แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995


    ครั้งที่ ๙๙๕

    สาระสำคัญ

    เครื่องผูกที่ผูกสัตว์อยู่ในภพทุกคน ท่านพระสารีบุตรอุปมาสังโยชน์ การผูกไว้ในภพทั้ง ๓


    เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    กามภพ ชื่อว่าเกิดขึ้นในภายใน รูปภพและอรูปภพ ชื่อว่ามีในภายนอก

    ที่ว่า ในภายใน คือ ใกล้เหลือเกิน มีอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อยู่เสมอ เป็นอาจิณ เป็นนิจศีล เป็นภายใน เป็นผู้ใกล้ชิด

    ส่วนรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่ามีในภายนอก ไกลจริงๆ ไกลทั้งการที่จะบรรลุถึง และการที่จะเกิดในภพภูมิเหล่านั้น

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวต่อไปว่า

    ฉันทราคะในกามภพ กล่าวคือ อัชฌัตตะ ชื่อว่าอัชฌัตตสังโยชน์ ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพ กล่าวคือ พหิทธา ชื่อว่าพหิทธาสังโยชน์

    อัชฌัตตสังโยชน์ คือ สังโยชน์ในภายใน พหิทธาสังโยชน์ คือ สังโยชน์ในภายนอก เป็นการจำแนกธรรมโดยนัยต่างๆ ซึ่งธรรมที่มีอยู่ คือ จิต เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวๆ แต่ความวิจิตรของสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วย ทำให้จิตต่างกันออกไปเป็นประเภทต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คือ ฉันทราคะในกามภพ กล่าวคือ อัชฌัตตะ ชื่อว่าอัชฌัตตสังโยชน์ เป็นสังโยชน์ภายในที่ใกล้มาก ที่มีอยู่เป็นประจำ สำหรับ ฉันทราคะในรูปภพและในอรูปภพ กล่าวคือ พหิทธา ชื่อว่าพหิทธาสังโยชน์

    ท่านอยากจะเกิดเป็นพระพรหมไหม หรือไม่อยาก เทวดาก็ดูจะต่ำไป เพราะว่าพรหมภูมินั้นสูงกว่าเทวภูมิ เทวโลก ซึ่งเป็นสวรรค์ ๖ ชั้น แต่ถึงแม้ว่าจะมีความพอใจ อยากจะเป็นพรหมบุคคล ความพอใจนั้นก็ยังน้อยกว่าความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งพัวพันอยู่ตลอดเวลา ทั้งพัวพันและผูกพันอย่าง เหนียวแน่น ทำให้ถึงแม้จะเห็นว่ารูปพรหมประณีตกว่า สบายกว่าสวรรค์ ๖ ชั้น แต่ก็ยังเป็นพหิทธาสังโยชน์ คือ ยังเป็นสังโยชน์ภายนอก ซึ่งแสนไกลกว่าการที่จะพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในกามภูมิ

    เพราะฉะนั้น เป็นการแสดงธรรมซึ่งเกิดขึ้นปรากฏแต่ละขณะ ซึ่งต่างกันไป วิจิตรต่างๆ ด้วยสัมปยุตตธรรม โดยนัยต่างๆ อย่างธรรมที่เป็นสังโยชน์ เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่ประกอบ คือ ผูกพัน บุคลผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ทุกท่านดูเหมือนนั่งสบาย นอนสบาย มีอิสระเสรี แต่ว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่อิสระ เพราะสังโยชน์ผูกไว้ ไม่ให้พ้นไปจากภพภูมิต่างๆ

    มีใครรู้สึกตัวว่า ถูกผูกไว้บ้าง พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดครั้งหนึ่งทางตา นั่นแหละสังโยชน์ผูกไว้ แล้วแต่ว่าจะเป็นสังโยชน์ภายในที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผูกไว้ในกามภูมิ หรือว่าจะยินดีพอใจในรูปฌาน อรูปฌาน ซึ่งเป็นสังโยชน์ที่ผูกไว้ในภายนอก คือ นอกจากกามภูมิ

    ถ. ที่อาจารย์บรรยายเรื่องเครื่องผูกที่ผูกสัตว์ไว้ในภพในภูมิ ผมเองก็เคยสังเกตว่า บางอาชีพที่เราคิดว่ามีเกียรติ เราอยากจะเป็นเหลือเกิน เราอยากจะได้อาชีพอย่างนั้น เช่น ทำงานธนาคาร ผมสังเกตว่า พนักงานธนาคารเหล่านี้ก็เหมือนคนติดคุกอย่างหนึ่ง เป็นอาชีพที่ไม่สามารถจะปลีกตัวไปไหนได้ เป็นอาชีพที่รัดตัวมาก จะไปไหนก็ต้องขออนุญาตผู้จัดการ วันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องปิดบัญชี ต้องอยู่จนดึก ไม่มีอิสระเสรีเลย ถ้านึกให้ดีๆ แม้แต่ว่าอาชีพที่ดีๆ อย่างนี้ ก็เหมือนกับเป็นตะราง ชนิดหนึ่ง แต่ว่าเป็นตะรางที่ละเอียดอ่อน หรือในระดับสูง ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็น อย่างนี้จะเป็นเครื่องผูกหรือเปล่าไม่ทราบ

    สุ. ผูกอยู่ในภพทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ในธนาคาร เวลานี้ทุกคนก็กำลังถูกผูกแล้ว ทางตาก็ถูกผูกไว้กับสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่มีความยินดีพอใจ ทางหูก็ถูกผูกไว้กับเสียง เพราะฉะนั้น ทุกท่านถูกผูกไว้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในกามภูมิ จึงไม่เกิดในรูปภูมิ หรืออรูปภูมิ หรือถ้าเกิดในรูปภูมิ ก็อย่าคิดว่า ไม่ได้ถูกผูก ยังคงถูกผูก และถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล แท้ที่จริงแล้วถูกผูกในกามภูมิ เพราะยังไม่ได้ดับสังโยชน์ ยังคงถูกผูกไว้กับกาม เพียงแต่ว่ากิเลสเหล่านั้นถูกข่มไว้ด้วยกำลังของสมาธิ ความสงบที่มั่นคง จึงสามารถทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ แต่สังโยชน์ที่ผูกไว้ในกามภูมิไม่ได้ถูกตัด เพราะฉะนั้น ถึงจะเกิดในรูปพรหมภูมิ เชือกยาวมาก คือ ปล่อยไปจนถึงรูปพรหมก็จริง แต่ก็จะถูกดึงกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ต้องเกิดในกามภูมิอีก จนกว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล

    ดังนั้น ถูกผูกไว้แน่น เวลานี้ ไม่ได้เคยคิดจะตัด หรือที่จะคลายสิ่งที่ผูกมัดอย่างเหนียวแน่นนี้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    อาชีพแต่ละอาชีพทำให้ดูเหมือนกับถูกผูก ขาดอิสระเสรีใช่ไหม แต่แท้ที่จริงแล้วทุกคนถูกผูกทั้งนั้น ในขณะที่มีความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ข้อความต่อไป ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    กามธาตุ ท่านกล่าวว่า ต่ำ เพราะให้สำเร็จการเกิดในกามภพ

    อย่าลืมว่า ภูมิหรือระดับขั้นของจิต มีถึง ๔ ขั้น คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตตรภูมิ สำหรับกามภูมิ ไม่ต้องปรารถนาก็เกิดอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว เป็นภูมิขั้นต่ำ ซึ่งแม้ว่าจะรู้ว่าต่ำ ก็ยังไม่สามารถที่จะพ้นไปได้ เพราะถูกผูกไว้ด้วยสังโยชน์ภายใน คือ อัชฌัตตสังโยชน์

    ข้อความต่อไป

    สังโยชน์ทั้งหลายย่อมคบหากามธาตุอันต่ำนั้น เหตุนั้นสังโยชน์เหล่านั้น ชื่อว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์

    เป็นศัพท์ภาษาบาลี ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังจะค่อยๆ ชิน และเข้าใจความหมายว่าสังโยชน์มีหลายนัย อาจจะแสดงโดยสังโยชน์ภายใน เป็นอัชฌัตตสังโยชน์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกวันเป็นประจำ จนกระทั่งใกล้ชิด จนกระทั่งเป็นภายใน ส่วนความพอใจในรูปภพและอรูปภพ เป็นพหิทธาสังโยชน์ เพราะแสนไกลที่จะพอใจและที่จะบรรลุถึง นี่โดยนัยหนึ่ง นอกจากนั้นยังมี โอรัมภาคิยสังโยชน์ และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ อีกนัยหนึ่ง

    สำหรับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ได้แก่ สังโยชน์ทั้งหลายซึ่งย่อมคบหากามธาตุ อันต่ำ เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเป็นสังโยชน์ที่พัวพัน คบหากามธาตุอันต่ำ จึงชื่อว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์

    แต่ถ้าเป็นอุทธัมภาคิยสังโยชน์ เป็นสังโยชน์ขั้นสูง เบื้องสูง ซึ่งละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังยินดีพอใจในรูปภูมิ และในอรูปภูมิ และกิเลสที่ละเอียดกว่าขั้นกามภพ

    ข้อความต่อไป ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    สังโยชน์ทั้งหลายย่อมคบหารูปธาตุ และอรูปธาตุอันสูงนั้น ในรูปภพและ อรูปภพนั้น เหตุนั้นสังโยชน์เหล่านั้น ชื่อว่าอุทธัมภาคิยสังโยชน์

    นอกจากนั้น ท่านพระสารีบุตรยังได้อุปมาสังโยชน์ การผูกไว้ในภพทั้ง ๓ ว่า

    กามภพ เป็นเหมือนคอกโค ส่วนอวิชชา เป็นเหมือนเสาหลักที่คอกของลูกโค

    สังโยชน์ทั้ง ๑๐ คือ ทั้งโอรัมภาคิยสังโยชน์ และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ เป็นเหมือนเชือกสำหรับผูกลูกโคที่เสาหลัก และสัตว์ที่เกิดแล้วในภพทั้ง ๓ เป็นเหมือนลูกโค เพราะฉะนั้น ขออุปมาท่านทั้งหลายเหมือนกับลูกโค โดยนัยการแสดงธรรมของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านกล่าวว่า

    ชนทั้งหลายทำคอกแล้ว ก็ปักหลักเอาไว้ในคอก เอาเชือกผูกลูกโค แล้วก็ผูกไว้กับหลักในคอก แต่พอเชือกไม่พอ ก็จับหูของลูกโคบางตัว ต้อนเข้าไปในคอก แต่ว่าไม่ได้ผูก และเวลาที่ที่ว่างในคอกมีน้อย เต็มแล้ว ก็เอาหลักไปปักไว้ข้างนอกคอกอีก แล้วก็เอาเชือกผูกลูกโค ผูกไว้กับหลักข้างนอกคอก ถ้าเชือกไม่พอ ก็จับหูของลูกโค แล้วก็ปล่อยเอาไว้ข้างคอกนั้น

    เพราะฉะนั้น กามภพ เป็นเหมือนคอกโคซึ่งมีหลักปักไว้ และเอาเชือกผูกลูกโค ผูกไว้กับหลักซึ่งปักไว้ในคอก แต่เพราะลูกโคมีมาก ที่ว่างในคอกไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ปักหลักไว้ข้างนอกคอกด้วย เอาเชือกผูกลูกโคไว้ และผูกไว้ที่หลักที่ปักไว้ข้างนอกคอกด้วย แต่สำหรับโคบางตัว ก็เพียงแต่จับหู ไม่ได้ผูก เพราะเชือกไม่พอ

    ซึ่งมีคำอุปมาว่า ลูกโคที่ผูกไว้ข้างใน อย่าลืม เอาเชือกผูกลูกโค และผูกไว้ที่หลักข้างในคอก ลูกโคที่ผูกไว้ข้างในคอกที่หลักนั้น ออกไปนอนข้างนอก เพราะความร้อนเบียดเบียน และเชือกนั้นก็ยาวพอที่ลูกโคนั้นจะออกไปนอนข้างนอกได้ หมายถึง พระโสดาบันและพระสกทาคามีในรูปภพและในอรูปภพ คือ ท่านยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในกามเป็นสมุจเฉท แต่เพราะข้างในคอกนั้นร้อน ท่านถูกความร้อนเบียดเบียน เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ก็มีพระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคลที่เกิดในรูปภพบ้าง ในอรูปภพบ้าง แต่เชือกยังอยู่ เพราะยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชนไม่จำเป็นต้องกล่าวเลย ถูกผูกไว้แล้ว ทุกท่านก็รู้ดีว่า ท่านผูกไว้ในคอก และผูกไว้กับหลักข้างในคอก หรือว่าเชือกจะยาวจนท่านจะไปเกิดในรูปภพ อรูปภพได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่ก็เป็นประเภทหนึ่ง

    สำหรับลูกโคบางตัวที่ถูกผูกไว้จากหลักข้างนอก แต่ตัวเข้าไปนอนข้างใน ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลในกามาวจรภูมิ คือ ท่านดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว แต่ว่าถูกผูกไว้ในรูปภพและอรูปภพ เพราะยังไม่ได้ถึงความเป็น พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหมือนลูกโคที่ผูกไว้จากหลักข้างนอก แต่ว่าเข้าไปนอนข้างใน คือ อาศัยอยู่ในกามภูมิก็จริง แต่ว่าผูกพันแล้วในรูปภพและอรูปภพ

    ในกามาวจรภูมิ ในมนุษย์ภูมิ มีพระอนาคามีบุคคลไหม มีได้ไหม มีได้ เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคลในกามภูมิ ในมนุษย์ภูมิ เป็นต้น ท่านอยู่ในกามภูมิ ในมนุษย์ภูมิ อุปมาเหมือนลูกโคที่นอนในคอก แต่ว่าถูกผูกไว้จากหลักข้างนอก คือ ถูกผูกไว้ในรูปภูมิและอรูปภูมิ ดับความยินดีพอใจในกามแล้ว แต่เพราะเกิดในกามภูมิ ในมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตัวนอนในคอก แต่ถูกผูกไว้ที่หลักนอกคอก คือ เกิดใน กามภูมิ แต่ถูกผูกไว้ในรูปภูมิและอรูปภูมิ ไม่ใช่ถูกผูกไว้ในกามภูมิ

    ยุ่งยากไหม แต่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น ซึ่งจะต้องเข้าใจแม้ใน คำอุปมา คือ ให้ทราบว่า มีบุคคลต่างๆ และมีการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ มีสังโยชน์ที่ผูกพันบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในภพภูมิต่างๆ

    สำหรับลูกโคอีกพวกหนึ่ง เป็นลูกโคที่ถูกผูกไว้ข้างใน แล้วก็นอนข้างใน

    อันนี้ไม่ยาก ได้แก่ พระโสดาบันและพระสกทาคามีในกามาวจรภูมิ เป็นลูกโคซึ่งผูกไว้ข้างใน และนอนข้างในด้วย ไม่ได้ออกไปข้างนอก

    ผูกไว้ข้างใน คือ ยังเป็นผู้ถูกผูกไว้ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และนอนข้างใน คือ อยู่ในมนุษย์ภูมิ หรือว่าในกามาวจรภูมินี่เอง

    สำหรับลูกโคบางตัว ก็ถูกผูกไว้ข้างนอก และก็นอนข้างนอก ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลในรูปภพ และในอรูปภพ ไม่เกี่ยวข้องกับกามทั้งในการเกิดและในสังโยชน์ที่ถูกผูกไว้ คือ ผูกไว้ข้างนอก และก็นอนข้างนอกด้วย ไม่เกิดในกามภูมิอีกต่อไป แต่ว่ายังถูกผูกอยู่ แต่ถูกผูกไว้ข้างนอก

    สำหรับลูกโคบางตัว ไม่ได้ผูกไว้ข้างใน ย่อมเที่ยวไปภายใน ได้แก่ พระขีณาสพในกามาวจรภูมิ ไม่ได้ถูกผูกไว้ แต่ว่าเที่ยวไปในภพ คือ ในกามาวจรภูมิ

    พระอรหันต์ในโลกนี้มีใช่ไหม ได้แก่ ลูกโคที่ไม่ได้ถูกผูกไว้ และเที่ยวไปข้างในคอก เพราะไม่ได้เกิดในรูปภพและอรูปภพ

    สำหรับลูกโคบางตัว ไม่ได้ผูกไว้ภายนอก และเที่ยวไปในภายนอก ซึ่งก็ได้แก่ พระขีณาสพซึ่งเกิดในรูปภพและอรูปภพ ไม่ได้ถูกผูกไว้ทั้งภายนอก แต่ก็เที่ยวไปในภายนอก

    ถ. ในพระสูตรกล่าวถึงพระอริยบุคคลทั้งนั้น ปุถุชนผู้ที่หนาไปด้วยกิเลส จะเป็นวัวประเภทไหน

    สุ. อย่างประเภทที่ ๑ ที่เป็นลูกโคที่ผูกไว้ข้างใน แต่ออกไปนอนข้างนอก เพราะเชือกยาว ก็ได้แก่พระโสดาบันและพระสกทาคามี ซึ่งยังไม่ได้ดับความยินดีในกาม เพราะฉะนั้น ถูกผูกไว้ข้างใน แต่ออกไปนอนข้างนอก คือ เกิดในรูปภูมิและ อรูปภูมิ ฉันใด ปุถุชนก็เหมือนกัน คือ ยังเป็นผู้ที่ไม่ได้ละความยินดีในกาม เพราะฉะนั้น ก็ถูกผูกไว้ในคอก คือ ถูกผูกไว้ด้วยกาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ก็สามารถที่จะไปเกิดในรูปภพ หรืออรูปภพได้ เพราะว่าเชือกนั้นยาว แต่ก็ต้องกลับมาสู่กามภูมิอีก

    เรื่องของภูมิเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไหม

    แสดงให้เห็นว่า มีจิตอีกหลายประเภทที่จะต้องศึกษาให้ทราบความละเอียด แต่สำหรับผู้ที่ยังถูกผูกไว้เหนียวแน่นมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะมีจิตที่เป็นประเภทกามาวจรจิตทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๙๙๑ – ๑๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564