แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
ครั้งที่ ๙๙๐
สาระสำคัญ
อถ. ธรรมสังคณี ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก กุศลที่มีกำลังจะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นผู้ชาย
สำหรับกัลยาณปุถุชนยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ยังไม่เบื่อ อย่าคิดว่าจะพ้นจากกาม คือ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้โดยง่าย อย่าคิดว่า หมดความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว โสตาปัตติมรรคจิตรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน จึงหมดความสงสัยในสภาพธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขารธรรมและวิสังขารธรรม แต่ว่าพระโสดาบันก็ไม่ใช่พระสกทาคามีบุคคล และพระสกทาคามีบุคคลก็ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล แต่แต่ละท่านรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง
พระอนาคามีบุคคลก็เห็น แต่ว่าพระอนาคามีบุคคลที่เห็น ต่างกับพระอรหันต์ ที่เห็น พระอนาคามีบุคคลเห็นจริงและดับกามฉันทะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ใช่ขีณาสวะ เพราะอาสวะไม่ใช่มีแต่กามาสวะอย่างเดียว นี่เป็นเรื่องละเอียด เป็นชีวิตตามปกติที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อที่จะอบรมปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่คลาดเคลื่อน
ถ. เมื่อชวนจิตดวงที่ ๑ เป็นกุศล ดวงที่ ๒ ถึง ๗ ต้องเป็นกุศลตลอด ใช่ไหม
สุ. ประเภทเดียวกันด้วย เพราะว่ากุศลจิตที่เป็นมหากุศลมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท เพราะฉะนั้น ทั้ง ๗ ขณะนั้นต้องเป็นมหากุศลประเภทเดียวกัน
ถ. เคยได้ยินว่า เวลาใกล้จะตายถ้าในชวนวิถีเป็นกุศลโดยตลอด เมื่อจุติแล้ว บุคคลนั้นเมื่อเกิดใหม่จะต้องเป็นเพศชาย แต่ถ้าเป็นกุศลสลับกับอกุศลจะต้องเป็นเพศหญิง ข้อความนี้เป็นจริงหรือไม่ประการใด
สุ. ต้องเข้าใจว่า ชวนวิถีจะต้องเหมือนกันตลอด ถ้าเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ ก็เหมือนกันทั้ง ๗ ขณะ ถ้าเกิดซ้ำกัน ๖ ขณะ ก็เหมือนกันทั้ง ๖ ขณะ ถ้าเกิดซ้ำกัน ๕ ขณะ ก็เหมือนกันทั้ง ๕ ขณะ จะสลับกันในระหว่างนั้นไม่ได้เลย
ถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังจะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นผู้ชาย แต่ว่าต้องแล้วแต่ฉันทะและอุปนิสัยด้วย เพราะถ้าเป็นผู้ชายแต่ว่าไม่เป็นพระอริยบุคคล กับเป็นผู้หญิงที่สามารถจะเป็นพระอริยบุคคลได้ ก็แล้วแต่ว่าท่านผู้ฟังจะเลือก แต่โดยตามความเป็นจริง ลักษณะของเพศชายนั้น เป็นเพศที่เข้มแข็ง กล้าหาญ แกร่ง กล้า กร้าว ยิ่งกว่า เพศหญิง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่อัธยาศัย ใครอยากจะเป็นผู้นำ ใครอยากจะเข้มแข็ง กล้าหาญ แกร่งกล้า กร้าว เป็นอัธยาศัย และก็ทำกุศล ก็อาจจะได้รับผล คือ เกิดเป็นเพศชาย แต่ถ้าใครไม่เห็นความสำคัญของการที่จะต้องเป็นหัวหน้า ความเข้มแข็ง ความแกร่ง กร้าว กล้า อาจจะทำให้ตัวเองต้องลำบากหลายอย่าง เป็นผู้หญิงก็ดีเหมือนกัน แล้วแต่อัธยาศัย
ถ. ในการเกิดซ้ำกันของชวนจิตถึง ๗ ขณะ จึงทำให้เกิดการกระทำกรรมแต่ละครั้ง ใช่ไหม สมมติว่า ชวนจิตเกิดไม่ครบ ๗ ขณะ จะมีการกระทำกรรมไหม
สุ. เวลาที่สลบ ชวนวิถีจิตเกิด ๖ ขณะ เวลาที่ใกล้จะตายในมรณาสันนวิถี ชวนวิถีจิตเกิด ๕ ขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ในเวลาเหล่านั้น ก็ต้องเป็นชวนวิถี ๗ วิถี
ถ. ในขณะที่คิดนึกอย่างนี้
สุ. ๗ ขณะ
ถ. อย่างนี้ถือว่าเป็นมโนกรรม ใช่ไหม
สุ. แล้วแต่ คิดเฉยๆ ก็เป็นแต่เพียงอกุศล ต่อไปจะรู้ว่ามโนกรรมมีกี่อย่าง และมีองค์เท่าไร ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้จะไปซื้อของ จะเป็นกรรมอะไรทางมโนทวาร จิตอะไรคิด ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น จิตอะไรที่คิด อยู่กับโลภมูลจิตจนไม่รู้จักโลภมูลจิตว่า แม้แต่ขณะที่คิด ก็เป็นโลภมูลจิตที่คิด ถ้าขณะนั้นเวทนา ความรู้สึก ไม่ใช่ความไม่แช่มชื่น ยากที่จะรู้ไหม ลักษณะของจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว
อรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ มีข้อความว่า
อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม วิจิตร คือ ต่างกัน
เจตสิกมี ๕๒ ประเภท แต่ว่าจิตดวงหนึ่งๆ ไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าอกุศลจิตจะประกอบด้วยอกุศลเจตสิกเท่าไร หรือว่ากุศลจิตจะประกอบด้วยโสภณเจตสิกเท่าไร ซึ่งทำให้จิตต่างกันออกไปโดยประเภทต่างๆ
ในการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด ควรที่จะได้ทราบลักษณะที่ต่างกันของจิตโดยประเภทใหญ่ๆ คือ โดยชาติ คือ การเกิดขึ้น มี ๔ ชาติ ตามที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑
ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้น มีวิบากจิตและกิริยาจิตด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า โดยปรมัตถธรรมซึ่งแสดงจิตโดย ชา - ติ - เภท คือ โดยประเภทของชาติ ไม่ได้หมายความถึงชาติชั้นวรรณะ หรือว่าชาติจีน ชาติไทย ชาติแขก แต่หมายความถึงจิตประเภทที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใคร จิตนั้นก็เป็นกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ไม่ว่าจะเกิดกับสมณะ ชี พราหมณ์ ชาติ ชั้นวรรณะ ผิวพรรณใดทั้งสิ้น อกุศลก็เป็นอกุศล นั่นเป็นสภาพของปรมัตถธรรม เพราะประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิก ที่เป็นอกุศล จิตจึงเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยโสภณเจตสิก จิตนั้นจึงเป็นกุศล
ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า
ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรมเป็นแผนกๆ แล้วทรงยกบัญญัติขึ้นตรัส ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก น้ำหรือน้ำมันหลายชนิดที่ใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน การมองดู ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจจะรู้ได้ว่าต่างกันเพราะสี กลิ่น และรสต่างกัน แม้จะเป็นได้ถึงอย่างนั้น การเช่นนั้นท่านก็พูดกันว่า ทำได้ยาก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งไม่มีรูปอยู่ในอารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์เดียวกัน เหล่านี้ ออกเป็นแผนกๆ แล้วยกบัญญัติขึ้นตรัส ชื่อว่า ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก
เพราะว่านามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดยิ่งกว่ารูปที่ละเอียด แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจำแนกลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดไว้โดยลักษณะที่ปรากฏ โดยกิจของธรรมแต่ละประเภท โดยอาการที่ปรากฏ และโดยเหตุใกล้ให้เกิดธรรมแต่ละประเภทนั้นๆ
ถ. ยากแน่ ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เรารู้ตามก็ยังยาก ทั้งๆ ที่อ่านไปแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าไม่ประจักษ์ลักษณะ จึงยากอย่างนี้ ถ้าประจักษ์ลักษณะแล้วไม่มีปัญหาอะไร เช่น ผัสสเจตสิก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า รูปารมณ์ จักขุวิญญาณ และจักขุปสาท ธรรม ๓ อย่างนี้ประชุมกันเมื่อไรเป็นผัสสะ อ่านแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าลักษณะของผัสสะไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่รู้
สุ. ลักษณะของผัสสะมีแน่ ใช่ไหม รับรอง และก็ไม่ปรากฏแน่ด้วย ใช่ไหม อยากจะให้ปรากฏหรือเปล่า อยาก ผิดแล้ว คือ อยาก สภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏ สติควรที่จะระลึกรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อน อย่าอยากรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ยังไม่ได้ปรากฏ อยากสักเท่าไรก็ไม่ปรากฏ และจะไม่มีวันปรากฏ เพราะความอยาก
ถ. อยากให้ปรากฏ เพราะรู้ว่ามี
สุ. มีทั้งนั้น เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท แต่ว่าขณะนี้เจตสิกอะไรปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏก็อย่าอยาก เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อน อย่างโลภะ เป็นประจำ รู้ด้วยใช่ไหมว่า ชอบสิ่งไหน ชอบอาหารอะไร ผลไม้อะไร สีอะไร เสียงอะไร ทุกคนก็รู้ แต่แม้อย่างนั้น สติก็ยังไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะของความยินดี ความติด ความพอใจ ความชอบ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในขณะที่เห็น หรือในขณะที่ได้ยิน หรือในขณะที่ได้กลิ่น หรือในขณะที่ลิ้มรส หรือในขณะที่กระทบสัมผัส หรือในขณะที่คิดนึก แม้โลภะซึ่งมีอยู่เป็นประจำและก็รู้ด้วยว่า เป็นความชอบ ความพอใจ สติก็ยังไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะของโลภะ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อน ไม่ต้องอยากอะไรทั้งนั้น เพราะมีสภาพธรรมที่ปรากฏให้ระลึกรู้ ซึ่งควรรู้ก่อน
ถ. การเจริญสติเป็นปกตินี้ยากที่สุด เพราะว่าอย่างไรๆ ความอยาก ความต้องการที่จะรู้ก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่เป็นปกติแล้ว ความต้องการ ความอยากรู้
สุ. ก็รู้ความอยากนั้นว่า เป็นความอยาก เป็นสภาพธรรมที่อยาก รู้อย่างนั้นถูก เพราะว่ามีสภาพธรรมอื่นปรากฏให้รู้ต่อไป สภาพที่อยากรู้นั้นก็เกิดปรากฏเพียงชั่วเล็กน้อย และก็ดับ และก็หมด
ถ. ข้อปฏิบัติที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกนั้นมีอย่างไร
สุ. จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวว่า จิตเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม
เช่น ความรู้สึกเป็นสุข ถ้าไม่มีจิต จะมีความรู้สึกเป็นสุขได้ไหม ไม่มีที่ตั้งของความรู้สึกเป็นสุข แต่ขณะใดที่เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข ขณะนั้นสุขเวทนาเกิดกับจิต จิตเป็นภูมิ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นที่เกิด เป็นที่อยู่ของสัมปยุตตธรรม คือ สุขเวทนา
ถ้าไม่มีจิต ทุกขเวทนาจะมีได้ไหม ถ้าไม่มีจิต โทมนัสเวทนาจะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้ แต่แม้กระนั้นก็รู้ได้ว่า โทมนัสเวทนา ความรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ น้อยใจ ไม่ใช่จิต เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต โดยจิตเป็นภูมิ เป็นที่เกิดของสัมปยุตตธรรม คือ ของเจตสิกนั้นๆ
ถ. จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่บางครั้งกลับรู้ยากกว่า เช่น เห็นครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นแล้วบางครั้งก็พอใจ บางครั้งก็ไม่พอใจ บางครั้งก็เฉยๆ โดยการศึกษาก็รู้ว่า ขณะที่เห็นนั้นเป็นจิตเห็น โดยการปฏิบัติ จิตเห็นก็ปรากฏ แต่ว่าปรากฏไม่ชัด ขณะที่ความไม่พอใจเกิดขึ้น บางครั้งชัดกว่า เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า จิตในบางครั้งกลับรู้ยากกว่า เจตสิกบางประเภทกลับรู้ง่ายกว่า
สุ. จิตก็ดี เจตสิกก็ดี เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ แต่ว่าเจตสิกนั้นมีลักษณะต่างๆ ตามประเภทของเจตสิก เช่น เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ หรือดีใจ หรือเสียใจในสิ่งที่จิตรู้ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องเข้าถึงอรรถที่เป็นลักษณะของนามธรรมทั้งจิตและเจตสิก เพราะว่าบางทีท่านผู้ฟังชินกับเรื่อง ดีใจก็บอกว่าดีใจ แต่ว่าไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะสภาพที่ดีใจ ชินกับเรื่อง เวลาที่โกรธก็บอกว่าโกรธ ชินกับเรื่องโกรธ ความโกรธ ชื่อโกรธ แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะที่เผา ที่ร้อน ที่ทำร้าย ที่กระด้างในขณะนั้นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทั้งสิ้น
ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ย่อมมีปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น ที่จะเห็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่า เป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สภาพรู้ทางตาก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ ไม่ใช่รูป จึงเป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ความรู้สึกชอบในสิ่งที่เห็นก็เป็นแต่เพียงสภาพที่น้อมไปชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงความรู้สึกติด หรือความรู้สึกพอใจ จะต้องเข้าถึงอรรถซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นนามธาตุจริงๆ
ถ. ช่วงนี้แหละที่จะทำให้คนเข้าใจผิด เกือบทั้งโลกเลย ถ้าเราไปบอกเขาว่า คุณไม่รู้จักความโกรธ ถ้าบอกเขาอย่างนี้ เขาต้องไม่พอใจว่า ทำไมเขาจะไม่รู้จักความโกรธ ไม่รู้จักความโลภ แท้ที่จริงเขารู้แต่เพียงชื่อ อย่างที่อาจารย์กล่าวว่า รู้จักชื่อ รู้จักเรื่อง แต่ไม่รู้จักลักษณะว่า ความโกรธมีลักษณะร้อน มีลักษณะแผดเผา อย่างนี้เขาไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะบอกเขาว่า ไม่รู้จักความโกรธ เขาจะต้องไม่พอใจแน่
สุ. เพราะฉะนั้น จะต้องศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม โดยละเอียด ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ในอดีตชาติไม่ทราบว่ากี่ชาติ และใน อนาคตชาติ ไม่ทราบว่าอีกกี่ชาติ เป็นกัปๆ เพื่อที่จะให้ประจักษ์ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เพียงเท่านี้ แต่ว่าสามารถที่จะรู้ตลอดหมดถึงลักษณะของนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะหมดความสงสัย จนสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ตลอดไปจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งชัดในลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส เท่านี้เอง คือ การที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทั้งโดยการฟัง ทั้งโดยการคิด ทั้งโดยการตรึกตรอง ทั้งโดยการสนทนา ทั้งโดยการอ่าน ทั้งโดยการถาม ทั้งโดยการพิจารณา ทั้งโดยการระลึกรู้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งมีอยู่เป็นประจำทุกขณะ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020