แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987


    ครั้งที่ ๙๘๗

    สาระสำคัญ

    รูปเป็นผลของกรรม เป็นกัมมชรูป เรื่องปัจจัยเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมี อนันตรปัจจัยกับสมนันตรปัจจัย นัตถิปัจจัย และวิคตปัจจัย


    . ฟังอาจารย์พูดความละเอียดของนามที่ต่างกับรูป การเจริญสติปัฏฐานนี้ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า อวินิพโภครูป ๘ มีตัวตนทุกรูป

    สุ. ไม่ได้บอกว่ามีตัวตนเลย

    . นี่เป็นความคิด และในนามธรรมก็มีตัวตนเข้าไปติดอยู่ด้วย รูปก็มีตัวตนเข้าไปติด เรามาฟังอาจารย์เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน คล้ายๆ กับเรามาสร้างเครื่องมือขึ้นมาชนิดหนึ่งเพื่อมาแกะตัวตนหรือบัญญัติธรรมให้ออกจากของจริง ในลักษณะทั้งนามทั้งรูป จะเป็นเช่นนี้หรือเปล่า

    สุ. พระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อให้ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือปทปรมบุคคลได้พิจารณา ได้ไตร่ตรอง ได้อบรม จนกระทั่งเป็นสติปัฏฐาน จนกระทั่งปัญญาสมบูรณ์สามารถที่จะแทงตลอดรู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้โดยละเอียด ไม่คลาดเคลื่อน หรือว่าไม่ผิดไปเลย

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญวิปัสสนาเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงขึ้น จนกว่าจะประจักษ์ชัดจริงๆ แต่ถ้าไม่อาศัยการฟังโดยละเอียด ก็จะไม่มีสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เป็นสติปัฏฐานที่จะน้อมระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีจริงๆ ปรากฏอยู่เสมอตลอดชีวิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    . วิบากจิตกับรูปต่างกันอย่างไร รูปเป็นวิบากหรือเปล่า

    สุ. วิบาก ได้แก่ นามธรรมเท่านั้น รูปเป็นผลของกรรม เป็นกัมมชะ ที่เรียกว่ากัมมชรูป แต่ไม่ใช่วิบาก

    . อย่างรูปภายนอกที่เราเห็นอยู่นี้

    สุ. รูปทั้งหมด ไม่ใช่วิบาก

    . จิตเท่านั้นที่เป็นวิบาก

    สุ. จิตและเจตสิกเป็นวิบาก เป็นสัมปยุตตธรรม เป็นสัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    . แต่ว่ารูปไม่เกี่ยว

    สุ. รูปไม่ใช่สัมปยุตตธรรม รูปเกิดพร้อมจิตได้ รูปเกิดพร้อมรูปได้ แต่รูปที่เกิดพร้อมจิตไม่เกี่ยวข้องกับจิต เป็นการที่จะให้รู้ความต่างกันของรูปธรรมว่า ไม่ใช่นามธรรม ให้เห็นแจ้งจริงๆ ว่า รูปเป็นเพียงรูปธรรม แม้ว่าจะเกิดพร้อมจิตก็ไม่ใช่นามธรรม และรูปซึ่งเกิดพร้อมรูปด้วยกันก็ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย

    การศึกษาธรรม ถ้าศึกษาโดยละเอียด และเป็นความเข้าใจที่ชัดเจนจริงๆ ก็ไม่ต้องท่อง วันนี้ได้ยินคำว่า สัมปยุตตธรรม ซึ่งหมายความถึงนามธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกเท่านั้น ซึ่งจิตและเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน จิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดร่วมกันเกิดขึ้น เจตสิกเป็นสัมปยุตตปัจจัยให้จิตที่เกิดร่วมกันเกิดขึ้น เป็นปัจจัยโดยปัจจุบัน หมายความว่า ปัจจัยและปัจจยุปบันธรรมคือธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดกว่ารูป เพราะว่ารู้อารมณ์เดียวกันและเกี่ยวข้องกัน

    ผัสสะกระทบอารมณ์ใด เวทนารู้สึกในอารมณ์นั้นพร้อมกันทันที ไม่ได้แยกกัน เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตต์กัน แต่ถ้าผัสสะดับไป เวทนาเกิดขึ้น เวทนาจะรู้ในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบได้อย่างไร เพราะผัสสะกระทบและดับไปแล้ว เวทนาเกิดภายหลัง เวทนาจะรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบและดับไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เวทนาและผัสสะเกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เป็นปัจจัย คือ เป็นสัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็น กำลังปรุงแต่ง เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น จะทราบหรือไม่ทราบก็ตามแต่ แต่ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดดับอยู่ทุกขณะจิตนี้เป็นปัจจัย และมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก็แยกตามสภาพของธรรมนั้นๆ เช่น รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้น รูปธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตตธรรม ไม่เป็นสัมปยุตตปัจจัย

    แต่เวลาที่รูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม เช่น จักขุปสาทเป็นปัจจัยแก่ จักขุวิญญาณ ถ้าไม่มีจักขุปสาท จักขุวิญญาณ การเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะมีไม่ได้ จะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปธรรมเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นได้ แต่เป็นโดยวิปปยุตตปัจจัย ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ความหมายของวิปปยุตตปัจจัย คือ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม หรือรูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ชื่อว่าวิปปยุตตปัจจัย เพราะไม่ใช่ธรรมที่สัมปยุตต์กัน หรือว่าเกี่ยวข้องกันอย่างนามธรรม

    . ที่กล่าวว่า รูปเกิดพร้อมกับจิตได้ กรุณาอธิบาย และยกตัวอย่างด้วย

    สุ. จิตตชรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ที่กายของแต่ละบุคคล มีรูปเป็นกลุ่มๆ ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดร่วมกันก็ได้ แต่เพราะไม่ใช่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จึงไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อแตกย่อยร่างกายออกเป็นส่วนที่ละเอียดที่สุด สำหรับร่างกายของสัตว์บุคคลที่มีชีวิต จะมีกลุ่มของรูปมากมายหลายกลุ่ม บางกลุ่มเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เช่น กลุ่มของจักขุปสาทที่อยู่ตรงกลางตา เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครสามารถสร้างจักขุปสาทรูปได้ ไม่มีใครสามารถใช้เครื่องมือใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะนำเอารูปใดๆ ที่เป็นอุตุทั้งหลายมาปรุงแต่งให้เป็นโสตปสาทเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น บางรูปเป็นกลุ่มที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเป็นกลุ่มที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเป็นกลุ่มที่เกิดเพราะอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน เป็นสมุฏฐาน บางรูปเป็นกลุ่มที่เกิดเพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นสมุฏฐาน

    ทำไมยิ้มได้ ทำไมพูดได้ ทำไมเดินได้ ทำไมแสดงอาการต่างๆ ได้ เมื่อเป็นรูปของสัตว์บุคคล ก็เพราะมีกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว การกระทำทางกาย ทางวาจา

    . ลมหายใจที่เคลื่อนไหวไปนี้จะกล่าวว่า ไหวไปเพราะจิตตชวาโยธาตุไหม

    สุ. จิตตชวาโยธาตุ ภาษาไทย คือ ธาตุลมที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

    . ตาเราที่ไหว กระพริบ หรือเหลือบไป ก็โดยนัยเดียวกัน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การเจริญสติ คือ ตามรู้เรื่องของใจที่เป็นใหญ่อย่างนั้นๆ สติระลึกรู้สภาพของความเป็นไปในจิต ในรูปอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    . ตามความเป็นจริง ที่เป็นไปอย่างนั้น

    สุ. ค่อยๆ รู้ขึ้น มหาภูตรูป ๔ ไม่ได้แยกจากกันเลย แล้วแต่ว่าขณะนั้นน้อมระลึกรู้ลักษณะของรูปใด ถ้ารู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ขณะนั้นก็เป็นกายวิญญาณที่มีปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ถ้ารู้ลักษณะที่เย็นและร้อน ขณะนั้นก็มีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ขณะที่รู้ลักษณะที่ตึงหรือไหว ขณะนั้นก็มีวาโยธาตุเป็นอารมณ์

    ที่จะต้องเข้าใจในวันนี้ คือ ถึงแม้ว่ารูปจะเกิดร่วมกันและดับพร้อมกันก็จริง แต่รูปทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้อารมณ์

    สำหรับความละเอียดของนามธรรมซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมและเป็น สัมปยุตตปัจจัยนี้ ยังมีประการอื่น ซึ่งถ้ากล่าวถึงจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    ขอกล่าวถึง อนันตรปัจจัย ซึ่งท่านผู้ฟังได้ทราบแล้วว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตที่เกิดและดับไปนั้นเป็นปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ไม่มีใครยับยั้งการเกิดขึ้นในขณะต่อไปของจิต ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ และยังไม่ถึงจุติจิต ก็จะต้องมีจิตเกิดต่อจากจิตดวงที่ดับไป เพราะจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับไปแล้วก็ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น แต่รูปธรรมไม่เป็นอย่างนั้น นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    ท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่า รูปก็ไม่ได้สูญหาย อย่างจักขุปสาท รู้โดยการฟังว่า เกิดดับ จึงมีการเสื่อม มีโรคตา เพราะถ้าเกิดมาอย่างไรคงอยู่อย่างนั้น ก็ต้องไม่มีโรคตาต่างๆ แต่เพราะรูปธรรมก็เกิดดับแม้ว่าจะช้ากว่าจิต และเมื่อรูปธรรมหนึ่งดับไป การดับไปของรูปธรรมนั้นไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปธรรมอื่นเกิดต่อ แต่รูปธรรมอื่นซึ่งเกิดต่อ เกิดเพราะสมุฏฐานของตนเป็นปัจจัย เช่น ทุกท่านขณะนี้มีจักขุปสาทกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จักขุปสาทใดซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ และกระทบกับรูปารมณ์ ก็เป็นปัจจัยให้จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์ เพราะอาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ แต่เมื่อจักขุปสาทดับไป การดับของจักขุปสาทนั้นไม่ใช่อนันตรปัจจัยที่จะให้จักขุปสาทต่อไปเกิดขึ้น แต่จักขุปสาทที่เกิดต่อจากจักขุปสาทที่ดับไปนั้น มีกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้ากรรมไม่กระทำให้จักขุปสาทเกิด บุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่ตาบอดทันที

    เพราะฉะนั้น การดับไปของจักขุปสาทไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้จักขุปสาทต่อไปเกิดขึ้น แต่การดับไปของจิตและเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตและเจตสิกต่อไปเกิดขึ้น นี่เป็นความต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

    นอกจากอนันตรปัจจัยก็มีสมนันตรปัจจัย ซึ่งหมายความว่า การเกิดต่อไปของจิตย่อมเป็นไปตามลำดับของปัจจัยด้วยดี เช่น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นสมนันตรปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นเป็นอารมณ์ที่กระทบจักขุปสาท แต่ถ้าเป็นเสียงที่กระทบโสตปสาท เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นเป็นสมนันตรปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น จิตแต่ละดวงเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นโดยประการต่างๆ คือ โดยเป็นปัจจัยต่างๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา โดยที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมนั้นๆ ได้ เช่น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จะไม่ให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับจักขุปสาท เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครที่สามารถยับยั้งได้เลย เพราะอะไร เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นสมนันตตรปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดหลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว แต่รูปไม่เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น สัมปยุตตปัจจัยก็ดี อนันตรปัจจัยก็ดี สมนันตรปัจจัยก็ดี เป็นปัจจัยที่เป็นนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย ไม่ใช่อนันตรปัจจัย ไม่ใช่สมนันตรปัจจัย

    สำหรับอาเสวนปัจจัยได้เคยกล่าวถึงแล้วในอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ คือ ที่ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถชวนวิถี ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วว่า สำหรับจิตที่เป็นชวนวิถีนี้ เกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ

    ชวนวิถีจิตขณะที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๒ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีจิตขณะที่ ๒ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๓ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีจิตขณะที่ ๓ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๔ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีจิตขณะที่ ๔ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๕ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีจิตขณะที่ ๕ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๖ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีจิตขณะที่ ๖ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๗ เกิดขึ้น

    นี่โดยเหตุโดยผล หลังจากนั้นแล้วไม่ใช่ชวนวิถี เพราะฉะนั้น ชวนวิถีจิตดวง ที่ ๗ ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะไม่ทำให้ชวนวิถีที่ ๘ เกิดขึ้นได้

    เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา และเกิดดับอยู่ทุกขณะในขณะนี้ ตามความเป็นจริง

    สำหรับนามธรรมซึ่งละเอียดว่ารูปธรรม เป็นสัมปยุตตปัจจัย เป็นอนันตรปัจจัย เป็นสมนันตรปัจจัย เป็นอาเสวนปัจจัย และยังมีอีก ๒ ปัจจัยซึ่งเฉพาะนามธรรมเท่านั้น คือ นัตถิปัจจัย และวิคตปัจจัย ความหมายท่านผู้ฟังก็คงทราบแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงโดยสภาพของปัจจัยว่าเป็นปัจจัยอย่างไร

    เช่น สภาพธรรมที่เป็นวิคตปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยเมื่อปราศไปแล้ว ถ้าตราบใดที่จิตดวงหนึ่งยังตั้งอยู่ คือ ยังไม่ดับไป จิตดวงต่อไปจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่มีจิตดวงใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเกิดซ้อนขึ้นมาอีก ๑ ดวง เพราะฉะนั้น การปราศไปของจิตเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นโดยวิคตปัจจัย หมายความว่า โดยสภาพที่ไม่มีเพราะหมดสิ้นไป ไม่ใช่ไม่มีเพราะไม่เกิดขึ้น

    . อนันตรปัจจัยกับสมนันตรปัจจัยในอรรถกถาท่านกล่าวว่า มีสภาพธรรมที่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า สมนันตรปัจจัยนั้นมีกำลังมากกว่าเท่านั้น แต่ผมคิดว่า ไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะว่าปัจจัยทั้ง ๒๔ เป็นโดยย่อ และเป็นปัจจัยที่ใหญ่ ปัจจัยใหญ่ๆ ไม่น่าจะเหมือนกันได้

    สุ. เหมือนกันโดยความหมายที่ว่า เวลาที่สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น จึงใช้คำว่า อนันตระ แต่เวลาที่ใช้คำว่า สมนันตระ ก็เพิ่มความหมายขึ้นมาอีกเล็กน้อย คือ ทำให้สภาพธรรมที่เกิดต่อ เกิดต่อเป็นลำดับด้วยดี

    อย่างไรก็ต้องเกิดต่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อนันตรปัจจัย กับสมนันตรปัจจัย ก็คือ เมื่อสภาพธรรมนั้นดับไป เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ แต่เมื่อเกิดต่อ ไม่ได้เกิดต่อแบบไม่มีระเบียบ หรือว่าตามใจชอบ หรือว่าตามใจใคร แต่ว่าการที่จะเกิดต่อได้นั้น ต้องเป็นไปตามลำดับด้วยดีของปัจจัยนั้น เช่น เมื่อจักขุวิญญาณดับไป จะให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น หรือปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทำทัสสนกิจแล้ว เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดดวงต่อไปจึงเป็นสัมปฏิจฉันนจิต ตามลำดับด้วยดี

    ถ. ทำไมอรรถกถาท่านไม่แสดงอย่างนี้ ท่านบอกว่าเหมือนกัน

    สุ. เหมือนกันโดยที่ว่า ไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดคั่น แต่จะต้องมีสภาพธรรมนั้น ตามปัจจัยนั้นเกิดต่อ

    . อาจารย์อธิบายเป็นระเบียบอย่างนี้ ก็พอที่จะเข้าใจว่า ถ้าจักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นอีก หรือจักขุทวาราวัชชนจิตจะเกิดต่ออีกไม่ได้ อย่างนี้ก็มีความต่างกัน ถ้าไม่ได้ฟังอาจารย์อธิบายอย่างนี้ ในอรรถกถาท่านบอกว่าเหมือนกัน ผมก็งง คิดว่าไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะปัจจัย ๒๔ เป็นปัจจัยโดยย่อ ปัจจัยใหญ่ๆ จะเหมือนกันได้อย่างไร ถ้าเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอีกชื่อหนึ่งทำไม ผมจึงคิดว่า ต้องมีความต่างกัน

    สุ. สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมคัมภีระจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ชัดถึงลักษณะที่ละเอียดและสุขุมของสภาพธรรมนั้นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของปัจจัย บางครั้งท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเพียงคำและรู้สึกว่า คล้ายคลึงกันมาก เช่น นามธรรมซึ่งเป็นปัจจัยแก่นามธรรมโดยเป็น นัตถิปัจจัย และวิคตปัจจัย

    นัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น และต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓ คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ ถ้าอุปาทขณะไม่มี แต่ฐีติขณะมี ภังคขณะมี นามธรรมอื่นก็ยังไม่สามารถที่จะเกิดต่อได้

    เพราะฉะนั้น ความหมายของปัจจัยของจิตที่เป็นนัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น และต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓ ถ้านามธรรมนั้นไม่ดับไป นามธรรมต่อไป คือ จิตและเจตสิกดวงต่อๆ ไปก็เกิดไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564