แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998


    ครั้งที่ ๙๙๘

    สาระสำคัญ

    ลักษณะของจิตที่ เศร้าหมอง มาร ผู้ขัดขวางความเจริญของบุคคลอื่น


    ผู้ฟัง เรื่องชนกกรรม ผมมานั่งนึกเป็นห่วงว่า ถึงแม้ว่าเราจะทำความดีหรือทำกุศลไว้มาก ก็ยังไม่แน่ว่าจะทำให้เราปฏิสนธิในสุคติภูมิได้เสมอไป ยังไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะแน่ใจได้ เพราะฉะนั้น สำหรับเราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน บางท่านคิดว่า ทำบุญมามากมายคงไม่เกิดในนรกแน่ แต่ถ้าเราคิดถึงเรื่องชนกกรรมแล้ว ไม่แน่ อาจจะเกิดอกุศลจิตในขณะที่จะปฏิสนธิก็ได้

    ถ. เรื่องจุติและปฏิสนธินี้ จะได้รับคำอธิบายให้แจ่มแจ้งจากผู้ใดไม่ได้เลย คำว่า จิตผ่องใส กับจิตเศร้าหมอง ถ้าเศร้าหมองก็ไปในทางไม่ดีแน่ๆ ถ้าจิตผ่องใสก็ไปในทางดี แต่ว่าเศร้าหมองเป็นอย่างไร ผ่องใสเป็นอย่างไร ผมก็เคยบวช เคยนึกถึงเรื่องเหล่านั้น แต่ไม่รู้สึกว่าจิตผ่องใสอะไรเลย ไม่รู้ว่าเคยทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมอะไรมาบ้าง นึกไม่ออก ไม่รู้ว่าจิตเศร้าหมองหรือเปล่า อยากจะขอคำอธิบายให้แจ่มแจ้ง จะได้เป็นประโยชน์แก่คนทั่วๆ ไปด้วย

    สุ. โดยชื่อ จิตเศร้าหมอง คือ อกุศลจิต จิตผ่องใส คือ กุศลจิต แต่นั่นยังคงเป็นชื่อ ตราบใดที่ลักษณะที่เศร้าหมองไม่ปรากฏ หรือว่าลักษณะที่ผ่องใสไม่ปรากฏ

    อกุศลจิตมีถึง ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

    สำหรับโมหมูลจิต ไม่ประกอบด้วยโลภะหรือโทสะ เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะรู้ ถึงแม้ว่าไม่ผ่องใส ก็ยังยากที่จะรู้ว่าไม่ผ่องใส

    เวลาที่ประกอบด้วยโทสเจตสิก เป็นโทสมูลจิต ความรู้สึกไม่แช่มชื่น ขุ่นมัว เดือดร้อน หงุดหงิด กังวล ไม่ผ่องใส ไม่แจ่มใส นั่นเป็นลักษณะของอกุศลจิตที่เป็น โทสมูลจิต ถ้าสังเกตก็คงจะทราบได้ เวลาที่หงุดหงิด หรือขุ่นใจ ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่เศร้าหมอง หรือเวลาที่โกรธก็ยิ่งชัด ใช่ไหม นั่นเป็นลักษณะของจิตที่ เศร้าหมอง

    สำหรับโลภมูลจิต ยากที่จะรู้ เพราะเกิดอยู่เป็นประจำ จึงไม่รู้ว่าขณะไหน เศร้าหมอง ขณะไหนไม่เศร้าหมอง เพราะโลภะสามารถเกิดกับอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกอทุกขมสุข คือ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เฉยๆ ก็ได้ ๔ ดวง ๔ ประเภท และโลภมูลจิตก็สามารถเกิดกับโสมนัสเวทนา ความรู้สึกที่ดีใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่ดีใจอย่าเพิ่งคิดว่าจิตผ่องใส ถ้าขณะนั้นสติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ลักษณะของความต่างกันของความรู้สึกดีใจที่เป็นโสมนัสว่าขณะนั้นเป็นโสมนัสที่ไม่ผ่องใส หรือเป็นโสมนัสที่ผ่องใส ก็ย่อมไม่สามารถที่จะแยกได้ และไม่รู้ขณะที่ต่างระหว่าง แม้โสมนัส แม้ดีใจ ก็ไม่ผ่องใส เพราะเป็นอกุศล กับขณะที่โสมนัส ดีใจ และผ่องใสเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ความต่างกันจริงๆ ไม่ใช่รู้โดยตำรา แต่ว่ารู้เพราะเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และสามารถที่จะสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรม ค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม จนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทละเอียดขึ้น จึงจะรู้ลักษณะของจิตที่ผ่องใส และจิตที่เศร้าหมองซึ่งเป็นอกุศลต่างกับกุศลได้ แต่ว่าโดยตำรา ไม่มีทางที่จะรู้ เพราะเป็นเรื่องของเรื่องราว เป็นเรื่องของชื่อ

    ขณะที่กราบพระ สามารถที่จะรู้ได้ไหมว่า เป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิต หรือขณะที่เห็นพระพุทธรูป ในขณะที่เห็นพระพุทธรูป ซึ่งทุกท่านเห็น ยังไม่ต้องไปตอนที่ใกล้จะจุติ เพราะขณะนี้อาจจะเป็นขณะใกล้จะจุติเมื่อไรก็ได้ กำลังเห็นพระพุทธรูป ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่สามารถจะรู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเพียงเดา ก็คงจะบอกว่า เป็นกุศล แต่นั่นเดา ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพของจิตจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า รู้ลักษณะของจิตว่า จิตเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ ที่ว่ารู้ๆ กันอย่างนี้ ผมก็ยังสงสัยว่า จิตทั้งหลายเป็นนามธรรม รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ ต้องรู้ทางใจอย่างเดียว โดยเฉพาะกุศลจิตกับโลภมูลจิตใกล้กันเหลือเกิน แม้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่รู้ว่า นี่เป็นกุศลจิต หรือว่านี่เป็นโลภมูลจิต ก็อาศัยสิ่งแวดล้อมและนำมาคิด อย่างเช่น เวลานี้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้ว่า เวลานี้สติกำลังเกิดอยู่ เพราะว่ามีอารมณ์ปรากฏ เมื่อมีอารมณ์ปรากฏก็รู้ว่ามีอารมณ์ปรากฏ และรู้ว่า จิตขณะนั้นมีสติประกอบ เมื่อมีสติประกอบจิตนั้นต้องเป็นกุศลจิตอย่างเดียว คือ ต้องอาศัยการคิดลักษณะของจิต สภาพของจิต แต่จิตเศร้าหมองหรือจิตผ่องใสต่างๆ ไม่ได้ปรากฏหรอก รู้ว่าเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็เพราะอาศัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ และนำมาประมวล นำมาคิดกันเท่านั้น

    ผู้ฟัง จิตที่เป็นโลภะปรากฏ บางครั้งก็รุนแรง โทสะก็เห็นกันชัดๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนจิตผ่องใสเป็นกุศลจิต คนอื่นผมไม่ทราบ แต่เกิดขึ้นเมื่อไรผมรู้ ทุกครั้งเลย เพราะว่าเกิดน้อยและเกิดยาก สำหรับโลภะเกิดมาก แต่ไม่รู้ ผมเคยตั้งใจศึกษากุศลศีลที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ และอาจารย์เคยบรรยายไว้ ทำให้เกิดความปรารถนา และใช้ความพยายามอย่างมากที่สุด ขณะเรารักษาศีลอยู่นั้น เห็นกิเลสมีมากมายทางกาย ทางวาจา คิดพยาบาทต่างๆ มีตั้งมากมาย การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่รู้เฉพาะแต่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ผมรู้ถึงวิบากจิต อย่างอื่นผมไม่สามารถจะรู้ได้

    สุ. สภาพธรรมทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกท่านมีอกุศล และอกุศลก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ง่าย อย่างโมหมูลจิตซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิก

    เวลาที่โทสมูลจิตเกิดมีเวทนา คือ ความรู้สึกไม่แช่มชื่น หงุดหงิด กังวล ไม่สบายใจ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ผ่องใส เป็นอกุศล

    ส่วนลักษณะของอกุศลที่เป็นโลภะก็ชิน และมีมากจนไม่รู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า เพราะเหตุใดจึงไม่รู้ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเหล่านั้นมี ก็เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานระลึกไม่ทั่ว บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของเสียง พยายามมนสิการที่จะรู้ว่าต่างกับสภาพรู้หรือธาตุรู้ นี่เป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ เพราะนามธาตุยังไม่ได้ปรากฏโดยเป็นเพียงธาตุรู้ทางมโนทวาร ซึ่งไม่ปะปนกันกับธรรมอื่นเลยทั้งสิ้น เป็นเฉพาะลักษณะของนามธาตุจริงๆ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ สภาพธรรมยังไม่ปรากฏโดยประจักษ์แจ้งทางมโนทวาร สังขารขันธ์ซึ่งเป็นกุศล ซึ่งเป็นสติก็จะเกิด เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งให้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง โดยยังไม่ทั่วถึง เมื่อยังไม่ทั่วถึงก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ลักษณะของสภาพที่ผ่องใสที่เป็นกุศลหรือลักษณะสภาพของจิตที่ไม่ผ่องใสที่เป็นอกุศลยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติจะต้องค่อยๆ อบรมเจริญไป ระลึกไป ปรุงแต่งไป จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้น

    บางครั้งก็จริงที่กุศลที่ได้กระทำไป จิตปีติ ผ่องใสเหลือเกิน แต่ว่าเป็นเรา สามารถที่จะบอกได้ว่า ปีติในกุศล พูดได้ เพราะกำลังทำกุศลและเกิดปีติ จิตใจ ผ่องใสมาก แต่ว่าในขณะนั้นที่กล่าวอย่างนั้น เป็นเรา เพราะว่าลักษณะแท้ๆ ที่เป็นนามธรรม ที่ไม่ใช่รูปธรรม สติปัฏฐานยังจะต้องระลึกจนกว่าจะปรากฏชัดโดยละเอียดยิ่งขึ้น

    ถ. วิปัสสนาญาณต่างๆ เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ กับปัจจยปริคหญาณ จนกระทั่งสัมมสนญาณ ท่านจัดว่าเป็นจินตาญาณ ที่ท่านจัดอย่างนี้หมายความว่า คิดเอา ไม่ใช่รู้เอา

    สุ. ผิดแน่ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะไม่ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ พยัญชนะว่าเป็นจินตาญาณ แต่จินตาญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต่างกับความเข้าใจของบุคคลทั่วไปที่ว่า จินตาญาณ คือ คิด

    ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ใช่ในขั้นที่อบรมเจริญ แต่ต้องเป็นขั้นที่ สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารวิถี นี่ก็ต่างกันแล้ว กับขณะนี้ แม้ว่ามโนทวารจะเกิดแทรกคั่นระหว่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ดูเสมือนทางตาไม่ดับเพราะฉะนั้น มโนทวารปรากฏหรือเปล่าว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางปัญจทวารเลย

    วิปัสสนาญาณต้องเป็นวิปัสสนาญาณ และที่จัดว่านามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ปัจจยปริคหญาณก็ดี สัมมสนญาณก็ดี เป็นขั้นจินตาญาณ มีความหมายอย่างไร

    มีความหมายว่า แม้ขณะที่สภาพธรรมแต่ละลักษณะปรากฏทางมโนทวาร ก็ยังมีปัจจัยให้ความคิดที่เป็นนามธาตุเกิดขึ้นคิดในขณะเหล่านั้นซึ่งเป็นญาณทั้ง ๓ ได้ เพราะความคิดเป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเช่นเดียวกับนามธาตุอื่นๆ ไม่ใช่หมายความว่า ในขณะนั้นนามธาตุซึ่งคิดจะเกิดไม่ได้ เพราะความคิดไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธาตุเช่นเดียวกับนามธรรมอื่น ซึ่งกำลังปรากฏในญาณทั้ง ๓ นั้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ลักษณะของธาตุที่คิดก็ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน หรือแม้แต่ในขณะของปัจจยปริคคหญาณ หรือ สัมมสนญาณ คือ การเกิดดับสืบต่อกัน ซึ่งยังไม่ถึงความขาดตอนโดยเป็น มหาวิปัสสนาที่เป็นอุทยัพพยญาณ เพราะฉะนั้น ช่วงระหว่างนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณ ต่างกันมากกับอีกช่วงหนึ่ง อีกขั้นหนึ่งของวิปัสสนาญาณ คือ อุทยัพพยญาณซึ่งเริ่มเป็นมหาวิปัสสนา

    แต่ไม่ได้หมายความว่า คิดเอา หรือกำลังคิดว่า นี่เป็นนามนั่นเป็นรูป นี่เกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น นั่นเป็นปัจจัยของธรรมนี้ อย่างนั้นจะเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะยังไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานจนสภาพธรรมสามารถที่จะมีเหตุปัจจัยปรากฏ ประจักษ์แจ้งทางมโนทวารวิถีได้

    ถ. ความรื่นเริงเป็นโลภะไหม

    สุ. พิสูจน์เอง เป็นหรือไม่เป็น

    ถ. ในอสุรกายภูมิ ไม่มีความรื่นเริง ในสวรรค์มีความรื่นเริง ถ้าเช่นนั้นเทวดาก็มีโลภะมากกว่าอสุรกาย

    สุ. เทวดาที่เป็นพระอรหันต์ก็มี เป็นพระอนาคามีก็มี เป็นพระสกทาคามี ก็มี เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นปุถุชนก็มี เหมือนโลกนี้

    ถ. ผมได้ยินว่า บนสวรรค์มีแต่สิ่งที่น่ารื่นรมย์

    สุ. พระผู้มีพระภาคมีประสาทกี่หลัง ๓ หลัง มากไหม น่ารื่นรมย์ไหม

    ถ. ท่านไม่ใช่คนธรรมดา

    สุ. ถูกต้อง แต่ยังสามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีพร้อมแล้ว

    ถ. ก่อนมาพบอาจารย์สุจินต์ ผมชอบดูหนังมาก นึกว่า เป็นโลภะ ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ในโลกนี้มีไหม คนที่จะขัดขวางคนอื่น มาร หมายความว่า ผู้ขัดขวางความเจริญของบุคคลอื่น จะเป็นพญาหรือไม่เป็นพญาก็แล้วแต่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ว่าขณะไหนที่ขัดขวางความเจริญของคนอื่น จะเป็นตัวท่านเองที่กำลังขัดขวาง ท่านก็เป็นมาร ใครที่ขัดขวางความเจริญของบุคคลใด คนนั้นก็เป็นมาร เพราะฉะนั้น ไม่สมควรที่จะขัดขวางความเจริญของบุคคลอื่น

    ถ. เรื่องของจิตที่อาจารย์ได้กล่าวมาแล้ว บางครั้งศึกษาไปและนำมาปฏิบัติรู้สึกว่า เป็นคนละเรื่องกัน เช่น โลภะ ๘ เขียนเป็นวงกลมๆ ติดกัน ๒ ชั้น เป็น ๘ ดวง ตามที่ได้ศึกษา จิตทั้งหมดเกิดที่ไหน ดับที่นั่น เพราะฉะนั้น ภวังคจิตเกิดที่หทยวัตถุและก็ดับที่หทยวัตถุ จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทและดับที่จักขุปสาท จุติจิตเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ บางครั้งสมมติว่าเป็นกุศลจิต ก็ไปเกิดที่สวรรค์ชั้นต่างๆ

    สุ. จุติจิต หรือกุศลจิตก่อนจุติ

    ถ. ตอนนี้ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องดี คือ ชวนะนี่เป็นกุศล จุติจิตจะเกิดขึ้น ไปเกิดในภพภูมิที่ดี

    สุ. จุติจิตเกิดไม่ได้ จุติจิตทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลในภพนี้ คือ ตาย

    ถ. ไม่ใช่จุติจิตเกิดขึ้นและดับไปหรือ

    สุ. จุติจิตเกิดและก็ดับ แต่จุติจิตนั้นจะไปปฏิสนธิไม่ได้ จุติจิตเกิดทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ และดับ หมดสิ้นไปเหมือนกับจิตอื่นๆ

    ถ. หมายความว่า จุติจิตเกิดขึ้น และดับไปในภูมิมนุษย์

    สุ. เป็นจิตดวงสุดท้ายของโลกนี้

    ถ. ส่านปฏิสนธิจิตไปโผล่ที่สวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง

    สุ. ตอนมาสู่โลกนี้ มาจากไหน ทำไมตอนจะไปโผล่ที่โลกอื่นน่าสงสัย

    ถ. สงสัยด้วยกันทั้งนั้น มาจากไหนก็สงสัย จะไปไหนก็สงสัย เพราะว่าไม่ได้ติดต่อกัน ที่เราเรียนมาเป็นวงกลมติดต่อกัน

    สุ. เพราะยังไม่ถึงจุติ

    ถ. จิตอื่นๆ ก็เหมือนกัน เช่น ภวังคจิตเกิดที่หทยวัตถุ ภวังคจิตดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิต …

    สุ. เกิดที่หทยวัตถุ เฉพาะจิต ๑๐ ดวงเกิดที่ปสาทรูป ๕

    ถ. ปัญจทวารวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณก็ไปเกิดที่จักขุปสาท

    สุ. และดับไปที่จักขุปสาทนั่นเอง

    ถ. ก็ไม่ได้ติดต่อกันนี่ ที่ศึกษามาเขียนเป็นวงกลมติดๆ กัน

    สุ. เวลาที่ศึกษา ที่แสดงเป็นวงๆ สืบต่อกันนั้น ไม่ได้แสดงที่เกิด แต่แสดงการเกิดดับสืบต่อของจิตซึ่งไม่มีระหว่างคั่น

    ถ. เกิดดับสืบต่อไม่มีระหว่างคั่น เขียนติดกันเป็นวงๆ ติดกันทุกดวง

    สุ. แสดงว่าไม่มีอะไรคั่น

    ถ. ในเมื่อศึกษาว่า ไม่มีอะไรคั่น ก็ต้องเกิดที่หทยวัตถุดับที่หทยวัตถุ

    สุ. หาเป็นเช่นนั้นไม่ คิดเอาเองได้ทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่เรื่องนึกเอาเอง ใครก็ตามที่ศึกษาธรรมนิดหน่อย และนึกต่อไปเอาเอง ผิดหมด เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

    ถ. และที่ว่า ชวนะเป็นกุศล ชวนะสุดท้าย ๕ ขณะดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดขึ้นและดับไป ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นจะต้องเกิดในสุคติภูมิ เพราะฉะนั้น ชวนจิตและปฏิสนธิจิตมีอะไรพัวพันกันถึงทำให้ชวนะสุดท้ายถ้าเป็นกุศล ปฏิสนธิจิตจะต้องไปเกิดในภูมิที่ดี ถ้าชวนะสุดท้ายเป็นอกุศล ปฏิสนธิจิตจะต้องไปเกิดในภูมิที่ไม่ดี พัวพันกันอย่างไร

    สุ. เป็นอนัตตา แล้วแต่ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยให้จิตผ่องใสก่อนจะจุติ หรือกรรมใดทำให้จิตไม่ผ่องใส คือ เป็นอกุศลก่อนจุติ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๙๙๑ – ๑๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564