แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001


    ครั้งที่ ๑๐๐๑

    สาระสำคัญ

    ภูมิ มีความหมาย ๒ อย่าง อถ.จิตตุปปาทกัณฑ์ - ความหมายของมหัคคตะ ภูมิที่เกิดของกามาวจรจิตมี ๑๑ ภูมิ


    . ท่านพระอานนท์ ท่านน่าจะเป็นผู้ที่ได้บรรลุคุณธรรมก่อนสาวกบางท่าน เพราะว่าเกือบจะทุกสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสแสดง ท่านเป็นท่านแรกที่จะได้ยินได้ฟัง และจดจำได้หมด แต่เพราะเหตุใดท่านจึงบรรลุคุณธรรมช้ากว่าบางท่าน

    สุ. สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา การสะสมของสภาพธรรมที่เป็น ท่านพระอานนท์ต่างกับการสะสมของสภาพธรรมอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นท่านพระสารีบุตร หรือท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัจจายนะ หรือว่าท่านพระสาวกอื่นๆ บางท่านก็กล่าวว่า ท่านมัวแต่ไปจำ ทำไมไม่คิดว่ามีเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้ท่าน พระอานนท์ยังไม่บรรลุ แต่กลับคิดว่า ท่านมัวแต่ไปนั่งจำที่พระผู้มีพระภาคตรัส จึงไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เร็วเหมือนอย่างกับพระสาวกรูปอื่นๆ แต่นั่นเป็นการนึกคิดโดยที่ไม่ทราบเหตุปัจจัยซึ่งแต่ละท่านสะสมมาต่างๆ กัน

    สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตที่ว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติที่วิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    ซึ่งหมายความถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้จำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายนัย เช่น โดยชาติ ๔ ได้แก่ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว และโดยภูมิ ซึ่งมีความหมาย ๒ อย่าง คือ ภูมิ หมายถึงระดับขั้นของจิต ที่ต่างกันเพราะสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตต่างกันออกเป็น ๔ ขั้น หรือ ๔ ระดับ คือ เป็นกามาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นรูปาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นอรูปาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นโลกุตตรจิต ๑ ประเภท

    สำหรับกามาวจรจิตมีทั้ง ๔ ชาติ คือ จิตที่เป็นกามาวจรจิต จิตซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น ที่เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี

    นอกจากกามาวจรจิตแล้ว จิตระดับที่สูงกว่านั้นไม่เป็นอกุศล รูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี อรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี โลกุตตรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี

    สำหรับรูปาวจรจิตมีเพียง ๓ ชาติ คือ กุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบาก ถ้ารูปาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นและดับไปสะสมอยู่ในจิต เป็นปัจจัยให้รูปาวจรวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในพรหมโลก ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิภูมิหนึ่งภูมิใดในรูปพรหม ๑๖ ภูมิ ส่วนรูปาวจรกิริยาจิตเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ซึ่งถึงอัปปนาสมาธิ

    สำหรับอรูปาวจรจิตก็มี ๓ ชาติ คือ เป็นอรูปาวจรกุศลประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรวิบากประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรกิริยาประเภทหนึ่ง โดยนัยเดียวกัน

    สำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต บางครั้งจะได้ยินคำศัพท์ที่ใช้คำรวมสำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตว่า มหัคคตจิต ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่อธิบายความหมายของมหัคคตะว่า

    ชื่อว่ามหัคคตะ เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์

    กิเลสเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถข่มได้โดยง่าย เพราะเวลาที่เห็น ก็เกิดพอใจหรือไม่พอใจทันที แต่ในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบทางมโนทวาร ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการ ลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น ถ้าฌานจิตเกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม อาจจะเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง หรือ ๒ วัน ขณะที่เป็นฌานจิต ภวังคจิตจะไม่เกิดคั่นเลย ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็น กามาวจรจิตซึ่งเป็นขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก จึงใช้คำว่า ปริตตะ ปริตตธรรม เพราะเห็นนิดหนึ่ง และก็ได้ยิน ได้ยินนิดหนึ่ง และก็เห็น หรือว่าคิดนึก เพราะฉะนั้น เป็นชั่วขณะที่สั้นจริงๆ เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นเห็น เมื่อรูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไป ภวังคจิตต้องเกิดทันทีก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากทางปัญจทวารวิถี เพราะฉะนั้น เป็นอารมณ์ที่ปรากฏชั่วขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก เดี๋ยวก็เห็นทางตา เดี๋ยวก็ได้ยินทางหู เดี๋ยวก็ได้กลิ่น เดี๋ยวก็ลิ้มรส เดี๋ยวก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็นบ้าง ร้อนบ้าง เดี๋ยวก็คิดนึก ในขณะเหล่านี้เอง เป็นขณะสั้นๆ เพราะท่านผู้ฟังไม่ใช่เพียงแต่เห็น คิดด้วย คนละวิถีจิต และได้ยินอีก และก็คิดอีก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และจิตซึ่งรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นปริตตธรรม เพราะฉะนั้น คำว่า ปริตตธรรม เป็นชื่อธรรมฝ่ายกามาวจร

    สำหรับมหัคคตะ ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เป็นมหัคคตะ เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เวลาที่อัปปนาสมาธิเกิดเป็นฌานจิต ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงชื่อว่า สามารถข่มกิเลส

    แต่ถ้าฌานจิตดับแล้วกามาวจรจิตเกิดต่อ หลังจากเห็นแล้วอกุศลเกิดทันที ถ้าไม่ใช่กุศล เพราะกามาวจรจิตข่มกิเลสไม่ได้ เมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับ เวลาเห็นแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาได้ยินแล้วกิเลสก็เกิด เวลาได้กลิ่นแล้วกิเลสก็เกิด เวลาลิ้มรสแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาที่กระทบสัมผัสแล้วกิเลสก็เกิด แต่มีใครรู้บ้างไหมว่า กิเลสเกิดอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ข่ม และไม่ได้อบรมเจริญหนทางที่จะดับ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นวิสัยของกิเลสที่เมื่อยังไม่ได้ดับก็จะเกิดต่อจากการเห็น การ ได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของกิเลสที่เกิดต่อจากการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ว่าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พยายามหาทางที่จะข่มกิเลส และก็รู้ว่าทางเดียวที่จะข่มได้ คือ ต้องไม่เห็น ต้องไม่ได้ยิน ต้องไม่ได้กลิ่น ต้องไม่ลิ้มรส ต้องไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะถ้าเห็น รู้ได้เลยว่ากั้นกิเลสไม่ได้ ต้องรู้อย่างนี้ จึงจะอบรมเจริญถึง อัปปนาสมาธิเพื่อที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และต้องเป็นผู้ที่รู้ด้วยว่า ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะเมื่อฌานจิตไม่เกิด เมื่อเห็น กิเลสก็เกิด เมื่อได้ยินกิเลสก็เกิด ด้วยเหตุนี้ ชั่วขณะที่เป็นรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เป็นสภาวะอันใหญ่ ชื่อว่ามหัคคตะ เพราะสามารถข่มกิเลสได้โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เหมือนกับพระอนาคามีบุคคลซึ่งเห็น แต่ดับความยินดีพอใจในรูป ได้ยินแต่ดับความยินดีพอใจในเสียง ได้กลิ่นแต่ดับความยินดีพอใจในกลิ่น ลิ้มรสแต่ดับความยินดีพอใจในรส กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ดับความยินดีพอใจในเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็นระดับขั้น สำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ คือ เป็นชาติกุศลประเภทหนึ่ง เป็นชาติวิบากประเภทหนึ่ง และเป็นชาติกิริยาประเภทหนึ่ง สำหรับโลกุตตรจิตมีเพียง ๒ ชาติ คือ โลกุตตรกุศลประเภทหนึ่ง และ โลกุตตรวิบากประเภทหนึ่ง ไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต

    โลกุตตรจิตมี ๘ คือ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล สกทาคามิมรรคจิต เป็นโลกุตตรกุศล อนาคามิมรรคจิตเป็นเป็นโลกุตตรกุศล อรหัตตมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล

    ส่วนวิบาก คือ ผลของกุศล เมื่อชื่อว่ากุศล ย่อมเป็นปัจจัยให้ผลจิตหรือ วิบากจิตเกิดขึ้น เพราะกุศลเป็นเหตุ สำหรับกิริยาจิตและวิบากจิตเท่านั้นที่จะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่สำหรับธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น โสตาปัตติมรรคจิต เป็นโลกุตตรกุศล เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากจิต คือ โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น กุศลอื่นทั้งหมดไม่สามารถให้ผลทันทีสืบต่อจากกุศลจิตได้ แต่สำหรับโลกุตตรกุศล ไม่มีธรรมอื่นมาคั่นระหว่างกุศลจิตและวิบากจิตเพราะฉะนั้น ทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตดับ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศลดับ โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากเกิดต่อทันที

    เวลาที่สกทาคามิมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ สกทาคามิผลจิตซึ่งเป็น โลกุตตรวิบากเกิดต่อทันที เวลาที่อนาคามิมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ อนาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากเกิดต่อทันที และเวลาที่อรหัตตมรรคจิตซึ่งเป็น โลกุตตรกุศลดับลง อรหัตตผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากก็เกิดต่อทันที

    เพราะฉะนั้น ผลของโลกุตตรกุศลจิตทั้ง ๔ ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่เหมือนกับวิบากของกุศลและอกุศลทั้งหลาย เพราะเวลาที่โลกุตตรกุศลจิตดับ โลกุตตรวิบากจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากโลกุตตรกุศลทันที และไม่ได้กระทำกิจปฏิสนธิ

    พระโสดาบันบุคคลยังเกิดอีก ๗ ชาติ แต่ปฏิสนธิจิตของพระโสดาบันไม่ใช่ โสตาปัตติผลจิตทำกิจปฏิสนธิ แล้วแต่ว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นจะเกิดในภูมิใด ในสวรรค์ชั้นใด หรือว่าในพรหมภูมิใด กามาวจรวิบาก หรือรูปาวจรวิบาก หรืออรูปาวจรวิบาก ก็จะทำกิจปฏิสนธิในภูมินั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า คำว่า ภูมิ มี ๒ ความหมาย คือ ความหมายหนึ่ง หมายถึงระดับขั้นของจิต ซึ่งมี ๔ ภูมิ คือ เป็นกามาวจรภูมิ ๑ เป็น รูปาวจรภูมิ ๑ เป็นอรูปาวจรภูมิ ๑ เป็นโลกุตตรภูมิ ๑ และอีกความหมายหนึ่ง หมายความถึงโอกาสโลก คือ เป็นสถานที่เกิดของจิตหรือรูป เพราะว่ามีอยู่ภูมิหนึ่งซึ่งจิตไม่เกิด มีแต่รูปเท่านั้นที่เกิด เป็นรูปปฏิสนธิ

    คำว่า ภูมิ ที่เป็นโอกาสโลก เป็นสถานที่เกิดของนามธรรมและรูปธรรม รวมทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ ตามระดับขั้นของจิต คือ เป็นภูมิที่เกิดของกามาวจรจิต ๑๑ ภูมิ ซึ่งได้แก่ ทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ ๔ และสุคติภูมิ ๗ เป็นมนุษย์ ๑ ภูมิ สวรรค์ ๖ ภูมิ นอกจากนั้น ยังมีรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ สำหรับผู้ที่ได้รูปฌานจิต และมีอรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิ สำหรับผู้ที่ได้อรูปฌานจิต รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ๓๑ ภูมิ คือ ๓๑ ขั้น แต่ว่าสถานที่เกิดจริงๆ มีมากกว่านั้น เพราะแม้แต่ในภูมิของมนุษย์ ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว ยังมีโลกมนุษย์โลกอื่นๆ อีกด้วย

    . โลกุตตรมรรคจิตจะเข้าถึงโลกุตตรผลจิต จะเกิดติดต่อกันอย่างไร

    สุ. โดยปัจจัย

    โดยปัจจัยอย่างไร

    สุ. ทางตา จักขุวิญญาณ คือ สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือพูดง่ายๆ ว่า เห็น จิตที่เห็นเกิดที่จักขุปสาท และก็ดับที่จักขุปสาท เป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดที่หทยวัตถุ แต่รู้รูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุปสาทต่อ โดยความเป็นปัจจัย ที่เกิดก็ห่างกันแล้วใช่ไหม จิตดวงหนึ่งเกิดที่จักขุปสาทดับที่จักขุปสาท เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดที่หทยรูป หทยวัตถุ แต่ว่ารู้อารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์ทางจักขุทวาร

    เพราะฉะนั้น เวลาที่บุคคลใดก็ตามอบรมเจริญปัญญารู้ความเกิดดับของ สภาพธรรมจนกระทั่งปัญญาคมกล้าที่จะละคลายความติดในการเห็นสภาพธรรม เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เวลาที่มรรควิถีจิตจะเกิด มหากุศลจิตซึ่งมีไตรลักษณ์ ลักษณะหนึ่งลักษณะใดในลักษณะ ๓ ที่เป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาเป็นอารมณ์ในขณะนั้น ดับไป จิตต่อไปเป็นโคตรภูจิต หมายความว่า ข้ามจากความเป็นปุถุชนสู่การที่จะเป็นพระอริยเจ้าเมื่อโคตรภูจิตดับ เพราะเหตุว่าโคตรภูจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์จริง แต่ยังไม่ได้ดับกิเลส ตามปัจจัย ถ้าไม่มีมหากุศลที่มีไตรลักษณ์ ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเป็นอารมณ์เกิดก่อน โคตรภูจิตจะเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ และถ้าโคตรภูจิตยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ โลกุตตรมรรคจิตจะเกิดขึ้นดับกิเลสก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิตแต่ละดวงที่เกิดสืบต่อกัน ก็มีปัจจัยที่จะให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นสืบต่อกัน ถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรมไม่ได้

    . ถ้าเช่นนั้น ต้องเจริญสติปัฏฐานจึงจะรู้ได้

    สุ. มีหนทางเดียว ไม่มีหนทางอื่นเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าระลึกไม่ได้ที่จะพิจารณา ที่จะศึกษา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งในธาตุรู้ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว หรือในรูปที่ปรากฏซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว เป็นรูปขณะต่างๆ เป็นนามธรรมขณะต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดดับสืบต่อกันตามเหตุตามปัจจัย

    เวลาที่ยังไม่ถึงเรื่องโลกุตตรจิต ก็เข้าใจยาก แต่ให้ทราบว่า โลกุตตรจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัย สืบเนื่องมาจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    . ในครั้งพุทธกาล มีหลายคนที่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคได้อย่างไร เรียนถามว่า รู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาค หมายถึงรู้ธรรมอะไร

    สุ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าอย่างไร เมื่อมีผู้ไปทูลถาม

    . ผมไม่ได้จำมา

    สุ. จำแต่คำถามมาหรือ ซึ่งคำตอบก็ต้องมีประโยชน์มาก รู้ทั่วถึงธรรม ธรรมที่กำลังปรากฏ

    . ผมคิดว่า พระผู้มีพระภาคตรัสให้รู้ขันธ์ ๕ บ้าง บางทีก็ตรัสให้รู้อริยสัจ ๔ บ้าง บางทีก็ตรัสให้รู้ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ บ้าง ผมคิดว่า ถ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็หมายถึงรู้ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเพียงแต่ได้ยินคำว่า ขันธ์ ๕ ก็คงจะไม่ทราบว่า ให้รู้ทั่วถึงอะไร เพราะยังไม่รู้จักว่า ขันธ์ ๕ คืออะไร

    เพราะฉะนั้น ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นขันธ์ ๕ เมื่อประจักษ์ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น และดับไป สิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว เป็นอดีต สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดต่อ ซึ่งจะต้องมีแน่นอน หลังจากที่ขณะหนึ่งดับไป ขณะต่อไปก็เกิดต่อ ขณะนั้นเป็นอนาคต และลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏต่างกันไปแต่ละขณะ แม้แต่ความรู้สึก บางครั้งก็รู้สึกดีใจ บางครั้งก็รู้สึกเสียใจ บางครั้งก็รู้สึกเฉยๆ ในขณะที่กำลังดีใจ ไม่ใช่ในขณะเดียวกับที่เสียใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นต่างขณะ สภาพธรรมที่เป็นสภาพที่ดีใจต้องดับก่อน และก็มีปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมที่เสียใจ หรือว่าสภาพธรรมที่เฉยๆ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นและดับไป ปรากฏลักษณะที่ต่างกันเป็นสภาพที่เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เป็นสภาพที่หยาบ เป็นสภาพที่ละเอียด เป็นสภาพที่เลว เป็นสภาพที่ประณีต เป็นสภาพที่ไกล เป็นสภาพที่ใกล้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๐๑ – ๑๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    8 เม.ย. 2566