แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020


    ครั้งที่ ๑๐๒๐

    สาระสำคัญ

    นามบัญญัติมี ๖ อย่าง เวทนา ๕ แยกโดยอินทรีย์ สัง.สฬา.ปโลกสูตร


    อารมณ์ที่ปรากฏให้รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๗ รูป และจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท อีก ๕ รูป รวม ๑๒ รูป เป็นรูปหยาบ เป็นรูปใกล้ เป็นรูปที่ควรแก่การพิจารณา เพราะฉะนั้น จะไปพิจารณาอากาศธาตุ เพื่อที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้

    แต่จะต้องรู้ลักษณะของวิสยรูป หรือโคจรรูป ซึ่งเป็นรูปใกล้ ที่กำลังปรากฏ เพราะในขณะนี้ถ้ากระทบสัมผัสทางกาย จะมีรูปแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวปรากฏ ไม่ต้องเลือกที่จะไปรู้อากาศธาตุ แต่เวลาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รูปที่เป็นโผฏฐัพพะจะปรากฏลักษณะ ซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจ การอบรมเจริญปัญญา และการประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นปัญญาแต่ละขั้น ซึ่งจะต้องอบรม

    . อากาศธาตุ ปริจเฉทรูปนี้ก็คั่นอยู่ทุกๆ กลาป จะเป็นมหาภูตรูปทั้ง ๔ ปริจเฉทรูปก็คั่นอยู่ ปสาทรูปทั้ง ๕ ปริจเฉทรูปก็คั่นอยู่ ทำไมอาจารย์กล่าวว่า พิจารณาโผฏฐัพพารมณ์เท่านั้นที่จะรู้ปริจเฉทรูปได้ ถ้าพิจารณาปสาทรูป อากาศธาตุจะไม่ปรากฏ ทำไมเป็นอย่างนั้น

    สุ. รูปเป็นอารมณ์ทีละรูป

    . ทราบแล้วว่า รูปเป็นอารมณ์ทีละรูป แต่ในเมื่ออากาศธาตุมีอยู่ในรูป ทุกๆ รูป จักขุปสาทก็มีอากาศธาตุ ถ้าเราพิจารณาจักขุปสาทจะรู้อากาศธาตุได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ แม้แต่เสียง หรือสี หรือกลิ่น หรือรส ก็ปรากฏแต่ละทวาร

    . ทำไมถ้าพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์จะรู้อากาศธาตุได้ ถ้าพิจารณา จักขุปสาทจะรู้อากาศธาตุไม่ได้ ทั้งๆ ที่อากาศธาตุก็มีอยู่ในปสาทรูปนั้น

    สุ. ขณะนั้น รู้จักขุปสาท อย่าลืม จักขุปสาทเป็นรูปพิเศษที่สามารถรับกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา และเป็นอุปาทายรูป คือ ไม่ใช่มหาภูตรูป

    มหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปมี ๔ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นอกจากมหาภูตรูป ๔ จะมีอุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ รูป คือ สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูป เป็น ๑ กลาป อย่างน้อยที่สุด เล็กที่สุด จะต้องมีรูปรวมกันถึง ๘ รูป แต่สำหรับจักขุปสาท ไม่ได้แยกออกต่างหากจากรูป ๘ รูปนี้เลย รวมอยู่ในรูป ๘ รูป และยังมีชีวิตินทริยรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมรวมอยู่ด้วย เพราะว่ากลุ่มของรูปประเภทที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิด จะต้องมี ชีวิตินทริยรูปรวมอยู่ด้วยทุกๆ กลุ่ม เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังรู้ลักษณะของจักขุปสาท ในขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

    . ก็เหมือนกัน ขณะที่รู้โผฏฐัพพารมณ์ ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้อากาศธาตุ

    สุ. เพราะว่าหลายกลุ่มที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น อากาศธาตุก็คั่นอยู่ในระหว่างกลุ่ม เวลาที่รู้โผฏฐัพพารมณ์ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะกลุ่มเดียว ลมหายใจที่ว่ากระทบนี้กี่กลุ่ม โผฏฐัพพะที่กระทบกี่กลุ่ม เพราะฉะนั้น อากาศธาตุคั่นอยู่ระหว่างกลาป ระหว่างกลุ่มนั้น เมื่อปรากฏเป็นหลายกลุ่ม และจะปรากฏการเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันจนกว่าจะขาด เป็นอุทยัพพยญาณ

    เป็นเรื่องที่ถึงแม้ว่าจะคิด ก็ไม่ใช่ว่าจะประจักษ์ เพียงแต่ว่าเข้าใจได้ว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญขึ้น จนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้ โดยความที่ไม่ใช่เราจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะคงยังมีความเป็นเราหลงเหลืออยู่ว่า เรากำลังมีสติ เรากำลังทำสติ เรากำลังจะสงบ หรือว่าเรากำลังจะรู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรา ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. พระอรหันต์ไม่มีตัวตน ใช่ไหม

    สุ. นามธรรมและรูปธรรมมี แต่ไม่มีการหลงผิดยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน

    . หมดสมมติบัญญัติหรือเปล่า

    สุ. ชื่อทั้งหมด เป็นคำที่บัญญัติเพื่อให้เข้าใจในอรรถของสิ่งที่มี หรือสิ่งที่ ไม่มี

    ถ. ชื่อ ไม่มีเกิด ไม่มีดับ

    สุ. พระอรหันต์มีจริงไหม

    ถ. จริง

    สุ. มีจริง เพราะฉะนั้น บัญญัติคำว่า พระอรหันต์ เพื่อให้เข้าใจในสภาพที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น บัญญัติ คือ คำ หรือชื่อ มีทั้งที่หมายถึงสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่ไม่มีจริง สำหรับนามบัญญัติ ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็จะขอกล่าวถึงว่า นามบัญญัติมี ๖ อย่าง ได้แก่

    ๑. วิชชมานบัญญัติ เช่น คำว่า รูปะ นามะ หรือเวทนา สัญญา เจตนา พวกนี้เป็นวิชชมานบัญญัติ เพราะเป็นคำที่หมายถึงสภาพธรรมที่มีอยู่ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าพระอรหันต์มีไหม เป็นบัญญัติ เป็นคำที่หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง

    ๒. อวิชชมานบัญญัติ เป็นบัญญัติที่หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่มี เช่น พระราชา หรือว่าไทย ฝรั่ง เป็นต้น เหล่านี้

    พระราชา มีไหม มีนามธรรม มีรูปธรรม มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีรูปขันธ์ มีเวทนาขันธ์ มีสัญญาขันธ์ มีสังขารขันธ์ มีวิญญาณขันธ์ แต่ว่าพระราชาเป็นสมมติ ไม่ใช่เป็นสภาวปรมัตถ์ คือ จิต เจตสิก รูป

    อกุศลจิตเป็นพระราชาหรือเปล่า

    อกุศลจิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่พระราชาไม่มีจริง อกุศลจิตมี กุศลจิตมี แต่พระราชาไม่มี เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงพระราชา เป็นต้น ขณะนั้นเป็นการบัญญัติ คือ ชื่อ ที่หมายถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ เป็นอวิชชมานบัญญัติ

    ๓. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มีรวมกัน เช่น พูดว่า บุคคลชื่อว่าฉฬภิญญะ เพราะอรรถว่ามีอภิญญา ๖ อภิญญามี แต่บุคคลไม่มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นบัญญัติที่รวมสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มี

    ๔. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงของผู้หญิง เสียงมีจริง แต่ผู้หญิงไม่มี ถูกไหม

    ๕. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี เช่น คำว่า จักขุวิญญาณ จักขุมีจริง เป็นจักขุปสาท วิญญาณมีจริง เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณ เป็นคำบัญญัติประเภทวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ คือ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี

    ๖. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น พระโอรสของพระราชา พระโอรสก็ไม่มี พระราชาก็ไม่มี

    ถ้าเป็นสมมติสัจจะ มีทั้งนั้น ใช่ไหม พระโอรสก็มี พระราชาก็มี แต่โดยสภาพตามความเป็นจริงแล้ว คือ จิต เจตสิก รูป

    มีสภาพธรรมมากมายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยประการต่างๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า แม้ว่าอัธยาศัยของท่านอาจจะชอบย่อ เพราะเห็นว่าละเอียดนักก็อาจจะยุ่งยากเกินไปสำหรับท่าน แต่ว่าประโยชน์ของการฟัง คือ เพื่อให้เข้าใจ สภาพธรรมที่มีจริง จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น และสามารถที่จะประจักษ์แจ้งใน สภาพธรรมที่เกิดดับที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ไม่เลือกใช่ไหม จะโดยย่อ โดยปานกลาง หรือโดยละเอียด ขอเพียงให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    . ทุกขเวทนาของพระอรหันต์มีหรือเปล่า

    สุ. มี

    . ถ้ามี จะต่างกับคนธรรมดาอย่างไร

    สุ. ทุกขเวทนา หมายความถึงความรู้สึกไม่สบายกาย โดยนัยของเวทนา ๕ ซึ่งแยกโดยอินทรีย์ ๕ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑

    พระอรหันต์มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพานต้องมีจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น เพราะวิบากจิตย่อมเกิดเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย และเมื่อ วิบากจิตเกิดขึ้น มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หลังจากนั้น สำหรับปุถุชนส่วนใหญ่เป็นอกุศล สำหรับพระอริยบุคคลที่เป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ยังมีอกุศลจิต แต่ว่าน้อยประเภทลง สำหรับพระอรหันต์นั้นดับกิเลสหมด

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการกระทบกับโผฏฐัพพะทางกาย คือ สภาพที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้างทางกาย ผู้ที่มีอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ย่อมทำให้กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แม้ทางกาย โผฏฐัพพะที่กระทบก็จะเป็นแข็งเกินไป บ้าง ร้อนจัดบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจิตที่เป็นกายวิญญาณจะเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เวลาที่กายปสาทกระทบกับรูปที่ร้อนจัด ไม่มีใครทำให้สุขเวทนาเกิดได้ เพราะ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    สำหรับพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านยังมีกายวิญญาณซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา แต่เมื่อกายวิญญาณอกุศลวิบากซึ่งเกิดร่วมกับทุกขเวทนาดับไปแล้ว อกุศลไม่เกิดเลย ในขณะที่ปุถุชนนี้เดือดร้อน พระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ยังมีโทมนัส คือ ความขุ่นเคืองใจ ความเดือดร้อนใจ ความรำคาญใจ ความเป็นห่วง ความกังวล เวลาที่มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือว่าได้กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางกาย แต่สำหรับพระอรหันต์ หลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว กุศลจิตก็ไม่เกิด อกุศลจิตก็ไม่เกิด จิตที่เกิดมีแต่เพียงกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากจิตข้างหน้า และกิริยาจิตนั้นก็ไม่ใช่วิบากจิต

    เพราะฉะนั้น โดยชาติ พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ วิบากและกิริยา แต่ว่าสำหรับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พระอรหันต์ก็มี อดีตอกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเกิด โสตวิญญาณอกุศลวิบากเกิด ฆานวิญญาณอกุศลวิบากเกิด ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบากเกิด กายวิญญาณอกุศลวิบากเกิด

    ต่อไปเป็นเรื่องของการจำแนกจิตโดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้ต่างกันโดยประเภท เป็นโลกียจิตและโลกุตตรจิต ก่อนอื่นควรที่จะได้เข้าใจความหมายของคำว่า โลก ซึ่งไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังเข้าใจความหมายของโลกตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ข้อ ๑๐๑ มีข้อความว่า

    ปโลกสูตร

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญที่เรียกกันว่า โลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่า โลก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ฯลฯ

    เป็นธรรมดาของใคร ของพระอริยเจ้า แต่ว่ายังไม่ใช่ธรรมดาของผู้ที่ไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลต้องประจักษ์ความเกิดดับจริงๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เว้น อย่างทางตา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณ (คือ สภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้) มีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา

    ตลอดไปจนกระทั่งถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ฯ

    ท่านผู้ฟังก็ได้ทราบความหมาย หรือ คำจำกัดความ คำนิยามของโลกได้แล้วว่า ทุกสิ่งที่เกิดดับเป็นโลก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ไม่เกิดดับเท่านั้นที่ไม่ใช่โลก เหนือโลก พ้นจากโลก เป็นโลกุตตระ คือ นิพพาน

    เมื่อจำแนกจิตโดยประเภท จิตใดที่ไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน คือ ไม่รู้แจ้งนิพพาน ไม่ดับกิเลส จิตนั้นเป็นโลกียะ แต่ว่าจิตใดก็ตามซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยประจักษ์แจ้งและดับกิเลส จิตนั้นเป็นโลกุตตระ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ต้องอบรมเจริญโลกียปัญญาซึ่งรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โลกียปัญญาในที่นี้ไม่ใช่ปัญญาอย่างโลกๆ ที่เป็นปัญญารู้วิธีสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ นั่นไม่ใช่โลกียปัญญาในพระพุทธศาสนา

    แต่โลกียปัญญา คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของโลก ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เกิดดับ ซึ่งไม่ใช่นิพพาน

    ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่นิพพาน เป็นโลกียปัญญา และจิตนั้นๆ ก็เป็นโลกียจิต

    แต่จิตใดซึ่งรู้แจ้ง ประจักษ์ลักษณะของนิพพานที่ไม่เกิดดับ ไม่ใช่โลก จิตนั้นจึงจะเป็นโลกุตตรจิต ซึ่งมีทั้งหมด ๘ ดวง คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นทำกิจดับกิเลส เมื่อดับไปแล้ว โสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้นสืบต่อทันที โสตาปัตติมรรคจิตเป็นกุศลจิต เป็นโลกุตตรกุศล เพราะฉะนั้น ต้องมีวิบาก คือ โสตาปัตติผลจิต เป็นผลของ โลกุตตรกุศลเกิดขึ้นสืบต่อทันที โดยที่ไม่มีธรรมอื่นคั่นได้เลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๑๑ – ๑๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564