แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
ครั้งที่ ๙๗๖
สาระสำคัญ
ผู้มีปัญญาทราม กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ อถ.สุตตนิบาต อามคันธสูตรที่ ๒ กิเลสเป็นอกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนาตลอด ๔๕ พรรษา และก็ไม่มีใครศึกษา สมมติว่า ค่อยๆ หายไป เลือนไป พระพุทธศาสนาจะอยู่ที่ไหนในเมื่อไม่มีพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าเป็นการทำลาย พระศาสนาหรือเปล่า ถ้าเห็นว่าการศึกษาไม่สำคัญ และไม่ศึกษา ใครจะเข้าใจธรรมได้ถูกพอที่จะกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษา หรือว่าการปฏิบัตินั้นไม่ยาก
ไม่ยากได้อย่างไร กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทางตา ไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ทางใจ เป็นแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นเอง อย่างนี้หรือจะไม่ยากที่จะประจักษ์
ใครจะบอกได้ว่า ไม่ยาก ถ้าใครบอกว่า ไม่ยาก ผิดหรือถูก
ขอให้แสดงหนทางปฏิบัติว่า ปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ยาก ทำอย่างไรจึงจะ ไม่ยาก วิธีไหนที่จะไม่ยาก เพราะไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ถูกต้องจึงได้กล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก เป็นผู้มีปัญญาทราม แต่ก็ยังนั่งในท่ามกลางอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ซึ่งเท่ากับสละพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อทรงอนุเคราะห์แก่ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือปทปรมะที่จะอบรมไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น จะสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ตามปกติได้ไหมว่า เป็นสภาพรู้ ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกไม่ว่าจะได้กลิ่นอะไร ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก พร้อมทั้งรู้ปฏิจจสมุปปาทะ ไม่ใช่โดยเข้าใจ แต่ในขณะที่กำลังเห็นนี้เอง ขณะไหนเป็น กิเลสวัฏฏ์ ขณะไหนเป็นกัมมวัฏฏ์ ขณะไหนเป็นวิปากวัฏฏ์
การเข้าใจเรื่องข้อปฏิบัติผิด ไม่ได้มีเฉพาะในสมัยนี้ และไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ยังไม่ปรินิพพาน แม้ในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ โน้น ก็มีการสะสมความเห็นผิด ความเข้าใจผิดใน ข้อปฏิบัติ
ขอกล่าวถึงความเห็นผิดและการปฏิบัติหนทางที่ไม่ใช่ทางดับกิเลส ซึ่งสมัยนี้ก็มีความเห็นผิดว่า การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสนั้น ต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งถ้าไม่ฟังและไม่ศึกษาโดยละเอียด การเข้าใจธรรมผิดก็จะเป็นเหตุให้เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ผิด และไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจผิด แม้ในเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าไม่ทำความเห็นให้ถูกต้อง ให้ตรงตามความเป็นจริง ก็จะกั้นการประพฤติปฏิบัติที่ถูก ที่จะทำให้สามารถดับกิเลสได้จริงๆ
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรคที่ ๒ อามคันธสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า อามคันธะ ได้บรรพชาเป็นดาบสพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ได้สร้างอาศรมอยู่ในระหว่างหุบเขา บริโภคเผือกมันและผลไม้ในป่า เวลาที่ขาดอาหารก็ทำให้ซูบผอม ร่างกายก็ผอมเหลือง แล้วชวนกันเข้าไปยังปัจจันตคาม คือ ในเขตของเมือง เพื่อที่จะเสพอาหารที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว เพื่อที่จะให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อได้เห็นดาบสเหล่านั้นแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสในดาบสเหล่านั้น นิมนต์ให้ฉันอาหาร ได้ถวายเตียง ตั่ง ภาชนะสำหรับบริโภค และน้ำมัน ทาเท้า เป็นต้น แก่ดาบสเหล่านั้นผู้ที่ทำภัตกิจเสร็จแล้ว และนิมนต์ให้อยู่ ณ ที่นั้น
แม้ในวันที่ ๒ พวกมนุษย์ทั้งหลายก็ได้ถวายทานแก่ดาบสเหล่านั้น และได้ถวายทานวันละบ้านตามลำดับเรือนอีก ดาบสก็อยู่ในที่นั้นสิ้น ๔ เดือน มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น เพราะได้เสพอาหารที่มีรสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และได้บอกมนุษย์ทั้งหลายว่า พวกเราจะไป
พวกมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้ถวายน้ำมัน และข้าวสาร เป็นต้น แก่ดาบสเหล่านั้น ดาบสเหล่านั้นก็ได้กลับไปอาศรมของตน ซึ่งดาบสเหล่านั้นก็ได้มาสู่เขตบ้านนั้นทุกๆ ปี เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา และพวกมนุษย์เหล่านั้นก็ได้ตระเตรียมข้าวสาร และได้ถวายทานกับดาบสเหล่านั้นเป็นประจำ เหมือนเช่นทุกคราว
สมัยต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงธรรมจักรแล้วเสด็จไปยังเมืองสาวัตถีโดยลำดับ สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีนั้น ทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของดาบสเหล่านั้น จึงเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เสด็จจาริกไปจนถึงเขตบ้านนั้นโดยลำดับ
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ถวายมหาทาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่มนุษย์เหล่านั้น ด้วยพระธรรมเทศนานั้น มนุษย์เหล่านั้น บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามีและพระอนาคามี บางพวกได้บรรพชาอุปสมบทบรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จกลับมายังกรุงสาวัตถีเช่นเดิมอีก
ต่อมาดาบสเหล่านั้นก็ได้เข้าไปสู่เขตบ้านนั้น คราวนี้พอมนุษย์ทั้งหลายเห็นพวกดาบสนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ทำการโกลาหลเช่นกับในคราวก่อนๆ ดาบสเหล่านั้นก็ถามมนุษย์เหล่านั้นว่า เพราะอะไรพวกท่านจึงไม่เป็นเช่นคราวก่อน หมู่บ้านเหล่านี้ถูกลงอาชญาหรือหนอ หรือว่าประสบกับทุพภิกขภัย หรือว่ามีบรรพชิตบางรูปซึ่งสมบูรณ์ด้วยคุณ มีศีล เป็นต้น มากกว่าพวกเราได้มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้
ก็เกิดความเฉลียวใจว่า เพราะอะไรจึงไม่ต้อนรับอย่างโกลาหลเหมือนที่เคย ซึ่งมนุษย์เหล่านั้นก็ได้เรียนให้ทราบว่า
เขตบ้านนี้ไม่ได้ถูกลงอาชญา และไม่ได้ประสบทุพภิกขภัย แต่ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก ได้เสด็จมา ณ หมู่บ้านแห่งนี้
เมื่ออามคันธดาบสได้ฟังอย่างนั้นแล้ว ก็ถามว่า
คฤหบดี พวกท่านพูดว่า พุทโธ ดังนี้หรือ
เป็นคำที่ยากที่จะได้ยิน เพราะไม่ใช่จะมีใครสามารถตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินแม้คำว่า พุทโธ ก็เกิดปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นเสียง เป็นคำที่หาได้ยากในโลก
และได้ถามพวกมนุษย์ทั้งหลายว่า
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสวยกลิ่นดิบหรือหนอแล หรือว่าไม่เสวยกลิ่นดิบ
พวกมนุษย์ทั้งหลายก็ถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อะไรคือกลิ่นดิบ
อามคันธดาบสตอบว่า
ดูก่อน คฤหบดีทั้งหลาย ปลาและเนื้อ ชื่อว่ากลิ่นดิบ
มนุษย์ทั้งหลายกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสวยปลาและเนื้อ
บางท่านคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรื่องให้พระภิกษุฉันปลาและเนื้อได้ แต่พระผู้มีพระภาคเองไม่เสวย บางคนเข้าใจอย่างนั้น คือ เข้าใจว่า ทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันปลาและเนื้อที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจได้ก็จริง แต่พระผู้มีพระภาคเอง ไม่เสวยปลาและเนื้อ เพราะฉะนั้น จาก อรรถกถา ปรมัตถโชติกา ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า เมื่ออามคันธดาบสกล่าวถามพวกคฤหบดี คฤหบดีเหล่านั้นก็ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเสวยปลาและเนื้อ
เมื่ออามคันธดาบสได้ฟังอย่างนั้นแล้วก็เกิดเดือดร้อนใจ สงสัยว่า บุคคลผู้นั้นจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ หรือว่าไม่พึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือ มีความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องไม่เสวยปลาและเนื้อ เพราะฉะนั้น เมื่อมีผู้บอกว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยปลาและเนื้อ ก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนใจ สงสัยว่า ผู้นั้นจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ หรือเปล่า
อามคันธดาบส ก็ได้ไปยังพระวิหารเชตะวัน ที่พระนครสาวัตถี พร้อมกับดาบสทั้งหลาย ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะเพื่อทรงแสดงธรรม ดาบสทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เป็นผู้นิ่ง ไม่ถวายบังคม ได้นั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงพระมหากรุณาตรัสปราศรัย แสดงความชื่นชมกับดาบสเหล่านั้น โดยนัยว่า ท่านฤๅษีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพออดทนได้ละหรือ ดังนี้เป็นต้น
ดาบสเหล่านั้นก็ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายพออดทนได้ ดังนี้เป็นต้น
ต่อจากนั้น อามคันธดาบสได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์เสวยกลิ่นดิบ หรือไม่เสวย
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
พราหมณ์ ชื่อว่ากลิ่นดิบนั้น คืออะไร
ดาบสนั้นทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ปลาและเนื้อ ชื่อว่ากลิ่นดิบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ปลาและเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ ก็แลกิเลสทั้งปวงที่เป็นบาป เป็นอกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ
และต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าให้อามคันธพราหมณ์ฟังว่า
ความสงสัยเรื่องการบริโภคปลาและเนื้อ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น แม้ในอดีตกาล ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็ได้มีพราหมณ์ชื่อว่าติสสะ ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะในเรื่องของกลิ่นดิบ โดยนัยเดียวกัน
และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าถึงเรื่องในอดีตกาล ในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ มีข้อความว่า
ในกัปนี้ คือ ในภัทรกัป ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม เป็นสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๘ อสงไขยกับแสนกัป พระโพธิสัตว์พระนามว่ากัสสปะ ได้ปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณีชื่อว่าธนวดี ปชาบดีของพรหมทัตตพราหมณ์ ในเมือง พาราณสี แม้อัครสาวกก็เคลื่อนจากเทวโลกในวันนั้นเหมือนกัน
คือ เกิดในวันเดียวกัน แต่ว่าสำหรับอัครสาวก อุบัติขึ้นในครรภ์ของปชาบดีของพราหมณ์ผู้เป็นรองปุโรหิต
ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งว่ากัสสปะ และบุตรของพราหมณ์อีกคนหนึ่งว่าติสสะ ทั้งสองท่านนั้นก็เกิดในวันเดียวกันนั่นเอง เป็นสหายเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เล็กจนกระทั่งเติบโตขึ้น พราหมณ์ซึ่งเป็นบิดาของติสสะก็ได้สั่งลูกชายว่า
สหายกัสสปะจะออกบวช และจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ ติสสะก็ควรที่จะได้ออกบวชในสำนักของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ด้วย เพื่อที่จะได้พ้นจากทุกข์ได้
ติสสะนั้นก็ได้รับคำของบิดา และได้ไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ได้เล่าเรื่องที่บิดาบอกให้ฟังว่า เราทั้งสองควรที่จะออกบวช ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็รับคำว่า ดีละ
ต่อจากนั้น เวลาที่ทั้ง ๒ คน เจริญวัยขึ้น เติบโตขึ้นแล้ว ติสสะก็ได้ไปบอกกับสหายซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ว่า ถึงเวลาที่ควรจะออกบวชด้วยกัน
แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ออกบรรพชา ติสสะผู้เดียวออกบวชด้วยความคิดว่า สหายของตน ญาณยังไม่ถึงกาลที่แก่รอบ เพราะฉะนั้น ติสสะเองก็ได้ออกบวชเป็นฤๅษี และได้สร้างอาศรมอยู่ที่เชิงภูเขาในป่า
ในสมัยต่อมา แม้พระโพธิสัตว์ทั้งๆ ที่ดำรงอยู่ในเรือน คือ เป็นฆราวาสอยู่ ได้เจริญอานาปานสติ ได้อภิญญา และได้เสด็จไปที่ใกล้โคนต้นโพธิ์ ซึ่งต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นต้นไทร ได้ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันหนึ่ง ชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งได้ไปแสวงหาของป่า ได้ไปถึงอาศรมของติสสดาบส ซึ่งดาบสได้ถามถึงความเป็นไปในเมืองพาราณสี บุคคลนั้นก็ได้เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้อุบัติขึ้นแล้วที่เมืองพาราณสี
หมายความว่า มีพระผู้มีพระภาคตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ที่เมืองพาราณสี
เมื่อติสสดาบสได้ฟัง ก็เกิดปลาบปลื้มยินดีเป็นอันมาก เพราะแม้คำว่า พุทโธ ก็เป็นเสียง หรือเป็นคำซึ่งยากที่จะได้ยิน
ติสสดาบสได้ถามบุคคลนั้นว่า
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสวยกลิ่นดิบ หรือไม่เสวย
ซึ่งคนนั้นก็ได้ถามอย่างเดียวกันว่า กลิ่นดิบคืออะไร ดาบสก็ตอบว่า กลิ่นดิบ คือ ปลาและเนื้อ บุรุษนั้นก็ได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสวยปลาและเนื้อ
ติสสดาบสก็เกิดเดือดร้อนใจ เพราะไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่เหมือนกับที่ตนปฏิบัติอยู่ และไม่เหมือนกับความคิดที่ว่า เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ควรที่จะเสวยปลาและเนื้อ
ติสสดาบสก็คิดในใจว่า จะต้องไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า เสวยปลาและเนื้อหรือเปล่า ถ้าหากพระองค์ตรัสว่า เราบริโภคกลิ่นดิบทั้งหลาย เราเองก็จะได้กล่าวห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นไม่เหมาะสมแก่ชาติและสกุลของพระองค์
ยังมีผู้คิดที่จะห้ามพระผู้มีพระภาคไม่ให้กระทำสิ่งที่ตนคิดว่าไม่สมควร
ติสสดาบสก็ได้เข้าไปยังเมืองพาราณสี เข้าไปสู่ป่าอิสิปตนะ ซึ่งขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังประทับนั่งบนอาสนะเพื่อจะทรงแสดงธรรม ติสสดาบสได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ไม่ถวายบังคม เป็นผู้นิ่ง ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง
เป็นไปได้ไหม ลองคิดถึงชีวิตจริงๆ ของทุกท่าน บางครั้งก็ไม่ได้แสดงความนอบน้อม ไม่ได้แสดงการไหว้ตามมารยาท ตามสมควร
นามธรรมและรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้ปรารภว่า ตอนที่ท่านศึกษาธรรม ท่านเกิดสนใจมาก และเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง ต่อจากนั้นก็เบื่อ ก็เป็นความจริง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ฟังไปๆ และก็เริ่มสนใจอีก สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง ต่อจากนั้นก็เบื่ออีก เป็นเรื่องธรรมดาหรือไม่ธรรมดา ลองคิดดู สภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ย่อมมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมควรแก่สภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น
และท่านผู้ฟังก็ปรารภว่า ต่อไปไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร
ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะรู้ได้ สำหรับข้างหน้า ไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าทุกอย่างที่จะเกิด ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด ถ้าคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ขณะจิตต่อไปได้ว่า สภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร แม้แต่การที่จะไหว้ หรือไม่ไหว้ เช่น ติสสดาบส ก็ได้กระทำกิริยาอาการเช่นเดียวกับอามคันธพราหมณ์ เมื่อได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว ไม่ถวายบังคม เป็นผู้นิ่ง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020