แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
ครั้งที่ ๙๘๙
สาระสำคัญ
วิบากจิตทั้งหมดเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง สมุทัย คือ เหตุของทุกข์ ขีณาสวะ ผู้ดับอาสวะหมดสิ้น
ในคราวก่อนได้กล่าวถึง นัตถิปัจจัย ซึ่งได้แก่ จิตและเจตสิกที่เป็นนามธรรม เป็นปัจจัยแก่นามธรรม ไม่เป็นปัจจัยแก่รูป เพราะว่านัตถิปัจจัยหมายความถึง ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น คือ ต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓
จิตมี ๓ ขณะ อุปาทขณะ เกิดขึ้น ฐีติขณะ ยังไม่ดับ และภังคขณะ ขณะที่ดับ ถ้ายังมีขณะหนึ่งขณะใดอยู่ เช่น อุปาทขณะ เกิดขึ้นแล้ว ยังมีฐีติขณะอยู่ ยังมีภังคขณะอยู่ ขณะนั้นจิตดวงอื่นไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ที่ว่าจิตดวงหนึ่งเป็น นัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น คือ ต้องไม่มีทั้ง ๓ ขณะ คือ ไม่มีทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ เมื่อไม่มีทั้ง ๓ ขณะแล้ว จิตและเจตสิกดวงต่อไปจึงเกิดขึ้นได้
นี่คือสภาพความเป็นนัตถิปัจจัยของนามธรรมให้เกิดนามธรรมต่อไป โดยความไม่มีของจิตดวงก่อน ถ้าจิตดวงก่อนยังคงอยู่ ยังเป็นฐีติขณะ ขณะนั้นก็ไม่สามารถให้นามธรรมอื่นเกิดต่อไปได้
นี่โดยความหมายของนัตถิปัจจัย ซึ่งนามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมเท่านั้น นอกจากนั้น จิตและเจตสิกยังเป็นปัจจัยโดยวิคตปัจจัยแก่นามธรรมซึ่งเกิดต่อ
วิคตปัจจัย คือ ธรรมที่อุปการะโดยความเป็นผู้ปราศไป ที่ว่าไม่มีนี้ ไม่ใช่ไม่มี โดยไม่เคยเกิดขึ้น แต่ที่ว่าไม่มี ไม่มีโดยการปราศไป หรือโดยการดับไป จึงจะเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น นี่คือความหมายของวิคตปัจจัย ซึ่งนามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม
ดูเหมือนว่า ยุ่งยาก แต่ความจริงไม่ยุ่งยากเลย เป็นจิตซึ่งกำลังมี แต่ว่าจิตนั้นเป็นปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะยังปัจจยุปบัน คือ ผล ธรรมอีกประเภทหนึ่ง อีกขณะหนึ่งให้เกิดขึ้นต่อจากจิตดวงนั้น
สำหรับสัมปยุตตปัจจัย ได้กล่าวถึงแล้วว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นสุขุมรูปเกิดร่วมกัน ก็ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย เพราะว่าสัมปยุตตปัจจัยนั้น หมายความถึงนามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมที่เกิดร่วมกัน และต้องเป็นปัจจุบันด้วย ไม่ใช่ในขณะที่ดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โดยนัยเดียวกันกับอนันตรปัจจัย หรือสมนันตรปัจจัย หรือนัตถิปัจจัย หรือวิคตปัจจัย เพราะว่าความหมายของสัมปยุตตปัจจัยนั้น หมายถึงขณะใดซึ่งนามธรรมชนิดใดเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้นามธรรมชนิดอื่นเกิดขึ้นพร้อมกัน ร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ในขณะเดียวกัน ซึ่งได้แก่ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกันนั่นเอง
นี่เป็นความละเอียด เพราะจิตดวงเดียวเป็นปัจจัยทั้งในขณะที่เป็นปัจจุบันและเป็นปัจจัยในขณะที่ดับไปแล้ว โดยประการต่างกัน
สำหรับการที่จิตเกิดขึ้นและดับไป เป็นปัจจัยให้นามธรรมต่อไปเกิดขึ้น มีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ อาเสวนปัจจัย เวลาที่เป็นชวนวิถีจิต ชวนวิถีที่เป็นอกุศลจิตขณะที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีที่เป็นอกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้น เพราะว่าชวนวิถีจะเกิดดับซ้ำกัน ประเภทเดียวกัน ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ชวนวิถีดวงที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีดวงที่ ๒ เกิดขึ้น ชวนวิถีดวงที่ ๒ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีดวงที่ ๓ เกิดขึ้น โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตดวงหนึ่งดวงใด ก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตประเภทเดียวกันกับดวงนั้นแหละเกิดซ้ำ ติดต่อกันถึง ๗ ขณะ โดยเป็นอาเสวนปัจจัย
ต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะกุศลและอกุศลที่เกิดซ้ำกัน ๗ ครั้ง มีกำลัง สามารถที่จะสะสมสืบต่อทำให้เกิดเป็นกิเลส กรรม และรักษาไว้ซึ่งวิบาก คือ สามารถที่จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้าได้
นี่คือชีวิตของแต่ละคน แต่ละขณะตามความเป็นจริง ซึ่งถ้ารู้ละเอียดขึ้นจะเห็นชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของจิตแต่ละประเภท แต่ละขณะ แต่ละปัจจัย
ถ้ารู้เพียงสัมปยุตตปัจจัย ก็ยังไม่เข้าใจความหมายที่ต่างกันที่เป็นอาเสวนปัจจัย ซึ่งหมายเฉพาะชวนวิถีที่เป็นกุศลเหมือนกัน หรืออกุศลเหมือนกัน ที่เกิดซ้ำจนกระทั่งมีกำลัง ทำให้สั่งสมเป็นสันดาน เป็นกิเลส เป็นกรรม และจะทำให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผลข้างหน้า
ถ. อาเสวนปัจจัย ทำไมเป็นปัจจัยเฉพาะชวนวิถีจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล เท่านั้น แต่วิบากจิต เช่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเหล่านี้ ก็มีหลายดวงเกิดดับสืบต่อกัน จะเป็นอาเสวนปัจจัยด้วยหรือเปล่า
สุ. ท่านผู้ฟังอย่าลืมประเภทของจิต จิตที่เป็นวิบากเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เกิดขึ้นเพราะความสมบูรณ์พร้อมของปัจจัย นอกจากกรรมเป็นกัมมปัจจัยแล้ว ก็ยังอาศัยปัจจัยอื่นที่พร้อมแล้วก็เกิดขึ้น ทำกิจเห็นแล้วก็ดับ ได้ยินแล้วก็ดับ ได้กลิ่นแล้วก็ดับ ลิ้มรสแล้วก็ดับ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วก็ดับ เป็นจิตที่อ่อนมาก ไม่มีกำลังเลย ถ้าท่านผู้ฟังจะกระทำกุศลกรรม จักขุวิญญาณ จิตเห็น ไม่ได้กระทำกุศลกรรมอะไรเลย จะให้จิตเห็นไปทำกรรมอะไรได้ไหม จะให้จิตเห็นซึ่งทำกิจเห็น เกิดขึ้นเห็น ทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ไหม ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ไม่ใช่วิบากจิต จิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็น เพียงเห็นแล้วดับ เคลื่อนไหว เดินเหิน พูดจา ทำอะไรไม่ได้เลย จิตที่ได้ยินอาศัยสัททะ คือ เสียง กระทบกับโสตปสาท เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้น พร้อมเจตสิกเพียง ๗ ดวงเท่านั้น และก็ดับที่โสตปสาทนั่นเอง เร็วมาก ทำอะไรไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียง ก็เพียงได้ยิน แต่ว่าหลังจากนั้น สัมปฏิจฉันนะซึ่งเป็นวิบากจิตดับไป สันตีรณะซึ่งเป็นวิบากจิตดับไป โวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิตดับไป ชวนวิถีจิตแล่นไปในอารมณ์ เป็นอาเสวนปัจจัย คือ ถ้าเป็นกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นดับไปแล้วก็เป็นปัจจัย คือ เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตประเภทเดียวกันนั้นแหละเกิดต่อ และเมื่อกุศลจิตดวงที่ ๒ นั้นดับไป ก็เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตประเภทนั้นแหละเกิดต่ออีก ซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง จึงมีกำลังที่จะกระทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ที่กำลังพูด กำลังเคลื่อนไหว จะเขียนจดหมาย จะใส่บาตร จะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ จักขุวิญญาณที่เห็นเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่โสตวิญญาณที่ได้ยิน แต่ว่าเป็นชวนวิถีจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล ที่เกิดซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง จึงมีกำลังที่จะกระทำกรรมสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้
วิบากจิตทำอะไรไม่ได้เลย เป็นจิตที่อ่อนมาก อาศัยกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ทำให้เกิดขึ้นและก็ดับไป เช่น ในขณะที่เป็นภวังค์ นอนหลับสนิท ไม่ฝัน ใครทำอะไรบ้างในขณะนั้น นอนหลับสนิทมีใครทำอะไรได้บ้าง ทำไม่ได้ วิบากจิตทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิตประเภทไหนทั้งสิ้น ปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน โดยเกิดขึ้นเป็นขณะแรกในภพนี้ชาตินี้และก็ดับไป ทำอะไรไม่ได้เลย วิบากจิต
ภวังคจิตซึ่งเกิดต่อ ดำรงภพชาติ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้ สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้เลยในขณะที่เป็นภวังคจิต ในขณะนั้นก็ทำอะไรไม่ได้
และเวลาที่กรรมเป็นปัจจัยให้มีการเห็นอารมณ์ของโลกนี้ ในขณะที่เห็นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิบากจิตทั้งหมดเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น ไม่เป็น อาเสวนปัจจัย ต่อให้วิบากจิตจะเกิดดับสืบต่อกันสักเท่าไร ก็ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะไม่สามารถที่จะทำให้เป็นกำลังเกิดขึ้น
ถ. วิบากจิตทำอะไรไม่ได้ และที่จะทำอะไรได้ เป็นจิตประเภทไหน
สุ. กุศลจิตหรืออกุศลจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับผู้ที่เป็น พระอรหันต์แล้ว ดับอกุศลและกุศล เพราะฉะนั้น ก็เป็นกิริยาจิต
ถ. สมมติว่า ผมรู้สึกร้อน เดินไปเปิดพัดลม จิตอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เดินไปเปิดพัดลม
สุ. อยากเปิดพัดลม ใช่ไหม อยากเปิดพัดลมเป็นอะไร เป็นโลภมูลจิต ของธรรมดาในชีวิตประจำวัน หนีไม่พ้น เป็นสมุทัยสัจ ยังจะต้องมีการเกิดอยู่อีกต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีสมุทัย คือ เหตุของทุกข์
ถ. หมายความว่า การเคลื่อนไหวทั้งหมดต้องเป็นชวนจิต เป็นปัจจัยทำให้เคลื่อนไหวเท่านั้นหรือ
สุ. แน่นอน อย่าลืมว่า วิบากจิตทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าวิบากจิตดวงไหนทั้งสิ้น จะไม่เป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวกายวาจาใดๆ
ถ. กิริยาจิตล่ะ
สุ. กิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ แทนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล
ถ. หมายความว่า ทางปัญจทวาราวัชชนะ
สุ. ถ้าไม่ถึงชวนวิถี ไม่สามารถจะเป็นเหตุให้กาย วาจา กระทำกิริยาอาการใดๆ ได้เลย
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่เคยรู้ว่า เวลาไปเปิดพัดลมนั้นเป็นจิตอะไร ต่อไปนี้จะได้หมดความสงสัย เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่จะเปิดพัดลมเท่านั้น ไม่ว่าจะทำกิริยาอาการใดๆ ทางกาย ทางวาจา ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล
ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้ฟังคงจะสังเกตพยัญชนะหนึ่งในพระไตรปิฎกที่ใช้คำว่า พระขีณาสพ หรือขีณาสวะ ซึ่งหมายความถึงผู้ที่ดับอาสวะ เพราะว่าอนุสัยแม้มีอยู่ก็จริง สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนก็ไม่ได้ดับอนุสัย กำลังนอนหลับสนิท อนุสัยครบสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ทิฏฐานุสัยก็มี วิจิกิจฉานุสัยก็มี อวิชชานุสัยก็มี มีครบ ยังไม่ได้ดับเลย แต่ว่าในขณะที่นอนหลับสนิทก็ไม่ได้ปรากฏว่าใครทำอะไร เห็นอะไร แต่เวลาที่ตื่น พ้นจากภวังค์แล้วเป็นวิถีจิต คือ การรู้อารมณ์ของโลกนี้ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะที่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่ใช่อนุสัยกิเลส เพราะเวลาที่เห็นไม่ใช่มีแต่เพียงจักขุวิญญาณ ยับยั้งไม่ได้เลยที่จะให้ถึงชวนวิถีที่จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่บาง ไม่รู้สึก นั่นเป็นลักษณะของอาสวะกิเลส
กิเลสมีหลายระดับ กิเลสที่ปรากฏ ลักษณะรุนแรงจนรู้สึกว่า เป็นจิตที่ เศร้าหมอง กระสับกระส่าย เดือดร้อน กระวนกระวาย นั่นเป็นกิเลสที่ทุกคนเข้าใจได้ แต่เวลาเห็นแล้ว วันหนึ่งๆ ตื่นขึ้นมาก็เห็น ไม่รู้สึกเลยใช่ไหมว่า เป็นกิเลสแล้ว เป็นความเศร้าหมองแล้ว ถ้าไม่ใช่โทสะ ความไม่แช่มชื่น และไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นอกุศลที่เป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต แต่เพราะความบางเบา ความละเอียด ก็ไม่รู้สึกว่า ขณะนั้นเป็นกิเลส เป็นอกุศล ซึ่งเป็นประเภทอาสวะ
เพราะฉะนั้น ความต่างกัน พระอรหันต์ท่านก็นอนหลับ แต่ว่าจิตของ พระอรหันต์แม้ภวังคจิตก็ไม่มีแม้อนุสัยกิเลส กิเลสทุกประเภทดับหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีแม้แต่เชื้อที่จะเกิดอีก แต่พระอรหันต์มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ดูเหมือนไม่ต่างกับปุถุชน ถ้าท่านไม่แสดงปัญญาให้เป็นที่รู้ มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นพระอนาคามีบุคคล ใครเป็นพระสกทาคามีบุคคล ใครเป็น พระโสดาบันบุคคล ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนปกติ เพราะว่าปัญญาไม่ใช่สิ่งที่จะปรากฏออกมาให้เห็นได้ทางตา เพราะฉะนั้น ย่อมไม่มีผู้ใดสามารถที่จะรู้ได้ถึงลักษณะของโลกุตรปัญญาซึ่งดับกิเลส
พระอรหันต์ก็ตื่นขึ้นเห็น แต่สำหรับผู้ซึ่งไม่ใช่พระอรหันต์ ตื่นขึ้นเห็น และก็ถึงอกุศลจิตอย่างบางที่ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์ แม้อกุศลอย่างบางที่เป็นอาสวะก็ไม่มี จึงเป็นขีณาสวะ ผู้ดับอาสวะหมดสิ้น
เวลาที่เป็นอนุสัย รู้ไม่ได้ ไม่ปรากฏ แต่พอลืมตาตื่นขึ้นเห็น ความต่างกันมีแล้วระหว่างผู้ที่เป็นปุถุชนกับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็คิดว่า ไม่มีกิเลส ใช่ไหม
เห็นเท่านั้นจะเป็นกิเลสได้อย่างไร บางคนก็ยังสงสัย แต่ให้ทราบว่า เป็นแล้วอยู่เรื่อยๆ เป็นความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเกิดดับ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นความยินดีพอใจแล้วในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้หน่าย ไม่ได้คลาย ยังอยากเห็น ยังอยากได้ยิน ยังอยากได้กลิ่น ยังอยากลิ้มรส ยังอยากเย็น ถ้าร้อน
นี่เป็นเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้ถึงความต่างกันว่า ปัญญาแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นดับกิเลสเป็นขั้นๆ อย่างไร เพราะว่าปุถุชนและพระอริยบุคคลก็ต่างกัน ปุถุชนไม่ใช่พระโสดาบัน
ถ้าเป็นปุถุชนซึ่งยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้แม้ในขณะที่มีสติว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร และไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธรรมก็อย่างหนึ่ง เป็นรูปธรรมก็อย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นความต่างกันของพาลปุถุชนและกัลยาณปุถุชน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020