แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
ครั้งที่ ๑๐๐๔
สาระสำคัญ
อัง.ติก.อาชีวกสูตร ผู้ที่แสดงธรรมดีแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมดีแล้ว ผู้บรรลุธรรมดีแล้ว จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเวทนาเจตสิก
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร คฤหบดี ถ้าเช่นนั้นเราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านชอบใจอย่างใด ก็พึงกล่าวแก้อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดแสดงธรรมเพื่อ ละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นกล่าวธรรม ดีแล้วหรือหาไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ
คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นกล่าวธรรมดีแล้ว ในข้อนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ฯ
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร คฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดปฏิบัติเพื่อ ละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ใช่หรือไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ
คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดปฏิบัติเพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ในข้อนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ฯ
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร คฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลกใช่หรือไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ
คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลก ใน ข้อนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ฯ
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร คฤหบดี ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นกล่าวธรรมดีแล้ว ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดปฏิบัติเพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใด ละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลก ดังนี้แล ฯ
คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกมาถามท่านพระอานนท์ แต่ว่าท่านพระอานนท์ได้ให้อาชีวกนั้นตอบเอง ซึ่งก็ตอบได้ถูกตามคำถามที่ท่านพระอานนท์แนะให้พิจารณา และเมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้ว ท่านคฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกก็ได้กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมี ธรรมเทศนาจักไม่ชื่อว่าเป็นการยกย่องธรรมของตนเอง และจักไม่เป็นการรุกรานธรรมของผู้อื่น เป็นธรรมเทศนาเฉพาะแต่ในเหตุ ท่านกล่าวแต่เนื้อความ และมิได้นำตนเข้าไป
ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ ท่านทั้งหลายกล่าวธรรมดีแล้ว ท่านทั้งหลายปฏิบัติดีแล้วในโลก ท่านทั้งหลายละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายละโทสะได้แล้ว ฯลฯ ท่านทั้งหลายละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายดำเนินไปดีแล้วในโลก
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก พระผู้เป็นเจ้าอานนท์ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบ อาชีวกสูตร
ขอเล่าเรื่องการสนทนากับท่านที่เคยศึกษาธรรมมาด้วยกันท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ได้พบกันมานานมาก และเพิ่งจะได้พบกันในงานศพของนักธรรมท่านหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านผู้นั้นบอกว่า ดิฉันไม่ควรแสดงธรรมที่เป็นอุตริมนุสสธรรม ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนถามท่านว่า อุตริมนุสสธรรมคืออะไร ท่านก็ตอบว่า ธรรมที่ทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เป็นอุตริมนุสสธรรม ซึ่งการบรรยายธรรมที่ท่านผู้ฟังได้รับฟัง ถ้าทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ อบรมเจริญขึ้นไม่ได้ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงแสดง จะมีประโยชน์อะไรเมื่อทรงแสดงแล้ว ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะปฏิบัติตามได้
เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้ผู้ที่เป็นสาวกคือผู้ฟัง อบรมเจริญ ประพฤติปฏิบัติจนกว่าจะถึงคุณธรรมที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท มิฉะนั้นแล้ว ไม่ทราบว่าการถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะจะมีความหมายว่าอย่างไร ถ้าไม่ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เข้าใจและไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็ไม่ทราบว่า ท่านผู้นั้นจะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะได้อย่างไร จะถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะได้อย่างไร ถ้าไม่ฟังพระธรรมให้เข้าใจและไม่ประพฤติปฏิบัติตาม
เพียงการกราบไหว้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ทราบว่า ผู้นั้นจะถึงสรณะ คือ มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงได้อย่างไร
และถ้าไม่ฟังธรรมให้เข้าใจจริงๆ ไม่อบรมเจริญปัญญาที่ประกอบด้วยศรัทธา ที่แก่กล้าจนถึงขั้นที่สามารถจะประหานกิเลสเป็นสมุจเฉท การถึงสรณะนั้นก็ยังไม่ใช่การถึงสรณะที่ประเสริฐสุด
เพราะฉะนั้น การที่จะถึงพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ ต้องศึกษาให้เข้าใจ พระธรรมก่อน พร้อมกันนั้นต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วย จึงจะถึงพระธรรมเป็นสรณะ หรือว่าถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ และถึงพระอริยสงฆ์เป็นสรณะได้ มิฉะนั้น ไม่มีหนทางเลยที่จะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ
และอย่าลืมว่า สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกท่านสามารถที่จะศึกษา อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ ไม่ใช่ถึงโดยไม่ฟัง ไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติตาม
ถ. ผู้ที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น มีการศึกษามากแค่ไหน ทำไมจึงได้กล่าวว่า อาจารย์กล่าวอุตริมนุสสธรรม และที่อาจารย์ถามว่า อุตริมนุสสธรรมคืออะไร ท่าน ผู้นั้นก็ไม่ได้ตอบให้ตรง อุตริมนุสสธรรมในพระไตรปิฎกท่านก็แสดงว่า ผู้ที่ไม่ได้ปฐมฌานพูดว่าได้ปฐมฌาน หรือกล่าวโดยย่อ ผู้ที่ไม่ได้สมบัติ ๘ ก็กล่าวว่าได้ ผู้ที่ไม่ได้มรรคผล ไม่ได้เห็นนิพพาน ก็บอกว่าได้เห็นนิพพาน นี่คือ อุตริมนุสสธรรม
ท่านผู้นั้นกล่าวว่า อาจารย์กล่าวอุตริมนุสสธรรม แต่อาจารย์ก็ไม่เคยบอกว่า อาจารย์ได้ปฐมฌาน ไม่เคยบอกว่าได้เห็นนิพพานขั้นโน้นขั้นนี้แล้ว ทำไมมาว่าอาจารย์กล่าวอุตริมนุสสธรรม ไม่เข้าใจจริงๆ
สุ. ก็คงจะมีอีกหลายท่าน ซึ่งมีความคิดเห็นต่างๆ กันไปตามการสะสมของแต่ละท่าน เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับฟังความคิดของท่านผู้หนึ่งผู้ใด ก็ควรที่จะได้ถามท่านผู้นั้นโดยตรง ซึ่งเมื่อท่านผู้นั้นกล่าวว่า ไม่ควรแสดงธรรมที่เป็นอุตริมนุสสธรรม ดิฉันก็ได้เรียนถามว่า อุตริมนุสสธรรมคืออะไรในความคิดของท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นด้วยความเกรงใจก็คงจะไม่พูดตรงๆ อย่างนั้น แต่บอกว่า ธรรมที่ทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เป็นอุตริมนุสสธรรม
แต่อย่าลืมว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่เป็นประโยชน์เลย แสดงเพื่ออะไร ในเมื่อผู้อื่นไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้
ถ. เรื่องนี้ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมที่อบรมได้ พระผู้มีพระภาคก็สอนให้อบรม ธรรมที่ละได้ พระผู้มีพระภาคก็สอนให้ละ และธรรมบางอย่างอบรมไม่ได้ พระผู้มีพระภาคก็สอนว่า ธรรมนี้อบรมไม่ได้ เช่น กุศลอบรมให้มากขึ้นได้ อกุศลทั้งหลายปฏิบัติเพื่อจะละให้ได้ แต่ผัสสะอบรมไม่ได้ พระผู้มีพระภาคก็ไม่สอนว่า ให้อบรมผัสสะ อย่างนี้เป็นต้น
สุ. ท่านผู้ฟังพิจารณาได้จากข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อาชีวกสูตร ที่ได้กล่าวถึงเมื่อครู่นี้ที่ว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเพื่อที่จะให้ละโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเป็นธรรมที่เมื่อผู้ใดกล่าวหรือแสดงเรื่องของการละโลภะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่แสดงธรรมดีแล้ว และผู้ใดที่ปฏิบัติธรรมเพื่อละ โลภะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นก็ปฏิบัติธรรมดีแล้ว และผู้ใดที่ดับโลภะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นก็ได้บรรลุธรรมดีแล้ว
เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมทั้งหมด ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการละโลภะ โทสะ โมหะ แต่โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ว่าจะละง่าย บางท่านก็กล่าวว่า ทำอย่างไรจึงจะละพยาบาทได้ ทำอย่างไรจึงจะละความผูกโกรธได้
แต่ทำไมจึงจะละเพียงความพยาบาทและความผูกโกรธ อกุศลธรรมทุกประเภท ควรละ โลภะก็ควรละ ไม่ใช่เฉพาะโทสะเท่านั้นที่ควรละ โมหะก็ควรละ อิสสาริษยาก็ควรละ มัจฉริยะก็ควรละ สภาพธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหมดควรละ แต่ทำไม่จึงอยากจะละเพียงบางส่วน หรือว่าบางประการเท่านั้น นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอกุศลธรรมมีมาก ต้องรู้ก่อนว่ามีมากจริงๆ อย่ามุ่งละเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทราบว่า ควรละทุกอย่าง
ท่านที่มีมัจฉริยะ อยากจะหมดมัจฉริยะไหม หรือว่ายังพอใจอยู่ที่จะมีมัจฉริยะเป็นเรื่องที่จะต้องเห็นลักษณะของอกุศลธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ควรละ และไม่ใช่มุ่งที่จะละอย่างเดียว แต่ว่าการที่จะละอกุศลธรรมได้ ไม่ใช่ตัวตนสามารถที่จะละได้ เพียงแต่รู้ว่า อกุศลธรรมไม่ดี เท่านี้พอหรือยัง
บางท่านก็ถามว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทำไมจึงยังไม่หมดความพยาบาท หรือว่ายังไม่หมดความผูกโกรธ ในเมื่อรู้แล้วว่า ความพยาบาทและความผูกโกรธนั้นเป็นอกุศล รู้เท่านี้เอง แต่ที่ยังไม่รู้นั้นมากมายเหลือเกิน และท่านผู้ฟังเองก็พิจารณาได้ สามารถที่จะตอบตนเองได้เวลาที่พิจารณาธรรมแล้วว่า เพราะความรู้ยังน้อยมาก เพียงรู้เท่านี้เองว่า อกุศลธรรมทั้งหลายไม่ดี รู้เท่านี้ไม่สามารถที่จะละ หรือว่าไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เพราะเรื่องที่จะต้องรู้จริงๆ นั้น มีอีกมากมายที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังปรากฏ จึงจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น โดยการดับสักกายทิฏฐิและความเห็นผิดทั้งหลายก่อน จึงจะละอกุศลธรรมอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ว่าจะสามารถละความพยาบาทและความผูกโกรธได้ก่อน อย่างที่ถามและอยากจะถึง โดยที่ไม่รู้เรื่องของความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่ถูกต้องกระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก ในขณะนี้เอง
เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า จะละความพยาบาทหรือความผูกโกรธ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ต้องละความไม่รู้ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนก่อน ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนถึงขั้นที่จะดับกิเลสอื่นๆ ตามลำดับ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีก บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์
ขอกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า
อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม
สัมปยุตตธรรม หมายความถึงเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต เวลาที่พูดถึงสัมปยุตตธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดที่เดียวกัน ไม่รวมธรรมอื่นเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิด แต่ละขณะวิจิตรตามสัมปยุตตธรรม วิจิตร คือ ต่างกัน ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว โดยชาติ โดยภูมิ
ต่อไปจะแสดงให้เห็นว่า จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเวทนาเจตสิก โดยนัยของเวทนาเภทะ คือ ความต่างกันของจิตซึ่งแสดงโดยนัยของเวทนา
เวทนา หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือว่าเป็นสุขทางกาย เป็นทุกข์ทางกาย หรือว่าเป็นสภาพที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ สภาพที่เฉยๆ ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะปราศจากเวทนาไม่ได้เลย ขณะใดที่มีจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะมีจิตเกิดขึ้นโดยปราศจากสภาพธรรมซึ่งเป็นเวทนาเจตสิกที่เป็นสภาพที่รู้สึกเฉยๆ หรือว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ ในอารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ และเวทนาเจตสิกที่เกิด จะเกิดเพียงลักษณะเดียวในขณะหนึ่งๆ เช่น ขณะใดที่มีความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อทุกขมสุข คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีใจหรือเสียใจ เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ ดับไปแล้ว และมีความรู้สึกดีใจเกิดขึ้น ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกเสียใจ หรือความรู้สึกเฉยๆ รวมอยู่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิกดวงหนึ่งเกิดกับจิตดวงหนึ่ง ทุกๆ ขณะที่จิตเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นเวทนาเจตสิกประเภทใด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๐๑ – ๑๐๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020