แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000


    ครั้งที่ ๑๐๐๐

    สาระสำคัญ

    อุปมาวิสัยของพระสาวกกับวิสัยของพระผู้มีพระภาค อัง.ติก.จูฬนีสูตร อถ.จูฬนีสูตร


    นี่ผ่านไปแล้ว ถอยไป ๓๑ กัป ต่อจากนั้นมา ๓๑ กัป คือ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณและได้ทรงประกาศพระธรรมจักร ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี

    พระองค์ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาในวันเพ็ญเดือน ๕ ตอนต้น ได้ตรัสถึง อรุณวดีสูตรนี้ ท่านพระอานนท์เถระถือเอาพัดวิชนียืนพัดอยู่ทีเดียว ไม่ยังแม้พยัญชนะบทเดียวให้หายไป จำเดิมแต่ต้นจนถึงที่สุด เรียนเอาแล้วซึ่งสุตตันตะทั้งสิ้น

    ใครจะทำได้อย่างท่านพระอานนท์บ้างไหม ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ไม่ตกหล่นเลย ทรงจำไว้ได้หมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม

    ถ้าท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎก จะมีข้อความตอนต้นของพระสูตรว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ และลองอ่านดูตั้งแต่ต้นจนถึงตอนจบของแต่ละสูตร ไม่ขาดตกบกพร่องเลย ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่ไหน ทรงแสดงธรรมกับใคร บุคคลที่ทรงแสดงธรรมด้วยกราบทูลถามว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะสูตรเดียว ซึ่งคนในยุคนี้ต้องท่อง ไม่ท่องไม่สามารถจะจำได้ และจะท่องได้ไหมเป็นเล่มๆ เป็นสูตรๆ แต่ท่านพระอานนท์ ถือเอาพัดวิชนียืนพัดอยู่ทีเดียว ในขณะที่กำลังฟังก็ถวายงานพัดด้วย ไม่ยังแม้พยัญชนะบทเดียวให้หายไป จำเดิมแต่ต้นจนถึงที่สุด เรียนเอาแล้วซึ่งสุตตันตะทั้งสิ้น เป็นเอตทัคคะในการทรงจำ และในการพิจารณาธรรม คือ เมื่อได้ฟังแล้วไม่ลืม ทรงจำไว้หมดโดยตลอด และเมื่อทรงจำไว้แล้ว ก็ยังไตร่ตรองใคร่ครวญถึงพระธรรมที่ได้ฟังด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในวันรุ่งขึ้น ท่านพระอานนท์เถระกลับแล้วจากบิณฑบาต แสดงแล้วซึ่งวัตรแก่พระทศพล

    คือ ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำใน ๒๐ พรรษาแรก แต่ถ้าพุทธอุปัฏฐากไม่อยู่หรือว่ามีกิจอื่น ท่านพระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค

    เมื่อกระทำวัตรแก่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ไปสู่ที่พักกลางวันของตน เมื่อสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกของท่านแสดงวัตรแล้วก็พากันหลีกไป ท่านพระอานนท์เถระนั่งใคร่ครวญอยู่ซึ่งอรุณวดีสูตร อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วในวันวาน

    ครั้งนั้นสูตรทั้งปวงปรากฏแจ่มแจ้งแล้วแก่ท่านพระเถระ ท่านพระอานนท์เถระคิดแล้วว่า อัครสาวกของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี ดำรงอยู่แล้วในพรหมโลก กำจัดแล้วซึ่งความมืดในพันจักรวาล แสดงแล้วซึ่งแสงสว่างแห่งสรีระ ประกาศอยู่ซึ่งเสียงของตน กล่าวแล้วซึ่งธรรมกถาดังนี้

    คำนี้อันพระศาสดาตรัสแล้วในวันวาน วิสัยเห็นปานนี้เป็นวิสัยของพระสาวกก่อน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้บริบูรณ์แล้ว บรรลุแล้วซึ่งความเป็นพระสัพพัญญู พึงยังบุคคลให้รู้ด้วยเสียงสิ้นที่มีประมาณเท่าไรหนอ ดังนี้

    เมื่อท่านพระอานนท์เถระคิดอย่างนี้ ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะนั้น และได้ทูลถามเนื้อความนั้นในจูฬนีสูตร เพื่อบรรเทาซึ่งความสงสัยในอันเกิดขึ้นแล้ว

    เพื่อแสดงเนื้อความนั้น พระอรรถกถาจารย์ก็ได้กล่าวว่า

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมุขา ความว่า ท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ด้วยอธิบายอย่างนี้ว่า สูตรนั้นอันเราผู้ยืนอยู่แล้วในที่เฉพาะหน้าฟังแล้ว สูตรนั้นมิได้ฟังตามโดยการเล่าสืบต่อกันมา

    ในยุคนี้สมัยนี้ ต้องเป็นสมัยที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเฉพาะพระพักตร์ แต่ฟังเล่าสืบต่อกันมา คือ ฟังตาม เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์เถระจึงแสดงว่า สูตรนั้นอันเราผู้ยืนอยู่แล้วในที่เฉพาะหน้าฟังแล้ว สูตรนั้นมิได้ฟังตามโดยการเล่าสืบต่อกันมา

    ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า

    ข้อว่า สาวโก โส อานนฺท อปฺปเมยฺยา ตถาคตา ดังนี้ ความว่า แม้พระผู้มีพระภาคตรัสคำนี้ โดยอธิบายดังนี้ว่า

    อานนท์ เธอพูดอะไร สาวกนั้นดำรงอยู่แล้วในญาณส่วนหนึ่ง แต่ว่า พระตถาคตบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้บริบูรณ์แล้ว บรรลุแล้วซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ เป็นผู้หาประมาณมิได้ ท่านนั้นกล่าวคำนั้นเช่นไร ดุจบุคคลถือเอาธุลีด้วยปลายเล็บอุปมากับด้วยธุลีแห่งแผ่นดินใหญ่ วิสัยของพระสาวกทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง

    โคจร หรือ อารมณ์ ของพระสาวกทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง โคจรของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง กำลังของพระสาวกทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง กำลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสความที่แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หาประมาณมิได้ โดยอธิบายนี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว ได้เป็นผู้นิ่งเสีย

    แต่ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลถาม แม้ครั้งที่ ๒ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เธอพูดคำนั้นชื่ออะไรกัน ดุจบุคคลถือเอาใบตาลขาดเปรียบเทียบกับอากาศอันหาที่สิ้นสุดมิได้

    เพราะว่าใบตาลขาดมีอากาศคั่นอยู่ระหว่างใบตาลที่ขาดเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับอากาศอันหาที่สิ้นสุดมิได้ อุปมาวิสัยของพระสาวกย่อมไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้กับวิสัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดุจบุคคลจับนกกระจาบ เปรียบเทียบด้วยพระยาครุฑ มีประมาณ ๑๕๐ โยชน์

    ดุจบุคคลถือเอาน้ำในงวงช้าง เปรียบเทียบด้วยน้ำในแม่น้ำคงคาใหญ่

    ดุจบุคคลถือเอาน้ำในหลุมสี่เหลี่ยม เปรียบเทียบด้วยสระน้ำ ๗ สระ

    ดุจบุคคลผู้ถือเอามนุษย์ผู้ได้ข้าวสุกเพียงทะนานเดียว เปรียบเทียบด้วย พระเจ้าจักรพรรดิ์

    ดุจบุคคลผู้ถือเอาปีศาจเล่นฝุ่น เปรียบเทียบด้วยท้าวสักกเทวราช

    ดุจบุคคลผู้ถือเอาแสงสว่างของหิ่งห้อย เปรียบเทียบด้วยรัศมีพระอาทิตย์ ดังนี้

    ตรัสแล้วซึ่งความที่แห่งพระทศพลเป็นผู้หาประมาณมิได้ แม้เป็นครั้งที่ ๒ ได้เป็นผู้นิ่งแล้ว

    เพียงตรัสสั้นๆ ให้ท่านพระอานนท์ระลึกถึงความต่างกันของวิสัยของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและวิสัยของพระสาวก

    ต่อจากนั้น ท่านพระอานนท์เถระคิดแล้วว่า พระศาสดาอันเราทูลถามแล้ว มิได้ตรัสก่อน เอาเถิดเราทูลอ้อนวอนแล้วเพียงไร แต่ครั้งที่ ๓ จักให้บันลือ พุทธสีหนาท ดังนี้

    ท่านพระอานนท์ใคร่ที่จะให้พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพุทธวิสัยด้วยพระองค์เอง พระเถระก็ได้ทูลอ้อนวอนเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์แก่ท่านพระอานนท์เถระ มีข้อความว่า

    พระตถาคตทั้งหลายทรงกำจัดแล้วซึ่งความมืดในที่แม้มีประมาณเท่านี้ คือ หมื่นจักรวาล

    ก่อนนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงโลกโดยจักรวาลพันหนึ่ง และโดยหมื่นจักรวาล และโดยประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดังข้อความในจูฬนีสูตร ซึ่งสำหรับหมื่นจักรวาลนั้น ไม่ใช่วิสัยของพระสาวกทั้งหลาย เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ในการที่จะกำจัดความมืดในหมื่นจักรวาลได้ด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระ ซึ่งอาจเพื่อยังบุคคลให้รู้ได้ด้วยเสียง

    สงสัยในเรื่องที่ทรงแสดงให้บุคคลในหมื่นจักรวาลได้ยินพระสุรเสียงหรือเปล่า ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ทรงเปล่งอยู่ซึ่งพระรัศมีโดยส่วนแห่งพระกาย ประมาณเท่าเมล็ดงา

    ทำให้แสงสว่างปรากฏทั่วหมื่นจักรวาล ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเสียง ได้ยินทั่วทั้งหมื่นจักรวาล

    ข้อความตอนท้ายของ จูฬนีสูตร ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า

    เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มี พระศาสดาผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้

    แสดงให้เห็นถึงความปีติอย่างแรงกล้าของท่านพระอานนท์ เมื่อได้ฟังพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พุทธวิสัย ทำให้ท่านกราบทูลว่า เป็นลาภของท่านที่ท่านได้ดีแล้วหนอที่มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์ ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ท่านพระอานนท์เถระกล่าวอย่างนี้ หมายเอาซึ่งเนื้อความนี้ว่า เราใดย่อมได้เพื่อถือเอาบาตรและจีวรของพระบรมศาสดาเห็นปานนั้นแล้วเที่ยวไป เพื่อกระทำการนวดเท้า เพื่อถวายซึ่งน้ำสำหรับล้างหน้าและน้ำสำหรับอาบ เพื่อกวาดซึ่งบริเวณ พระคันธกุฎี เพื่อถามซึ่งปัญหาในเมื่อความสงสัยเกิดขึ้นแล้ว เพื่อฟังซึ่งธรรมกถาอันไพเราะ คุณทั้งหลาย มีการได้ฟังธรรมอันไพเราะ เป็นต้น เหล่านั้นแม้ทั้งปวง เป็นลาภของเราด้วย เป็นอันเราได้ดีแล้วด้วย ดังนี้

    ท่านเป็นผู้ที่ใกล้ชิดติดตามและอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค เมื่อได้ฟังพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พุทธวิสัย ทำให้ท่านเกิดความปีติ ปลาบปลื้ม ที่ท่านเป็นผู้ที่มีโอกาสได้ถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค ได้กระทำการนวดเท้า ได้ถวายน้ำซึ่งสำหรับล้างหน้าและน้ำสำหรับอาบ ได้กวาดพระคันธกุฎี ได้ถามปัญหาเมื่อเกิดความสงสัยขึ้น และได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะ แต่ขอให้พิจารณาจิตใจของบุคคลแม้ในครั้งนั้นว่า สะสมมาต่างกัน ซึ่งข้อความใน จูฬนีสูตร ต่อไปมีว่า

    เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่าน พระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้

    ถ้าไม่ทราบมาก่อนจากอรรถกถาว่า พระโลฬุทายีเถระผูกความอาฆาตใน ท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังคำที่ท่านพระอานนท์แสดงความปีติเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ก็มุ่งที่จะทำลายความเลื่อมใสของท่านพระอานนท์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ซึ่งข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า

    เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอุทายีว่า

    ดูกร อุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึง ทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่แห่งเทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น

    ดูกร อุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ที่เคยริษยาหรือว่าเคยอาฆาตในท่านพระอานนท์ เมื่อทราบว่าท่านพระอานนท์จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ควรที่จะเลิกอาฆาต เลิกริษยาในท่านพระอานนท์ แต่จิตที่สะสมมาของแต่ละท่านก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แม้จะรู้ว่า อกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด แต่ชีวิตของแต่ละคน ย่อมได้กระทำไปในหลายสิ่งซึ่งภายหลังท่านก็รู้สึกว่า ไม่ควรที่จะกระทำอย่างนั้นเลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น การกระทำอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะระงับความเดือดร้อนใจได้ ก็คือ ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกังวลเดือดร้อน และไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงคุณธรรมของพระอริยเจ้า เมื่อไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดในอบายภูมิได้

    ถ. ขออภัย ปัญญายังคงมีน้อย ฟังแล้วก็ยังสงสัยอยู่ที่ว่า ท่านยังพันโลกธาตุ หรือหมื่นโลกธาตุให้ปรากฏนั้น มีแสดงไว้ที่ไหนหรือเปล่าว่า ท่านแสดงโดยวิธีใด ประชาชนหรือพระเถระจึงได้เห็น หรือได้ปรากฏ เพราะถ้าคิดไปแล้ว พันหรือหมื่นโลกธาตุย่อมกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ ถ้าอย่างเราอยู่ในโลกนี้ น่าจะไม่เห็น เว้นแต่พระเถระหรือว่าฆราวาสก็ดี ที่ท่านเป็นพระอนาคามีแล้ว ท่านจึงจะมองเห็น เพราะมีญาณ

    สุ. มีแสดงไว้ใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต

    ถ. ท่านทำด้วยวิธีไหน

    สุ. ที่ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดเพราะเห็นว่า ข้อความในอรรถกถา บางทีท่านผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกเบื่อ เพราะเป็นแบบสำนวนของอรรถกถาที่แปลตรงจากภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ก็ตัดข้อความส่วนใหญ่ออก เพียงแต่ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระรัศมีจากพระกาย ทำให้หมื่นจักรวาลสว่าง ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเสียง

    ขอกล่าวถึงข้อความบางตอนเพื่อให้หายสงสัย ใน มโนรถปุรณี อรรถกถาของ จูฬนีสูตร มีข้อความว่า

    ในจักรวาลเหล่านั้น ชื่อว่าสถานที่ไม่ใช่วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มี เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์เถระคิดแล้วว่า พระศาสดาตรัสอย่างนี้ว่า อานนท์ ตถาคตหวังอยู่ พึงยังโลกธาตุ ติสหสฺสี และมหาสหสฺสี ซึ่งหมายความถึงแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้ด้วยเสียง

    ข้อว่า ยาวตา วาปน อากงฺเขยฺย ความว่า ก็โลกนี้ไม่เสมอกันแล

    กำลังสงสัยอย่างนี้ใช่ไหม

    จักรวาลทั้งหลายไม่มีที่สิ้นสุด ในที่แห่งหนึ่ง พระอาทิตย์ตั้งขึ้นแล้ว ในที่แห่งหนึ่ง พระอาทิตย์ตั้งอยู่ในท่ามกลาง ในที่แห่งหนึ่ง พระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว

    ถูกไหม ไม่เสมอกัน บางแห่งพระอาทิตย์กำลังขึ้น บางแห่งกำลังอยู่ตรงกลาง บางแห่งก็ตก

    ในที่แห่งหนึ่ง เป็นปฐมยาม ในที่แห่งหนึ่ง เป็นมัชฌิมยาม ในที่แห่งหนึ่ง เป็นปัจฉิมยาม

    แม้สัตว์ทั้งหลายตามขวนขวายในการทำงานบ้าง ตามขวนขวายในกิจเล็กน้อยบ้าง ตามขวนขวายในอาหารบ้าง เป็นผู้ฟุ้งซ่านและประมาทอยู่ด้วยกิจทั้งหลายเหล่านั้นๆ

    แต่ละคนก็เป็นแต่ละชีวิต แต่ละกิจ แต่ละขณะ แต่ละการงานในขณะนั้น บางท่านอาจจะทำการงานอยู่ บางท่านอาจจะบริโภคอาหาร บางท่านอาจจะกำลังคิดฟุ้งซ่าน หรือว่าประมาทอยู่ด้วยกิจทั้งหลายเหล่านั้นๆ

    ด้วยประการฉะนี้ พระศาสดาพึงยังสัตว์เหล่านั้นให้รู้ด้วยเสียงอย่างไรหนอแล

    แม้ท่านพระอานนท์เองท่านก็สงสัยว่า ไม่น่าเลยที่แต่ละชีวิตในแต่ละแห่งนี้จะได้ยินเสียงของพระผู้มีพระภาค หรือว่าของพระอัครสาวกอภิภู ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี

    ท่านพระอานนท์เถระคิดแล้วอย่างนี้ เมื่อทูลถามพระตถาคต เพื่อตัดเสียซึ่งความแคลงใจ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ยถา กถํ ปน ดังนี้

    ซึ่งข้อความตอนนี้ก็ตัดออกได้ เพราะข้อความในอรรถกถาจะหยิบยกคำในภาษาบาลีมาอธิบายถึงมูลเหตุว่า เพราะเหตุใดจึงปรากฏคำนั้น เช่น คำว่า ยถา กถํ ปน มีมูลเหตุ หรือเพราะอะไรจึงมีคำนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้นพระศาสดาเมื่อทรงพยากรณ์แก่ท่านพระอานนท์นั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อิธานนฺท ตถาคโต ดังนี้

    บรรดาบทเหล่านั้น ๒ บทว่า โอภาเสน ผเรยฺย ความว่า พึงแผ่ไปด้วยแสงสว่างแห่งสรีระ

    เวลานี้คนธรรมดาไม่มีรัศมี แต่พระผู้มีพระภาคสามารถที่จะทรงแผ่รัศมีออกจากพระสรีระ แล้วแต่ว่า ...

    ถ. ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน เราเชื่อกัน เชื่อเพราะเรามีศรัทธาในใจอยู่แล้ว แต่บางท่านอาจจะฟังไปอีกลักษณะหนึ่ง การที่ท่านใช้คำว่า หมื่นหรือพันโลกธาตุ จะเป็นการใช้อรรถหรือเปล่า อาจจะหมายถึงจำนวนบุคคล หรือจะหมายถึงโลกธาตุจริงๆ หมายถึงโลกอื่นจริงๆ ที่มี คงไม่ใช่ว่า บุคคลคนหนึ่งถือว่าเป็น ๑ โลก

    สุ. ไม่ใช่ แต่เป็นโอกาสโลก คือ เป็นสถานที่เกิดของจิต ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะในโลกนี้โลกเดียว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๙๙๑ – ๑๐๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564