แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
ครั้งที่ ๙๖๔
สาระสำคัญ
ม.ม.มหาวัจฉโคตตสูตร จุดประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องการเจริญสมถะและวิปัสสนา การรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี มี ๓ วิถี มโนทวาราวัชชนจิตมีกิจ ๒ อย่าง
ถ. ที่ผมกล่าวว่า ปริพาชกคนนั้นเป็นพระอนาคามี ก็ด้วยการคิดเอา
สุ. ตอนเป็นพระอรหันต์ ถูกต้องใช่ไหม
ถ. ตอนเป็นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้แจ่มแจ้งว่าปริพาชกนั้นเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยวิชชา ๓ แต่ตอนที่เป็นพระอนาคามี ผม ไม่แน่ใจ จะขออ่านให้อาจารย์ฟังว่า ใช่หรือไม่ใช่ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาวัจฉโคตตสูตร ข้อ ๒๖๐
ก็ท่านวัจฉโคตรอุปสมบทแล้วไม่นาน คือ อุปสมบทได้กึ่งเดือน เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลสามเบื้องต่ำที่กำหนดไว้เท่าใด ที่บุคคลพึงบรรลุด้วยญาณของพระเสขะ ด้วยวิชชาของพระเสขะ ผลนั้นทั้งหมดข้าพระองค์บรรลุแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่ยิ่งขึ้นไปแก่ข้าพระองค์เถิด.
ข้อความนี้ทำให้ผมคิดว่า ท่านพยากรณ์ตัวท่านเองว่า เป็นพระอนาคามี ต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร วัจฉะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเจริญธรรมทั้งสอง คือ สมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกร วัจฉะ ธรรมทั้งสอง คือ สมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดธาตุหลายประการ.
ดูกร วัจฉะ เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ...
สุ. ขอประทานโทษ สมมติว่าท่านผู้ฟังกำลังอยู่ในที่นั้นด้วย หรือว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงแล้วในกาลครั้งนั้น ก็ยังคงแสดงต่อพุทธบริษัทในครั้งนี้ เพราะฉะนั้น ก็เสมือนว่า ท่านผู้ฟังกำลังรับฟังพระธรรมโดยตรงจากพระโอษฐ์ และท่านผู้ฟังทุกท่านจะเหมือนกับปริพาชกวัจฉโคตรหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ในสมัยที่เป็นกาลสมบัติ ยังรุ่งเรืองด้วยพระอรหันต์ที่ประกอบด้วยปฏิสัมภิทา อภิญญา อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ในสมัยที่เป็นกาลสมบัติ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงว่า พระอรหันต์ที่เป็นสุกขวิปัสสกะมีมากกว่าพระอรหันต์ที่ประกอบด้วยฌานและอิทธิปาฏิหาริย์ ปฏิสัมภิทา อภิญญาต่างๆ และพระอนาคามีก็มีมากกว่าพระอรหันต์ พระสกทาคามี ก็มีมากกว่าพระอนาคามี พระโสดาบันก็มีมากกว่าพระสกทาคามี
นี่ก็แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงของกาลสมัย ในสมัยนี้ซึ่งท่านผู้ฟังกำลังเจริญสติปัฏฐานเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านจะเป็นพระโสดาบันที่ประกอบด้วยฌาน หรือว่าจะเป็นพระโสดาบันที่ไม่ประกอบด้วยฌานในยุคนี้ ในสมัยนี้
และอย่าลืมว่า การที่ท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านจะไปทำความสงบ ในชีวิตวันหนึ่งๆ สักกี่ขณะจิต กี่ชั่วโมง แต่ขณะนี้ มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแท้ๆ ซึ่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่ต้องไปทำขึ้น ซึ่งปัญญาสามารถที่จะเห็นสภาพที่เป็นอนัตตาไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน หรือกุศล อกุศลต่างๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่จะละความยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง และหวังว่าสติปัฏฐานจะเกิดเวลาที่สงบ เป็นไปไม่ได้
ต้องเข้าใจจุดประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องการเจริญสมถะและวิปัสสนาว่า ถ้าตราบใดที่สติไม่เกิดระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล และปล่อยให้อกุศลเจริญขึ้น ย่อมเป็นการยากที่จะดับอกุศล
เพราะฉะนั้น สมถะ คือ ขณะใดก็ตามที่อกุศลเกิดขึ้น สติระลึกรู้แล้วละ ขณะนั้นเป็นสมถะแล้ว เป็นกุศลแล้ว เช่น เวลาที่โกรธ ผูกโกรธ ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต สติไม่ได้ระลึกว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ขุ่นมัว และก็สั่งสมสันดานที่เป็นอกุศลเพิ่มขึ้นๆ ยากแก่การที่จะดับเป็นสมุจเฉท แต่อาศัยการฟัง สติระลึกได้ เป็นกุศลขณะใด ขณะนั้นสงบ เป็นสมถะ
ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอย่างอื่น แต่ให้ฟังพระธรรม จนกระทั่งมีปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิด เป็นกุศลขณะใดก็สงบในขณะนั้น และอย่าลืมว่า ไม่ได้ทรงแสดงให้เพียงเจริญสมถะ แต่ทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ การเจริญวิปัสสนา และไม่ใช่ให้เพียงแต่เจริญวิปัสสนาโดยไม่ให้เห็นว่า อกุศลเป็นอกุศลแล้วละ แต่เมื่ออกุศลเกิดขณะใด สติระลึกได้ เป็นกุศลขณะใดก็เป็นสมถะขณะนั้น แต่ละขั้น และถ้าเป็น สติปัฏฐาน ก็เป็นวิปัสสนาซึ่งพร้อมทั้งสมถะด้วย
ถ. ผมยังไม่เข้าใจเรื่องวิถี ผมสงสัยว่า ในปัญจทวารวิถี ตอนที่เป็นชวนจิต เป็นกุศลหรืออกุศล อารมณ์ยังเป็นปรมัตถ์อยู่หรือเปล่า
สุ. ยังเป็นปรมัตถ์อยู่ คือ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปที่ปรากฏยังไม่ดับไป ถ้าเป็นเสียงที่ปรากฏทางหู เสียงจริงๆ ที่กระทบโสตทวารยังไม่ดับไป ถ้าเป็นทางจมูก กลิ่นยังไม่ดับ ยังไม่ใช่การนึกถึงกลิ่น ยังไม่ใช่การนึกถึงเสียง ยังไม่ใช่การนึกถึงสี แต่กลิ่นที่กระทบกับฆานปสาท หรือว่าเสียงที่กระทบกับโสตปสาท หรือว่ารูปที่กระทบกับจักขุปสาทยังไม่ดับ ถ้าเป็นทางลิ้น รสที่กำลังกระทบกับชิวหาปสาทยังไม่ดับ ถ้าเป็นทางกาย โผฏฐัพพะ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กำลังกระทบกับกายปสาทยังไม่ดับ จึงกล่าวว่า เป็นปรมัตถ์ เป็นรูปที่กำลังกระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ยังไม่ถึงมโนทวารวิถี เพราะฉะนั้น เป็นปรมัตถ์ เป็นรูปที่ยังไม่ดับ
ถ. ผู้ที่เจริญสติ ถ้ามีสติเกิดขึ้นระหว่างนี้ ก็ถือว่า กำหนดเอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์ได้อยู่
สุ. ใช่ รูปธรรมกับนามธรรมเกิดดับเร็วมาก ขณะที่ผ่านไปแล้ว ก็ดับหมดสิ้นไปทั้งนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัจจุบัน ไม่ใช่โดยขณะ คือ สำหรับจิตดวงหนึ่ง หรือขณะที่เกิดขึ้นขณะหนึ่ง แบ่งเป็นขณะย่อยหรืออนุขณะได้ ๓ คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิด ฐีติขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ ยังไม่ดับไป ภังคขณะ ขณะที่ดับ
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การรู้ขณะจิตโดยอุปาทขณะ ฐีติขณะ หรือภังคขณะ ฉันใด การที่ลักษณะของรูปกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ว่าเป็นปรมัตถ์ธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ก็เกิดดับสืบต่อกันอยู่ เรื่อยๆ ในขณะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานในขั้นต้น สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ ไม่ใช่การนึกคิดถึงเสียงซึ่งไม่ปรากฏ หรือว่าการนึกคิดถึงรูปที่ไม่ได้ปรากฏ หรือว่าการนึกถึงกลิ่นที่ไม่ได้ปรากฏ แต่ไม่ใช่หมายความว่า รูปนั้นจะไม่ดับ รูปดับและก็เกิดอีก มีการเกิดดับสืบต่อ
ถ. ระหว่างปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถี ถ้าวิถีทางปัญจทวารเกิดจนถึง ตทาลัมพนะ จนถึงภวังค์ มโนทวารวิถีจะเกิดต่อจากนั้นทันที หรือต้องมีอะไรคั่น
สุ. โดยปกติ มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นต่อทันที คือ หลังจากที่จิตเป็นภวังค์หลายขณะแล้ว ภวังคจลนะก็เกิดขึ้นและดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งภวังคจลนะและภวังคุปัจเฉทะยังไม่ใช่วิถีจิต ต่อจากนั้น มโนทวาราวัชชนะจึงเกิดขึ้น รำพึงถึงอารมณ์ซึ่งเพิ่งกระทบทางปัญจทวารและดับไป จากนั้นชวนวิถีก็เกิดต่อ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ชัดเจน ตทาลัมพนวิถีก็เกิดต่อจากชวนวิถี
เพราะฉะนั้น การรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี จึงมีเพียง ๓ วิถี อย่างมาก คือ มีอาวัชชนวิถี ๑ ชวนวิถี ๑ ตทาลัมพนวิถี ๑ น้อยกว่าทางปัญจทวารวิถี เพราะรูปไม่ได้กระทบจริงๆ
ถ. แต่ทางมโนทวารวิถี ตั้งแต่ภวังคจลนะไปจนถึงชวนะ จะเกิดซ้ำอีกหลายๆ ครั้งได้หรือเปล่า
สุ. ได้ แต่ต้องมีภวังค์คั่น
ถ. มโนทวารวิถีรับรู้อารมณ์ต่อจากทางปัญจทวารวิถีแล้ว พอสุดกระแสของมโนทวารวิถี ก็ต้องเป็นปัญจทวารวิถี
สุ. เป็นภวังคจิตก่อน คั่นทุกครั้ง และอาจจะเป็นมโนทวารวิถีหลายวิถีก่อนที่จะถึงปัญจทวารวิถีใหม่
ถ. อย่างนั้นกว่าจะทราบว่า เป็นบัญญัติ คือ เป็นสัตว์ บุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งของอะไรต่างๆ นี้ แสดงว่าทางปัญจทวาร ไม่มีโอกาสที่จะทราบเลย ตั้งแต่จักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี ไม่มีทางที่จะทราบบัญญัติอารมณ์เลย
สุ. ใช่
ถ. จะต้องมีมโนทวารวิถีเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง
สุ. ใช่
ถ. แต่สามัญบุคคล เห็นอะไรก็รู้ว่าเป็นอะไร เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ
สุ. ใช่ แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับรวดเร็วมาก
ทางจักขุทวารวิถี จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ ขณะเดียวเท่านั้นและ ดับไป ต่อจากนั้นเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ หมดวิถีของจักขุทวารวิถี และก็เป็นภวังคจิตเกิดคั่นมาก จากนั้นเป็นมโนทวารวิถีเกิดขึ้น รับรู้สิ่งที่ทางปัญจทวารวิถีเพิ่งรู้แล้วดับไปก่อน และกว่าจะถึงปัญจทวารวิถี ซึ่งเป็นจักขุทวารวิถีอีกครั้งหนึ่ง มีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ เห็นอีกครั้งหนึ่ง ในช่องว่างนั้นมีจิตเกิดดับมากทีเดียว แต่ก็ยังปรากฏเสมือนว่า ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ การเห็นไม่ได้ดับไปเลย ไม่รู้ว่ากี่จักขุวิญญาณแล้ว เพราะทันทีที่เกิดกระทำกิจเห็นแล้วก็ดับไป แต่ขณะนี้เหมือนไม่ปรากฏว่าการเห็นดับเลย
ถ. โวฏฐัพพนะเมื่อทำหน้าที่ทางปัญจทวาร เป็นโวฏฐัพพนะ แต่ถ้าทำหน้าที่ทางมโนทวาร จะต้องเป็นมโนทวาราวัชชนะ อย่างนั้นใช่ไหม
สุ. จิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารมี ๑ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต และจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร ก็เป็นจิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตประเภทนั้นเอง แต่เวลาที่กระทำกิจโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร ไม่ใช่ทำอาวัชชนกิจ ทำ โวฏฐัพพนกิจ
ถ. อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องแบ่ง
สุ. อาศัยกิจ อาศัยทวาร และอาศัยอารมณ์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จิตดวงเดียวเวลาที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็ทำกิจหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถี เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจ แต่จิตที่กระทำ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารนั่นเอง เป็นจิตประเภทเดียวกับที่กระทำอาวัชชนกิจ ทางมโนทวาร คนหนึ่งมีหน้าที่หลายอย่างได้ไหม หรือว่าทำหน้าที่อย่างเดียว
ถ. ทำหน้าที่หลายอย่าง
สุ. อยู่บ้านก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เวลาไปทำงานที่กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็กระทำหน้าที่แต่ละหน้าที่ไป ทำครัว และก็ยังทำสวน ได้ไหม
เพราะฉะนั้น จิตประเภทที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เมื่อกระทำ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารแล้ว เวลาที่มโนทวารวิถีจิตเกิด จิตประเภทนั้นก็กระทำ อาวัชชนกิจทางมโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตจึงมีกิจ ๒ อย่าง คือ โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร และอาวัชชนกิจทางมโนทวาร แต่ไม่ใช่ดวงเดียวดวงกันนั้นกลับฟื้นคืนมากระทำกิจ เป็นจิตแต่ละดวงซึ่งเกิดขึ้นและดับไป และก็เกิดขึ้นเป็นจิตดวงใหม่ กระทำกิจและดับไป ทุกขณะใหม่ทั้งนั้น
ถ. จิตที่เจริญสติปัฏฐาน คือ ทางมโนทวารเท่านั้นใช่ไหม
สุ. ที่ชวนวิถี ที่เป็นกุศลชวนะ ซึ่งเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
ถ. ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้ชัดเจนว่า จิตที่เจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบแต่ละขั้นๆ ของวิถีจิตนั้น เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร ถ้าเข้าใจอย่างนี้ได้ ผมก็จะเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานอย่างดี
สุ. สติปัฏฐานเป็นการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งตามปกติตามความเป็นจริง จิตเกิดขึ้นทีละขณะ กระทำกิจของจิตแต่ละประเภท แต่ละขณะ เวลาที่ยังไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการกระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ไม่มีการฝัน ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต เป็นภวังคจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่ชวนวิถี เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะในขณะนั้นเป็นวิบากจิต
เพราะฉะนั้น เวลาที่นอนหลับสนิทจริงๆ สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เวลาที่เป็นวิถีจิต คือ ขณะใดก็ตามที่มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นจักขุทวารวิถีจิตแต่ละขณะ เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะเป็นวิถีจิต สันตีรณะเป็นวิถีจิต โวฏฐัพพนะเป็นวิถีจิต ชวนะเป็นวิถีจิต ซึ่งชวนะตามที่ได้ทราบแล้วว่า เป็นกุศลหรืออกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็น พระอรหันต์ กุศลและอกุศลจิตไม่มี เป็นกิริยา
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นกุศลชวนวิถี ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด ซึ่งยากเหลือเกินที่จะมีใครสามารถแบ่งแยกวิถีจิต ทางตาและทางใจซึ่งต่อกัน
เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะ และมโนทวารวิถีก็เกิดขึ้น รู้อารมณ์เดียวกับจักขุทวารวิถีที่ดับไป ถ้าจักขุวิญญาณเห็นรูปใด มโนทวารวิถีก็มีรูปนั้นแหละเป็นอารมณ์แม้ว่าไม่เห็น อย่าลืม มีรูปนั้นเป็นอารมณ์แม้ว่าไม่เห็น
จักขุวิญญาณ เป็นจิตประเภทเดียว ดวงเดียวที่ทำทัสสนกิจ คือ เห็นจริงๆ เมื่อดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล หรือตทาลัมพนจิต ก็รู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่เห็น ฉันใด เวลาที่ มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อจากจักขุทวารวิถีจิต มโนทวารวิถีจิตตั้งแต่มโนทวาราวัชชนจิต ก็ดี หรือว่าชวนวิถีจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ดี และตทาลัมพนะซึ่งเกิดต่อจากชวนวิถีนั้น ก็รู้รูปารมณ์ที่จักขุทวารวิถีเพิ่งรู้นั่นเอง แม้ว่าไม่เห็น
เพราะฉะนั้น จิตที่กระทำกิจรู้อารมณ์ทางมโนทวาร สามารถที่จะรู้อารมณ์ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น รู้รูปารมณ์ซึ่งจักขุทวารวิถีจิตรู้นั่นเอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๙๖๑ – ๙๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020