แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021


    ครั้งที่ ๑๐๒๑

    สาระสำคัญ

    โลกในวินัยพระอริยะ

    อถ.สังคิณีปกรณ์ - ความหมายของโลกียจิตกับโลกุตตรจิต

    ขุ.จูฬ.โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส - บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ

    สงฺ.สฬ.ป โลกสูตร

    สงฺ.สฬ.สุญญสุตร โลกว่างเปล่า


    สุ. การให้ผลของโลกุตตรกุศลให้ผลทันที ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า แต่กุศลและอกุศลอื่นๆ ยังต้องรอภพชาติ เช่น ผู้อบรมเจริญสมถภาวนา เมื่อฌานจิตเกิด ยังไม่สามารถเป็นพรหมบุคคลในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ แต่ถ้าฌานจิตไม่เสื่อมและ เกิดก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับไป จะทำให้ปฏิสนธิจิตที่เป็นรูปาวจรจิตถ้าเป็นผลของ รูปฌานกุศล หรือว่าที่เป็นอรูปาวจรจิตถ้าเป็นผลของอรูปาวจรกุศล เกิดขึ้นใน รูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล ซึ่งนั่นยังต้องคอยกาลเวลาที่จะให้ผล แต่กุศลประเภทเดียวที่ไม่ต้องคอยกาลที่จะให้ผล คือ โลกุตตรกุศล ทันทีที่ โลกุตตรกุศลจิตดับ โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันที ให้ผลโดยที่ไม่มีกาลระหว่าง คั่นเลย และไม่ทำปฏิสนธิกิจด้วย สำหรับโลกุตตรวิบาก

    เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลส โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อ มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้วในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์เมื่อเป็นผลจิต นี่เป็นคู่ที่ ๑ ที่ใช้คำว่า พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ได้แก่ พระโสดาบันบุคคล เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดและดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดสืบต่อ เป็น ๑ คู่ ๒ บุคคล

    และเมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป สกทาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ชั่วขณะจิตเดียวที่ดับกิเลสตามขั้นของ พระสกทาคามีบุคคล ดับไปแล้ว สกทาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยสภาพที่ดับกิเลสขั้นของสกทาคามีบุคคลแล้ว

    เมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป โลกุตตรจิตที่เป็นอนาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสตามขั้นของอนาคามีบุคคล เมื่ออนาคามิมรรคจิตดับไป อนาคามิผลจิตก็เกิดต่อและเมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์โดยที่อรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสที่เหลือทั้งหมด เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับไปแล้ว อรหัตตผลจิตก็เกิดต่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสทั้งหมดแล้ว เป็นพระอรหันตบุคคล

    รวมเป็นพระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล และเฉพาะจิต ๘ ดวงนี้ จำแนกเป็น โลกุตตรจิต เพราะเป็นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์และดับกิเลส

    . โลกุตตรจิตทั้ง ๘ ก็เกิดดับ ทำไมไม่เรียกว่าโลก ทำไมเรียก โลกุตตรจิต

    สุ. เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์และดับกิเลส

    . การเกิดดับของจิตไม่มีความหมายหรือ

    สุ. ถ้ากล่าวโดยลักษณะของจิต เป็นสังขารธรรมโดยนัยต่างๆ แต่ถ้าจำแนกโดยโลกียะ โลกุตตระ จิตนั้นชื่อว่า โลกุตตรจิต แต่จิตนั้นไม่ใช่นิพพาน

    ต้องเข้าใจความหมายด้วย มิฉะนั้นแล้วจะต่างอะไรระหว่างจิตที่รู้แจ้งนิพพาน กับจิตที่ไม่รู้แจ้งนิพพาน ก็ต้องมีคำ หรือมีชื่อซึ่งจะบัญญัติจิตที่รู้แจ้งนิพพานว่า ไม่ใช่โลกียจิต ไม่ใช่จิตที่เพียงประจักษ์ลักษณะเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมโดยที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน แต่ขณะใด เมื่อใดที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรม จิตที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพานโดยประเภทที่จำแนกให้ต่างกับจิตอื่นๆ จึงเป็นโลกุตตรจิต มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีคำที่แสดงความต่างกันของจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ กับจิตซึ่งไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์

    โดยนัยของการจำแนกจิตโดยประเภทที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย จุฬันตรทุกะ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าโลกียธรรม เพราะประกอบในโลก โดยเหตุที่นับเนื่องอยู่ในโลกนั้น

    ชื่อว่าอุตตรธรรม คือ ธรรมอันยิ่ง เพราะข้ามขึ้นจากโลกนั้น

    ชื่อว่าโลกุตตรธรรม เพราะข้ามขึ้นจากโลก โดยเหตุที่ไม่นับเนื่องอยู่ในโลก

    ก็คงจะเป็นที่เข้าใจความหมายของโลกียจิตกับโลกุตตรจิต เพราะจิตทั้งหลายเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ที่จำแนกเป็นโลกียจิตและโลกุตตรจิต ก็เพราะโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์และดับกิเลส และที่ชื่อว่าโลกุตตรธรรม เพราะข้ามขึ้นจากโลก โดยเหตุที่ไม่นับเนื่องอยู่ในโลก

    สำหรับคำว่า โลก ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๐๕ มีข้อความเช่นเดียวกับใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ปโลกสูตร แต่ข้อความในตอนต้นมีว่า

    คำว่า โลก ในอุเทศว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ ดังนี้ คือ นิรยโลก ติรัจฉานโลก ปิตติวิสยโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก (คือ ธาตุ) อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก

    ข้อความต่อไปใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ก็มีข้อความตรงกับ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สุญญสูตร ข้อ ๑๐๒ ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

    เรียกได้ไหมว่า โลกว่างเปล่า ว่างจริงหรือเปล่า กำลังว่างๆ อยู่หรือเปล่า ที่ชอบคำว่า ว่าง และก็บอกว่า ว่าง ก็ควรที่จะได้เข้าใจความหมายที่ว่า โลกว่าง หรือว่า โลกว่างเปล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงหมายความว่าอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

    ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรเลย มี แต่ว่าสิ่งที่มีนั้นเพราะ ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

    อะไรเล่าว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ตอบได้แล้วใช่ไหม ตอนนี้ เหมือนใน ปโลกสูตร คือ

    จักษุแลว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน รูปว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน จักษุวิญญาณว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน จักษุสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ... ฯลฯ ใจว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ธัมมารมณ์ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

    ดูกร อานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

    ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไร ก็ว่าง โดยที่ไม่รู้อะไรเลยว่า อะไรว่าง ว่างอย่างไร แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ที่ว่างจากตน หรือว่างจากความเป็นของๆ ตน คือ ของเรา ก็เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    บางท่านอาจจะมีความรู้สึกว่า บางวันเหมือนกับไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทำไมไม่รู้สึกอย่างนี้มาก่อน ใช่ไหม แต่ก่อนเคยยึดถือทุกอย่างว่าเป็นของเราและเป็นเรา แต่วันหนึ่งฟังธรรมบ่อยๆ มากๆ เข้าก็เกิดนึกขึ้นมาว่า ไม่เห็นมีอะไรที่จะเป็นของเราสักอย่างเดียว ไม่น่าที่จะหลงยึดถือว่าเป็นของของเราเลย แต่อย่างนั้นพอไหม ไม่มีทางที่จะดับกิเลสเลย ซึ่งถ้าไม่รู้ก็คิดว่า คงได้ปัญญามากแล้ว ใกล้ต่อการที่จะได้เป็นพระอริยบุคคล เพราะก่อนนี้ไม่เคยนึกอย่างนี้ ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ ไม่เคยเกิดความรู้สึกว่า ไม่น่าจะยึดถือสิ่งที่มีอยู่ว่าเป็นของเราเลย ดูเหมือนเป็นความอัศจรรย์ที่จะคิดอย่างนั้นขึ้น

    แต่ให้ทราบว่า นั่นไม่ใช่หนทางดับกิเลส เพราะลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก เป็นนามธรรมอย่างไร เมื่อยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใกล้อรรถคือลักษณะที่แท้จริงของสภาพที่เป็นเพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์ความเกิดดับ ความไม่เที่ยงของสภาพนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ ที่เป็นโลกเพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดอย่างไร อย่าหลงคิดว่า นั่นเป็นปัญญาซึ่งสามารถที่จะละกิเลส ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่พิจารณาจนกระทั่งสามารถรู้ความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรมจริงๆ และถ้าลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมยังไม่ปรากฏทางมโนทวารทีละลักษณะ ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งชัดเจน ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นเพียงโลกซึ่งว่างเปล่า สูญจากการที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๐๕ ซึ่งมีข้อความว่า

    ดูกร คามณิ เมื่อบุคคลเห็นซึ่งความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งสิ้น ซึ่งความสืบต่อแห่งสังขารทั้งสิ้นตามความเป็นจริง ภัยนั้นย่อมไม่มี เมื่อใดบุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกเสมอหญ้าและไม้ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่ปรารถนาภพหรืออัตภาพอะไรๆ อื่น เว้นไว้แต่นิพพานอันไม่มีปฏิสนธิ

    บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้

    สำหรับข้อความที่ผู้ใดจะพิจารณาเห็นโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา จริงๆ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ใดที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้ ชนพึงนำหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้นั้นไปเสีย เผาเสีย หรือพึงทำตามควรแก่เหตุ ท่านทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำเราทั้งหลายไปเสีย เผาเสีย หรือทำตามควรแก่เหตุบ้างหรือหนอ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตน หรือสิ่งที่เนื่องกับตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้

    ถ้ายังไม่รู้สึกว่า รูปที่เคยเป็นของท่าน เวทนา ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเคยเป็นของท่านหรือเคยยึดถือว่าเป็นของท่าน สัญญา ความจำต่างๆ ว่าเป็นเราชื่อนี้อยู่ในโลกนี้ มีกิจหน้าที่อย่างนี้ สังขารขันธ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้ายังไม่รู้สึกว่า เสมอกับหญ้า และไม้ และกิ่งไม้ และใบไม้ ตราบนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรม คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เป็น ของตน หรือว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ใช่รู้ขณะอื่นๆ แต่กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นเพียงธาตุรู้ สภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป เหมือนกันไหมกับเห็นขณะอื่นๆ ของบุคคลอื่นๆ ของขันธ์อื่นๆ เหมือนกันไหม เสมอกันไหม ไม่ว่าจะเป็นการเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี การลิ้มรสก็ดี สุขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นของใคร ทุกขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นของใคร โลภะ ไม่ว่าจะเป็นของใคร ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งอย่างนี้จริงๆ ก็ยังไม่ใกล้ หรือว่ายังไม่พร้อมแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล

    ไม่ว่าวันไหนจะเกิดปลงขึ้นมาว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นของเรา แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง เมื่อนั้นก็ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ที่จะทำให้ถึงความเป็น พระอริยบุคคลได้

    . เวลานี้บรรดาเทพ พรหม ท่านท้าวอะไรต่างๆ มาสิงสถิตตามสำนักหลายแห่ง ผมสงสัยว่า บรรดาเทพต่างๆ ที่มาประทับทรงนี้ มาจากไหน หรือมาจากอะไร หรือว่าไม่มี

    สุ. ถ้าใครบอกอะไร ควรจะเชื่อทันที หรือว่าควรจะพิจารณาเหตุผลหรือประโยชน์ว่า มีประโยชน์อะไรหรือเปล่าในการที่จะเชื่อว่าเทพมาสิง มาทรง หรือมาติดต่อ มีประโยชน์อะไร ก่อนอื่นต้องคิดถึงประโยชน์ ทราบไหมว่า ประโยชน์คืออะไร

    . เท่าที่ผมสังเกตดู คนที่มีความทุกข์ในการครองชีพ หรือมีความทุกข์ด้วยโรคภัยเบียดเบียน ก็ไปหาท่านเหล่านี้ เมื่อประทับทรงแล้วก็บอกว่า เป็นท่านโน้น ท่านนี้ หรือเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จก็มี เป็นอดีตพระมหากษัตริย์ที่ล่วงไปแล้วก็มี ทำให้ผมสงสัยว่า จิตที่มาประทับทรงนั้นมีจริงหรือเปล่า หรืออะไรที่มาประทับทรง บางรายก็บอกยา บางรายก็บอกเหตุการณ์ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่มีคนเชื่อ แต่ต่อมาปรากฏว่าเหตุการณ์เป็นจริงตามที่เทพนั้นบอก ผมก็สงสัย

    สุ. ประโยชน์คืออะไร

    . ประโยชน์ คือ ผู้ที่ไปรักษาบางรายก็ได้ผล บางรายก็ไม่ได้ผล แต่ประโยชน์บางอย่างที่เป็นเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง ปรากฏว่าท่านเทพนั้นพูดตรง แต่ในขณะนั้นคนไม่เชื่อ

    สุ. ประโยชน์ที่แท้จริงคือ

    . ที่แท้จริง คือ ได้รู้ว่าเทพองค์นั้นพูดจริง วิญญาณอะไรเข้ามาประทับทรง อยากจะรู้ตรงนี้

    สุ. นี่ไม่ใช่ประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ประโยชน์ที่ทุกท่านควรจะได้รับ คือ รู้จักตนเอง รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเทพเหล่านั้นสอนธรรมให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ไปหา ให้พึ่งตนเอง ให้พึ่งกรรมของตนเอง ไม่ใช่ให้พึ่งเทพ นั่นถูก แต่ถ้าเทพสอนให้พึ่งเทพ ไม่ได้สอนให้เข้าใจตนเอง และไม่ได้สอนให้เข้าใจการพึ่งกรรมของตนเอง นั่นไม่ถูก ไม่มีประโยชน์อะไรในการคิดพึ่งคนอื่น โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วที่พึ่งที่แท้จริง คือ ตนเอง การกระทำของตนเอง และควรที่จะรู้จักตนเองให้ยิ่งขึ้น ให้ถูกต้อง ให้ชัดเจน ไม่ใช่ยิ่งหลงไปไกลจากที่จะรู้จักตนเอง เพราะว่าไปรู้จักอื่น ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ชื่อว่า รู้จักใคร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564