แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997


    ครั้งที่ ๙๙๗

    สาระสำคัญ

    ภูมิซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ทรงแสดงลักษณะต่างๆ ของจิต และภูมิต่างๆ


    มนุษย์ทุกคนมีโรคประจำตัว ประจำวัน คือ โรคหิว จะว่าไม่มีโรคไม่ได้ เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ถ้าหิวมากๆ จะรู้สึก แต่ว่าถ้าหิวเล็กน้อยและรับประทานอาหารอร่อยๆ ก็เลยลืมว่า แท้ที่จริงความหิวไม่ใช่ความสบายกายเลย เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขบรรเทาให้หมดไป แต่สำหรับคนซึ่งบางครั้งหิวมากและไม่ได้รับประทาน ก็คงจะรู้รสของความหิว รู้รสของความทุกข์ของความหิวว่า ถ้ามีมากกว่านั้นจะเป็นอย่างไร

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้มีมิตรสหายมาก วันหนึ่งท่านรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ไม่ได้รับประทานอาหาร พอถึงค่ำรู้เลยว่า ความหิวที่แสนทรมาน ที่ใช้คำว่าแสบท้องหรือแสบไส้นั้นเป็นอย่างไร และท่านก็ไม่สามารถจะรีบร้อนรับประทานเพื่อที่จะแก้ความหิว เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็คงจะต้องเป็นลม หรือว่าเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ก็ต้องค่อยๆ บริโภคแก้ไขความหิวไปทีละน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นลมแสดงให้เห็นว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เป็นโรคประจำวัน ยังไม่ต้องพูดถึงโรคอื่น แต่ว่านี่เป็นโรคประจำตัว ประจำวัน

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นเปรตจะหิวสักแค่ไหน เพราะในภูมิเปรตไม่มีการค้าขาย ไม่มีการกสิกรรม จะไปปลูกข้าวทำนา หุงข้าวเอง หรือว่าจะไปซื้อไปขาย ไปแลกเปลี่ยนอะไรกับใครเพื่อที่จะได้อาหารมาบริโภคก็ไม่ได้ในภูมินั้น เพราะอยู่ด้วยผลของกรรม

    บางพวกก็สามารถที่จะอนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น และกุศลจิตที่อนุโมทนานั้นเองเป็นปัจจัยให้ได้รับอาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตน หรือว่าอาจจะพ้นสภาพของการเป็นเปรต โดยจุติและปฏิสนธิในภูมิอื่น เมื่อหมดผลของกรรมที่จะเป็นเปรตต่อไป เพราะฉะนั้น นี่เป็นผลของอกุศลกรรม

    สำหรับอีกภูมิหนึ่ง คือ อสุรกาย เป็นภูมิซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่เบากว่าอกุศลกรรมอื่น เพราะผู้ที่เกิดในภูมินี้เป็นผู้ที่ไม่มีความรื่นเริงใดๆ เท่านั้นเอง ในภูมิมนุษย์มีหนังสือพิมพ์อ่าน มีหนังมีละครดู มีเพลงฟัง แต่ในอสุรกายภูมินั้น เป็นภูมิที่ไม่รื่นเริง ไม่สามารถแสวงหาความเพลิดเพลินสนุกสนานได้เหมือนอย่างในสุคติภูมิ

    เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลกรรมมีต่างกัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิด เป็นผลของอกุศลกรรมก็ต่างกันด้วย

    สำหรับภูมิซึ่งเป็นผลของกุศล มี ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖

    สำหรับมนุษย์ภูมิที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎก มี ๔ ทวีป คือ

    ๑. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ

    ๒. อปรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ

    ๓. ชมพูทวีป คือ โลกนี้ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ

    ๔. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ

    เวลานี้ทุกคนเห็นแต่ชมพูทวีป เพราะว่าอยู่ในชมพูทวีป ชมพูทวีปจะมีอะไรบ้าง ท่านที่ท่องเที่ยวไปก็เห็นอารมณ์ต่างๆ ของชมพูทวีป แต่ยังไม่สามารถที่จะไปถึงทวีปอื่น หรือว่าโลกของมนุษย์โลกอื่นอีก ๓ โลก

    สำหรับสวรรค์ มี ๖ ชั้น ตามลำดับ คือ สวรรค์ชั้นต่ำ คือ จาตุมหาราชิกา ซึ่งมีเทวดาผู้เป็นใหญ่ ๔ องค์ มีท้าวธตรฐะเป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันออก ปกครองคนธรรพ์เทวดา บางครั้งมีชื่อว่าอินทะ ท้าววิรุฬหกะเป็นเทพผู้ปกครองเทพทางทิศใต้ เทพชั้นกุมภัณฑ์ บางครั้งมีชื่อว่ายมะ ท้าววิรูปักขะเป็นเทพผู้ปกครองเทพทางทิศตะวันตก เทพชั้นนาค บางครั้งมีชื่อว่าวรุณ ท้าวกุเวรเป็นเทพผู้ปกครองเทพทางทิศเหนือ ปกครองเทพชั้นยักษ์ บางครั้งมีชื่อว่าเวสสุวรรณ นี่เป็นสวรรค์ชั้นต่ำ คือ อยู่ไม่ไกลนักจากภูมิมนุษย์ ซึ่งภูมิของเทพจะสูงขึ้นๆ ตามลำดับความประณีตของสวรรค์

    สำหรับสวรรค์ภูมิที่ ๒ ขั้นที่สูงกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา คือ ชั้นดาวดึงส์ ซึ่ง ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินชื่อสวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์บ่อยๆ ได้แก่ สวนนันทวันอยู่ทาง ทิศตะวันออก สวนจิตรลดาวันอยู่ทางทิศตะวันตก สวนมิสกวันอยู่ทางทิศเหนือ สวนผรุสกวันอยู่ทางทิศใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์หรือท้าวสักกะเป็น จอมเทพ

    สวรรค์ชั้นสูงต่อจากดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อว่ายามา

    สวรรค์ชั้นที่ ๔ คือ ชั้นดุสิต

    สวรรค์ชั้นที่ ๕ คือ นิมมานรดี

    สวรรค์ชั้นที่ ๖ คือ ปรนิมมิตวสวัตตี

    อยากจะเกิดที่ไหน อย่างไรก็ต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่จะถึงรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิไหม คงไม่ถึงใช่ไหม เพราะฉะนั้น คงจะเป็นหนึ่งในอบายภูมิ ๔ หรือว่าหนึ่งในสุคติภูมิ ๗ ตามเหตุ คือ ตามกรรม

    สำหรับรูปาวจรภูมิ มี ๑๖ ภูมิ ซึ่งจะขอกล่าวเวลาที่กล่าวถึงรูปาวจรจิต เพราะถ้ากล่าวถึงในขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงชื่อ ซึ่งมีอายุที่ยืนยาวมาก ยิ่งกว่าอายุของเทพในสวรรค์ ๖ ชั้น

    ถ. ชั้นจาตุมหาราชิกา ชื่อต่างๆ ฟังแล้วสงสัยว่า อะไรกันแน่ เช่น ท้าว วิรูปักขะ เป็นชื่อของพญางู และปกครองนาค ก็หมายความว่า ปกครองงูนั่นเอง งูเป็นภูมิไหนกันแน่ อยู่ในสวรรค์ หรือว่าภูมิที่เป็นเดรัจฉาน

    สุ. ภูมิของเดรัจฉานมีเทวดาบ้างไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. ไม่มี ฉันใด บนสวรรค์ก็ไม่มีสัตว์เดรัจฉาน ฉันนั้น คนละภูมิ

    ถ. .... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. น่าสนุกใช่ไหม คนที่เกิดบนสวรรค์เล่นสนุก เพลิดเพลินด้วยความสนุก ไม่มีใครยากจนที่จะต้องเกื้อกูลอนุเคราะห์อุปการะเหมือนอย่างในมนุษย์ ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีฝนแล้ง เพราะฉะนั้น เล่นเพลินด้วยความสนุก ใครจะเนรมิตตัวเป็นช้างให้คนอื่นสนุกก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่เป็นช้างเอราวัณไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน แต่เป็นเทพบุตรที่เนรมิตตนเพื่อที่จะให้พระอินทร์ขี่ อย่าเอาสัตว์ตัวหนึ่งตัวใด จิ้งจก ตุ๊กแก ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์

    ถ. ทำไมท่านใช้คำว่า นาค นาคเป็นชื่อของเทวดาพวกหนึ่งหรืออย่างไร

    สุ. ถ้าเป็นสวรรค์ ก็เป็นเรื่องของเทวดาชั้นต่างๆ ระดับต่างๆ รูปต่างๆ ลักษณะต่างๆ คำว่า นาค หรือ นาคะ ไม่ได้แปลว่า งู หรือแปลว่า ช้าง แต่แปลว่า ผู้ประเสริฐ ด้วย เหมือนอย่างคนที่จะบวชก็เรียกว่า นาค หมายความว่า เป็น ผู้ประเสริฐ เพราะมีศรัทธาที่จะศึกษาพระธรรมวินัยในเพศบรรพชิต

    ถ. อาจารย์ได้กล่าวว่า ภพของอสุรกายดีกว่าอบายภูมิทั้ง ๓ ภูมิ แต่ไม่มีความรื่นเริง สนุกสนาน เขากับมนุษย์ก็อยู่ใกล้ๆ กันใช่ไหม จะมาดูหนัง ดูอะไรๆ มนุษย์เราก็มีจะให้ดู มีดนตรีอะไร

    สุ. ถ้าจะมาบริโภคอาหารร่วมจาน มาร่วมโต๊ะกับมนุษย์ในภัตตาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่คนละโลก

    ถ. เขาก็รับรูป รส กลิ่น เสียง เช่นเดียวกัน ไม่ใช่หรือ

    สุ. แต่ละโลก ก็แต่ละพวก

    ถ. อย่างพวกเปรตที่หิว หิวเท่าไรก็ไม่ตายสักที

    สุ. มนุษย์ภูมิเป็นสุคติภูมิ ส่วนเปรตนั้นหิวเท่าไรก็ไม่ตาย มนุษย์ทนไหวไหม คงบอกว่า ตายเสียก็ดี บางคนมีความทุกข์จนกระทั่งบอกว่า ตายเสียก็ดี นี่แสดงว่าอะไร ทนความทรมานไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเป็นเปรตก็ยังตายไม่ได้ แม้จะพูดว่า ตายเสียก็ดี วันละ ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังตายไม่ได้

    ถ. อย่างในภูมิมนุษย์ รู้สึกว่า มีอะไรหลายอย่างปะปนกัน

    สุ. ก็ยังไม่ใช่เปรต ไม่ใช่นรก

    ถ. เปรตก็มี อสุรกายก็มี สัตว์เดรัจฉานก็มี แต่ว่านรกไม่เคยเห็น

    สุ. ที่จริงแล้ว มนุษย์ทั้งนั้น ยังไม่ใช่เปรตจริงๆ ยังไม่ใช่นรกจริงๆ

    ถ. รุกขเทวดาก็อาศัยตามต้นไม้

    สุ. เป็นไปได้ไหม นี่เป็นความวิจิตรของจิต อย่าลืม เวลานี้จิตของใครเป็นอย่างไร รู้ได้ไหม กรรมแต่ละอย่างที่กระทำไป รู้ได้ไหม กุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียวที่ได้กระทำไปแล้ว และยังความวิจิตรของสังขารขันธ์ซึ่งปรุงแต่งอยู่เรื่อย จิตเก่าเกิดขึ้นแล้วดับไป หมดสิ้นจริงๆ แต่อกุศลจิตที่เกิดใหม่ เกิดเพราะการสะสมของจิตดวงก่อนเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้อกุศลขณะนี้เป็นอย่างนี้ แล้วก็ดับไป แต่ละขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ จึงแสนวิจิตร

    วิจิตรจนกระทั่งโลกนี้วิจิตรไปหมด ไม่ว่าจะเป็นในภูมิไหนก็มีความวิจิตร ทั้งในภูมิของนรกก็วิจิตรต่างๆ ด้วยความทรมาน ในภูมิของสวรรค์ก็วิจิตรต่างๆ ด้วยความรื่นเริง ด้วยความสุข ความสนุกสนาน ในภูมิของมนุษย์ก็วิจิตร เพราะบางครั้งก็ได้รับผลของอกุศลกรรม บางครั้งก็ได้รับผลของกุศลกรรมต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นภูมิเหล่านั้นแท้ๆ ล้วนๆ จริงๆ ที่ทุกข์นั้นจะทุกข์สักแค่ไหน และที่สุขนั้นจะสุขสักแค่ไหน เป็นมนุษย์ว่าสุข เป็นมนุษย์ว่าสบาย เป็นมนุษย์ว่ามีทรัพย์สินเงินทอง เทียบไม่ได้เลยกับบนสวรรค์ เพราะฉะนั้น จะเห็นความวิจิตรของกุศลกรรมและอกุศลกรรมซึ่งทำให้มีภูมิต่างๆ ตามควรแก่กรรมนั้นๆ

    ถ. ขอความกรุณาท่านอาจารย์กล่าวถึงคำว่า ชนกกรรม

    สุ. ชนกะ หมายความถึงเกิด ที่เราเรียก ชนก หรือบิดา ผู้ให้กำเนิด ฉันใด ชนกกรรม คือ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดต่อจากจุติจิตในภพต่อไป

    ถ. คือ ต่อจากชาตินี้

    สุ. ชาตินี้ต้องตายแน่ เมื่อตายแล้วก็เกิดแน่อีกเหมือนกัน แล้วแต่กรรมว่า กรรมใดจะเป็นชนกกรรม คือ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภูมิต่อไป

    ถ. ขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์กล่าวถึงกรรมที่จะนำปฏิสนธิในภูมิต่อไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจ

    สุ. ยังไม่ถึง ตอนนี้ถึงลักษณะของจิต และจำแนกประเภทของจิตเป็นประเภทต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจ ก่อนที่จะเริ่มกามาวจรจิตจริงๆ เพื่อที่จะให้สติเกิดระลึกได้ว่า จิตมีหลายชนิด ที่เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี และให้ทุกท่านรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ชีวิตประจำวันของท่านเป็นจิตขั้นไหน ระดับไหน และถ้าจะเกิดต่อไปก็จะไม่พ้นจากอบายภูมิ ๑ ใน ๔ หรือว่าสุคติภูมิ ๑ ใน ๗

    จิตวิจิตรมาก ใครรู้ ตัวของท่านเองรู้ หรือไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดจะรู้ได้ไหม หรือถึงแม้จะฟังแล้วก็ยังรู้โดยชื่อ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ท่านที่ศึกษาเรื่องอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๘ ดวง ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังก็จะได้ยินได้ฟังตามลำดับ แต่ท่านที่อาจจะได้เคยฟังมาแล้วหรือว่าเคยศึกษามาแล้วก็ทราบเรื่องของอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ ดวง ว่า อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง และท่านก็สามารถจะกล่าวถึงชื่อได้ว่า ได้แก่ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง นี่เป็นการศึกษาเรื่องชื่อ แต่ว่ากำลังเห็นนี่ ไม่ต้องบอกเลยว่า กุศลวิบาก ๑ ดวง หรือว่าอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านศึกษาธรรมแล้ว แต่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ธรรมทั้งหมดที่ท่านได้ฟัง ได้ศึกษา เป็นเพียงชื่อ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วธรรมทั้งหมดไม่ใช่ชื่อ เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงบัญญัติศัพท์ที่จะให้บุคคลอื่นสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ก็ไม่มีบุคคลใดที่จะรู้จักจักขุวิญญาณว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นในขณะที่กำลังเห็น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช้คำว่า จักขุวิญญาณ แต่ถ้าสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นก็เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นขณะจิตหนึ่งในชีวิตของแต่ละคน เพราะแต่ละคนก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ ที่เรียกว่า ชีวิต

    ชีวิตของใครจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สุขสบาย ทุกข์ยาก ลำบากมากน้อยสักแค่ไหน จะเห็นอะไรได้ยินอะไร ทั้งหมดให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นชีวิตของแต่ละท่าน และไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ในอดีตอนันตชาติ และยังมีชาติข้างหน้าอีกมากมายก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ที่จะปรินิพพาน คือ ดับการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นความดับสนิทจริงๆ ก็คงจะอีกมากมายหลายชาติ แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะๆ สามารถที่จะรู้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด และไม่ใช่โดยชื่อ แต่ว่าโดยการพิจารณาสภาพธรรมที่ได้ศึกษาในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จึงมีผู้อุปมาพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคว่า ที่ทรงแสดงลักษณะต่างๆ ของจิต และภูมิต่างๆ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตนั้น อุปมาเหมือนกับการทรงนับดาวบนท้องฟ้าในจักรวาล

    ทุกท่านลองมองดู บางคืนฟ้ามืดดาวมากมาย ลองนับ นับไหวไหม เดี๋ยวดวงนั้นก็พร่า เดี๋ยวดวงนั้นก็กระพริบ ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย ดวงไหนอยู่ไกล ดวงที่ปรากฏก็ดูเหมือนใหญ่ กว้างไกลออกไปอีกสักเท่าไร แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิตและเรื่องของภูมิซึ่งเป็นที่เกิดไว้มากมาย ซึ่งบุคคลธรรมดาย่อมไม่สามารถที่จะรู้ตามได้ แม้ว่าจะเป็นท่านพระสารีบุตร ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นโลกวิทู เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงมีพระปัญญาคุณเพียงเล็กน้อย คือ สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมเพียงในโลกนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๙๙๑ – ๑๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564