน้อย เช่น เวลาที่เห็นในขณะนี้ และเกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าไม่ได้ล่วงทุจริตกรรมอะไรเลย ขณะนั้นก็เป็นอกุศลชวนะ ซึ่งสั่งสมสันดาน ถ้าโลภมูลจิตเป็นชวนวิถีเกิดขึ้น บุคคลนั้นย่อมจะมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน ภูมิไหน เห็นอะไร ก็ย่อมยังมีความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นบ้าง ในเสียงที่ได้ยินบ้าง เป็นปกติวิสัย

    แต่ว่าอวิชชานั้น เป็นปัจจัยให้เกิดสังขารได้ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม

    นี่เป็นชีวิตตามความเป็นจริงในขณะนี้ เป็นปฏิจจสมุปปาทะ เพราะฉะนั้น ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่ว่าอยู่ที่แต่ละขณะจิต

    ถ. ... (ฟังไม่ชัด)

    สุ. ยากที่ใครจะรู้ลักษณะของจิตที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว การศึกษาและการปฏิบัติธรรม ต้องเป็นผู้ตรงในการอบรมเจริญปัญญา ถ้าความไม่รู้เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับว่า ยังเป็นความไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ซึ่งส่วนมากคนที่จะทำสมาธิ เพราะไม่ชอบโทสะ

    ทุกคนเวลาที่สนทนาธรรม จะมีคำถามที่ถามกันบ่อยเหลือเกินว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ แสดงให้เห็นว่า ไม่ชอบอกุศลประเภทโทสะ แต่ไม่มีใครถามว่า ทำอย่างไรจะละโลภะ หรือว่าทำอย่างไรจะละโมหะ ไม่ได้สนใจในการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรมอะไร มุ่งหวังอย่างเดียว คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดโทสะ นั่นเป็นลักษณะของความต้องการ ที่ต้องการจะไม่มีโทสะ เพราะไม่ชอบโทสะ แต่ผู้ที่ต้องการอบรมเจริญปัญญารู้ว่า โทสะเป็นเพียงสภาพธรรมที่มีปัจจัยก็ต้องเกิดขึ้น เช่นเดียวกับโลภะ เช่นเดียวกับโมหะ เพราะฉะนั้น จึงสนใจใคร่ที่จะศึกษาให้เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรมอะไร เพื่อให้เกิดปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    มุ่งไปที่ปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะรู้ว่าเมื่อปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องเกิดขึ้น ความรู้นั้นจะละอกุศล แต่ถ้าตราบใดความรู้ไม่เกิดขึ้น อะไรจะละอกุศลได้

    และอกุศลประเภทที่ไม่ต้องการ คือ โทสะ เมื่อไรจะถามว่า ทำอย่างไรจึงจะละโลภะ ทำอย่างไรจึงจะละโมหะได้ คำถามเหล่านี้ไม่มีเลย ไม่ค่อยจะได้ยิน มีแต่ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะละโทสะ

    เหมือนอย่างข้างบ้านที่ทำเสียงดังๆ มีเสียงดังๆ เกิดขึ้นไม่ชอบ ไม่อยากถูกรบกวน เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ ทำอย่างไรเสียงนั้นจะไม่รบกวน แต่ไม่ห่วงว่า ทำอย่างไรจึงจะละโลภะ ถ้าเกิดชอบเสียงนั้นขึ้น หรือถ้าเกิดชอบความสงบ ความปราศจากเสียงนั้น ทำอย่างไรจึงจะละโลภะ ทำอย่างไรจึงจะละโมหะ ไม่เคยคิดอย่างนี้ คิดแต่เฉพาะเวลาที่เกิดโทสะ เพราะฉะนั้น จะพ้นจากโลภะและโมหะได้อย่างไร เพราะว่าต้องการพ้นเพียงโทสะ ต้องการไม่มีเพียงโทสะ แต่เวลาที่อารมณ์ของโลภะเกิด ไม่เดือดร้อนใจที่จะละ พอใจ และแสวงหาด้วย จริงไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า ไม่ชอบโทสะ แต่ยังชอบและแสวงหาโลภะและโมหะ

    , ทำอย่างไร จึงจะไม่ให้เกิด

    สุ. ต้องฟังพระธรรม และเห็นโทษของอกุศลทั้งที่เป็นโลภะ โทสะ และโมหะด้วย

    . เกี่ยวกับสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ลักษณะของรูปและนามหรือเปล่า

    สุ. ต้องเข้าใจว่า กุศลจิตต่างกับอกุศลจิต และต้องมีเหตุที่จะทำให้ต่างกันด้วย

    ถ. ... (ฟังไม่ชัด)

    สุ. ถ้าขณะนั้นประกอบด้วยขันติ ความอดทนที่จะไม่เกิดอกุศล และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ พิจารณา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นกุศลได้ แต่ว่าสติสัมปชัญญะต้องบริบูรณ์สมบูรณ์ที่จะรู้ว่า อกุศลจิตต่างกับกุศลจิต รู้ไหม ถ้าไม่รู้ จะสรุปรวมว่าเป็นกุศล ทั้งๆ ที่ยังไม่เป็นกุศลแต่ก็เข้าใจว่าเป็นกุศล เวลาไม่มีโทสะเท่านั้นก็คิดว่าเป็นกุศลแล้ว แต่ความจริงยังไม่ใช่กุศล เป็นโลภะ และเป็นโมหะได้

    ต้องละเอียด และต้องตรง ผู้ที่จะละกิเลสถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ ต้องตรง และต้องละเอียด หลอกตัวเองไม่ได้ แต่ว่าโลภะนี้หลอกได้ มายาทั้งหมด คือ โลภะนั่นเอง ความต้องการ ความปรารถนา

    ปฏิจจสมุปปาทะ อย่าลืม จากวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา พ้นไหม ปฏิจจสมุปปาทะ

    และที่ทรงแสดงเรื่องของจิต ก็เป็นเรื่องของปฏิจจสมุปปาทะ เมื่อมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น คือ วิญญาณ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิตที่เป็นวิญญาณ ที่เป็นวิบากจิต จิตอื่นๆ ทั้งหลายจะเกิดติดตามต่อมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต เป็นปัจจัยแก่นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดพร้อมกัน ไม่ใช่เกิดภายหลัง

    การศึกษาเรื่องของปฏิจจสมุปปาทะต้องละเอียดที่จะรู้ว่า เป็นปัจจัยที่เป็นปัจจุบัน หรือว่าเป็นปัจจัยที่เป็นอดีต เช่น ในขณะนี้ปฏิสนธิจิตดับไปแล้วพร้อมทั้งนามธรรมและรูปธรรม กล่าวคือ วิญญาณซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดนามและรูปในขณะปฏิสนธิดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

    ขณะเห็น เป็นอายตนะ เป็นที่ประชุมของรูปธรรมและนามธรรม

    ทางรู้อารมณ์มี ๖ คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ ทุกท่านพิสูจน์ธรรมได้ในขณะที่ได้ฟัง

    การรู้อารมณ์มี ๖ ทาง คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจขณะที่คิดนึก

    เพราะฉะนั้น ทางใจเป็นอายตนะหนึ่ง เป็นมนายตนะ แต่ไม่ใช่มีอายตนะเดียว คือ มนายตนะ แต่ว่าขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต ขณะนั้นไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดทั้ง ๖ ทาง เพราะปฏิสนธิจิตไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย แต่เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จิตขณะใดก็ตามเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ตาม จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องอาศัยทวาร เพราะไม่ได้รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้

    ขณะที่เป็นภวังคจิตก็เหมือนกัน นอนหลับสนิท เกี่ยวข้องอะไรกับโลกนี้ เป็นใครในโลกนี้ ไม่มีเลย หมด ในขณะที่เป็นภวังค์จิตที่หลับสนิท ถ้าจุติจิตจะเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ปฏิสนธิจิตชาติหน้าเกิดต่อทันทีในภพอื่น หรืออาจจะเป็นในภูมินี้ ในโลกนี้อีกก็ได้ แต่ไม่ใช่บุคคลก่อนอีกต่อไป เป็นบุคลใหม่แล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดในสวรรค์ ก็รู้อารมณ์ใหม่ทั้งหมด เป็นอารมณ์ของโลกสวรรค์ แต่ว่าปฏิสนธิจิตเองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่รู้เรื่องใดๆ ของโลกนั้นเลย เพราะไม่ใช่วิถีจิต

    เวลาที่ทุกคนลืมตาตื่นขึ้น ก็เป็นบุคคลนี้ในโลกนี้ ทุกครั้งที่ตื่นขึ้นยังคงเป็นบุคคลนี้ในโลกนี้ ยังเห็นโลกนี้เหมือนโลกเก่า โลกเดิม ใช่ไหม เคยอยู่ประเทศไหน บ้านไหน เมืองไหน มีญาติพี่น้องอย่างไร ก็คงเป็นประเทศนั้น โลกนั้น บ้านนั้น สมบัตินั้น ญาตินั้นอยู่นั่นเอง ยังคงเป็นการรู้อารมณ์ของโลกนี้

    แม้แต่เวลาคิดนึก ก็คิดนึกถึงอารมณ์ของโลกนี้ แม้แต่เวลาที่ฝัน ก็ฝันถึงอารมณ์ของโลกนี้ ยังคงเป็นเรื่องของโลกนี้ทั้งหมด เวลาที่เป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น อายตนะต้องทราบด้วยว่า ไม่ได้กล่าวถึงตอนที่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร และสังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ไม่ได้กล่าวถึงวิญญาณซึ่งเป็นปฏิสนธิจิต เพราะปฏิสนธิขณะ ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย

    . ปฏิจจสมุปปาทะนี้ จะทำอย่างไรไม่ให้มีรูปนาม

    สุ. โลกุตตรมรรคเกิดขึ้น

    . เมื่อไรจะถึงโลกุตตระ

    สุ. ถ้าไม่อบรมเจริญ ก็ไม่มีวันจะเกิดขึ้น

    . วิธีที่จะเจริญ เจริญอย่างไร

    สุ. เริ่มตั้งแต่ฟังธรรม

    . ก็เริ่มอยู่แล้ว

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าวันหนึ่งวันใดโลกุตตรมรรคจะเกิดขึ้น

    . ถ้าผมตายไป เกิดชาติหน้า ปัจจัยก็จะเป็นอย่างนี้อีก

    สุ. ใครจะไม่ฟังธรรมได้ไหม ถ้าต้องการจะถึงโลกุตตรธรรม แม้แต่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือพระอริยะทั้งหลาย ทุกท่านเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ฟังมาก

    . ก็ต้องฟังกันต่อๆ ไป

    สุ. แน่นอน จากอวิชชาซึ่งมีอยู่เป็นพื้น เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร การกระทำที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง ที่กำลังฟัง เป็นกุศลกรรม แม้ว่ายังไม่ได้ดับอวิชชา ยังมีอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร แต่อย่าสิ้นหวัง เพราะสามารถที่จะอบรมสังขารจนกระทั่งสามารถที่จะให้โลกุตตรมรรคเกิดขึ้น และดับปฏิจจสมุปปาทะได้ทั้งหมด แม้แต่อวิชชานุสัยก็ไม่มี

    นี่เป็นหนทาง แต่อย่าลืมว่า ขณะที่ฟังไม่ใช่ว่าจะหมดอวิชชา

    แต่ไม่ว่าจะเป็นปฏิจจสมุปปาทะ อย่าคิดว่าอยู่ในหนังสือ อย่าคิดว่าเป็นตำรา ถ้าจะเข้าใจธรรมหมวดหนึ่งหมวดใด คือ ที่กำลังปรากฏ ที่กำลังเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นขณะไหน ส่วนใด เช่น ถ้าเข้าใจเรื่องของวิญญาณซึ่งเป็นปฏิสนธิจิต ก็ทราบได้ว่า เป็นชาติวิบาก เป็นผลของสังขารซึ่งเป็นผลของอวิชชา

    ถ้าไม่มีอวิชชา สังขารก็ไม่มี ปฏิสนธิจิตก็ไม่มี วิญญาณใดๆ ก็ไม่มี แต่ที่กำลังมีวิญญาณในขณะนี้ซึ่งเป็นวิบาก ย่อมเป็นผลของสังขาร แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรือว่าอกุศลวิบาก และสังขารทั้งหมดเป็นผลของอวิชชา ตราบใดที่อวิชชายังไม่ดับ กรรมจะต้องเป็นกุศลหรืออกุศล ยังไม่ใช่กิริยาชวนวิถี

    , ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถสั่งสมไปในชาติหน้าได้ไหม อย่างบางคนในชาตินี้เก่งไปคนละอย่าง ไม่เหมือนกัน แสดงว่าความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน สามารถจะสะสมหรือสั่งสมไปถึงชาติหน้า ใช่ไหม

    สุ. ใช่ นี่คือการสั่งสมด้วยสามารถชวนวิถี ไม่ใช่ขณะที่เป็นสัมปฏิจฉันนวิถี สันตีรณวิถี โวฏฐัพพนวิถี แต่ต้องเป็นในขณะที่เป็นชวนวิถี

    ทุกท่านในขณะนี้กำลังสั่งสมกุศลกรรม ซึ่งต่อไปจะเป็นผู้ที่ชำนาญ แต่จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย และก็จะเป็นผู้ที่ชำนาญในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะได้สั่งสมอบรมเจริญขึ้นอยู่เรื่อยๆ

    ถ้าขณะนี้มีผัสสะกระทบกับรูปารมณ์ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และเป็นปัจจัยให้เกิดอะไรต่อจากนั้น เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดอะไร

    ตัณหา นี่คือปฏิจจสมุปปาทะ แต่การที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ แทนที่จะเป็นตัณหา ก็เป็นมหากุศลได้ และถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาย่อมเจริญขึ้นจนกว่ามรรคจิตจะเกิดได้

    แต่ให้ทราบว่า ตราบใดที่ยังไม่ใช่กุศล ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลอื่นทั้งหมดเป็นสังขารที่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ คือ ปฏิสนธิ เพราะสังขารมี ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กุศลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และกุศลที่เป็นไปในรูปฌาน อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรม และอเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปฌานกุศล สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบอย่างมั่นคงถึงขั้นอรูปฌาน แต่ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ยังไม่ใช่เป็นการที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น ทุกขณะเป็นปฏิจจสมุปปาทะ รวมทั้งในขณะนี้ ก็ไม่ได้ปราศจากอวิชชา ไม่ได้ปราศจากสังขาร ไม่ได้ปราศจากผัสสะ ไม่ได้ปราศจากเวทนา ไม่ได้ปราศจากตัณหา

    . การอุบัติขึ้นของเทพ ของพรหม มีภวังคจิตคั่นหรือเปล่า

    สุ. เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดต่อทันที จิตอื่นยังไม่สามารถที่จะเกิดต่อจากปฏิสนธิจิตได้ ไม่ว่าจะเป็นในภพไหน ภูมิไหนทั้งสิ้น

    . ในพระสูตรต่างๆ มักจะมีเรื่องเกี่ยวกับเทพ หรือพรหม เมื่อท่านอุบัติขึ้น สามารถที่จะจำได้ว่า เมื่อเป็นมนุษย์นั้นได้ทำบุญอะไรมาบ้าง เกิดเป็นอะไร

    สุ. นั่นไม่ได้แสดงโดยวิถีจิต อย่างเวลานี้ถ้ากล่าวว่า ท่านผู้ฟังเห็น ท่านผู้ฟังได้ยิน ท่านผู้ฟังคิดนึก ไม่ได้พูดถึงวิถีจิตเลยว่า การที่วิถีจิตแต่ละวิถี แต่ละวาระ จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีภวังคจลนะเกิดขึ้น มีภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ และต่อจากนั้นเป็น กิริยาจิตที่เป็นอาวัชชนจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดก่อนจิตเห็น หรือจิตได้ยิน เป็นต้น ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต เกิดก่อนกุศลหรืออกุศลชวนะ

    วิถีแรกต้องเป็นอาวัชชนจิต ซึ่งจะต้องเกิดหลังจากภวังคุปัจเฉทะดับไป ซึ่งภวังคุปัจเฉทะจะเกิดได้หลังจากที่ภวังคจลนะดับไป และภวังคจลนะจะเกิดได้หลังจากที่ภวังค์ดับไป

    . รู้สึกว่า ยังสับสน ละเอียดมาก จุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิเกิดสืบต่อ และภวังคจิตเกิดคั่น

    สุ. จนกว่าวิถีจิตจะเกิดขึ้น เมื่อวิถีจิตเกิดและดับไปหมดแล้ว จิตต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ จนกว่าวิถีจิตต่อไปจะเกิดขึ้น

    . ภวังคจิต ขณะที่นอนหลับ กับขณะที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ต่างกันหรือเปล่า

    สุ. ภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ได้รู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นภวังค์

    . อย่างภวังคจิตเวลานอนหลับ ยังพอจำได้ เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง

    สุ. ภวังคจิตจำไม่ได้ ที่จำได้นั้นไม่ใช่ภวังคจิต อย่าลืมว่า ภวังคจิตไม่ใช่มโนทวารวิถีจิต

    ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังคิดนึกโดยไม่เห็น โดยไม่ได้ยิน โดยไม่ได้กลิ่น โดยไม่ได้ลิ้มรส โดยไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เกิดคิดนึกขึ้น ในขณะนั้นเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางใจ เป็นมโนทวารวิถีจิต ไม่ใช่ภวังค์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๙๖๑ – ๙๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564