แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
ครั้งที่ ๑๐๒๒
สาระสำคัญ
รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
รู้จักโลกตามความเป็นจริง
สงฺ.สฬ.สมิทธิสูตรที่ ๔ - เหตุเพียงเท่าไรจึงเป็นโลก หรือบัญญัติว่าโลก สงฺ.สฬ.ผัคคุณสูตร
ถ. ปัญหาอยู่ที่ว่า อะไรที่มาประทับทรง อยากทราบตรงนี้ อยากจะรู้ความจริงให้ชัดลงไปว่า บรรดาเทพต่างๆ นี้มาหลอกประชาชน หรือว่าจะถูกประชาชน ...
สุ. รู้จักตนเองขณะนี้ กำลังเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนดีกว่า และยังรู้ด้วยว่า ขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องเหล่านี้ก็เป็นแต่เพียงขณะที่จิตชนิดหนึ่งเกิดขึ้นและก็คิด และก็ดับไป แต่จะไม่เอาประโยชน์อย่างนี้ใช่ไหม จะไปเอาประโยชน์อื่น
ถ. อยากจะรู้ความจริงว่า มาอย่างไร ไปอย่างไร ซึ่งเวลานี้มีมาก
สุ. ใครจะรู้ได้ ความจริงถ้าผู้นั้นได้ฌานสมาบัติ รู้ถูกเพราะมีทิพพจักขุ จะไปแสวงหาผู้ที่ได้ฌานสมาบัติและมีทิพพจักขุ หรือว่าจะเที่ยวถามกันไป แต่ถึงจะตอบว่าอย่างไร ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะบุคคลที่ไม่ได้ทิพพจักขุไม่สามารถเห็นเทพ ใครก็ตามที่เห็นเทพได้บ่อยๆ ง่ายๆ สะดวกๆ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานและมีทิพพจักขุ เพราะ มีวสี มีความคล่องแคล่ว แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญความสงบ ไม่ถึงอุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ไม่ถึงฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และอรูปฌาน และถึงแม้ว่าจะบรรลุถึงอรูปฌานแล้ว ก็ยังจะต้องฝึกหัดการเข้า การออก โดยนัยหลายอย่างกว่าที่ทิพพจักขุจะเกิดขึ้น ถ้าบุคคลใดยังไม่สามารถกระทำอย่างนั้นก็ไม่สามารถตอบได้ว่า เห็นเทพ เพราะฉะนั้น ถ้าใครกล่าวว่าเห็นเทพ หรือว่าเทพมา ต้องมีผู้รู้ ผู้เห็น ใช่ไหม จึงจะกล่าวได้ แต่ผู้นั้นสมควรแก่การที่จะเห็นเทพจริงๆ หรือเปล่า
ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผล คือ รู้เหตุว่าทำอย่างไรจึงจะมีทิพพจักขุ และถ้าไม่มี ทิพพจักขุ จะเห็นเทพได้อย่างคล่องแคล่วไหม หรือเพียงแต่นึกว่าเทพมา เช่น บางคนพอมีกลิ่นธูปก็คิดว่าเทพมา คิดง่ายๆ ว่าเทพมา ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย กับคนที่ถ้าได้กลิ่นธูปก็ไม่ได้สนใจว่าเทพจะมา แต่ดูว่าบ้านไหนจุดธูปหรือเปล่า และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า อาจจะเป็นข้างบนบ้านจุด หรือข้างๆ บ้านจุดเท่านั้นเอง กับการที่จะหลงคิดไปว่า เทพมาจะได้คุยกับเทพ อย่างไหนจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง อย่างไหนจะเป็นการเชื่อที่มีเหตุผล และอย่างไหนจะเป็นประโยชน์ ข้อสำคัญที่สุด คือ ประโยชน์ เพราะถ้าเชื่อง่าย ประโยชน์อยู่กับผู้ที่เชิญเทพ จริงไหม ได้รับความนับถือว่า เป็นผู้ที่สามารถติดต่อกับเทพได้ นั่นเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เชิญเทพ ซึ่งคนอื่นทำไม่ได้
เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องการอะไร และได้ประโยชน์อะไร นี่เป็นสิ่งที่ควรจะคิด เป็นประโยชน์ที่แท้จริงหรือเปล่า เป็นประโยชน์กับใคร ถ้าไม่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟัง ก็ไม่ต้องสนใจ เท่านั้นเอง ใครจะตื่นเต้น ใครจะสนใจ ก็เป็นเรื่องของผู้ที่สะสมมาที่จะตื่นเต้นสนใจ เพราะไม่ได้ประจักษ์ในประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับตนเองว่า ต้องรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องได้ประโยชน์จากการพบการฟังพระธรรม
ยังสนใจอยู่ไหม
ผลก็คือ ไม่รู้แน่ ก็ยังคงเป็นความสงสัยอยู่เรื่อยๆ
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็จะมีเรา มีเขา มีบุคคลต่างๆ มีเทพ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงที่โลกปรากฏเป็นโลก และที่มีสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ปรากฏในโลก ก็เพราะมีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น โลกไหนๆ ก็ไม่มี แต่เพราะเมื่อสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูปเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว การไม่รู้ลักษณะที่เกิดดับของจิต เจตสิก รูป จึงยึดถืออาการของจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดดับสืบต่อปรากฏเป็นสัณฐานว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ เป็นโลก
ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และพิจารณาพร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ชื่อว่า รู้จักโลก แม้ว่าจะได้อยู่ในโลกนี้มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนกี่ปีสำหรับชาตินี้ และในอดีตชาติก่อนๆ ก็ไม่ได้รู้จักโลก ตราบใดที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และยังไม่สามารถพ้นไปจากโลก เพราะเมื่อไม่รู้จักโลก จะพ้นจากโลกได้อย่างไร
ไม่ว่าจะสุขสักเท่าไร ก็ไม่ได้สุขตลอดกาล เพราะแท้ที่จริงแล้วความรู้สึกเป็นสุขก็เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะที่สั้น เล็กน้อยมาก คือ ชั่วขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ถ้าไม่ศึกษาสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่รู้แม้แต่ว่าอะไรปรากฏในโลก อย่างเสียง ทุกคนไม่สงสัย เพราะว่าได้ยินเสียง แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้ ไม่มีธาตุรู้ซึ่งกำลังได้ยินหรือ รู้เสียง เสียงจะปรากฏไหม เพราะฉะนั้น อารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสิ่งที่แสดงให้รู้ในลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ได้ เพราะถ้าไม่มีอารมณ์ต่างๆ ปรากฏ จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้กำลังเกิดดับ ใครสามารถจะรู้ได้ในลักษณะของจิต ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้ สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จะรู้ไหมว่า มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งกำลังเกิดดับ ก็ไม่รู้ แต่เวลาที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพของธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงยึดถืออาการสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลต่างๆ บ้าง เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ บ้าง
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังเข้าใจว่า โลกเป็นอย่างนี้ ไม่ชื่อว่า รู้จักโลกตามความเป็นจริง แม้ว่าจะได้ศึกษาเรื่องของโลกโดยวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะโดยภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ถึงหลายล้านปีมาแล้วก็ตาม หรือว่าโดยวิชาวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ชื่อว่า รู้จักโลกตามความเป็นจริง และวิชาการทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่สามารถทำให้พ้นจากโลกได้ เพราะเมื่อไม่รู้จักโลก ก็ย่อมพ้นจากโลกไม่ได้
และโลกนี้ วันหนึ่งๆ มีสาระอะไรบ้าง สุขเวทนาเกิดขึ้นและก็หมดไป จะให้ สุขเวทนานั้นกลับคืนมาอีกก็ไม่ได้ หรือว่าท่านผู้ใดจะมีทุกข์ทรมานแสนสาหัสในโลกนี้ อยากจะพ้นจากโลกนี้สักเท่าไร ก็พ้นไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านผู้ฟังพร้อมหรือยังที่จะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่ตัวท่านในขณะนี้ก็ไม่มี พร้อมไหมที่จะละทิ้งโลก เพราะต้องไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลก่อน จึงจะดับโลก หรือว่าพ้นโลกได้ เพียงแต่คิดก็ไม่ไหวแล้ว ใช่ไหม ที่จะไม่มีตัวที่กำลังนั่งและได้ยิน และไม่มีวงศาคณาญาติ ไม่มี มิตรสหาย ไม่มีวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นที่พอใจ
ยังไม่ต้องให้พ้นโลก หรือว่าให้หมดวัตถุสิ่งต่างๆ เพียงแต่สักอย่างสองอย่างซึ่งคิดจะสละให้บุคคลอื่น ลองคิดดูว่าจะสละได้ไหม ทุกอย่างที่เป็นของๆ ท่าน ยังไม่ต้องละจากโลกนี้ไป ยังไม่ต้องพ้นจากโลก เพียงแต่คิดที่จะให้คนอื่นก็ยังยากที่จะ สละให้ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะไม่ให้มีตัวตนเลย ต้องเข้าถึงอรรถนี้ว่า การที่จะรู้จักโลกตามความเป็นจริง คือ มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งและก็ดับไปแต่ละอย่างทีละอย่างที่ปรากฏ จึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ พร้อมที่จะรับความจริง รู้ความจริงอย่างนี้ หรือว่ายังไม่พร้อม ยังทนไม่ไหว ทนไม่ได้ที่จะเป็นอย่างนั้น ยังต้องเป็นเรา เป็นตัวตนอยู่
การที่จะรู้จักโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ผู้ที่ฟังพระธรรมได้ฟัง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องโลกตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และก็พิจารณาน้อมประพฤติปฏิบัติตาม พร้อมทั้งอบรมเจริญปัญญา จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น จึงรู้ลักษณะของโลกได้ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่รู้โลกในขณะอื่นเลย แต่ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลัง คิดนึกในขณะนี้ จึงจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้จักโลกที่กำลังเกิดดับในขณะนี้
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม คือ การที่จะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะ สภาพธรรมเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโลก ถ้าโดยวิธีอื่น ไม่มีหนทางที่จะรู้จักโลกได้
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมิทธิสูตรที่ ๔ ข้อ ๗๕
ท่านพระสมิทธิทูลถามว่า
... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลก โลก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงเป็นโลก หรือบัญญัติว่าโลก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สมิทธิ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลก ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ฯลฯ
การที่จะรู้จักโลก ก็เพราะมีตาจึงเห็นโลก มีหูจึงได้ยินเสียงโลก มีจมูกจึงได้กลิ่นโลก มีลิ้นจึงได้รู้รสโลก มีกายจึงรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กระทบสัมผัสโลก ถ้าไม่มีทางเหล่านี้โลกจะปรากฏได้ไหม ไม่มีการเห็นทางตา ไม่มีการได้ยินทางหู ไม่มีการได้กลิ่นทางจมูก ไม่มีการลิ้มรสทางลิ้น ไม่มีการรู้โผฏฐัพพะทางกาย โลกไหนจะปรากฏ โลกนี้ย่อมไม่ปรากฏ หรือว่าโลกไหนๆ ก็ย่อมไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ที่ยึดถือว่าเป็นโลกกำลังปรากฏ เพราะเห็น เห็นอะไร เห็นโลก สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นโลก ได้ยินเสียง เสียงอะไร เสียงเป็นโลกอีกเหมือนกัน ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีได้ยิน โลกเสียงก็ไม่มี เพราะฉะนั้น โลกที่ประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปรากฏได้เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่ต้องแสวงหาโลกที่อื่น ไม่ว่าจะอยู่โลกไหนทั้งสิ้น ที่โลกจะปรากฏก็เพราะ ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และใจคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สมิทธิ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ ไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ ธัมมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯ
ถ้าไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง อยากจะพ้นจากโลก ก็พ้นไม่ได้ และก็อยู่ในโลกอย่างไม่รู้จักโลก อยู่มานาน ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ ในอดีตอนันตชาติก็อยู่ในโลก และจะต้องอยู่ต่อไปอีกนานถ้ายังไม่รู้จักโลก เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในโลกด้วยความไม่รู้จักโลก และไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง วนเวียนไป สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นอย่างไร ยังไม่พ้นจากโลก มีใครอยากจะพ้นหรือยัง ยัง แน่นอน เพราะยังไม่รู้จักโลก ต่อเมื่อใดที่รู้จักโลกแล้ว ก็รู้จักหนทางที่จะพ้นจากโลกได้
บางท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วแต่ยังมีตัวตนอยู่ เคยได้ยินอย่างนี้บ้างไหม ไปเฝ้าหรือว่าทำทาน และมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในการถวายทานนั้นๆ
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ผัคคุณสูตร ข้อ ๙๙ - ข้อ ๑๐๐ มีข้อความที่เป็นคำตอบโดยตรงจากพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้พิจารณา ข้อความมีว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระผัคคุณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยจักษุใด จักษุนั้นมีอยู่หรือหนอ ฯลฯ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยใจใด ใจนั้นมีอยู่หรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
คือถามว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว จะยังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่อีกหรือเปล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ผัคคุณะ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยจักษุใด จักษุนั้นไม่มีเลย ฯลฯ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยใจใด ใจนั้นไม่มีเลย ฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลังจากที่ปรินิพพานแล้ว ไม่มีอีกเลย เพราะฉะนั้น ความหมายของปรินิพพานไม่ใช่ว่าไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด และก็มาเป็นประมุขของการรับทานเมื่อมีบุคคลถวายทาน มิฉะนั้นก็จะไม่พ้นจากโลก ถ้ายังมีการเห็น ยังมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็ยังต้องมีทุกข์ เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไป ยังไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้ และถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะดับกิเลส ซึ่งไม่ใช่ทำอย่างอื่น หรือไม่ใช่ว่ารู้อย่างอื่น ต้องเป็นปกติ ในขณะนี้สภาพธรรมเกิดขึ้นตามความเป็นจริง สติสามารถที่จะเกิดระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นเพียงนามธรรมหรือรูปธรรม
ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินคำว่า อกาลิโก หรืออกาลิกธรรมบ่อยๆ ซึ่งหมายความถึงโลกุตตรมรรคจิต ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้โลกุตตรวิบากจิต คือ ผลจิต เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น นั่นเป็นผลขั้นปลายขณะที่โลกุตตรกุศลเกิดและดับไป โลกุตตรวิบากเกิดสืบต่อทันที
แต่ว่าในขณะนี้ ซึ่งโลกุตตรจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต หรืออรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิตยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น อกาลิกธรรม คือ ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และสติสามารถระลึก ปัญญาสามารถพิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะนี้เอง จึงจะชื่อว่า ไม่ต้องอาศัยกาลเวลา คือ ไม่ต้องเลือกว่า ต้องเป็นตอนเช้า หรือ ตอนสาย หรือตอนบ่าย หรือตอนค่ำ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080