แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035


    ครั้งที่ ๑๐๓๕

    สาระสำคัญ

    กามาวจรจิต ๕๔

    อถ.จิตตุปปาทกัณฑ์ - ความหมายของ อกุศล

    อถ.จิตตุปาทกัณฑ์ - เหตุให้เกิดกุศล ๔ ประการ


    สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เพราะประกอบด้วย อกุศลธรรม คือ อกุศลเจตสิก เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ คือ ไม่ประกอบด้วยโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ ๓ และ ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ ๓ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ จึงเป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมเป็น ๓๐ ดวง ซึ่งเป็นอโสภณจิต และเป็นกามโสภณอีก ๒๔ ดวง จึงรวมเป็น ๕๔ ดวง

    ที่แสดงกามาวจรจิต ๕๔ โดยแสดงอกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ ตามลำดับ ก็เพราะทั้งอกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ เป็นอโสภณจิต แสดงจิตประเภทที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกก่อน เพราะว่ามีมากในชีวิตประจำวัน

    สำหรับอโสภณจิต ๓๐ ดวง แสดงเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ดวงก่อน เพราะเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นโทษ และให้ผลเป็นทุกข์ ซึ่งทรงแสดงโดยนัยต่างๆ และทั้งๆ ที่มีมาก ก็รู้ยาก เมื่อรู้แล้วก็ยังละยาก เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงโดยประการทั้งปวงที่จะให้เห็นโทษของอกุศลจิต

    ทุกท่านไม่มีใครไม่รู้จักอกุศลจิต ใช่ไหม เพราะคุ้นเคยกับคำว่า โลภะ โทสะ โมหะอยู่เสมอ และทุกท่านก็พอจะรู้รางๆ ว่า มีอกุศลจิตมาก คือ ไม่พ้นไปจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่การที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะรู้เรื่องของอกุศลจิตก่อน

    สำหรับอกุศล ๑๒ ดวง ควรที่จะได้ทราบความหมายของอกุศล ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าอกุศล เพราะไม่ใช่กุศล

    โดยมากถ้ามีคำปฏิเสธอยู่ข้างหน้า คือ “อ” ก็มักแสดงโดยนัยว่า ตรงกันข้าม แทนที่จะอธิบายว่าเป็นอย่างไร ก็บอกแต่เพียงว่า เพราะไม่ใช่กุศล

    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    คือ เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล ดุจศัตรู ผู้มิใช่มิตร เป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร

    คือ ตรงกันข้ามกับการกระทำของมิตรทุกอย่าง กุศลเหมือนเพื่อนที่อำนวยความสุข ความสะดวกสบาย ความสุข เกื้อกูลอุปการะ ให้คุณทุกประการ แต่อกุศลเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล คือ ตรงกันข้าม ก็กระทำทุกอย่างที่มิตรไม่กระทำ เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเหมือนศัตรูซึ่งไม่ใช่มิตร ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร

    เพราะฉะนั้น ศัตรูของทุกท่านไม่ใช่อยู่ข้างนอก หรือว่าอยู่ภายนอกเลย แต่อยู่ภายในและใกล้ชิดที่สุด คือ ทุกขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู ไม่ใช่มิตร

    สำหรับโลภมูลจิต ทุกท่านก็คงทราบว่า เป็นศัตรูที่คอยเอาใจทุกอย่าง ให้เพลิดเพลิน ให้ยินดี ให้สะดวกสบาย ไม่ให้เดือดร้อนใจ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมไม่พรากจากไปเลย เพราะว่าเป็นผู้ที่คอยเอาใจพะเน้าพะนอทุกสิ่งทุกประการ ซึ่งทุกท่านก็คงชอบศัตรูคนนี้ ใช่ไหม เป็นศัตรูที่ใกล้ชิด และคอยเอาอกเอาใจด้วย คอยทำให้สบายใจ ให้เพลิดเพลินทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ก็ไม่เห็นโทษ และไม่คิดที่จะจากศัตรูผู้นี้ไปเลย

    สำหรับลักษณะของอกุศล ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

    อกุศลมีวิบากเป็นทุกข์ มีโทษเป็นลักษณะ

    เป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของกุศล ซึ่งลักษณะของกุศลธรรมมี ๒ นัย คือ

    มีสุขวิบากอันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ

    มีอันกำจัดอกุศล เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    มีความผ่องแผ้ว เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    มีโยนิโสมนสิการ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้

    อีกนัยหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่ง คือ

    กุศลชื่อว่าความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ

    มีภาวะผ่องแผ้ว เป็นรสะ

    มีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีโยนิโสมนสิการ หรือความไม่มีโทษ เป็นปทัฏฐาน

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แล้วแต่ความสามารถ หรือแล้วแต่การสะสมของผู้ที่จะพิจารณาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่เป็นกุศลว่า ท่านระลึกถึงลักษณะใด เช่น ลักษณะของกุศลนัยที่หนึ่งที่ว่า มีสุขวิบากอันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ เวลาที่ได้รับผลของกุศล ขณะนั้นเป็นความสะดวกสบาย ความสุข ไม่มีความเดือดร้อนใจ

    เคยพิจารณาที่จะรู้ลักษณะของกุศลบ้างไหม ขณะใดที่สะดวกสบาย เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นทราบได้ว่า เป็นผล คือ เป็นลักษณะของกุศลซึ่งเป็นธรรมชาติที่ให้ผลเป็นสุขวิบาก คือ วิบากที่เป็นสุข นั่นเป็นลักษณะของกุศล

    มีอันกำจัดอกุศล เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นย่อมกำจัดอกุศล เช่น เวลาที่เกิดโกรธขึ้นมา เป็นอกุศล แต่เมื่อเปลี่ยนจากโกรธเป็นเมตตาเพราะระลึกได้ว่า ความโกรธเป็นอกุศล ให้โทษ เป็นศัตรูผู้ทำร้ายจิต เป็นศัตรูที่ใกล้ชิดที่สุด ไม่ใช่ศัตรูภายนอก แต่เป็นศัตรูภายใน เมื่อรู้อย่างนี้ก็เกิดเมตตาแทนที่จะเกิดโทสะหรือปฏิฆะขึ้น ขณะนั้นก็กำจัดอกุศล ฉะนั้น เวลาที่กุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นทานก็กำจัดอกุศลคือความตระหนี่ ไม่ว่าจะเป็นศีลขณะนั้นก็กำจัดอกุศลคือการเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของกุศล มีรสะ คือ มีกิจ ที่กำจัดอกุศล

    มีความผ่องแผ้ว เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    ถ้าสังเกตลักษณะของจิตในขณะที่เป็นกุศลจะทราบได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่สะอาดหรือผ่องแผ้ว ปราศจากความเดือดร้อนใจ หรือปราศจากความเศร้าหมอง ด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือด้วยโมหะ ฉะนั้น ในขณะนั้นก็มีความผ่องแผ้ว เป็นอาการปรากฏ

    แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงและประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถที่จะพิจารณาเห็นความผ่องแผ้วซึ่งเป็นอาการปรากฏของกุศลจิต เพราะว่าบางท่านเมื่อเกิดความสบายใจก็เข้าใจว่า ผ่องแผ้ว แต่ว่าลักษณะที่สบายใจไม่ใช่กุศล เป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นความพอใจ ไม่ใช่ความผ่องแผ้ว ถ้าเป็นความผ่องแผ้ว ต้องเป็นสภาพที่ ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากอิสสา ปราศจากมานะในขณะนั้น จึงเป็นสภาพของจิตที่ผ่องแผ้ว เพราะปราศจากอกุศล

    อย่าถือเอาความสบายใจ หรือความพอใจ ว่าเป็นความผ่องแผ้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถเห็นอาการที่ปรากฏของกุศลธรรมได้

    มีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย เป็นปทัฏฐาน คือ เป็น เหตุใกล้ให้เกิด

    นี่คือสภาพธรรมที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นอกุศลก็ตรงกันข้าม คือ มีวิบากเป็นทุกข์ มีโทษ เป็นลักษณะ

    ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายว่า

    ที่ชื่อว่าสุข เพราะทนได้ง่าย ที่ชื่อว่าทุกข์ เพราะทนได้ยาก

    สุขก็ต้องทนใช่ไหมจึงจะสุข ต้องทนไหม จะรับประทานอาหารอร่อย ไม่ใช่ว่าได้มาลอยๆ คือ อยู่ดีๆ ก็ลอยมา ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องทุกข์เพราะต้องทำให้อร่อย ต้องแสวงหาที่จะให้อร่อย ขาดนิดขาดหน่อยก็จะไม่อร่อยแล้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องแสวงหา แต่ว่าทนได้ง่ายที่จะแสวงหาในสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุข

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นสุข ให้ทราบว่า ขณะนั้นเพราะเป็นสิ่งที่ทนได้ง่าย แม้ว่าจะต้องทน ก็ทนได้ ต่างกับขณะที่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสภาพที่ทนได้ยาก

    สำหรับลักษณะของกุศลธรรมอีกนัยหนึ่ง คือ

    กุศลชื่อว่ามีความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ

    คือ สภาพของกุศลจิต หรือกุศลธรรมในขณะนั้นเองที่เกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ เช่น เมตตา เมื่อเกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ใครเกิดความเดือดร้อน ตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดความสบายใจ เพราะว่าไม่ดูหมิ่น ไม่รังเกียจคนอื่น มีความเป็นเพื่อน มีความเป็นมิตร พร้อมที่จะอุปการะเกื้อกูลอย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น ลักษณะของกุศลเป็นสภาพที่ มีความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ

    มีภาวะผ่องแผ้ว เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    มีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    มีโยนิโสมนสิการ หรือ ความไม่มีโทษ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    อาการปรากฏที่ทุกคนรู้ คือ กุศลมีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นอาการปรากฏ ถ้าเห็นใครที่พรั่งพร้อมสมบูรณ์ เพียบพร้อมทุกอย่าง ทุกคนก็มักจะเอ่ยว่า เป็นผลของกุศล ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เห็นวิบาก คือ เห็นผลของกุศล เพราะย่อมมีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นอาการที่ปรากฏของกุศล

    . กุศลจิตเกิดยาก มีวิธีอะไรบ้างไหมที่จะทำให้จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นบ่อยๆ

    สุ. เป็นความจริงที่ว่า อกุศลเกิดง่าย เกิดเร็ว เกิดมาก แต่กุศลเกิดยากและเกิดน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้อกุศลซึ่งเกิดง่าย เกิดเร็ว เกิดมาก ก็เป็นเพราะมีปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดมาก เกิดง่าย เกิดเร็ว หรือกุศลที่จะเกิดก็เป็นอนัตตา ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย กุศลก็เกิดไม่ได้

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงเหตุให้เกิดกุศล ๔ ประการ คือ

    ด้วยสามารถที่กำหนด คือ พิจารณาได้ ๑

    ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ๑

    ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ ๑

    ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ ๑

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกท่านอยากประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ ทั้งนั้น ทั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นที่อยากประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะที่ต้องการ ขณะที่ปรารถนาอารมณ์ ที่ดีๆ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล นี่ตอนหนึ่ง

    และเมื่อเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดี ได้กระทบสัมผัส สิ่งที่ดี ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลอีก

    ก่อนที่จะได้ ก็เป็นอกุศล และทันทีที่เห็นสิ่งที่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นอกุศลอีก

    เพราะฉะนั้น การที่กุศลจิตจะเกิดได้ แม้ว่ากระทบกับอารมณ์ที่ดี ก็ต้องมีเหตุ บางคนสะสมมาที่จะเป็นกุศล แม้ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่ดีก็ไม่เป็นอกุศล บางคน ทั้งๆ ที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีเท่าไรนัก เป็นอารมณ์ที่ดีปานกลาง แต่ก็ติดในอารมณ์นั้นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความติดในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดได้ อุปมาเหมือนกับนกเล็กๆ ที่ถูกผูกไว้ด้วยเชือกเล็กๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะสลัดสะบัดออกให้หลุดจากเชือกที่ผูกได้ ทั้งๆ ที่เป็นของที่เล็กน้อยเหลือเกิน แต่เมื่อสะสมมาที่จะถูกผูกไว้ ที่จะมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้เป็นอารมณ์ที่ดีปานกลาง ไม่ได้ดีมาก ก็ยังไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดได้

    แต่สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะมีกุศลที่มีกำลัง แม้ว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี กุศลจิตก็สามารถที่จะเกิดได้ เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดกุศลเมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่าพอใจต่างๆ มี ๔ ประการ คือ

    ๑. ด้วยสามารถที่กำหนด คือ พิจารณาได้

    หมายความถึงผู้ที่นิยมยินดีในกุศล เพราะพิจารณาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ควรเจริญ ซึ่งบางท่านไม่ได้เห็นความดี ไม่ได้เห็นคุณของกุศลเลย คิดว่าอกุศลดีกว่า ต้องหามามากๆ เพื่อตัวเอง เรื่องอะไรที่จะสละให้บุคคลอื่น นั่นคือ ผู้ที่ไม่ได้พิจารณา หรือว่าไม่มีความนิยม ไม่เห็นคุณของกุศล เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะมีมาก แทนที่จะเป็นผู้ที่นิยมยินดีในกุศล เห็นว่ากุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ

    ดังนั้น ทุกท่านในชีวิตประจำวัน ต้องเริ่มจากการพิจารณาจริงๆ ว่า กุศลหรืออกุศล สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้มากขึ้น แม้ว่าอาจจะยังไม่มีมาก หรือว่าอาจจะยังกระทำไม่ได้ทันที แต่เพียงการน้อมพิจารณาที่จะให้เห็นเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ เป็นสิ่งที่ควรจะอบรมประพฤติให้มากขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้กุศลจิตเกิดได้ คือ เป็นผู้ที่นิยมและเห็นว่ากุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ

    ๒. ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน

    คือ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดและเปลี่ยนเป็นกุศลได้ ชื่อว่า ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ในชีวิตประจำวันมีไหม เวลาที่อกุศลจิตเกิดและนึกขึ้นได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี และกุศลจิตก็เกิดขึ้น ในขณะนั้นด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ซึ่งบางท่านไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าความโกรธไม่ดี ก็ยังพอใจที่จะโกรธต่อไปอีก ในขณะนั้นไม่ใช่ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน เพราะว่ายังไม่มีกำลังที่กุศลจิตจะเกิดขึ้นเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล แต่สำหรับบางท่านเร็ว อกุศลจิตเกิดไม่นานเท่าไรก็สามารถระลึกได้ และเปลี่ยนเป็นกุศล นั่นคือ ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน

    ๓. ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ

    คือ ด้วยการกระทำบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชิน ซึ่งต้องอาศัยการอบรม บางท่านเป็นผู้ที่ตระหนี่ แต่เห็นว่าถ้าตระหนี่มากจะไม่สามารถที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการสละ ซึ่งถ้าได้สละทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยๆ ภายหลังก็สามารถจะมีกำลังที่จะสละสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นได้ แต่ถ้าแม้สิ่งเล็กน้อยก็ยังไม่สามารถจะสละได้บ่อยๆ สิ่งที่ใหญ่กว่านั้นก็ย่อมไม่สามารถที่จะสละได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่กระทำ คือ ประพฤติบ่อยๆ จนเคยชิน จึงเป็น ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๓๑ – ๑๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564