แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016


    ครั้งที่ ๑๐๑๖

    สาระสำคัญ

    โสภณจิตและอโสภณจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด พระอรหันต์มีอโสภณจิต แต่ไม่มีอกุศลจิต ลักษณะของสภาพรู้ ยากที่จะปรากฏ


    สุ. ถ้าท่านเป็นผู้ที่แม้ว่าในกาลครั้งหนึ่งอาจจะเคยสนใจธรรม ฝักใฝ่ในการศึกษา ในการปฏิบัติธรรม แต่อย่าลืมว่า กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังมีอกุศลที่สะสมมามากมายหนาแน่นที่จะทำให้หลงไปเพลินไปในอกุศลได้ ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทเพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะปฏิสนธิด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก แต่เมื่อใดที่เป็นผู้ประมาท ปัญญาเจตสิกในชาตินั้นก็ไม่เจริญขึ้น เพราะไม่ได้อบรมด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการปฏิบัติธรรม ซึ่งก็น่าเสียดายชาติที่ปฏิสนธิพร้อมกับปัญญาเจตสิกแต่ไม่ได้อบรมให้เจริญขึ้น และในชาติต่อไป กรรมใดจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นอกุศลกรรมทำให้อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก หรือว่าอาจจะเป็นกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็น่าเสียดายในแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาให้เจริญยิ่งขึ้น

    . เหตุใดผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคลจึงบรรลุมรรคผล หรือได้ฌาน ส่วนผู้ที่เป็นทวิเหตุกบุคคลบรรลุมรรคผล หรือได้ฌานในชาตินั้นไม่ได้

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังพิจารณาบุคคล แต่ไม่รู้ว่าที่จัดจำแนกบุคคลออกเป็นประเภทนั้นๆ ก็เพราะปฏิสนธิจิตต่างกัน เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล และก็จำแนกออกไปว่า เป็นสัตว์ต่างกับมนุษย์ และเวลาที่เห็นมนุษย์อุปนิสัยต่างๆ กัน บางท่านเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด บางท่านเป็นผู้ที่สติปัญญาน้อย เป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดการพิจารณาน้อย ท่านจัดประเภทเป็นบุคคลต่างๆ แต่ลืมว่า ที่จัดอย่างนั้นเพราะจิตของบุคคลนั้น และต้องหยั่งลงไปถึงขณะปฏิสนธิว่า เพราะปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญาเจตสิก หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

    . คนที่โกงเก่งๆ วางแผนปล้นธนาคารได้สำเร็จ จะพูดได้ไหมว่า เขาปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ

    สุ. ถ้าคนนั้นได้ฟังพระธรรม และเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และสามารถที่จะปฏิบัติรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ผู้นั้นก็ปฏิสนธิพร้อมด้วยปัญญา แต่ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้นที่จะพิสูจน์ ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้

    . คนที่คลอดออกมาแล้วพิการ เราจะทราบได้หรือไม่ว่าเป็นอเหตุกะ

    สุ. ทราบไม่ได้ เพราะต้องถือตั้งแต่ปฏิสนธิว่า จะมีกรรมใดที่จะทำให้เป็น ผู้ที่พิการบ้าใบ้บอดหนวก เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ว่าจะปฏิสนธิอย่างไรก็อบรมเจริญได้ จนกว่าจะเจริญขึ้นๆ ในทางกุศลธรรม

    เรื่องของโสภณจิตและอโสภณจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด ที่ควรจะได้พิจาณาในชีวิตประจำวัน เพราะว่าทุกท่านไม่ได้มีแต่โสภณจิต แต่มีทั้งโสภณจิตและอโสภณจิต ซึ่งควรที่จะได้ทราบว่า ในขณะไหนเป็นโสภณะ และในขณะไหนเป็นอโสภณะ

    สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ ซึ่งไม่บ้าใบ้บอดหนวกพิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตเป็นโสภณจิต แต่ก็ยังแยกออกเป็น ๒ ประเภทว่า เป็นทวิเหตุประกอบด้วย อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกประเภทหนึ่ง และเป็นติเหตุกบุคคลประกอบด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิกหรือปัญญาอีกประเภทหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องที่จะคิดว่า ตัวเองเป็นประเภทไหน แต่ว่าอบรมเจริญขึ้นๆ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นติเหตุกปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในปัจจุบันชาตินี้ได้ ไม่ใช่ว่าผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคลจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทุกคนในปัจจุบันชาติ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นติเหตุกปฏิสนธิ ก็ยังต้องแล้วแต่การเจริญอบรมปัญญาอีกว่า ควรแก่การที่จะ รู้แจ้งหรือว่ายังไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ไม่ได้บ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิด นอนหลับสนิท ขณะนั้นเป็นโสภณจิต ถูกไหม

    ปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก เป็นทวิเหตุกบุคคล หรือปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก เป็นติเหตุกบุคคล แม้กำลังนอนหลับก็เป็นโสภณะ กิเลสยังไม่เกิด ไม่มีความยินดียินร้าย เพราะยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึกเรื่องของสิ่งที่เห็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นโสภณะ เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    ดีใจไหม เป็นโสภณบุคคลในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท แต่ว่าพอตื่นขึ้นจะเสียใจหรือว่าจะดีใจ ขึ้นอยู่กับอกุศลจิตจะเกิด หรือว่ากุศลจิตจะเกิดในวันหนึ่งๆ

    เพียงเห็น เป็นอโสภณะ แต่เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล ไม่น่าจะยินดีเลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าสะสมสืบต่ออยู่เรื่อยๆ และอกุศลนี้รวดเร็วเหลือเกิน ทันทีที่เห็นดับไป ถ้ากุศลจิตไม่เกิดเป็นไปในทาน หรือในศีล หรือในความสงบของจิต หรือในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ทราบได้ทันทีว่าเป็นอกุศลแล้ว รวดเร็ว และก็มาก เพราะว่าในขณะหนึ่งๆ ซึ่งมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เพียง จักขุวิญญาณขณะเดียว แต่จักขุวิญญาณเกิดดับสืบต่อสลับกับอกุศลอีก ๗ เท่า ๗ เท่าของจักขุวิญญาณซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาครั้งหนึ่งๆ

    น่าดีใจ หรือเสียใจ โสภณบุคคล นอนหลับสนิทเป็นโสภณะ แต่พอตื่นขึ้นจะเป็นโสภณะ หรือว่าจะเป็นอโสภณในวันหนึ่งๆ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะไม่ประมาท เมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดถึงขณะจิตว่า ขณะใดเป็นโสภณะ ขณะใดเป็นอโสภณะ และ อโสภณะนั้นเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก

    และก็คงจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่จะให้พืชเชื้อของสติปัญญาที่สะสมมาพร้อมกับโสภณเจตสิกที่เกิดพร้อมกับภวังคจิตในขณะที่นอนหลับ เป็นพืชเชื้อที่ได้รับการอบรมเจริญจนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นกุศลธรรมที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะในขณะที่เป็นภวังค์ สำหรับผู้ที่ไม่บ้าใบ้บอดหนวก เป็นโสภณจิต มีโอกาสที่จะเจริญเติบโตเป็นกุศลที่เจริญขึ้นเรื่อยๆ ได้ ถ้ามีการฟัง พระธรรมโดยละเอียดและเข้าใจชัดเจนถูกต้อง เพื่อที่จะให้การประพฤติปฏิบัติไม่ผิด

    พระอรหันต์มีอโสภณจิตไหม มี

    พระอรหันต์มีอกุศลจิตไหม ไม่มี

    พระอรหันต์มีอโสภณจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิต เพราะพระอรหันต์มี จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งเป็นอโสภณจิต เพราะจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้นนั้น ไม่มีโสภณเจตสิกซึ่งเป็นโสภณเหตุ คือ ไม่มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    สำหรับเจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ประเภท ซึ่งทางธรรมใช้คำว่า ดวง เป็นโสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ที่เหลืออีก ๑๓ ประเภท เป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่เสมอกันกับจิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย คือ เป็นกุศลก็ได้ถ้าเกิดกับกุศลจิตและกุศลเจตสิกอื่น เป็นอกุศลก็ได้เวลาเกิดกับอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกอื่น เป็นวิบากก็ได้เวลาเกิดกับวิบากจิตและวิบากเจตสิกอื่น เป็นกิริยาก็ได้เวลาเกิดกับกิริยาจิตและกิริยาเจตสิกอื่น

    เวทนาเจตสิก ดีไหม ใช้ภาษาไทย ถ้าจะไม่ใช้คำว่าโสภณะหรืออโสภณะ ลองใช้ภาษาไทย ความหมายจะเหมือนกับที่เข้าใจคำว่า โสภณะหรืออโสภณะไหม

    เวทนาเจตสิก ดีไหม มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งตอบว่า ถ้าเป็นสุขเวทนาก็ดี

    สุขเวทนา โดยนัยของเวทนา ๕ หมายความถึงเวทนาเจตสิกที่เกิดเฉพาะกับกายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ในขณะที่กระทบกับอารมณ์ที่น่าสบายทางกาย ขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เพราะฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี สุขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณกุศลวิบากเป็นโสภณะหรือ อโสภณะ เป็นอโสภณ ไม่ดีแล้วใช่ไหม

    เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ดีต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก

    รูปที่ทุกท่านกำลังกระทบสัมผัสสบายๆ ตอนนี้ ดีหรือไม่ดี ไม่ตอบภาษาไทยแล้วใช่ไหม เพราะถ้าตอบภาษาไทยจะไม่ชัดเจน นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ภาษาบาลี เพราะมีความหมายที่กระชับถูกต้องในอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรม

    รูป ถึงแม้จะน่ายินดี น่าพอใจ ดูสีสันวัณณะที่ปรากฏผ่องใสสวยงาม แต่ว่าไม่ใช่โสภณะ ไม่ได้ประกอบด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรือสภาพธรรมใดๆ ที่เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปเป็นอัพยากตะ สำหรับสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิตและเจตสิกเท่านั้นที่จะเป็นโสภณะหรืออโสภณะได้ รูปทั้งหมดแม้ว่าจะสวยงาม ก็ไม่ใช่โสภณะ แต่รูปเป็นที่รองรับของความรู้สึกยินดีหรือพอใจได้ เพราะว่าความยินดีหรือพอใจอยู่ที่ไหนในวันหนึ่งๆ

    ความยินดี ความพอใจของท่านอยู่ที่ไหนในวันหนึ่งๆ พ้นจากรูปไหม ยินดีที่จะได้เห็นสิ่งที่ต้องการ ยินดีที่จะได้ฟังเสียงที่น่าพอใจ ยินดีที่จะได้กลิ่นที่น่าพอใจ ยินดีที่จะลิ้มรสที่น่าพอใจ ยินดีที่จะได้กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าสบายทางกาย ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย พ้นจากความต้องการความรู้สึกที่มีต่อรูปทั้งหลายไหม โดยที่รูปนั้นเองเป็นอัพยากตะ รูปไม่รู้อะไรเลย แต่รูปนั่นเองเป็นที่รองรับความยินดี ความพอใจ หรือเวทนาต่างๆ

    ทำไมต้องการเห็นรูป ทำไมต้องการได้ยินเสียง ทำไมต้องการกลิ่นหอมๆ ทำไมต้องการรสอร่อยๆ ทำไมต้องการได้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ ก็เพื่อความรู้สึกที่เป็นสุขจะได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้เพียงนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ทำให้รู้สึกเป็นสุขได้ ใช่ไหม ในวันหนึ่งๆ เป็นสุขกับการคิดนึกถึงรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้างหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ขันธ์ทั้ง ๕ จึงได้อุปมาเปรียบเทียบว่า

    รูปขันธ์ อุปมาเหมือนกับภาชนะที่รองรับความรู้สึกที่ยินดี

    เวทนาขันธ์ อุปมาเหมือนกับอาหารที่อยู่ในภาชนะนั้น

    สัญญาขันธ์ อุปมาเหมือนกับกับข้าวชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่ปรุงให้เกิดความยินดีขึ้น

    เพราะคงจะไม่มีความพอใจที่จะกินข้าวโดยที่ไม่มีกับ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีสัญญาซึ่งเพิ่มเติมรสของความรู้สึกนั้นขึ้นอีก ที่จะให้ยินดีอย่างนั้นบ้าง ยินดีอย่างนี้บ้าง

    สังขารขันธ์ เปรียบเหมือนพ่อครัวนักปรุง

    อาหาร ถ้าไม่มีพ่อครัวแม่ครัวที่มีฝีมือจะเป็นอย่างไร มีผัก มีเนื้อ แต่ไม่มี พ่อครัวแม่ครัวที่มีฝีมือรสชาติของอาหารนั้นจะเป็นอย่างไร รับประทานได้ รับประทานลง แต่อร่อยไหม ก็คงไม่เหมือนกับพ่อครัวที่มีฝีมือ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ปรุงรสต่างๆ ขึ้นเป็นสัญญากับข้าวต่างๆ พร้อมทั้งรสของอาหารซึ่งมีรูปเป็นเครื่องรองรับอยู่

    วิญญาณขันธ์ คือ ผู้เสวย หรือผู้รับประทาน ผู้บริโภครสนั้นๆ เพราะจิต เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์

    นามขันธ์ทั้ง ๔ เกิดร่วมกัน ไม่เคยแยกขาดจากกันได้เลยสักนามขันธ์เดียว จะมีนามขันธ์หนึ่งขาดนามขันธ์ ๓ ไม่ได้ จะมีเพียงนามขันธ์ ๒ ขาดอีกนามขันธ์ ๒ ไม่ได้ จะมีเพียงนามขันธ์ ๓ ขาดไปแม้เพียงหนึ่งนามขันธ์ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เวลาที่ระลึก ต้องรู้ไหมว่าขณะจิตนี้เป็นโสภณะ หรืออโสภณะ มีโสภณเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยกี่เหตุ ไม่ต้องใส่ชื่อเลย แต่ว่าสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือว่าเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นรูป ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    เช่น ขณะที่กำลังระลึกสภาพรู้ทางตาในขณะนี้ ไม่ใช่ระลึกลักษณะของเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด ใช่ไหม เพราะกำลังรู้ว่า มีสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของสภาพรู้ ยากที่จะปรากฏ เพราะเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่คิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็เป็นสภาพที่กำลังรู้ กำลังคิดเรื่องที่กำลังมีอยู่ในขณะนั้น เรื่องที่กำลังปรากฏ

    ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ทุกคนมีแต่เห็น ขณะนี้ก็ได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยิน มีเสียงปรากฏ เพราะว่ามีธาตุรู้เสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ยากไหม ที่จะรู้ลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งไม่ต้องใส่ชื่อ

    การศึกษาเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ลักษณะของจิตที่สามารถจะรู้ได้ว่า มีอรรถคือลักษณะอย่างไรบ้าง หรือว่าจำแนกออกโดยประเภทอย่างไรบ้าง ประกอบด้วยเจตสิกอย่างไรบ้าง จำแนกโดยชาติ ๔ โดยธรรมหมวด ๓ จำแนกโดยเหตุ จำแนกโดยอสังขาร สสังขาร หรือจำแนก โดยโสภณะ อโสภณะ ก็เพื่อที่จะน้อมนำให้เข้าใจในสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันไปตามที่ได้ศึกษา เช่น ลักษณะของรูปไม่ใช่ลักษณะของนาม ลักษณะของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าเป็นอัพยากตะ

    ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มีการใฝ่ใจ ใส่ใจ น้อมไปที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทีละอย่าง ทีละขณะ ไม่ใช่พร้อมกันอย่างในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น อย่าลืมจุดประสงค์ คือ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๑๑ – ๑๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564