แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
ครั้งที่ ๙๙๒
สาระสำคัญ
รูปหยาบกว่านาม และนามหยาบกว่านิพพาน ความหมายของอัพยากตธรรม
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า รูปหยาบกว่านาม และนามหยาบกว่านิพพาน นิพพานก็สงเคราะห์เป็นนาม ผมไม่เข้าใจว่า นิพพานละเอียดกว่านาม ละเอียดอย่างไร
สุ. ละเอียดกว่า เพราะนามธรรมเป็นสภาพที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไม่มีในขณะนี้ เช่นในขณะที่กำลังเห็น เป็นชีวิตปกติธรรมดา ขณะที่เห็น คือ ขณะที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือจะใช้คำว่า เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ว่านามธรรมนั้นไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น อะไรละเอียดกว่ากัน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น หรือสภาพรู้ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ทางหูซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกขณะที่ได้ยิน เสียงปรากฏ เสียงไม่สูงไม่ต่ำ ไม่ดำ ไม่ขาว ไม่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนอย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เสียงก็ยังมีลักษณะที่สามารถรู้ได้ ปรากฏให้รู้ได้ทางหู แต่สภาพที่รู้เสียงไม่ใช่เสียงที่ปรากฏ สภาพที่รู้เสียงมีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุที่รู้เฉพาะเสียง คือ ได้ยินเสียง ไม่ว่าขณะใดที่เกิดขึ้นสภาพนั้นจะเป็นสภาพที่ได้ยิน คือ รู้เสียงที่กำลังปรากฏ
พิสูจน์ได้ในขณะนี้ เสียงปรากฏ เพราะมีสภาพที่รู้เสียง แต่สภาพที่รู้เสียงไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้น ลักษณะไหนจะละเอียดกว่ากัน เสียงที่ปรากฏทางหู หรือว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ที่รู้เสียงในขณะที่เสียงปรากฏ หรือการคิดนึก ทุกคนก็คิดอยู่เสมอ ความคิดปรากฏไหม ความคิดที่ว่าเป็นสภาพที่กำลังคิด มองเห็นไหม ไม่เห็นจิตที่คิด ไม่ได้ยินจิตที่คิด แต่รู้ว่าจิตกำลังคิด เพราะฉะนั้น สภาพที่คิดเป็นสภาพที่มีจริง เป็นนามธรรม ที่ว่าละเอียดเพราะเป็นนามธาตุ เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจการงานต่างๆ สืบติดต่อกันไปทุกขณะ คือ เกิดขึ้นและก็ดับไปๆ อย่างรวดเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏว่า ขณะไหนสภาพของจิตดวงไหนเกิดขึ้น และดับไป และขณะไหนสภาพของจิตดวงไหนเกิดต่อ และก็ดับไป
ถ. หมายความว่า ที่นามหยาบกว่านิพพาน ก็เพราะว่านามยังปรากฏได้
สุ. เกิดขึ้นทำกิจการงานและก็ดับไป
ถ. แต่นิพพานไม่ได้ปรากฏ
สุ. นิพพานไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นและดับไปเหมือนอย่างนามธรรม และไม่ใช่สภาพที่รู้อารมณ์ด้วย
ถ. ในพระสูตรท่านกล่าวว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นนิพพานเหมือนปุถุชนเห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ เวลานี้พระอาทิตย์มีอยู่ ถ้าต้องการก็เห็นได้ แต่ว่า นิพพานเวลานี้มีอยู่ด้วยหรือเปล่า
สุ. ใครเห็น
ถ. พระอริยเจ้าต้องเห็น
สุ. ขณะนั้นเป็นโลกุตตรจิตซึ่งประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ถ้าไม่ใช่ โลกุตตรจิต จิตอื่นจะประจักษ์ลักษณะของนิพพานไม่ได้
ถ. หมายความว่า ถ้าผู้ใดมีโลกุตตรจิตทั้ง ๘ เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็เห็นนิพพานในขณะนี้
สุ. ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน หมดความสงสัยในลักษณะของนิพพานธาตุ
ถ. ผมอ่านพระวินัยปิฎก เกิดความสงสัยข้อความในพระวินัยปิฎกที่ พระเจ้าพิมพิสารท่านเป็นพระโสดาบัน ทำไมพระโสดาบันจับคนที่ไม่มีความผิดไปติดตะรางโดยไม่ได้สอบสวน ทำไมเป็นอย่างนั้นไปได้ คือ ท่านพระปิลินทวัจฉะสั่งให้คนงานทำเงื้อมเขาให้สะอาด เพื่อให้เป็นที่เร้น พระเจ้าพิมพิสารไปหาท่าน พระปิลินทวัจฉะ ถามท่านว่า ให้คนงานทำความสะอาดที่เงื้อมเขานั้นเพื่ออะไร ท่านพระปิลินทวัจฉะก็ทูลเรื่องนั้นแด่พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็จัดถวายคนทำงานให้แก่ท่านพระปิลินทวัจฉะ ท่านพระปิลินทวัจฉะไม่ยอมรับ อ้างว่าเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงอนุญาต พระเจ้าพิมพิสารก็เลยขอให้ท่านพระปิลินทวัจฉะไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า เราจะถวายคนงานจะรับได้ไหม ท่านพระปิลินทวัจฉะก็รับว่าจะไปทูลถาม พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จกลับไป
ท่านพระปิลินทวัจฉะก็ได้ส่งสมณทูตไปทูลถามพระผู้มีพระภาคที่พระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคก็ให้ประชุมสงฆ์ และได้ทรงอนุญาตให้รับได้
วันรุ่งขึ้นพระเจ้าพิมพิสารก็ได้เสด็จมาหาท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นคำรบ ๒ ถามว่า เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร ท่านพระปิลินทวัจฉะก็ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้รับได้ พระเจ้าพิมพิสารก็ปวารณาว่า จะนำคนงานมาถวาย แต่ก็ลืม ลืมนานด้วย นานไปก็นึกได้ รู้แต่ว่าปวารณาไว้ แต่ไม่รู้ว่าถวายคนงานไปหรือยัง จึงตรัสถามมหาอำมาตย์ว่า ที่เราปวารณาแก่ท่านพระปิลินทวัจฉะว่าจะถวายคนงานนั้น ได้ถวายไปแล้วหรือยัง ท่านมหาอำมาตย์ก็ทูลว่า ยังไม่ได้ถวาย พระเจ้าพิมพิสารก็รับสั่งถามว่า ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้กี่วันแล้ว มหาอำมาตย์ก็ทูลว่า ๕๐๐ วัน พระเจ้าพิมพิสารก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นนำเอาคนงาน ๕๐๐ คน ไปถวายท่าน พระปิลินทวัจฉะ
ท่านมหาอำมาตย์ก็จัดหาคน ๕๐๐ คน ส่งไปถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ ซึ่งหมู่บ้านที่คนงานอยู่นั้น ก็ตั้งชื่อว่า หมู่บ้านปิลินทวัจฉะ ท่านพระปิลินทวัจฉะก็เป็นพระประจำหมู่บ้านนั้น
วันหนึ่งในหมู่บ้านนั้นเขาจัดงานกัน มีมหรสพ พวกผู้ใหญ่ เด็กเล็กต่างก็แต่งตัวกัน มีเครื่องแต่งตัวเท่าไรก็แต่งอวดกัน มีคนงานคนหนึ่ง ลูกสาวของเขามาขอระเบียบดอกไม้ เครื่องแต่งตัว พ่อแม่ก็บอกว่า เราเป็นคนจนจะไปซื้อดอกไม้และเครื่องแต่งตัวมาจากที่ไหน ไม่มีให้ เด็กหญิงนั้นก็ร้องไห้ พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น เมื่อเขาปูอาสนะถวายแล้ว ท่านปิลินทวัจฉะนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ถามคนงานนั้นว่า เด็กหญิงนั้นร้องไห้ทำไม พ่อแม่ของเด็กหญิงนั้นก็เรียนเรื่องราวให้ท่านพระปิลินทวัจฉะทราบ ท่านพระปิลินทวัจฉะก็หยิบเอาหมวกฟางส่งให้บิดาของเด็กหญิงนั้น และสั่งให้สวมหมวกฟางลงบนศีรษะของเด็กหญิง บิดาของเด็กหญิงก็รับหมวกฟางจากท่านพระปิลินทวัจฉะสวมลงบนศีรษะของเด็กหญิง เมื่อสวมใส่แล้ว หมวกฟางนั้นก็กลายเป็นระเบียบดอกไม้ทองคำ เป็นของที่สวยงามมาก ใครๆ ก็ชม เมื่อเด็กหญิงนั้นไปเที่ยวงาน ใครๆ เห็นเข้าก็บอกว่า ตระกูลนี้เป็นตระกูลคนจน ระเบียบดอกไม้ทองคำอย่างนี้เป็นของสวยงาม น่าดูน่าชม แม้ในพระราชวังก็ไม่มีแบบนี้ ชาวบ้านก็ไปทูลฟ้องพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารเมื่อทรงทราบก็จับตระกูลนั้นไปติดตะราง
เรื่องแค่นี้ ถ้าพระเจ้าพิมพิสารสอบสวนสักนิดเดียวก็จะรู้ได้ แต่ไม่ได้สอบสวนเลย ชาวบ้านไปฟ้องแค่นั้น ก็จับไปติดคุกติดตะราง ทำไมเป็นไปได้อย่างนั้น
สุ. ต่อจากนั้น สอบสวนไหม
ถ. ไม่ได้สอบสวน
สุ. จบเรื่องไปเลยหรือ
ถ. ยังไม่จบ ต่อจากนั้น วันรุ่งขึ้น ท่านพระปิลินทวัจฉะมาบิณฑบาตในหมู่บ้านปิลินทวัจฉะเช่นเคย เห็นตระกูลนั้นไม่มีใครอยู่ เลยสอบถามคนข้างบ้านว่า คนในตระกูลนี้ไปไหน ชาวบ้านก็กราบเรียนว่า คนในตระกูลนี้ถูกพระเจ้าพิมพิสารจับไปติดตะรางด้วยสาเหตุของเรื่องระเบียบดอกไม้ทองคำนั้น
ท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปในวัง พระเจ้าพิมพิสารก็จัดอาสนะถวาย ท่านพระปิลินทวัจฉะถามถึงคนทำงานวัดว่า ถูกลงอาชญาด้วยเรื่องอะไร พระเจ้า พิมพิสารกราบเรียนว่า เขามีระเบียบดอกไม้ทองคำ ซึ่งเป็นของน่าดูน่าชม สวยงาม แต่เขาเป็นคนจน เขาจะได้ระเบียบดอกไม้ทองคำนี้มาจากไหน นอกจากไปขโมยมา
ท่านพระปิลินทวัจฉะก็อธิษฐานให้ประสาทของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหลังเป็นทองคำหมด เมื่อประสาททั้งหลังเป็นทองหมด ก็ทูลถามพระเจ้าพิมพิสารว่า ทองคำมากมายนี้ มหาบพิตรได้มาจากไหน แค่นี้พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงทราบว่า เป็นด้วยฤทธิ์ของท่านพระปิลินทวัจฉะ จึงปล่อยคนทำงานของวัดนั้น ผลสุดท้ายก็ปล่อย แต่ตอนจับไม่ได้สอบสวนถามไถ่
ผมเดาว่า พระโสดาบันยังไม่ได้ละอภิชฌาและโทมนัส ซึ่งระเบียบดอกไม้ทองคำนั้นในพระราชวังไม่มี เพราะฉะนั้น พระเจ้าพิมพิสารคงจะต้องการระเบียบดอกไม้ทองคำนั้นจากตระกูลคนทำงานวัด จึงจับเขาเข้าตะราง เพื่อจะได้ระเบียบดอกไม้ทองคำนั้น จะเป็นไปได้ไหม
สุ. อทินนาทานหรือเปล่า
ถ. กฎหมายโบราณเขามีอยู่แล้วว่า ของที่ไม่มีเจ้าของจะต้องเป็นของหลวงทั้งนั้น ตระกูลนี้ถูกจำคุกไปทั้งตระกูลแล้ว ระเบียบดอกไม้ทองคำก็ไม่มีเจ้าของ เมื่อไม่มีเจ้าของก็ต้องตกเป็นของพระราชาแน่นอน จะว่าเป็นอทินนาทานไม่ได้
สุ. ยากที่จะรู้จิตของบุคคลเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี ขณะเดี๋ยวนี้ เหตุการณ์ แต่ละคดี แต่ละเรื่อง ก็ยังต้องหาหลักฐาน ยังต้องพิจารณาว่า เรื่องจริงนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น แม้แต่ในขณะนี้ ถ้าจะยกเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นมา มีท่านผู้ฟังท่านใดบ้างที่จะรู้ความจริงของเรื่องนั้นโดยตลอด โดยแท้จริง นอกจากว่าบางคนอาจจะได้ยินอย่างนี้ บางคนอาจจะได้ยินอย่างอื่น แต่ความจริงเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครทราบได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรคิดว่า ผู้ที่เป็นพระโสดาบันนั้น ยังมีความยินดี เพ่งเล็ง อยากได้ ต้องการวัตถุของบุคคลอื่นมาเป็นของตนโดยความไม่ชอบธรรม
และถ้าท่านพระปิลินทวัจฉะไม่แสดงเหตุผลเรื่องการกระทำของท่าน บุคคลอื่นจะรู้ได้ไหม เมื่อรู้ไม่ได้ บุคคลอื่นนั้นจะคาดคะเน หรือคิดอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินไปเป็นขั้นตอน แต่ไม่ควรที่จะคิดว่า พระโสดาบันยังมีอกุศลจิตขั้นนั้น
ถ. ยักษ์ท่านหนึ่ง ท่านผู้นั้นจะเป็นพระเจ้าพิมพิสารหรือเปล่า ได้ยินว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันจะต้องไม่เป็นยักษ์ หรือจะไปเกิดเป็นยักษ์ตอนที่ถูกฆ่าตาย
สุ. ยักษ์เป็นเทพพวกหนึ่ง เพราะฉะนั้น พระเจ้าพิมพิสารเมื่อท่านสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไปเกิดในภูมินั้น ชื่อว่าชนวสภะ เพราะท่านมีความผูกพันอยู่ในภพนั้นหลายชาติ ใครที่เคยอยู่ในภพไหนบ่อยๆ จิตใจย่อมผูกพัน ระลึกถึง ใคร่ที่จะอยู่ในภพภูมิที่เคยอยู่
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงลักษณะของจิตซึ่งวิจิตรต่างๆ กัน โดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งจำแนกออกโดยชาติ ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่ง เป็นกุศลจิตประเภทหนึ่ง เป็นวิบากจิตประเภทหนึ่ง เป็นกิริยาจิตประเภทหนึ่ง
ไม่ว่าจะได้ยินชื่อจิตอะไร ควรที่จะได้ทราบว่า จิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร ถ้าเป็นอกุศลก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา ถ้าเป็นกุศล ก็ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา ถ้าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งกรรมมี ๒ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ เพราะฉะนั้น วิบากก็เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑
อย่าพูดสั้นๆ ว่า อกุศล ถ้าท่านมุ่งหมายถึงผลของอกุศล แต่จะต้องพูดว่า อกุศลวิบาก เพราะอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศล และกุศลวิบากเป็นผลของกุศล กุศลวิบากไม่ใช่กุศล กุศลวิบากเป็นผลซึ่งมาจากเหตุ คือ กุศล ดังนั้น กุศลเป็นเหตุ และกุศลวิบากเป็นผล ต้องพูดให้เต็ม เพื่อจะได้ไม่สับสน
และสำหรับจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะเป็นสังขารธรรม ซึ่งส่วนมากกิริยาจิตเป็นของพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ท่านดับอกุศลและกุศล ยังคงมีแต่วิบากซึ่งเป็นผลของอดีตกุศลและอกุศล และกิริยา ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดวิบากหลังจากที่เป็น พระอรหันต์แล้ว
เมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมโดยชาติที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ในบางแห่งท่านผู้ฟังจะได้ยินศัพท์อื่น คือ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ซึ่งควรที่จะได้เข้าใจความหมายของธรรมทั้ง ๓ คือ
ธรรมที่เป็นกุศล กุสลา ธมฺมา ธรรมที่เป็นอกุศล อกุสลา ธมฺมา และธรรมที่เป็นอัพยากตะ อพฺยากตา ธมฺมา
ความหมายของอัพยากตธรรม คือ ธรรมใดๆ ที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๙๙๑ – ๑๐๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020