แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
ครั้งที่ ๑๐๑๕
สาระสำคัญ
ความหมายของโสภณจิตและอโสภณจิต
ถ้าจำแนกโดยประเภทของธรรมหมวด ๓ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ คือ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม ๔ สามารถที่จะแยกเป็นหมวด ๓ คือ ธรรมที่เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง ธรรมที่เป็นกุศลประเภทหนึ่ง และธรรมที่เป็นอัพยากตะประเภทหนึ่ง สำหรับเหตุ ๖ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ แต่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นกุศลธรรมพวกหนึ่ง และเป็นอัพยากตธรรมอีกพวกหนึ่ง โดยนัยของธรรมหมวด ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และ อัพยากตธรรม
ถ้าเข้าใจความหมายของอัพยากตะก็จะทราบว่า โดยนัยของเหตุสามารถที่จะจำแนกเป็นเหตุ ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นกุศลเหตุ ๓ เป็นอัพยากตเหตุ ๓ ที่ต้องแยกเป็นกุศลเหตุและอัพยากตเหตุ ก็เพราะว่ากุศลเป็นเหตุ แต่ว่าอัพยากตะที่เป็นวิบากเป็นผล และอัพยากตะที่เป็นกิริยาไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผลจึงเป็นกิริยา
ขอกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายของจิต ประการที่ ๔ ต่อไป ที่ว่า
ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม
ซึ่งก็ได้แก่ เจตสิกที่เกิดกับจิตนั่นเอง ที่ทำให้จำแนกจิตต่างกันออกเป็นนัย ต่างๆ อีกนัยหนึ่ง คือ โดยนัยของโสภณและอโสภณ
โสภณธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะกุศล
อโสภณธรรม เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโสภณ คือ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม เพราะฉะนั้น โดยนัยของสัมปยุตตธรรมที่จำแนกให้จิตต่างกัน เป็นจิตประเภทที่ ดีงาม เป็นโสภณบ้าง และเป็นจิตประเภทที่ไม่ดีงาม เป็นอโสภณบ้าง ต้องเข้าใจว่า หมายความถึงเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ นั่นเอง
สำหรับเจตสิกที่ดีงาม ได้แก่ อโลภเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้สัมปยุตตธรรมในขณะนั้นดีงาม เวลาที่อโลภเจตสิกเกิด หรือว่าอโทสเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นก็ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตที่เกิดร่วมด้วยและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม
เวลาที่ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น เป็นอโมหะ เป็นสภาพที่ไม่หลง ในขณะนั้นเป็นสภาพที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม หรือเป็นสภาพที่เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม ขณะใดที่ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นสภาพที่ ดีงาม
เพราะฉะนั้น ความหมายของโสภณและอโสภณก็สืบต่อมาจากเหตุนั่นเอง คือ จิตใดที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จิตนั้นเป็นโสภณจิต และจิตใดก็ตามที่ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จิตนั้นเป็น อโสภณจิต
อกุศลจิต เป็นโสภณจิตหรือเปล่า
การศึกษาปรมัตถธรรมมีเรื่องต้องคิด ต้องพิจารณาด้วยตนเอง และเหตุผลที่เกิดจากการพิจารณาย่อมเป็นเหตุผลที่ถูกต้องชัดเจน ไม่ทำให้คลาดเคลื่อนสับสนกับธรรมอื่นๆ เช่น อกุศลจิตเป็นโสภณะ หรืออโสภณะ
อกุศลจิตไม่ได้ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นโสภณจิตไม่ได้แน่นอน นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ชัดเจน
จักขุวิญญาณ จิตเห็นในขณะนี้ เป็นโสภณะหรืออโสภณt
จักขุวิญญาณที่ทำกิจเห็น เพียงเห็น ไม่ได้เกิดพร้อมกับโลภเจตสิก หรือ โทสเจตสิก หรือโมหเจตสิก หรือโสภณเจตสิกใดๆ เลย เกิดกับเจตสิกเพียง ๗ ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเจตสิกทั้ง ๗ ดวงเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง จะไม่มีจิตดวงไหนที่ปราศจากเจตสิก ๗ ดวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต หรือโลกุตตรจิต หรือจิตใดๆ ก็ตาม ต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย จะขาดเจตสิก ๗ ดวงนี้ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น เจตสิก ๗ ดวงซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นเสมอกับจิต ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ก็เป็นอกุศล ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก สัพพจิตตสาธารณเจตสิกนี้ก็เป็นวิบาก เพราะเจตสิกทั้ง ๗ นี้ เสมอกันกับจิตและเจตสิกที่ตนเกิดร่วมด้วย
จักขุวิญญาณ เป็นโสภณจิต หรือเป็นอโสภณจิต
ก็ทราบแล้วว่า โสภณจิต หมายความถึงจิตที่เกิดร่วมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จึงจะเป็นโสภณจิต แต่จิตใดๆ ก็ตามซึ่งไม่เกิดพร้อมกับ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นอโสภณจิต เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นโสภณจิต หรือเป็นอโสภณจิต
เป็นอโสภณจิต เพราะอโสภณจิตไม่ได้หมายความว่าเป็นอกุศลจิต จิตใดๆ ก็ตามที่ไม่เกิดร่วมกับโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นอโสภณทั้งหมด
การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาที่จะต้องเข้าใจโดยละเอียด แม้แต่จะใช้คำว่า อกุศล หรืออโสภณ ต่างกันอย่างไร
อกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม และเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล แต่อโสภณะ หมายความถึงจิตและเจตสิกที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ๓
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า เหตุมี ๖ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เกิดกับวิบากหรือกิริยาก็มี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นเหตุ ๑๒ ทำไมบอกว่า เหตุ ๖ เท่านั้น
สุ. ไม่ได้แยกธรรมออกเป็น ๔ ชาติเท่านั้น แต่ยังแยกออกเป็นธรรมหมวด ๓ ถ้ากล่าวโดยชาติ มีอกุศล มีกุศล มีวิบาก มีกิริยา โดยชาติ ๔ แต่ถ้ากล่าวโดย ธรรมหมวด ๓ รวมวิบากกับกิริยาเป็นอัพยากตะ ก็เป็นเหตุ ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นกุศลเหตุ ๓ และอัพยากตเหตุ ๓
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยใดๆ ผู้ที่ศึกษาต้องเข้าใจตามนัยที่ทรงแสดงนั้นๆ เมื่อทรงแสดงโดยประเภทของหมวด ๓ ใช้คำว่า กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ก็ต้องรู้ความหมายว่า กุศลธรรม ต้องเป็นสภาพที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก อกุศลธรรม ต้องเป็นสภาพที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่อัพยากตธรรม ต้องเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น อัพยากตธรรม หมายความถึง วิบากจิตและเจตสิก ๑ กิริยาจิตและเจตสิก ๑ รูป ๑ และนิพพาน ๑
นี่คือความหมายที่จะต้องเข้าใจ โดยการทรงแสดงโดยนัยต่างๆ เพราะ อัพยากตธรรมไม่ได้หมายเฉพาะจิตและเจตสิกที่เป็นวิบากและกิริยา แต่หมายความรวมถึงรูปปรมัตถ์ และนิพพานปรมัตถ์ คือ ธรรมใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่กุศลหรืออกุศล เป็นอัพยากตะ เมื่อทรงแสดงโดยหมวด ๓ แต่ถ้าทรงแสดงโดยชาติ ๔ หมายเฉพาะ จิตและเจตสิก
เพราะฉะนั้น สำหรับทางฝ่ายกุศลวิบาก จึงมีทั้งที่เป็นอโสภณะและโสภณะ ถ้าขณะใดที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ขณะนั้นเป็นโสภณะ เป็นกุศลวิบากที่เป็นโสภณะ
จักขุวิญญาณ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง กระทำกิจเห็น แต่ว่าต่างกันโดยกรรม เป็น ๒ ประเภท คือ เห็นสิ่งที่ไม่ดีขณะใด เป็นอกุศลวิบากขณะนั้น เห็นสิ่งที่ดี น่าพอใจขณะใด เป็นกุศลวิบากในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทางตาที่เห็น เป็น จักขุวิญญาณ มี ๒ ดวง ๒ ประเภท ต่างกันตามกรรม คือ เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ๑ และเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม ๑
ทางหูก็เหมือนกัน ที่ได้ยินเสียงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นผลของอดีตกรรม ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่น่ายินดี น่าพอใจ ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นโสตวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อยากจะเปลี่ยนให้ได้ยินเสียงที่พอใจก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะขณะนั้นจิตเกิดขึ้นเป็นผลของอดีตอกุศลกรรม
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าจักขุวิญญาณที่เป็น กุศลวิบากที่เห็นสิ่งที่ดี โสตวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากที่ได้ยินเสียงที่ดี ฆานวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากที่ได้กลิ่นที่ดี ชิวหาวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากที่ได้รสที่ดี กายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากที่กระทบโผฏฐัพพะที่ดี ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เพราะฉะนั้น จึงเป็นอโสภณจิต
ต้องทราบความต่างกันของความหมายของคำว่า โสภณะ กับอโสภณะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า กุศลวิบากทั้งหมดเป็นโสภณจิต
ชีวิตประจำวันในแต่ละขณะ ท่านผู้ฟังทราบว่า ท่านผู้ฟังมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุด แต่ว่าปฏิสนธิจิตของภูมิมนุษย์กับปฏิสนธิจิตของอบายภูมินั้นต่างกัน เพราะเหตุว่าผู้ที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ เป็นสัตว์ที่เกิดในนรก หรือเป็นเปรต หรือเป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน ปฏิสนธิด้วย อกุศลวิบากจิต เป็นผลของอกุศลกรรม สำหรับปฏิสนธิจิตของผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาชั้นต่างๆ ซึ่งเป็นสุคติภูมิ ต้องเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งซึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในสุคติภูมิ แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นบุคคลใด ถ้าเกิดเป็นคนที่พิการตั้งแต่กำเนิด กุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิก คือ ไม่ได้เกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก นั่นเป็นประเภทหนึ่ง คือ เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด ก็เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอาการต่างๆ ซึ่งปฏิสนธิจิตย่อมต่างกันตามกำลังของกุศลที่เป็นเหตุ
กุศลกรรมอย่างอ่อน เป็นเหตุให้กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกทำกิจปฏิสนธิเป็นบุคคลที่บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด แต่สำหรับผู้ที่ไม่บ้าใบ้บอดหนวก ตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตนั้นประกอบด้วยโสภณเจตสิก คือ อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก เป็น ๒ เหตุ เป็นทวิเหตุกบุคคล แต่ว่าปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นไม่ใช่เป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกในขณะที่กระทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งบุคคลนั้นแม้ว่าจะได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็อาจจะมีการพิจารณาและเข้าใจ และอาจจะมีการอบรมเจริญปัญญา แต่ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต หรือมรรคผลนิพพาน คือ ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมที่จะเป็นพระอริยบุคคล ไม่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ในชาตินั้น แต่ว่าสะสมเหตุปัจจัยซึ่งถ้ากรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกให้ผล ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก เป็นติเหตุกบุคคล คือ เป็นบุคคลที่ประกอบพร้อมด้วยโสภณเหตุทั้ง ๓ ในชาติต่อไปได้
เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาท เพราะบางท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ปฏิสนธิจิตของท่านอาจจะหรือคงจะเกิดร่วมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทการเจริญกุศล ประมาทการฟังพระธรรม ท่านจะเป็นผู้ที่มีมนสิการ คือ สามารถที่จะพิจารณาด้วยสติปัญญาซึ่งได้สะสมมาในอดีต เพราะฉะนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่ฉลาดในทางโลก ในวิชาการต่างๆ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
บางท่านอาจจะเป็นผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยสนใจธรรม อาจจะเป็นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม หรืออาจจะถึงกับบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร แต่ว่าการรู้แจ้ง อริยสัจธรรมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าจะรู้แจ้งในเพศใด ในเพศของบรรพชิตหรือว่าในเพศของฆราวาส เพราะว่าทุกท่านจะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง
ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าแต่ละท่านสามารถที่จะเลือกชีวิตของท่านได้ ถ้าคิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอัตตา ก็จะคิดว่าตัวท่านเป็นผู้เลือกที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ตามความเป็นจริง สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่ความคิดที่จะเกิดแต่ละขณะก็มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดเป็นไปในขณะนั้นอย่างนั้นๆ แม้แต่การตัดสินใจ แต่ละครั้งแต่ละขณะก็ไม่มีอัตตาที่จะตัดสิน และแม้แต่การคิดตัดสินในขณะนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น หรือตัดสินอย่างนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๑๑ – ๑๐๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020