แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
ครั้งที่ ๑๐๓๑
สาระสำคัญ
ทุกท่านมีกรรมเป็นของของตน
ในพระไตรปิฎก ไม่มีคำว่า จิตสั่ง
โดยนัยของจิต ๘๙ ดวง และ ๑๒๑ ดวง
ต้องรู้ตามความเป็นจริง เพื่อละความยึดถือ
โลกุตตรจิตโดยนัยของจิต ๑๒๑ (ตามขั้นของฌาน ๕)
ถ. ผมสงสัยพญามารที่ทูลเชิญให้พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ทำไมไม่ ตกนรก แต่ครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดสัตว์ มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งไปขัดขวาง พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นถึงกับตกนรก ส่วนพญามารนี้ทำทุกอย่างเพื่อจะให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน ไม่มีกล่าวว่า พญามารนี้ตกนรก
สุ. อยากให้พญามารตกนรกหรือ ที่ถามนี้เพราะเห็นว่าพญามารควรจะต้องตกนรกใช่ไหม
ถ. เปรียบเทียบกับผู้อื่น ทำไมผู้อื่นต้องตกนรก
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องคิดถึงจิตที่ถามว่า ถามเพราะอะไร ถามเพราะว่าพญามารยังไม่ตกนรกสมกับที่ควรจะตก ใช่ไหม ต้องการให้พญามารตกนรกหรือเปล่า
ถ. ไม่ใช่ว่าต้องการให้พญามารตกนรก แต่อยากทราบว่า ทำไมถึงต่างกัน สุ. ก็ทำไมต้องสงสัย อยากให้ตกหรืออย่างไร
ถ. สงสัยเพราะขัดแย้งกัน
สุ. ไม่ขัดแย้ง
ถ. ทำไมจะไม่ขัดแย้ง พญามารทำทุกอย่าง แต่ลอยนวล
สุ. สมควรจะได้รับโทษ ใช่ไหม ใจจริงๆ คิดอย่างไร
ถ. พฤติกรรมของพญามารนี้ ไม่อยากให้ใครได้นิพพาน ให้พ้นทุกข์
สุ. นั่นเรื่องของพญามาร พญามารจะได้รับผลของกรรมอะไร เสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีอย่างไร นั่นเป็นเรื่องกรรมของพญามาร ส่วนพญามารหรือใครก็ตามจะได้รับผลของกรรมอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ท่านที่ถามนี้คิดอย่างไร ต้องการอย่างไร
ถ. คือ ข้องใจว่า ผู้อื่นทำ ทำไมตกนรก
สุ. เชื่อหรือยังว่า ทุกท่านมีกรรมเป็นของของตนทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ถ้าแน่ใจแล้วว่า ทุกท่านมีกรรมเป็นของตนไม่ว่ากุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ไม่ต้องสงสัย
ถ. แต่ก็ยังสงสัย
สุ. ถ้ายังสงสัยก็แปลว่า ยังไม่แน่ใจว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน พญามารก็มีกรรมของพญามาร ไม่ว่าจะทุกข์ จะสุขขณะไหน ก็เพราะกรรมของพญามาร พญามารมีกรรมเป็นของพญามารเองหรือเปล่า เสวยสุขเพราะกรรมของตนเองหรือเปล่า เสวยทุกข์เพราะกรรมของตนเองหรือเปล่า ไม่มีใครทำให้ ไม่ต้องเป็นห่วง ห่วงจิตของตนเองดีกว่า ว่าอย่าหวังร้ายต่อพญามาร
ถ. ไม่ได้หวังร้าย
สุ. เมื่อไรจะตกนรกเสียที ไม่ได้หวังร้ายหรือ
ถ. ศึกษาดูว่าขัดแย้งกัน
สุ. ถ้าเป็นกรรมของพญามารให้ผล พญามารจะไม่ตกนรกหรือ ช้าไปหรือ
ถ. ถ้าเป็นกรรมนี้ ที่จริงพญามารจะต้องตกนรก
สุ. ช้าไปหรือ ควรจะตกทันทีหรือ
ถ. คนอื่นเขาตกนรกทันที
สุ. กรรมเหมือนกันหรือ
แต่ละคนมีกรรมที่วิจิตรต่างๆ กันมาก ไม่เหมือนกันเลย กรรมของใครก็ของคนนั้นจริงๆ และมีความวิจิตรต่างกันจริงๆ ไม่ต้องห่วงใยกรรมของใคร แต่ควรที่จะพิจารณาจิตของตัวเองว่าเศร้าหมองไหม อย่าลืม โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณา จนสมาทาน คือ ถือเอา ด้วยความถูกต้องในลักษณะของจิต อาจหาญ คือ ให้เกิดความอุตสาหะในการที่จะเข้าใจลักษณะของจิต และอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต ร่าเริงในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยการไม่ยึดถือว่า เป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และทำให้สำเร็จประโยชน์ หมายถึงรู้ว่าประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ คือ สามารถที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ไม่มีคำว่า จิตสั่ง ใช่ไหม
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ หรือเป็นรสะ หรือเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือเป็นปทัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดๆ ก็ตาม มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ
เพราะฉะนั้น การที่จะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของจิตได้ ต้องตรงกับลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ คือ เห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู เป็นต้น
สำหรับจิตทั้งหมดทรงแสดงไว้โดย ๒ นัย คือ โดยนัยของจิต ๘๙ ดวง และโดยนัยของจิต ๑๒๑ ดวง โดยพิเศษ
ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด แม้แต่ในข้อความที่ว่า จิตโดยประเภททั้งหมดมี ๘๙ ดวง หรือ ๘๙ ประเภท เพียงเท่านี้ก็สามารถที่จะเป็นพุทธานุสสติ คือ ทำให้ระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิ์คุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคได้ เพราะทุกท่านไม่ได้มีจิตครบทั้ง ๘๙ หรือสามารถที่จะรู้ได้ว่า จิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะนั้นอยู่ในประเภทไหน หรือว่าเป็นจิตประเภทไหน แต่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ว่าจิตในมนุษย์ภูมิ หรือในอบายภูมิ หรือในพรหมโลก ในรูปพรหมภูมิ ในอรูปพรหมภูมิก็ตาม เมื่อได้ประมวลลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับ แต่ละขณะ แม้ว่าจะต่างกันไปๆ ทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นแต่ละลักษณะ แต่เมื่อรวบรวมประเภทของจิตแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับแต่ละขณะต่างๆ กันไปนั้น เมื่อจัดโดยประเภทแล้ว ก็ต่างกันออกไปเป็น ๘๙ ประเภท หรือว่า ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ
เพราะฉะนั้น เพียงได้ยินได้ฟังและพิจารณา ก็สามารถที่จะน้อมระลึกถึง พระพุทธคุณ ซึ่งเป็นพุทธานุสสติ และจะได้พิจารณาสภาพธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยประเภทของจิตชนิดต่างๆ ให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่ใกล้ตัวที่สุดแต่ละขณะ แต่ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ยากที่ใครจะกล่าวได้ว่า รู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริง เพราะทุกท่านก็รู้จักชื่อเผินๆ ว่า มีจิต แต่ถ้าถามว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตมีลักษณะอย่างไร มีกิจการงานอย่างไร ก็ย่อมจะตอบไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
จิต ๘๙ ดวงนั้น ทรงแสดงโดยประเภทของโลกุตตรจิต ๘ ดวง คือ สำหรับผู้ที่โลกุตตรจิตไม่ได้เกิดพร้อมกับฌานจิตขั้นต่างๆ แต่โดยนัยของจิต ๑๒๑ ดวงนั้น สำหรับผู้ที่โลกุตตรจิตเกิดพร้อมกับฌานจิตขั้นต่างๆ จึงเป็นโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง ซึ่งได้แก่
โสตาปัตติมรรคจิตปฐมฌาน ๑ ดวง ทุติยฌาน ๑ ดวง ตติยฌาน ๑ ดวง จตุตถฌาน ๑ ดวง ปัญจมฌาน ๑ ดวง รวมเป็นโสตาปัตติมรรคจิต ๕ ดวง
และโสตาปัตติผลจิตปฐมฌาน ๑ ดวง ทุติยฌาน ๑ ดวง ตติยฌาน ๑ ดวง จตุตถฌาน ๑ ดวง ปัญจมฌาน ๑ ดวง รวมเป็นโสตาปัตติผลจิต ๕ ดวง
เมื่อรวมโสตาปัตติมรรคจิต ๕ และโสตาปัตติผลจิต ๕ โดยนัยของฌาน ๕ ก็เป็น ๑๐ ดวง และสกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต โดยนัยเดียวกัน ๑๐ ดวงอนาคามิมรรคจิต อนาคามีผลจิต รวมเป็น ๑๐ ดวง อรหัตตมรรคจิตและ อรหัตตผลจิต รวมเป็น ๑๐ ดวง จึงเป็นโลกุตตรฌานจิต ๔๐ ดวง
ถ. เรื่องของจิตโดยพิสดารที่อาจารย์กล่าวมานั้น สงสัยว่า ทำไมบางคน เช่น พระจูฬปันถก ท่านภาวนาเอาผ้าขาวมาลูบไปแล้วภาวนาไป และท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกับมีอิทธิฤทธิ ซึ่งแสดงให้ภิกษุในวิหารเห็นท่านคนเดียวเป็นพันคน ก็ได้ จิตของท่านเป็นไปตามลำดับที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้หรือเปล่า สุ. ท่านจะต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ต้องทรงเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และจึงถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ. ข้อนี้ไม่ได้สงสัย เพราะปัญญาจะต้องเจริญไปตามลำดับขั้น แต่สงสัยว่า ท่านพระจูฬปันถกบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ที่แสดงอิทธิฤทธิได้นั้น ท่านได้ อรูปฌานที่ ๔ ด้วยหรือเปล่า
สุ. ผู้ที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ ต้องได้ฌานสมาบัติทั้ง ๘ หรือทั้ง ๙ โดยนัยของปัญจกนัย คือ ต้องได้ทั้งรูปฌาน ๕ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และต้องได้อรูปฌานด้วย ซึ่งเหตุผลคือ ถ้าไม่ถึงอรูปฌาน แสดงว่ายังไม่มีความสามารถพอ ความมั่นคงของความสงบยังไม่พอที่จะทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ หรือคุณวิเศษต่างๆ ได้
ในสมัยนี้ ท่านผู้ฟังอาจจะได้ทราบว่า มีการกระทำบางสิ่งบางอย่าง แต่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่ถึงปฐมฌานหรือเปล่า หรือถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน อรูปฌานหรือเปล่า เพราะว่าทุกอย่างที่เป็นผลที่ถูกต้อง ต้องมาจากเหตุที่ถูกต้อง
บางท่านอาจจะฝันแม่น ก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมฝันทีไรแม่นทุกที เป็นผู้ที่มี คุณวิเศษอะไรบางประการหรือเปล่า หรือบางท่านอาจจะสังหรณ์ใจ สังหรณ์ทีไรก็เป็นอย่างที่สังหรณ์ทุกที ท่านก็อาจจะสงสัยว่า เป็นคุณวิเศษอะไรหรือเปล่า หรือบางท่านอาจจะนึกปรารถนาอะไรและก็ได้สิ่งนั้น ก็คงจะนึกว่าเป็นคุณวิเศษอะไรหรือเปล่า อยากจะหายโรคก็หายได้ หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น แต่ให้ทราบว่า นี่เป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อยของการที่เคยอบรมเจริญสมาธิมาบ้าง หรือว่าอบรมเจริญความสงบบ้าง ซึ่งแม้แต่ผลของมิจฉาสมาธิก็ยังมีปรากฏให้เห็นเศษเล็กเศษน้อย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของสัมมาสมาธิซึ่งเป็นกุศลแท้ๆ เป็นความสงบจริงๆ ตามขั้น ผลก็ย่อมต้องมีมากกว่านั้น
สำหรับผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลพร้อมด้วยฌานจิต ถ้าบุคคลนั้นเคยอบรมเจริญความสงบและมีความสงบที่มั่นคงจริงๆ ด้วยปัญญาที่รู้ว่า ความสงบค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นกุศลจิตที่มั่นคงอย่างไร แต่เวลาที่ถึงอุปจารสมาธิ ไม่แน่ว่าบุคคลนั้นจะสามารถถึงอัปปนาสมาธิหรือไม่
ผู้ที่อบรมเจริญความสงบ ซึ่งเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของความสงบของจิตจริงๆ เวลาที่เกิดความสงบขึ้น จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และในบรรดาผู้ที่อบรมเจริญความสงบนี้ จะมีกี่ร้อยกี่พันท่านก็ตาม ที่จะบรรลุถึงอุปจารสมาธิก็สักคนเดียว นี่เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย สำหรับความสงบแท้จริงซึ่งเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา
และสำหรับผู้ที่สามารถจะบรรลุถึงอุปจารสมาธิแล้ว เป็นพัน เป็นหมื่นท่าน ก็จะมีผู้ที่สามารถถึงอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นปฐมฌานจิตสักท่านเดียว และบรรดาท่านที่บรรลุปฐมฌานแล้ว ที่จะบรรลุถึงทุติยฌานจิตในบรรดาหลายร้อยหลายพันท่านนั้น ก็จะมีเพียงท่านเดียว
เพราะฉะนั้น ที่จะถึงฌานจิตขั้นต่อๆ ไป เช่น ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้โดยง่าย แม้แต่ในชาตินี้เองถ้าใครจะอบรมเจริญความสงบที่เป็นสมถภาวนา อาจจะตายก่อนที่อุปจารสมาธิจะเกิด หรือว่า อัปปนาสมาธิจะเกิด เพราะไม่ใช่กาลสมบัติ ถึงแม้ว่าในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิและรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็มีจำนวนน้อย แต่ผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาและรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้ามีจำนวนมากกว่ามาก
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา คือ บรรลุถึง ฌานจิตด้วยและรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ย่อมต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างยิ่งในสมถภาวนา คือ ในฌานจิตขั้นต่างๆ บางท่านสามารถที่จะบรรลุถึงอรูปฌานจิต คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด ไม่ได้เกิดพร้อมกับเนวสัญญานาสัญญายตนซึ่งเป็นปัญจมฌาน หรือไม่ได้เกิดพร้อมกับรูปปัญจมฌาน แต่อาจจะเกิดพร้อมกับปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌานก็ได้
นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แม้ในขณะที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมว่า ไม่ใช่เลือกได้ ไม่ใช่เจาะจง เพราะว่าผู้ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละการติดข้องแม้ในฌานจิต เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า แม้ฌานจิตก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหัคคตจิต เป็นจิตตานุปัสสนา ๑ ประเภท ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ตามความเป็นจริง เพื่อละความยึดถือ หรือความยินดีติดข้อง แม้ว่าฌานจิตของท่านจะเกิด ซึ่งขณะนั้นอาจจะเป็นปฐมฌานเกิด หรือ ทุติยฌานเกิด หรือตติยฌานเกิด หรือจตุตถฌานเกิด หรืออรูปฌานเกิด แต่ โสตาปัตติมรรคจิตยังไม่เกิดก็ได้ และเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ในขณะนั้นอาจจะเป็นขณะที่กำลังพิจารณาปฐมฌาน และประจักษ์ในความเกิดดับรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือว่าในขณะที่กำลังจะเป็นพระโสดาบันบุคคล คือ ในขณะที่กำลังจะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมนั้น กำลังมีปัญจมฌานเป็นอารมณ์ก็ได้ แล้วแต่ความชำนาญ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็รู้ว่า ลักษณะของจิตไม่ว่าจะเป็น ฌานจิต หรือว่าอกุศลจิต หรือกามาวจรจิต ก็เป็นแต่เพียงจิต ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงไม่ได้เลือก และไม่ได้หวัง เพราะฉะนั้น เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิดนั้น ย่อมแล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรเป็นอารมณ์
บางท่านเป็นผู้ที่เคยได้ฌาน แต่เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิด ไม่ได้ประกอบด้วยฌานขั้นหนึ่งขั้นใดเลยก็ได้ หรือว่าท่านที่ได้ฌานขั้นสูง แต่เวลาที่ โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด เกิดพร้อมกับฌานขั้นต่ำก็ได้ด้วยความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น จึงมีโลกุตตรจิตโดยนัยของจิต ๑๒๑ ดวง ตามขั้นของฌาน ๕ รวมเป็น โลกุตตรฌาน ๔๐ โดยไม่เลือก หรือว่าโดยเลือกไม่ได้
ผู้ที่เคยได้ฌาน แต่เวลาที่มรรคจิตผลจิตเกิด อาจจะไม่ประกอบด้วยฌานก็ได้ และผู้ที่เคยได้ฌานขั้นสูง เวลาที่มรรคจิตผลจิตเกิด อาจจะประกอบด้วยฌานขั้นต่ำ ก็ได้ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้เสียใจ หรือว่าไม่ได้เสียดาย เพราะท่านรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
อรูปฌานโดยองค์ของฌาน ได้แก่ ปัญจมฌาน แต่ว่ามีอรูปเป็นอารมณ์ ต่างกับปัญจมฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์
ถ. โสตาปัตติมรรค โสตาปัตติผล ไม่ใช่บรรลุธรรมอย่างเดียวกันหรือ
สุ. รู้แจ้งอริยสัจธรรม มีนิพพานเป็นอารมณ์
โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ โสตาปัตติผลจิต ๑ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล เมื่อดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้ผล คือ วิบากจิต ซึ่งเป็นโสตาปัตติผลเกิด ทั้งโสตาปัตติมรรคจิตและโสตาปัตติผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ จะไม่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ แต่ที่เป็นโสตาปัตติมรรคจิตไม่ใช่โสตาปัตติผลจิตแม้ว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน ก็เพราะว่าโสตาปัตติมรรคจิตทำกิจละ หรือปหานกิเลส มีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงละหรือดับกิเลสได้
ตราบใดที่ยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลส อาจจะรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรม แต่กิเลสยังดับไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของนิพพาน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๓๑ – ๑๐๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080