แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
ครั้งที่ ๑๐๓๗
สาระสำคัญ
ธรรมซึ่งต้องละและดับก่อน
สงฺ.สคา.สัตติสูตรที่ ๑
สารัตถปกาสินี อรรถกถา ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เพื่ออันละสักกายทิฏฐิ
โลภะไม่ได้อยู่ในตำรา
ลักษณะของโลภะประการต่างๆ
ธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง (บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง)
การฟังพระธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจและให้สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละท่านตามความเป็นจริงได้ แม้แต่โลภมูลจิตซึ่งเกิดบ่อยเป็นประจำตามเหตุตามปัจจัย ที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ที่จะให้เข้าใจลักษณะของโลภะ ที่จะให้เห็นโทษของโลภะ ที่จะให้เห็นความเป็นมูลรากของอกุศลทั้งหลาย ก็เพื่อให้สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดง รวมทั้งลักษณะของโลภะซึ่งมีมากในชีวิตประจำวันด้วย
เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สติไม่เกิด ก็เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้นเป็นโลภมูลจิตบ้าง หรือว่าโทสมูลจิตบ้าง หรือว่าโมหมูลจิตบ้าง แต่แม้ในขณะนั้นๆ สติก็สามารถที่จะเกิดและระลึกรู้ลักษณะของอกุศลนั้น เพื่อปัญญาจะได้รู้ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอกุศลโดยประการต่างๆ ก็เพื่อที่จะให้เห็นโทษ และให้รู้ลักษณะของอกุศลนั้นๆ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
ทุกท่านฟังธรรมเพื่อที่จะให้ถึงอย่างนี้ คือ ขณะที่ทุกข์ทั้งหลายดับ แต่เมื่อยังดับไม่ได้ หรือว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ดับ ก็จะต้องพิจารณาจนกระทั่งเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมา ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้ว พึงผ่า ครั้นผ่าแล้วเจียกให้เป็นชิ้นๆ ครั้นเจียกให้เป็นชิ้นๆ แล้ว พึงผึ่งลม ตากแดด ครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรง หรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
จบ สูตรที่ ๕
ฟังดูเหมือนกับว่า ให้ดับตัณหาซึ่งแสนที่จะดับยาก ถ้าจะเอาต้นไม้มาขุดราก ทำให้ท่อนๆ แล้วผ่า ทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไฟเผา ก็ไม่ยากที่จะกระทำได้ แต่ตัณหาซึ่งฝังรากลึกอยู่ในจิตใจซึ่งเป็นนามธาตุ ต้องเพราะการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะทำลายตัณหาออกได้เป็นประเภท คือ ต้องละตัณหาซึ่งเกิดพร้อมกับความเห็นผิดก่อน ไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังยังไม่เข้าใจอะไรเลย และก็เห็นโทษของตัณหา พยายามที่จะดับตัณหา โดยที่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะได้ผลจริงๆ คือ เพื่อที่จะรู้ได้ว่า ธรรมใดเป็นสิ่งที่จะต้องละหรือดับก่อน มิฉะนั้นแล้วถ้าเพียรที่จะละตัณหา ย่อมไม่สามารถที่จะละตัณหาได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน และยังไม่ประจักษ์ในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้ เพราะแม้แต่ผู้ที่เป็นเทวดาก็ยังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติได้
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สัตติวรรคที่ ๓ สัตติสูตรที่ ๑ ข้อ ๕๖ มีข้อความที่เทวดาท่านหนึ่งสรรเสริญการละกามว่า
เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น ฯ
ฟังดูถ้าไม่พิจารณาก็คงจะสรรเสริญตามว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า
คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ทำอุปมาให้มั่นคง ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้เธอจะกล่าวซ้ำๆ ซากๆ ก็เพราะคาถานี้ เทวดากล่าวถึงการละโดยการข่ม กามราคะเท่านั้น ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการ ตามผูกพันเรื่อยไป เพราะเหตุนั้นเราจะถือเอาความอุปมานั้นนั่นแหละดังนี้ เมื่อจะทรงเปลี่ยนเทศนาแสดงด้วยสามารถแห่งปฐมมรรค (คือ โสตาปัตติมรรค) จึงตรัส พระคาถาที่ ๒ (ข้อที่ ๕๗) ว่า
ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฉะนั้น
แสดงให้เห็นว่า ถ้ามุ่งที่จะดับกามราคะ คือ โลภะ โดยที่ไม่อบรมเจริญ สติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้น ก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้เห็นถึงความลึกของโลภเหตุ ซึ่งเป็นมูล เป็นตัวที่จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ เพราะว่าเป็นสภาพที่ยินดี เพลิดเพลิน และเห็นความน่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏ
ท่านผู้ฟังควรจะทราบว่า ในชีวิตประจำวันจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะไหนเป็นโลภะ พูดถึงชื่อว่า โลภะ และก็รู้ลักษณะของโลภะ แต่เวลาใดบ้างที่โลภะกำลังเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โลภะก็อยู่ในตำรา แต่ถ้าพิจารณาจะทราบได้ว่า โลภะมีอยู่เกือบจะทุกขณะในชีวิตประจำวัน ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ จะแสดงให้ทราบว่า ลักษณะของโลภะเป็นอย่างไรในชีวิตประจำวัน
ชื่อว่าความกำหนัด เนื่องด้วยความยินดี
ขณะไหนที่รู้สึกยินดี หรือพอใจ ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะปรากฏให้เห็นว่าเป็นโลภะ
ชื่อว่าความกำหนัดนัก โดยความหมายว่า ยินดีรุนแรง
ทุกท่านย่อมทราบได้เวลาที่เกิดดีใจอย่างมาก ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของ ความกำหนัดนัก
ชื่อว่าความคล้อยตามอารมณ์ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย
นี่เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตและทราบได้ว่า ไม่ว่าท่านจะเห็นอะไร ไม่ได้ทิ้งสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ถ้าเห็นต้นไม้ก็นึกถึงเรื่องต้นไม้นั้น ถ้าเห็นดอกไม้ก็นึกถึงเรื่องดอกไม้นั้น ถ้าเห็นเสื้อผ้าก็นึกถึงเรื่องเสื้อผ้านั้น ถ้าเห็นอาหารก็นึกถึงเรื่องอาหารนั้น ถ้าได้กลิ่นอะไรก็นึกถึงเรื่องของกลิ่นนั้น ถ้าได้ยินเสียงอะไรก็นึกถึงเรื่องของเสียงนั้น ไม่ว่าอะไรจะกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตที่คล้อยตามไปในสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ไม่มีทางที่จะยับยั้งโลภมูลจิตได้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ขณะนี้กำลังคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า คล้อยไปแล้ว ไม่ทันจะรู้ตัวเลย แต่สติปัฏฐานสามารถจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่าลืม ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่เจาะจงจะรู้ แม้แต่ลักษณะของโลภะ ซึ่งขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เรื่อยๆ
เมื่อลักษณะของโลภะขั้นนี้ไม่ปรากฏ การที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้ลักษณะของโลภะขั้นนี้จึงเป็นสิ่งที่ไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าโลภะเกิดแล้ว คล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏแล้วขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ขณะที่มีสติ ไม่ใช่พยายามจะไปจับโลภะที่คล้อยตามอารมณ์ เพราะว่าลักษณะของโลภะที่คล้อยตามอารมณ์นั้นไม่ปรากฏ แต่ว่าลักษณะของอารมณ์กำลังปรากฏ ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหู ดังกำลังปรากฏ ทางจมูกถ้ามีกลิ่น กลิ่นปรากฏ ทางลิ้นรสปรากฏ ทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือตึงไหวปรากฏ ไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องโลภะซึ่งคล้อยตามไป แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ จะปรากฏให้รู้
เมื่อลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ปรากฏให้รู้ ก็จะต้องศึกษารู้ในสภาพที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รู้ในลักษณะสภาพที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า
สำหรับลักษณะต่อไป
ชื่อว่าความยินดี ด้วยอรรถว่า พอใจ อธิบายว่า ทำให้อยาก
สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจ จะไม่ต้องการสิ่งนั้น ไม่อยากได้สิ่งนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีสิ่งที่พอใจ ผลคือ อยากได้สิ่งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่พอใจ
ชื่อว่าความเพลิดเพลิน ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง หรือเพลิดเพลินเอง
ไม่มีใครอยากจากโลกนี้ไป ใช่ไหม เพราะว่าเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ แสดงให้เห็นว่า ที่ไม่อยากจากไปเพราะยังเพลิดเพลินอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในภพไหนทั้งสิ้น ชื่อว่าความเพลิดเพลิน ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง
ที่ชื่อว่าความสยบ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสมีกำลัง
มีใครอยากจะต่อสู้กับโลภะบ้าง มีนักสู้ไหม สู้กับใครไม่สู้จะพยายามสู้กับโลภะ ผลคือแพ้ เพราะ ที่ชื่อว่าความสยบ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสมีกำลัง
รับประทานอาหารไม่อร่อยจะทำอย่างไร กิเลสมีกำลังที่จะทำให้ปรุงให้อร่อย ลองนึกว่า จะรับประทานอาหารที่ไม่อร่อยไปเรื่อยๆ ได้ไหม จะชนะโลภะหรือโลภะมีกำลังที่จะทำให้สยบ คือ แพ้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ธรรมชาติใดเป็นธรรมชาติที่มีกำลัง มีแรง ย่อมเป็นฝ่ายชนะ เพราะฉะนั้น โลภะเป็นธรรมชาติ ที่ชื่อว่าความสยบ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสมีกำลัง
ที่ชื่อว่าความหมกมุ่น ด้วยอำนาจที่กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น
ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านหมกมุ่นด้วยโลภะ กลืนเอาไปหมดในวันหนึ่งๆ กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น จริงไหม ท่านที่ชอบการละเล่นชนิดหนึ่งชนิดใด เวลาของท่านในวันนั้นไม่ค่อยจะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เพราะ ที่ชื่อว่าความหมกมุ่น ด้วยอำนาจที่กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น ในวันหนึ่งๆ เวลาส่วนมากใช้ไปด้วยโลภะ
ที่ชื่อว่าความใคร่ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์มุ่งหวังอย่างยิ่ง
ที่ชื่อว่าความข้องอยู่ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์ติดอยู่
ไม่ไปไหนเลย นอกจากติดอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ไปถึงรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตตระ เพราะยังติดอยู่
ที่ชื่อว่าความจมอยู่ โดยความหมายว่า จมลง
โลภะไม่ได้ทำให้ลอยขึ้น แต่ว่ายิ่งมีมาก ก็ยิ่งจมลงทุกที
ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้คร่ามา เกี่ยวกับการชักมา ดังที่ตรัสไว้ว่า ธรรมชาติผู้ คร่ามา ย่อมดึงบุรุษไปรอบ เพื่อความผุดขึ้นแห่งภพนั้นๆ นั่นเอง
ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้หลอกลวง โดยความหมายว่า ล่อสัตว์ไว้
ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิด โดยความหมายว่า เป็นเหตุให้สัตว์เกิดอยู่ในวัฏฏะ ดังที่ตรัสไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุรุษให้เกิด จิตของสัตว์นั้นย่อมพล่านไป
ที่ชื่อว่าธรรมชาติอันร้อยรัด โดยความหมายว่า สืบต่อไว้ จริงอยู่ธรรมชาตินี้ย่อมร้อยรัด คือ สืบต่อสัตว์ไว้ในวัฏฏะด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ เหมือนดังช่างชุนเอาท่อนผ้าเก่าชุนผ้าเก่าไว้ ฉะนั้น
ถ้าตราบใดยังมีโลภะอยู่ ไม่มีวันที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ จะต้องมีการตายและเกิดอีกๆ อยู่เรื่อยๆ
นี่เป็นเพียงลักษณะบางประการของโลภะ ซึ่งข้อความในอรรถกถาและ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้มาก แต่จะขอกล่าวถึงเพียงบางประการ
ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีรากเป็นพิษ
ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีผลเป็นพิษ
ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีการบริโภคเป็นพิษ
ก็หรือว่าตัณหานั้นแผ่ไป ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม ตระกูล คณะ
ที่ชื่อว่าธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง โดยความหมายว่า เป็นสหายโดยไม่ยอมให้เงยได้ จริงอยู่ ตัณหานี้ย่อมไม่ให้เหล่าสัตว์เงยในวัฏฏะ ย่อมทำให้อภิรมย์อยู่ ดุจสหายรักในที่ๆ ไปแล้วๆ ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสไว้ว่า บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสองท่องเที่ยวไปอยู่ สู่ความเป็นอย่างนี้และความเป็นอย่างอื่นสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ผ่านพ้นสังสารไปได้
อย่าลืม ไม่เคยอยู่คนเดียว เพราะว่ามีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่อยู่ด้วย ใกล้ชิดที่สุด ไม่ห่างเลย คือ โลภะ จริงหรือเปล่า อยู่ที่ไหนก็ได้ ที่เข้าใจว่าอยู่คนเดียว ลองคิดดูว่า ในขณะนั้นใจนึกถึงอะไรบ้าง นึกถึงใครบ้าง นึกถึงเรื่องอะไรบ้าง จะกล่าวว่าอยู่คนเดียวได้อย่างไร เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตไม่เคยจากไปไกลเลย อยู่ใกล้เคียงตลอดเวลาในสังสารวัฏฏ์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๓๑ – ๑๐๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080