แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
ครั้งที่ ๙๗๓
สาระสำคัญ
เรื่องของผลซึ่งจะต้องเกิดจากเหตุ สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ พยายามขวนขวายแสวงหาวิบากที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจทั้งสิ้น ตลอดชีวิตการงานของแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ใจจริงๆ ของท่านยังไม่ได้หมดการแสวงหา ยังคงแสวงหาวิบาก และแสวงหาด้วยกิเลส ด้วยความติด ด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ แต่ผลต้องตรงต่อเหตุว่า วิบากทั้งหลายที่เป็นอิฏฐารมณ์ เป็นสิ่งที่น่าพอใจที่จะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น ต้องเป็นผลของกุศลกรรม ไม่ใช่เป็นผลของอกุศลกรรม
ทุกท่านปรารถนาผลที่ดี แต่ลืมคิดถึงเหตุที่จะให้ได้ผลที่ดี เพราะท่านปรารถนาด้วยกิเลส แล้วแต่ว่าอวิชชานั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดปุญญาภิสังขาร คือ กุศลกรรม หรืออปุญญาภิสังขาร คือ อกุศลกรรม เพราะว่าทุกท่านยังมีกิเลสอยู่ ยังมีการแสวงหาวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งถ้ามีกิเลสมากจนกระทั่งแสวงหาโดยทุจริตกรรมที่เป็นอกุศลทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ แม้ว่ามีความพอใจที่จะได้อิฏฐารมณ์ แต่ก็ย่อมได้อนิฏฐารมณ์เป็นวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมนั้น
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของเหตุและผลไว้โดยละเอียด ซึ่งผู้ที่ปรารถนาเพียงผล ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุว่า ท่านปรารถนาและท่านได้กระทำกรรมที่จะให้เกิดวิบากคือผลอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าความปรารถนาของท่านมีกำลัง จนกระทั่งทำให้เกิดอกุศลกรรม ทั้งๆ ที่ปรารถนาอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจต่างๆ แต่เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม สิ่งที่ทุกท่านจะได้รับก็ไม่พ้นจากอนิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ในปัจจุบันชาตินี้ ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านปรารถนาอิฏฐารมณ์ แต่ว่าเนื่องจากอกุศลกรรมในอดีต เพราะฉะนั้น ทุกท่านจึงไม่ได้มีแต่อิฏฐารมณ์เท่านั้น แต่แล้วแต่ว่าวันใดกรรมใดจะเป็นเหตุให้รับรู้อารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
การที่กรรมจะให้ผล แม้ว่าทุกท่านจะมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับคติสมบัติ หรือคติวิบัติ ไม่มีใครทราบว่า เมื่อจุติจิตดับไปกรรมใดจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ซึ่งตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีโอกาสที่กรรมจะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิภูมิหนึ่งภูมิใด คือ เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดในนรก หรือ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เพราะฉะนั้น จึงพยากรณ์ไม่ได้ แม้ว่าท่านจะมีความหวังที่จะเกิดในตระกูลที่ไม่มีเครื่องดองของเมา แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ย่อมขึ้นอยู่กับคติว่า จะเป็นคติสมบัติ หรือว่าคติวิบัติ
นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับอุปธิ คือ ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย ถึงแม้ว่าจะเกิดในสุคติภูมิ เป็นผู้ที่ถึงคติสมบัติ เกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ตาม แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นอกุศลก็ทำให้เป็นผู้ที่พิกลพิการ มีอวัยวะที่ไม่สมประกอบ นั่นเป็นอุปธิวิบัติ เพราะฉะนั้น แทนที่สมควรจะได้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่มีใครมอบราชสมบัติให้กับบุคคลที่อวัยวะหรือร่างกายไม่สมประกอบ เพราะเป็นอุปธิวิบัติ แต่ถ้าบุคคลใดเกิดเป็นมนุษย์ และยังประกอบด้วยอุปธิสมบัติ มีส่วนสัดรูปร่างที่น่าดู ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ได้รับอิฏฐารมณ์ต่างๆ มีผู้อุปการะเลี้ยงดู ตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร ไม่ให้กระทำการงานที่ไม่สมควรต่างๆ
เพราะฉะนั้น การที่ทุกท่านยังติด หรือว่ายังพอใจในวิบาก แสวงหาวิบากที่เป็นอิฏฐารมณ์ด้วยความพอใจ และกรรมที่ได้ทำมาแล้วในอดีต ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ จึงจะเกิดขึ้น เช่น คติสมบัติ อุปธิสมบัติ นอกจากนั้นยังต้องอาศัยกาลสมบัติ
สมัยที่ทุกอย่างสมบูรณ์ บริบูรณ์ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ข้าวไม่ยากหมากไม่แพง ในขณะที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสมบูรณ์พร้อมทุกประการ ในขณะนั้น กุศลกรรมก็สามารถเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้าเป็นกาลวิบัติ ยุคใดสมัยใดที่บ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวาย ข้าวยากหมากแพง ก็ไม่เป็นโอกาสที่กุศลกรรมของใครจะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายได้เท่ากับในสมัยที่เป็นกาลสมบัติ
ในยุคนี้สมัยนี้ บางท่านอาจจะได้ยินว่า บางคนเป็นคนดี ไม่ปรากฏว่ากระทำความเดือดเนื้อร้อนใจให้ใครเลย แต่กระนั้นก็ยังได้รับวิบัติถึงกับเจ็บปวด หรือว่าสิ้นชีวิต นี่ก็เพราะเป็นกาลวิบัติ แม้ว่ามีกุศลกรรมที่ได้สะสมมา แต่ว่าในยุคที่ไม่สงบเรียบร้อย หรือว่าบ้านเมืองระส่ำระสาย ก็ทำให้มีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลกรรมในอดีตเกิดขึ้นรับผลของกรรมนั้น
นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยปโยคสมบัติ หรือปโยควิบัติ ที่กรรมจะให้ผล
ปโยคสมบัติ หมายความถึง ความพากเพียร หรือการประกอบการงานด้วยการพิจารณาที่สมควร แม้แต่การกระทำของโจรก็ยังต้องอาศัยกาล คือ การพิจารณาและศิลปะในการที่จะกระทำกรรมนั้นให้สำเร็จ ซึ่งถ้าเป็นปโยคสมบัติ มีความสามารถที่จะกระทำกรรมนั้นได้สำเร็จ กรรมนั้นก็สำเร็จได้ โดยที่ยังไม่ได้ให้ผลที่เป็นการรับรู้อนิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ไม่น่าพอใจ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะประกอบอาชีพใด กระทำกิจการงานใด เป็น พ่อค้าวาณิช หรืออะไรก็ตาม การกระทำของทุกคนขึ้นอยู่กับปโยคะว่า ถ้าขณะนั้นเป็นปโยคสมบัติ พร้อมด้วยความชำนาญหรือความสามารถ การกระทำนั้นย่อมให้ผลตามที่ต้องการแม้ว่าจะเป็นทุจริตกรรม เพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วยังไม่ได้ให้ผล และบุคคลนั้นประกอบด้วยปโยคสมบัติ ถึงแม้ว่าจะเป็นคนดี แต่ขาดศิลปะ ความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ ในการประกอบธุรกิจการงาน ก็เป็นปโยควิบัติ เพราะไม่เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เรื่องของผลซึ่งจะต้องเกิดจากเหตุ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดพร้อมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ผลนั้นๆ เกิดขึ้นด้วย ถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่า เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะคิดจะเข้าใจว่า เป็นไปได้ด้วยความสามารถของตนเอง แต่ว่าการกระทำทั้งหมด ทุกขณะจิตที่จะเกิดขึ้น ต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ แม้แต่การที่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะให้ผล ก็ต้องประกอบด้วยคติสมบัติหรือคติวิบัติ อุปธิสมบัติหรือ อุปธิวิบัติ กาลสมบัติหรือกาลวิบัติ ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ
ถ. วิถีจิตสุดท้าย ถ้าเราสามารถกำหนดชวนจิตให้เป็นกุศลตลอด จะไม่เป็นทางเลือกหรือ
สุ. ทำได้หรือ
ถ. ถ้าหากว่าเราประกอบกรรมเฉพาะที่เป็นกุศล หรืออย่างที่ในวิถีจิต ที่กล่าวว่า ให้เป็นกุศลอยู่ตลอด ๗ ชวนะ สุคติเป็นที่หวังได้แน่
สุ. สมมติว่า กำลังจะสิ้นชีวิตเดี๋ยวนี้ ให้กุศลชวนจิตเกิดเดี๋ยวนี้ได้ไหม
ถ. ตามที่ผมได้อ่านและได้ฟัง ถ้าเราประกอบกรรมใดๆ
สุ. เดี๋ยวนี้เอง เดี๋ยวนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าจะสิ้นชีวิตเดี๋ยวนี้ กุศลชวนจิต ๗ ขณะจะเกิดอย่างไร ตอนนี้
ถ. ก็ดี กำลังเรียนธรรม อาจารย์กำลังสอนอยู่ ผมไปสุคติแน่
สุ. ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะก็ยากที่จะรู้ เพราะว่าจิตเกิดดับอย่างเร็วมาก อกุศลชวนวิถีสามารถที่จะเกิดสลับกับกุศลชวนวิถี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยากจะรู้ได้
ท่านผู้ฟังแสวงหาวิบากหรือเปล่า หรือรู้แล้วว่าแล้วแต่เหตุ เพราะฉะนั้น จึงควรประกอบกรรมดียิ่งขึ้น ไม่ควรที่จะคิดว่าพอแล้ว เพราะทานเป็นการกระทำ โดยสละวัตถุปัจจัยเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเพียงเล็กน้อย ไม่มาก ไม่มีใครสามารถที่จะสละได้หมด หรือว่าไม่มีใครสามารถที่จะสละได้มากอย่างที่หวัง ถึงแม้ว่าจะมีคาถา หรือคำที่พรรณนาเรื่องของการให้ทานและอานิสงส์ของทานสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะทำให้ทานเกิดได้ทันทีเสมอไป หรือว่ามากเท่าที่ควรจะเป็น แม้แต่เรื่องของทานยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น กุศลประการอื่นๆ ก็ควรที่จะอบรมเจริญโดยไม่ประมาทจริงๆ เมื่อต้องการผลที่ดี คือ อิฏฐารมณ์
ไม่มีใครต้องการอนิฏฐารมณ์ แต่ไม่รู้ว่าวันไหนอนิฏฐารมณ์จะเกิด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรประมาท เพราะฉะนั้น การเข้าใจเรื่องเหตุและผล เรื่องของกิเลส เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับทุกข์จากสังสารวัฏฏ์น้อยลง
นอกจากนั้น ถ้าเข้าใจวิถีจิตโดยละเอียดว่า ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นก็ดี สัมปฏิจฉันนะซึ่งรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณก็ดี สันตีรณะที่พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะก็ดี วิบากจิตทั้งหมดไม่สามารถที่จะกระทำกรรมใดๆ ได้เลย ทุกท่านที่จะกระทำกุศลกรรมประการหนึ่งประการใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลชวนวิถีจิต วิบากจิตที่เห็นทำอะไรไม่ได้ เสียงที่ได้ยิน แม้ว่าเป็นเสียงที่น่าพอใจสักเท่าไร วิบากจิตก็เพียงเกิดขึ้นได้ยิน รับเสียงนั้นต่อ และพิจารณาเสียงนั้น แต่ทำอะไรไม่ได้เลย
เวลาที่กลิ่นที่ดีปรากฏทางจมูก จิตที่เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น สัมปฏิจฉันนะรับกลิ่นนั้น สันตีรณะพิจารณากลิ่นนั้น แต่ทำกุศลใดๆ ไม่ได้ ทำกรรมใดๆ ไม่ได้ เคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น อาจจะมีบางท่านที่กำลังยกมือ กำลังเขียน กำลังจด ให้ทราบว่า ในขณะที่เขียน ในขณะที่จด ไม่ใช่วิบากจิตที่เห็น ไม่ใช่วิบากจิตที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เป็นชวนวิถีจิต ซึ่งแล้วแต่ว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งการเคลื่อนไหวทั้งหมด การพูด การเดิน การประกอบกิจการงาน การกระทำกาย วาจาใดๆ ทั้งหมดไม่ใช่วิบากจิต
การที่รู้อย่างนี้ จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ในขณะที่เห็น ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ในขณะที่รู้สึกยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น หรือว่าไม่ใช่ในขณะที่รู้สึกไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น หรือไม่ใช่ในขณะที่มีความคิดเรื่องสิ่งที่เห็น เพราะฉะนั้น เป็นจิตต่างประเภทกัน แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะไม่เป็นปัจจัยให้ สติปัฏฐานระลึกได้ในขณะที่มีการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา เช่น ในขณะที่กระทำการเคลื่อนไหวทางกาย อย่างท่านที่คิดจะอ่านพระไตรปิฎก ก็เดินไปหยิบพระไตรปิฎก ในระหว่างที่เดินไปนั้น เห็นเป็นวิบากจิต แต่ไม่ใช่ในขณะที่เดิน ไม่ใช่ในขณะที่หยิบ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกได้ จะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ที่มีความต้องการในการที่จะเดินไปเพื่อที่จะแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะเข้าใจธรรมด้วยการอ่านพระไตรปิฎก
ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติก็ไม่เกิด หลงลืมสติ ในขณะที่กำลังเดินเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เกิดพอใจแล้วในสิ่งที่เห็น ระหว่างที่ยังไม่ถึงหนังสือพระไตรปิฎก ใช่ไหม หรือว่าเสียงหนึ่งเสียงเกิดขึ้นก็เกิดความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้างในเสียงที่ปรากฏ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า ในขณะที่กำลังเดิน ไม่ใช่วิบากจิต จิตที่เห็นเดินไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ จิตที่ได้ยินก็เพียงแต่ได้ยินเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิดนึก ในขณะที่กระทำกิจ ใดๆ ก็ตาม ในขณะนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต การรู้อย่างนี้ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิด พร้อมทั้งกุศลจิตเกิดด้วยก่อนที่จะถึงพระไตรปิฎก และหยิบขึ้นอ่าน ก็ยังเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้
แต่ถ้าไม่รู้ เห็นอะไรระหว่างทาง ได้ยินเสียงอะไรในระหว่างนั้น อกุศลจิตก็ไหลไปแล้ว เพราะเป็นอาสวะที่สะสมหมักดองมา พร้อมที่จะไหลไปเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะในอารมณ์ที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น เวลาที่รู้อย่างนี้ ต่อไปเวลาที่มีการกระทำทางกาย หรือว่าการเดิน การพูด การนั่ง การคู้ การลิ้ม การเหยียด แม้ในขณะที่รับประทานอาหาร เอื้อมมือไหวไปก็ยังรู้ว่า นี่เป็นจิตที่ไม่ใช่จิตเห็น ถ้าจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้น ตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นมีความต้องการที่เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศล ซึ่งเวลาที่รับประทานอาหารจิตย่อมเป็นอะไรเวลาที่เอื้อมมือไปตักและก็เคี้ยว จักขุวิญญาณเป็นวิบาก เห็น ทำอะไรไม่ได้ โสตวิญญาณก็ได้ยิน ถ้ามีเสียงเพลง มีเสียงอะไรในขณะนั้น แต่โสตวิญญาณเป็นวิบากจิต ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ซึ่งต้องมีการกระทำทางกาย การเคลื่อนไหวมือ ระลึกรู้ไหมว่า เป็นจิตอะไรตามความเป็นจริง ตามปกติ จิตอะไร
โลภมูลจิต
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หนีโลภะ แต่ต้องรู้โลภะตามความเป็นจริงจึงจะละได้ โลภะมีอยู่ประจำตั้งแต่เกิดจนกระทั่งโต แต่ว่ากุศลจิตก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดด้วย อย่าคิดว่าจะต้องเป็นโลภะไปเรื่อยๆ แม้แต่การประกอบการงานอาชีพ ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะ ซึ่งในวันหนึ่งๆ โลภะมาก แต่อย่าลืมว่า กุศลจิตก็มีโอกาสที่จะเกิดได้เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลจิต
ในขณะที่รับประทานอาหาร โลภะเกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ยินดีพอใจในขณะนั้น หรือระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นอาการของสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือแม้แต่รสที่ปรากฏเวลาที่กระทบลิ้น รู้ได้ทันทีในขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่กระทำอาการเคี้ยว หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด สภาพที่ลิ้มรสเป็นลักษณะของวิบากจิต ซึ่งทำอะไรไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น การรู้ลักษณะของวิถีจิตอย่างละเอียดจะทำให้รู้ว่า แม้ในขณะที่ยังไม่มีการกระทำใดๆ ทางกาย ทางวาจา เพียงเห็น สติก็ยังสามารถที่จะรู้ขณะที่ต่างกันว่า สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่ายังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา เพราะเหตุว่าโลภชวนวิถีเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือว่าในขณะที่ได้ยินเสียง ชวนวิถีซึ่งเป็นโลภะก็สามารถที่จะเกิดได้ต่อจากโสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต เพราะฉะนั้น ย่อมเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงถูกต้อง และไม่หลอกตัวเอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020