แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
ครั้งที่ ๙๖๗
สาระสำคัญ
วิบากที่ถึงขณะแล้ว ทวิปัญจทวารวิถีจิตทั้ง ๑๐ เป็นวิบาก
เวลาที่เห็นสิ่งใดแล้ว ขณะนั้นจักขุวิญญาณเกิดขึ้น เป็นวิบากที่ถึงแล้ว เวลาที่อยากจะรับประทานอาหารรสอร่อย อยาก แต่ยังไม่มีชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น เวลาที่ชิวหาวิญญาณลิ้มรสอร่อยที่อุตส่าห์ติดตามแสวงหา ขณะนั้นเป็นวิบากที่ถึงขณะแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แล้วแต่กรรม และแล้วแต่ประเภทของวิบากด้วย เพราะฉะนั้น ทำให้คิดว่า จะต้องได้รับรสอร่อยแน่ โดยลืมนึกถึงเหตุในอดีตว่า มีอดีตกรรมซึ่งเป็นกรรมที่จะให้ผลแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึง หรือว่าเป็นกรรมที่มีผลไม่แน่นอน
อย่างคนที่ทำอนันตริยกรรม ฆ่ามารดาบิดา มีผลแน่นอนที่จะต้องเกิดในนรก แต่เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ก็ยังไม่ต้องตกนรก ยังไม่ปฏิสนธิในนรก แต่เมื่อจุติจิตของชาตินี้เกิดขึ้นและดับไป ปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ ในนรก ต้องมีแน่นอน ซึ่งระหว่างที่ยังไม่จุติ เป็นกรรมที่ให้ผลแน่นอน แต่ยังไม่ถึง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมด อย่าคิดว่าปราศจากกรรมในอดีต อย่าคิดว่า มีตัวตนที่ความสามารถจะเห็นอะไรก็ได้ ได้ยินอะไรก็ได้ ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสอะไร ก็ได้ แต่ทุกขณะที่เกิดแล้วให้ทราบว่า เป็นเพราะกรรมทำให้เกิดวิบากนั้น และเป็นวิบากที่ถึงขณะแล้วในขณะที่เกิดขึ้น
สำหรับทวิปัญจทวารวิถีจิตทั้ง ๑๐ เป็นวิบาก เกิดขึ้นขณะเดียว กระทำกิจของตนๆ และก็ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม กรรมเดียวกับที่ทำให้เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะนั้น เพราะรูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทวิปัญจวิญญาณหรือสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมอันเดียวกันที่ทำให้ได้รับอารมณ์นั้น เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป สันตีรณวิถีจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบากจิต โดยนัยเดียวกัน เมื่อสันตีรณวิถีจิตดับไป โวฏฐัพพนจิต คือ มโนทวาราวัชชนะจิตที่กระทำกิจโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ใช่กรรม คือ ไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก
ถ. การสะสม กับกรรม เหมือนกันหรือเปล่า
สุ. การสะสมละเอียดกว่า เพราะสั่งสมอุปนิสัยด้วย และสั่งสมกรรมด้วย
ถ. แยกกันได้ใช่ไหม
สุ. กรรมเป็นกุศลกรรมบถ ๑๐ และอกุศลกรรมบถ ๑๐ ถ้าเป็นกรรมก็ทำให้วิบากเกิดขึ้น ถ้ายังไม่ถึงกรรมก็สะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ แต่ในขั้นนี้เพียงให้ทราบว่า วิถีจิตใดเป็นชาติใด เพื่อที่จะได้ทราบว่า วิถีไหนเป็นผลของกรรม วิถีไหนเป็นตัวกรรม คือ เป็นกุศลหรืออกุศล หรือว่าเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า และวิถีไหนไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก
ถ. แต่สรุปแล้ว การสั่งสมก็ดี กรรมก็ดี เป็นปัจจัย
สุ. เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า
จะเห็นได้ว่า วิถีตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนะจนถึงโวฏฐัพพนะนั้น เป็นเพียงวิบากและกิริยา ซึ่งไม่น่าจะมีความสำคัญอะไร เพราะวิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกรรม เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้นก็เกิด แต่วิบากจิตไม่สามารถเป็นเหตุให้วิบากข้างหน้าเกิด เพราะฉะนั้น ที่ท่านผู้ฟังมีการเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ ก็เพียงชั่วขณะ หนึ่งๆ เท่านั้นเอง ซึ่งการเห็นชั่วขณะหนึ่งๆ ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้าอีก ก็ไม่มีความสำคัญอะไร เพราะไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็เป็นเพียงผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดผลอีกข้างหน้า
เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่วิถีต่อไป คือ ชวนวิถี ซึ่งจะเป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับพระอรหันต์นั้น ดับกุศลและอกุศลทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็เป็นกิริยา ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล
แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ควรที่จะได้เห็นการสั่งสมสันดาน คือ การสืบต่อของชวนวิถีในวันหนึ่งๆ ว่ามีความสำคัญ ว่าในชาติต่อไปท่านจะเป็นคนที่มีอัธยาศัยอุปนิสัยอย่างไร และจะได้รับผลของกรรมอะไร
เวลาที่มีการเห็นครั้งหนึ่งๆ โวฏฐัพพนวิถีดับไป ส่วนใหญ่เวลาที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด เวลาที่ทานกุศลไม่เกิด เวลาที่ศีลกุศลไม่เกิด หรือว่าความสงบของจิตไม่เกิด ก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สั่งสมสันดานอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น ในชาติต่อไปก็ทราบได้ว่า ท่านจะเป็นบุคคลที่โลภะมากหรืออโลภะมาก โทสะมากหรืออโทสะมาก โมหะมากหรืออโมหะมาก
ซึ่งการสั่งสมก็เป็นไปอย่างละเอียดมากโดยที่ไม่รู้สึกเลย ดังที่ได้ทราบแล้วว่า ในชีวิตประจำวันนี้ ขณะที่เป็นทานกุศลวันหนึ่งๆ มีไหม ศีลกุศลวันหนึ่งๆ มีไหม สมถะ ความสงบของจิตวันหนึ่งๆ มีไหม สติปัฏฐานวันหนึ่งๆ มีไหม ทุกท่านทราบเอง เมื่อชวนวิถีซึ่งเป็นกุศลไม่เกิด ชวนวิถีซึ่งเป็นอกุศลก็เกิด
เพราะฉะนั้น ทุกท่านชินกับอกุศลชวนวิถีจนไม่รู้สึกว่าเป็นอกุศล เพราะเป็นอกุศลอย่างบาง อย่างเบา อย่างละเอียดจนไม่รู้สึก ในขณะที่มีการเห็นและมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันต่างๆ เช่น เห็นดอกไม้สวยๆ ความจริงไม่ได้ปราศจากมหาภูตรูป ๔ ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าเพียงแต่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงมหาภูตรูปเท่านั้น ก็จะทำให้ละคลายความติด ความยินดีพอใจในสีสันที่ปรากฏได้บ้าง เพราะมหาภูตรูปเองไม่มีสี แต่มหาภูตรูปมีอุปาทายรูป คือ รูปที่เกิดร่วมด้วย ปรากฏให้เห็นเป็นสีต่างๆ เพราะฉะนั้น ความพอใจในดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งชนิดใดที่มีสีสันสวยงาม ให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นความเพลิดเพลิน ความติด ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงมหาภูตรูป แต่ อุปทายรูปทำให้ปรากฏเป็นสีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง เป็นสีต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ โดยไม่รู้ตัวเลยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะพอใจในสีสันของอุปาทายรูปที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูป ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นสีสวยๆ งามๆ ทางตา วันนี้มากไหม ชิน ไม่รู้สึก ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด
เพราะฉะนั้น การรู้ชาติทั้ง ๔ ของจิตเป็นประโยชน์แก่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ถ. ผมอยากทราบว่า ผู้ที่เจริญจนกระทั่งได้ฌาน ชีวิตปกติประจำวัน เขาเจริญอย่างไร เขามีการสำรวม หรือว่าใจเขาเป็นอย่างไร
สุ. ต้องอ่านพระไตรปิฎก จึงจะรู้ชีวิตของแต่ละท่าน ที่ท่านถึงฌานขั้น ต่างๆ และก็เสื่อม
ถ. ในพระไตรปิฎกผมก็เจอ แต่จำชื่อไม่ได้ ที่ไปปราบพญานาค หรืองูที่มีพิษร้าย และชาวบ้านถวายเหล้าที่มีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบ ท่านก็เมา นอนอย่าง น่าเกลียด พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆบุรุษ อย่างนี้เขาก็ยังทำ แต่ก็ได้ฌาน
สุ. เป็นชีวิตจริงในพระไตรปิฎก ซึ่งได้แสดงแล้วว่า ความสงบไม่ใช่ธรรมที่ดับกิเลสได้ เป็นแต่เพียงระงับได้เท่านั้นเอง แต่ดับกิเลสไม่ได้
ความสงบของคนอื่นจะรู้ทำไม แต่ความสงบของท่านเองควรที่จะรู้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเท่านั้นที่สงบ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่กุศล ไม่สงบ
ถ. ก็เขาเจริญมากเหลือเกิน สงบจนได้นิมิต ได้ฌานที่แนบแน่น อยากจะทราบว่า ก่อนที่เขาจะสำเร็จ ชีวิตประจำวันเขาปฏิบัติขนาดไหน ปฏิบัติอย่างไร อย่างพวกเราส่วนมากอกุศลเกือบจะทั้งวัน ทำอย่างไรเราจะเป็นอย่างเขาบ้าง
สุ. ชวนวิถีต่างกัน ทำให้การสะสมต่างกัน ทำให้เป็นบุคคลที่อัธยาศัยต่างกัน ผู้ที่ไม่ได้มีอัธยาศัยสะสมมา แต่อยากจะเจริญสมถภาวนา ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านจะถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของชวนวิถี เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการอะไร ก็ให้รู้ว่า จะต้องเริ่มอบรมสะสมที่ชวนวิถีบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เริ่มเจริญสมถภาวนาจะถึงอัปปนาสมาธิได้ทุกคน ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เหมือนกับ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเจริญสติปัฏฐาน และจะถึงความเป็นพระอรหันต์
ถ. อยากจะทราบจุดเริ่มต้นให้ถูกต้องก่อน และค่อยเป็นค่อยไป ทำนองนั้น
สุ. เริ่มสงบ
ถ. ปฏิบัติอย่างไร จึงจะเริ่มสงบ
สุ. อย่าลืม นี่คือการที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ ซึ่งการฟังเป็นวิริยารัมภกถา เพราะรู้ว่า ถ้าไม่ฟังก็เป็นโอกาสเป็นปัจจัยที่อกุศลจะเกิดมากมายเพราะไม่รู้ว่า ทุกครั้งที่เห็นและกุศลไม่เกิดนั้น อกุศลก็สั่งสมสันดานตนแล้ว โดยเป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง และเมื่อสั่งสมมากๆ เข้า การที่จะดับ จะละ ก็ย่อมยาก เพราะฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้ จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท
ถ. การสั่งสมอย่างนี้ รู้สึกว่าลำบาก และกินเวลานาน อย่างผมอ่านเจอเมื่อคืนนี้ว่า ถวายผลไม้แก่พระพุทธเจ้าครั้งเดียวก็ได้รับพุทธพยากรณ์ว่า ผู้นี้ต่อไปกี่ กัปๆ ข้างหน้าจะได้เป็นพระอรหันต์ ด้วยผลกรรมนี้ครั้งเดียว ทำไมง่ายอย่างนั้น ผมอ่านแล้วยังสงสัยอยู่ บางคนก็ถวายดอกไม้บ้าง อะไรบ้าง ก็ได้รับพยากรณ์ ตามที่อ่านดูเหมือนเขาไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน เพียงแต่ทำบุญครั้งเดียวก็ได้รับพยากรณ์ว่าต่อไปข้างหน้าจะบรรลุอย่างนี้ๆ ผมสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือ
สุ. ผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ชีวิตประจำวันของท่านไม่ได้แยกกับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าท่านจะเป็นพ่อค้าวาณิช ไม่ว่าท่านจะประกอบอาชีพใดๆ ท่านที่เป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เช่น ขณะนี้ทุกท่านกำลังฟังธรรม จะต้องให้บอกกำกับไปด้วยไหมว่า เวลานี้ท่านผู้นี้กำลังเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของกาย หรือว่าท่านผู้นั้นกำลังเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในพระไตรปิฎกจะต้องบอกไหม ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า สติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือว่าท่านวิสาขามหาอุบาสิกา หรือว่าปุณณทาสี ทุกท่านไม่ได้แยกสติปัฏฐานออกจากชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะกล่าวว่า เมื่อไปตลาดก็เจริญ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นปกติอยู่แล้ว หรือว่าเมื่อทำอาหาร ก็ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่า คนนี้กำลังเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คนนั้นกำลังเป็นกายานุปัสสนา
และไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่า ในพระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคนั้น ทรงบำเพ็ญสติปัฏฐาน เพราะไม่ว่าจะเป็นโชติปาลมาณพ หรือไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใดของพระองค์ก็ตาม ถ้าไม่ใช่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาทุกชาติๆ จะสามารถตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม
เพราะฉะนั้น เวลากล่าวถึงประวัติของพระสาวก ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่า ท่านเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่ท่านกำลังซื้อ กำลังขาย กำลังบริโภคอาหาร หรือว่ากำลังประกอบกิจการงานอะไร แต่เวลาที่ท่านบรรลุคุณธรรมแล้ว ท่านกล่าวว่า ท่านบรรลุในขณะไหน ขณะกำลังล้างเท้า ขณะกำลังทำอาหารอยู่ในครัว หรือว่ากำลังดับตะเกียง เป็นชีวิตประจำวัน แต่ว่าก่อนนั้นจะต้องบอกไหมว่า พอพลิกตัวก็เจริญ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม กำลังพูด กำลังสนทนา ในเมื่อเป็นสติปัฏฐานก็ทราบอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงานต่างๆ
ถ. ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน เป็นไปไม่ได้
สุ. เมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรน่าสงสัย ทุกท่านก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น เวลาถวายดอกไม้ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ไหม
ถ, บางคนถวายครั้งเดียว ก็ไดรับพยากรณ์ถึงความสุขบนสวรรค์กี่ชาติๆ
สุ. ขอประทานโทษ มีใครบ้างที่ในสังสารวัฏฏ์กุศลจิตเกิดครั้งเดียว แล้วแต่พระผู้มีพระภาคจะทรงพยากรณ์ผลของกรรมใดในกรรมหลายๆ กรรมที่บุคคลหนึ่งได้กระทำ เมื่อยกกรรมหนึ่งขึ้นพยากรณ์ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นมีแต่เพียง กุศลกรรมเดียวเท่านั้นที่ได้กระทำแล้ว กุศลกรรมอื่นมากมาย แต่ไม่ได้ทรงยกขึ้นพยากรณ์
อย่าลืม ขณะที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ในขณะที่เป็นภวังคจิต ปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิดขึ้นและดับไปแล้ว จุติจิตของชาตินี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นภวังคจิต ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต และเวลาที่เป็นภวังคจิต เป็นวิบากจิต ไม่ใช่ชวนวิถี เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้สั่งสมสันดานตน และวันนี้ก็ใกล้จะถึงภวังคจิตระยะยาวนาน ซึ่งเป็นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้สั่งสมชวนวิถี แต่ในช่วงของวันนี้ทั้งหมด ชวนวิถีที่เกิด เป็นอกุศลชวนะ หรือกุศลชวนะ น่าคิดใช่ไหม เพราะจุติจิตจะเกิดเมื่อไรได้ทั้งสิ้น
เวลาที่จุติจิตเกิดและดับไป ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ ในชาตินี้ เพราะฉะนั้น ท่านย่อมทราบว่า อัธยาศัยที่ท่านสะสมมาในวันนี้ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ
นี่เป็นวิริยารัมภกถาที่จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะย่อมเห็นโทษของอกุศลซึ่งเกิดที่ชวนวิถี และก็สั่งสมอยู่เรื่อยๆ
ยังเหลือวิถีจิตอีกวิถีหนึ่ง คือ ตทาลัมพนวิถี เป็นวิบาก แต่มีความต่างกับวิบากอื่น เพราะรับอารมณ์ต่อจากชวนวิถี แต่ไม่ใช่ผลของชวนวิถี กรรมที่ได้กระทำแล้วดับไป จะให้ผลเป็นขณะต่อไปทันทีไม่ได้ นอกจากโลกุตตรกุศลเท่านั้น
ท่านที่ทำกุศลแล้ว ชวนวิถีเกิดแล้ว ตทาลัมพนวิถีเกิดต่อเป็นวิบาก แต่ไม่ใช่เป็นผลของชวนวิถีที่ดับไป เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กรรมไม่ให้ผลทันทีที่ดับลงไป ถ้าเป็นโลกียกรรม เฉพาะโลกุตตรกุศลเท่านั้นที่เป็นอกาลิโก คือ เมื่อมรรคจิตดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้นอกจากผลจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับมรรคจิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๙๖๑ – ๙๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1015
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1016
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1017
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1019
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1020