แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032


    ครั้งที่ ๑๐๓๒

    สาระสำคัญ

    จิตซึ่งดับกิเลสได้ - มรรคจิต ๔

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา

    คุณนีน่ากำลังมาสอบไล่

    พระโสดาบันไม่เข้าใจผิดว่าเป็นพระอรหันต์

    สนทนาธรรมเพื่อความเข้าใจถูก


    เพราะฉะนั้น จิตซึ่งสามารถดับกิเลสได้ ได้แก่ มรรคจิต ๔ ดวง ซึ่งดับกิเลสตามขั้น มรรคจิตขั้นต้น คือ โสตาปัตติมรรคจิต ดับกิเลสอกุศลธรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิและวิจิกิจฉา คือ ความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม

    เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์และดับกิเลส ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบาก คือ โสตาปัตติผลจิต ซึ่งเป็นผลของโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ต่างกับโสตาปัตติมรรคจิต คือ มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว จึงเป็นผล แต่สำหรับโสตาปัตติมรรคจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยทำกิจปหาน คือ ดับกิเลส กิจต่างกันแม้ว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน

    ขณะที่เป็นโสตาปัตติมรรคจิตเป็นขณะที่ดับกิเลส เมื่อกิเลสดับแล้ว ผลของ โลกุตตรกุศล คือ โสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้น มีผลอะไร มีผลคือประจักษ์แจ้ง มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับโสตาปัตติมรรค แต่ไม่ได้ทำกิจปหาน เพราะว่ากิเลสดับแล้ว เพราะฉะนั้น โสตาปัตติผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว ต่างกับโสตาปัตติมรรคจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยทำกิจปหานกิเลส

    . ระยะเวลาที่จะบรรลุธรรม ๒ ขั้นนี้ ไม่ต่างกันมาก

    สุ. ต่อกัน ไม่มีจิตประเภทอื่นเกิดแทรกคั่นได้ ทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตดับลง จิตอื่นจะเกิดคั่นหรือแทรกไม่ได้ เป็นกุศลซึ่งให้ผลทันที เมื่อกุศลจิตที่เป็นโลกุตตรกุศลดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบาก เป็นผลของ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดต่อทันที มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน แต่สภาพจิตนั้นต่างกันที่ว่า เมื่อเป็นกุศลทำกิจดับกิเลส เมื่อเป็นวิบากคือเป็นผล ทำกิจ คือ มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่โดยสภาพของจิตซึ่งดับกิเลสแล้ว

    เพราะฉะนั้น จึงมีจิตหลายประเภท เช่น กามาวจรจิต เป็นจิตที่ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามโลก หรือในกามภูมิ หรือในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่สามารถที่จะเป็นฌานจิต หรือรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต หรือ โลกุตตรจิตได้

    มีท่านผู้ฟังเขียนถามว่า การฟังบ่อยๆ เป็นการฝึกหรือไม่ หมายถึงฟังแล้วพิจารณาบ่อยๆ จะนำไปสู่การระลึกรู้โดยอัตโนมัติ ใช่หรือไม่

    จะใช้คำอะไรก็ได้แต่ให้เข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเหตุปัจจัย แม้แต่สติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ ที่เป็นสติปัฏฐาน คือ ไม่หลงลืมว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ซึ่งก่อนนั้นอาจจะแสวงหาธรรม จะไปหาที่ไหนดี แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อเข้าใจถูก ไม่ต้องแสวงหา เพราะว่าธรรมปรากฏทุกขณะ ที่จะปราศจากธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้

    ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหน ทางหูที่กำลังได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรม ต้องไปหาที่อื่นไหม ไม่ต้อง แต่เมื่อไม่เข้าใจธรรม จึงไปหาธรรม เมื่อเข้าใจถูกแล้วก็รู้ว่า ธรรมนั้นไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เพราะทุกๆ ขณะเป็นธรรม และก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดกำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เพียงแต่ว่าจะมีปัจจัยให้สติระลึกได้ไหมว่า ทางตาในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ใครจะอธิบายความหมายของธรรมที่ปรากฏทางตา จะใช้คำว่าอะไรก็แล้วแต่ จะใช้คำว่า รูปธรรม หรือจะใช้คำว่า รูปารมณ์ จะใช้คำว่า สี จะใช้คำว่า แสง หรือความสว่าง หรือวัตถุอะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่า เกือบจะไม่ต้องใช้คำอะไรเลย ถ้าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

    ทั้งๆ ที่สภาพธรรมมีจริงทางตา กำลังปรากฏแท้ๆ แต่ต้องอาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาจนกว่าความเข้าใจจะเกิดขึ้นรางๆ ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ว่า เป็นเพียงลักษณะของจริงชนิดหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏ ซึ่งยากแก่การที่จะอธิบายว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ เป็นของจริง แต่ยากเหลือเกินที่จะอธิบาย จนกว่าจะเข้าใจชัด จนสามารถที่จะระลึกได้ และค่อยๆ อบรมความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา จนกว่าความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจะปรากฏจริงๆ ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    เหมือนอย่างทางหู พอพูดถึงเสียงเหมือนจะเข้าใจดี ใช่ไหม ว่ามีจริง แต่ก็ต้องอาศัยการฟังเรื่องของเสียงจนกว่าจะเกิดความเข้าใจว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เสียงคืออะไร ขณะนี้กำลังปรากฏ

    เสียง คือ ดัง ถูกไหม อะไรที่ดังนั่นแหละคือเสียง จะใช้คำว่า สัททารมณ์ ก็ไปติดที่ชื่อ สัททะเป็นรูป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนั้นเป็นสัททะ และเมื่อเป็นอารมณ์จึงเป็นสัททารมณ์ แต่ถ้าจะให้เข้าใจลักษณะของเสียงจริงๆ ก็คือ ดัง จะดังน้อย หรือดังมากอย่างไรก็ตามแต่ เมื่อเป็นเสียงก็ต้องดัง ถ้าไม่มีอะไรดัง จะได้ยินไหม ก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ธรรมดาๆ ธรรมชาติๆ ก็คือดังนั่นเอง ที่จะต้องรู้ว่าลักษณะที่ดัง ที่ปรากฏเกิดขึ้นให้ได้ยินนั้น เป็นของจริงชนิดหนึ่ง เกือบจะไม่ต้องใช้คำอะไรอีกเหมือนกัน ใช่ไหม แต่เมื่อไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่พิจารณา ก็ไม่สามารถจะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมนั้นได้ เมื่อได้ฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ใช้คำง่ายๆ ธรรมดาๆ จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้นจนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่ดังๆ นั้น ไม่ว่าจะดังขนาดไหนก็ตาม ก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ชอบดังไหม ชอบอะไรที่ดังๆ ไหม แต่ก่อนนี้รู้สึกว่าชอบถ้าเป็นเสียงเพราะๆ ใช่ไหม แต่เมื่อรู้ว่าดัง ลักษณะดังเท่านั้นเอง ก็ไม่น่าที่จะพอใจอะไรนักในลักษณะที่ดังเท่านั้นเอง ดังและก็หมดด้วย เกิดขึ้นมาดังและก็หมดเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการเจริญปัญญาจริงๆ

    คุณนีน่ามาตั้งแต่คืนวันศุกร์ จะอยู่เมืองไทย ๑๐ วัน จะกลับวันจันทร์ที่ ๑๖ เมื่อวานนี้ก็ไปงานแสดงสินค้าที่สวนอัมพร ก็บอกคุณนีน่าว่า คุณนีน่ากำลังมาสอบไล่ ที่จริงไม่ใช่สอบไล่ เพียงแต่สอบเท่านั้นเอง คือ การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าจะอยู่สถานที่เดียว แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม กำลังสอบปัญญาว่า สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่นั่น ขณะนั้นได้หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ที่สอบมีมาก ใช่ไหม บางคนคิดว่าจะมาสอบเฉพาะที่นี่ แต่ไม่พอ มีที่อื่นอีก ในชีวิตประจำวันทุกแห่งที่ไป เป็นที่สอบ

    ถ. ... (ฟังไม่ชัด)

    สุ. เรื่องการสอบ หรือการสอบไล่ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า ตัวเองได้คะแนน ขั้นไหน ธรรมเป็นเรื่องที่ตรงต่อตัวเองที่สุด เวลาที่หลอกใครแม้ขณะนั้นผู้หลอกก็ยังรู้ว่ากำลังหลอก แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ หลอกไม่ได้เลย ต้องตรงที่สุด ถึงคนอื่นจะบอกว่าเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่ตัวเองไม่รู้อะไรเลยจะเป็นพระโสดาบัน ตามที่คนอื่นบอกได้ไหม คนอื่นยกให้ว่าเป็นแล้ว สำเร็จทุกๆ ญาณแล้ว เป็น พระโสดาบันแล้ว แต่ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น ผู้ตรงจริงๆ ไม่ยอมรับประกาศนียบัตรหรืออะไรๆ ก็ตามที่เขาจะให้เพราะถือว่าสอบไล่ได้แล้ว

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาของตนเองที่จะรู้ว่า ลักษณะของสติปัฏฐานคือขณะไหน และในขณะที่สติเริ่มที่จะเกิดระลึกได้รู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏ มีการศึกษาน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงหรือยัง ถ้าไม่มีการศึกษา คือ ไม่มีการน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาย่อมเจริญสมบูรณ์ขึ้นไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของกาลเวลาว่า กี่นาที กี่ชั่วโมง กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ไม่ใช่เรื่องของการที่จะนับครั้งว่า สติเกิดกี่ครั้งแล้ว บางท่านอาจจะบอกว่าหลายแสนครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลยถ้าขณะนั้นปัญญาไม่ได้น้อมศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ อาการรู้ หรือรูปธรรมซึ่งปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ซึ่งต้องตรงตั้งแต่ต้นว่า รู้ลักษณะของสติที่เป็นสติปัฏฐานหรือยัง หรือว่าเพียงแต่ฟังเรื่องของสติปัฏฐาน แต่สติยังไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    หรือว่าในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่เพียงสติขั้นนึกได้ถึงเรื่องธรรมที่ได้ฟัง แต่เริ่มที่จะระลึกถึงลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะเวลานี้มีลักษณะสภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ เปลี่ยนไม่ได้เลย ทางตาขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ ชนิดหนึ่งกำลังปรากฏ ทางหูก็เป็นสภาพธรรมจริงๆ ชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางหู

    เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไรทางตา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะที่เห็นในขณะนี้ นี่คือ ผู้ตรง คือ ผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า สติปัฏฐานระลึกได้ ระลึกถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตรงลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ และไม่ต้องห่วงกังวลถึงผลว่า ใครจะมาสอบ หรือว่าจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นไหน ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกังวลเลย เพราะเป็นเรื่องของปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งสามารถจะเจริญขึ้นได้ แต่ว่าช้า จนกระทั่งเข้าใจความหมายและซาบซึ้งในคำว่าอดทนจริงๆ ว่า จะต้องอดทนเพียงไรที่จะระลึกศึกษาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ

    ท่านผู้ฟังถามว่า ทำไมพระโสดาบันท่านไม่เข้าใจผิดว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ส่วนคนที่ไม่ใช่พระโสดาบันแต่ได้ฌานเข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นเป็นพระอรหันต์

    แสดงว่า ไม่รู้ว่าพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร และเป็นได้เพราะเหตุใด เมื่อไม่รู้จึงเข้าใจผิดคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ แต่พระโสดาบันเป็นผู้รู้ตรงตามความเป็นจริง โลภมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยกับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุความเป็น พระโสดาบัน เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลรู้จักสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนตามที่สะสมมาตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าหมดโลภะก่อนและจึงเป็น พระโสดาบันอย่างที่พยายามกันนักหนาว่า จะไม่ให้มีโลภะเลยจะได้เป็นพระโสดาบัน ซึ่งนั่นผิด เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่า โลภะไม่ใช่ตัวตน ถ้าโลภะไม่เกิดให้รู้

    แต่พระโสดาบันนั้น เพราะระลึกรู้ลักษณะของโลภะจึงรู้ว่า แม้โลภะก็ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสามารถจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจึงรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน สามารถที่จะดับสักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ด้วยเหตุนี้พระโสดาบันจึงรู้ว่า ยังมีโลภะเพราะ เหตุปัจจัย ยังมีโทสะเพราะเหตุปัจจัย ยังมีโมหะเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่มีสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดใดๆ เลย เพราะดับความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย และไม่เข้าใจผิดด้วยว่า ท่านเป็น พระสกทาคามีบุคคล เพราะเหตุว่าคุณธรรมของท่านยังไม่เสมอกับพระสกทาคามีบุคคล ยังมีโลภะอย่างแรง อย่างหยาบ ยังมีโทสะอย่างแรง อย่างหยาบ ไม่ใช่อย่างบางหรืออย่างละเอียดอย่างพระสกทาคามี และเมื่อท่านยังมีโลภะ โทสะอย่างหยาบหรือว่าอย่างแรงอยู่ ก็ยังไม่ใช่พระสกทาคามี

    พระสกทาคามีซึ่งมีโลภะอย่างบางก็รู้ว่า ท่านยังไม่ใช่พระอนาคามี เพราะถึงจะบางก็ยังเป็นโลภะ ซึ่งต้องรู้ตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่เป็นโลภะอย่างหยาบจะไม่เกิดขึ้นกับพระสกทาคามีอีกเลย เมื่อไม่มีสภาพธรรมที่เป็นโลภะอย่างหยาบปรากฏให้สติระลึกรู้ ท่านจึงเห็นโลภะอย่างละเอียด ซึ่งท่านจะต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะดับแม้โลภะอย่างละเอียดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงจะเป็นพระอนาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจะไม่ทราบเลยว่า ขณะไหนเป็นโลภะอย่างหยาบ หรือว่าอย่างละเอียด ที่คล้อยตามอารมณ์ไปเมื่อครู่นี้ ไม่รู้เลยว่าเป็นโลภะ ใช่ไหม หยาบหรือละเอียด แต่ผู้ที่เป็นพระอนาคามีไม่คล้อยตามด้วยโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏเลย

    เห็นความต่างกันจริงๆ ของสภาพธรรมว่า ผู้ที่เป็นปุถุชน ปุถุ คือ หนาแน่นด้วยกิเลส แต่มองไม่เห็นใช่ไหมว่า หนาแน่นมาก เมื่อเทียบส่วนแล้วหนาแน่นมาก จริงๆ เพราะมีทั้งโลภะ มีทั้งทิฏฐิ แต่พระโสดาบันท่านละทิฏฐิแล้ว เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตของท่านน้อยกว่าผู้ที่เป็นปุถุชน เพราะว่าไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และสำหรับพระสกทาคามี โลภะของท่านแม้มีก็บางกว่า ไม่หยาบเหมือนเดิมเท่ากับ พระโสดาบันบุคคล แต่พระสกทาคามีซึ่งมีโลภะอย่างบาง ก็ยังมีครอบครัว มีบุตรภรรยา เพราะฉะนั้น ให้เห็นความลึกความเหนียวแน่นของอกุศล ซึ่งแม้ว่าจะแยกประเภทออกไปแล้ว ก็ยังมีความละเอียด ความหยาบหลายขั้น และให้คิดถึงผู้ที่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสมุจเฉท เป็นพระอนาคามีบุคคล เคยติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เคยละการติดอย่างหยาบในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งการติดอย่างละเอียดที่จะคล้อยตามไปด้วยโลภะก็ไม่มีแม้มีการเห็น นี่ต้องเป็นปัญญาที่ละเอียดมากที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็นในขณะนี้ คล้อยไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตาของท่านหรือเปล่า เพราะฉะนั้น สติปัญญาของท่านต้องคมขึ้น ละเอียดขึ้น จึงสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสต่อไปจนถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

    เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ไม่หลอกลวงตัวเองและคนอื่น

    มีคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบว่า เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด ถ้าไม่ได้พูดคุยกับคนอื่นถึงเรื่องความเข้าใจนั้น ฟังอยู่คนเดียว และเข้าใจคนเดียว จะทราบได้อย่างไรว่า ผิดหรือถูก

    ถ้าคนเดียวก็ทราบไม่ได้ว่า ความเข้าใจจะถูกทั้งหมด หรือว่าอาจจะมีบางข้อซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนไป เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการสนทนาธรรม และต้องมีการอ่าน ฟังธรรมหลายๆ ตอนด้วย เพื่อที่จะได้ทราบว่า ที่ได้รับฟังนั้นสมบูรณ์พอหรือยัง หรือว่ายังมีธรรมอื่นซึ่งจะมีเหตุผลมากกว่านั้น และการสนทนาธรรมก็มีประโยชน์มาก เพราะจะได้รับฟังความคิดของบุคคลอื่นด้วยว่า ผิดหรือถูกอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๓๑ – ๑๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564