แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040


    ครั้งที่ ๑๐๔๐

    สาระสำคัญ

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา - ลักษณะของ “โสมนัสเวทนา”

    วิสุทธิมรรค ขันธนิทเทส ลักษณะของ “โสมนัสเวทนา”

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา - เหตุที่จะให้เกิดโสมนัสเวทนามี ๓ ประการ


    เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตที่เป็น โสมนสฺสสหคตํ ก็เพราะ ถึงภาวะมีการเกิดร่วมกัน ดับร่วมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกันกับโสมนัสเวทนา คือ การเสวยอารมณ์ที่แช่มชื่น อุปมาเหมือนน้ำหวาน

    วันหนึ่งๆ ดื่มน้ำหวานบ่อยไหม ขณะใดที่จิตใจรู้สึกสบาย แช่มชื่น ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นเพราะสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเสวยรสของอารมณ์ที่ปรากฏ และเป็นสุข สภาพธรรมนั้น คือ โสมนัสเวทนา ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย เพราะทั้งๆ ที่กำลังเป็นสุข โสมนัส เพียงแต่มีข่าวที่ทำให้ทุกขเวทนาเกิด โสมนัสเวทนาก็ไม่สามารถจะเกิดต่อไปได้ หรือแม้ทุกขเวทนาในวันหนึ่งๆ ซึ่ง บางท่านอาจจะกำลังเป็นทุกข์อย่างมาก แต่ถ้าบังเอิญมีข่าวดี ทำให้โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนานั้นก็ไม่สามารถจะเกิดได้ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้เวทนาก็เป็นเพียงชั่วขณะเล็กน้อยจริงๆ อาศัยเหตุปัจจัยของตนก็เกิดขึ้น เป็นโสมนัสเวทนา หรือโทมนัสเวทนา และก็ดับไป

    สำหรับลักษณะของโสมนัสเวทนา ใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีข้อความอธิบายว่า

    เพราะสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต ซึ่งเป็นเหตุให้จิตสบาย ไม่เป็นทุกข์ เป็นสุมนะ เพราะฉะนั้น สภาพความรู้สึกนั้นจึงชื่อว่า โสมนัส คำว่า โสมนัส นี้ เป็นชื่อแห่งสุขเวทนาทางใจ จิตที่เกิดกับโสมนัสเวทนานั้น หรือเกิดขึ้นพร้อมกันกับโสมนัสเวทนานั้น จึงชื่อว่า โสมนสฺสสหคตํ

    เวลาเรียนเรื่องของจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ก็ตาม จะปราศจากเวทนาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต ก็แสดงว่า เวทนาอะไรเกิดกับโลภมูลจิตประเภทนั้น ชนิดนั้น เวลาที่เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ แต่ละดวงๆ ก็จะทราบว่า จิตดวงนั้นๆ เกิดร่วมกับเวทนาอะไร ถ้าเกิดร่วมกับโสมนัสก็เป็น โสมนสฺสสหคตํ คือ เกิดขึ้นพร้อมกับโสมนัสเวทนา และถ้าขณะนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนานั้น ก็เป็น อุเปกฺขาสหคตํ

    จิตทุกดวงต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงให้รู้ว่าเป็นจิตที่ต่างกันโดยเวทนาต่างกัน เช่น ทางกาย เวลาที่กระทบกับอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ซึ่งทำให้เกิดทุกขเวทนา ในขณะนั้นจะไม่ใช้คำว่า โทมนสฺสหคตํ เพราะไม่ใช่ความรู้สึกทางใจ แต่ความรู้สึกนั้นเป็นทุกข์ทางกาย สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบกายที่เป็นทุกข์ ทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น เพราะฉะนั้น สำหรับกายวิญญาณเป็นจิตทางกายซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบกาย ขณะนั้นต้องเป็น ทุกฺขสหคตํ

    สำหรับจิตทุกดวงที่จะศึกษาต่อไป จะต้องทราบด้วยว่า จิตนั้นๆ เกิดกับเวทนาประเภทไหน

    ลักษณะของโสมนัสเวทนา ข้อความใน วิสุทธิมรรค ขันธนิทเทส มีว่า

    มีการเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนา เป็นลักษณะ

    มีการประจวบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นรสะ

    มีความแช่มชื่นทางใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีความสงบระงับ เป็นปทัฏฐาน

    สำหรับลักษณะของโสมนัสเวทนา จะเห็นได้ว่า มีการเสวยอารมณ์ที่ น่าปรารถนาเป็นลักษณะ อารมณ์ใดเป็นที่น่าปรารถนา ความรู้สึกในอารมณ์นั้นก็เป็นโสมนัสเวทนาในขณะนั้น

    มีการประจวบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นรสะ

    ไม่เตรียมตัวล่วงหน้าเลย ใช่ไหม ที่จะจัดให้เวทนาประเภทนั้นเกิดขึ้น แต่ทันทีที่ประจวบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยให้เวทนาที่เกิดรู้อารมณ์นั้นเป็นโสมนัสเวทนา ไม่ใช่เวทนาอื่น

    มีใครเตรียมตัวที่จะให้เวทนาชนิดไหนเกิดขึ้นได้ไหม คิดว่าถ้าทำอย่างนั้นอาจจะดี แต่ทำเสร็จแล้วไม่ดี เวทนาจะเป็นโสมนัสก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่หวังว่าเมื่อเสร็จแล้วโสมนัสเวทนาจะเกิด แต่ความจริงเมื่อเกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ไม่ใช่อารมณ์ที่น่าปรารถนา โสมนัสเวทนาก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เวทนาเจตสิกที่จะเป็นโสมนัสเวทนา ก็ต้องแล้วแต่ในขณะนั้นจริงๆ ที่จะประจวบกับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับเหตุที่จะให้เกิดโสมนัสเวทนา มี ๓ ประการ ตามข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าทุกท่านอยากจะให้มี โสมนัสเวทนาทั้งวัน บ่อยๆ มากๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องแล้วแต่ว่า จะมีเหตุให้เกิดโสมนัสเวทนาหรือไม่

    เหตุให้เกิดโสมนัสเวทนา คือ

    ๑. อิฏฺฐารมฺมณสมาโยโค ประจวบกับอารมณ์ที่ดีโดยสภาพบ้าง โดยปริกัปบ้าง

    โดยสภาพ หมายความถึงลักษณะของอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ หรือเป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ดียิ่งอย่างหนึ่ง หรือว่าเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาโดยปริกัป หมายความถึงโดยเฉพาะส่วนบุคคลแต่ละบุคคล ซึ่งสะสมความพอใจมาไม่เหมือนกัน เมื่อบุคคลใดได้ประสบกับอารมณ์ที่ตนพอใจ เพราะสะสมมาที่จะพอใจในอารมณ์นั้นอย่างนั้น ขณะนั้นโสมนัสเวทนาก็เกิด ในขณะที่คนอื่นไม่ได้สะสมมาที่จะมีความพอใจในลักษณะของอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น โสมนัสเวทนาก็ไม่เกิด

    ๒. โสมนสฺสปฏิสนฺธิกตา เพราะความที่สัตว์มีปฏิสนธิประกอบด้วยโสมนัส

    ปฏิสนธิจิตของบางท่านเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยรื่นเริงอยู่เสมอ บางคนอาจจะเป็นทุกข์เดือดร้อนมากมาย แต่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนา ก็ยังสามารถที่จะรื่นเริงสนุกสนานได้ แม้ว่ามีเหตุการณ์ที่จะทำให้บุคคลอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน

    ๓. อคมฺภีรปกติตา เพราะความที่จิตมีสภาพไม่ลึก ไม่สุขุมคัมภีร คือ ปกติมีความคิดตื้น

    นี่เป็นเหตุให้โสมนัสเวทนาเกิดบ่อย

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะเห็นครั้งหนึ่ง จิตก็คล้อยตามอารมณ์ไป เมื่อคล้อยตามอารมณ์ไปก็เป็นโลภะ หรือได้ยิน ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าอย่างนั้น จิตก็เป็นโลภะทั้งวันเลยใช่ไหม

    สุ. ถ้ากุศลจิตไม่เกิด จะเป็นจิตอะไร ถ้าไม่พูดถึงจิตเห็น จิตได้ยิน จิต ได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งกระทบสัมผัส และถ้าขณะนั้นความรู้สึกเป็นอุเบกขา ไม่ใช่ความรู้สึกโทมนัส เสียใจ หรือไม่แช่มชื่น ขณะนั้นจะเป็นจิตอะไร นี่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าสภาพธรรมเกิดอยู่เป็นประจำที่ตัวเอง ที่จิตของตัวเอง ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า จิตนั้นๆ เป็นจิตประเภทไหน จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล ถ้ากล่าวถึงจิตเฉพาะ ๒ ชาติ คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิต

    จะต้องทราบว่า ขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบ ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะไม่ใช่อกุศลจิตได้ไหม ในเมื่อไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ ถ้าไม่เป็นโลภมูลจิต ก็เป็นโทสมูลจิต หรือเป็นโมหมูลจิต

    . การเห็นในวันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การ ลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เวทนาก็เป็นอุเบกขาเป็นส่วนใหญ่ เห็นแล้วก็เฉยๆ ไม่รู้สึกว่ามีสุข หรือมีทุกข์ เฉยๆ ขณะที่เฉยๆ นี้ เวทนาเกิดกับโลภมูลจิตก็ได้ เกิดกับโมหมูลจิตก็ได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต มีลักษณะต่างกันอย่างไร

    สุ. โมหมูลจิตปราศจากโลภเจตสิกและโทสเจตสิก ไม่มีความชอบ ไม่มีความสนใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    . ที่เราเห็นเก้าอี้ ก็เห็นกันทุกวันๆ เป็นเก้าอี้ธรรมดา ไม่ได้วิเศษอะไร เราก็ไม่ได้ชอบ ไม่ได้เกลียด ขณะที่เห็นและรู้ว่าเป็นเก้าอี้ ขณะนั้นเป็นโลภะหรือโมหะ

    สุ. ควรจะเป็นอะไรในเมื่อสนใจเห็นเป็นเก้าอี้ เพราะจริงๆ แล้วทุกท่านไม่ได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ในขณะนี้เอง ในห้องนี้ เห็นทุกอย่างหรือเปล่า

    ซึ่งทุกท่านจะตอบไม่เหมือนกัน ใช่ไหม บางท่านอาจจะเห็นสิ่งนี้ บางท่านอาจจะเห็นสิ่งนั้น บางท่านอาจจะเห็นสิ่งอื่น เพราะในห้องนี้ถ้านับดูแล้วก็มากมายหลายอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านจะเห็นทั่วไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏทางตา ในโลกสว่าง

    ในขณะใดที่ไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่ในขณะใดที่รู้ ซึ่งจะบอกไม่ได้เลยว่าขณะนั้นมีความพอใจแล้ว เพราะเป็นความพอใจที่เล็กน้อยมาก ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความไม่แช่มชื่น สนใจในเก้าอี้ที่ปรากฏ บางท่านอาจจะเช็ด จะถู จะปัดฝุ่นละออง ในขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตหรือ ถ้าเห็นว่าสกปรก ก็อาจจะไม่แช่มชื่น เป็นโทสมูลจิต แต่ในที่นั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะเก้าอี้ตัวเดียว สิ่งอื่นๆ ก็มี ที่พื้นก็มีลาย มีอะไรหลายๆ อย่าง มีเศษกระดาษ มีอะไรก็ได้ เห็นหรือเปล่าทั้งๆ ที่ปรากฏ ถ้าปรากฏแต่ไม่รู้ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต และเมื่อรู้ ก็จะไม่พ้นจากโลภมูลจิต หรือ โทสมูลจิต

    ในห้องนอนมีอะไรบ้าง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างหรือเปล่า อาจจะมีรูปภาพเล็กๆ ซึ่งติดอยู่เป็นประจำ แต่เห็นหวี หรือว่าเห็นอย่างอื่นก็ได้ในขณะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ่น ทางกาย แต่ไม่รู้ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต และถ้าเกิดรู้ในขณะนั้น คือ มีความสนใจ ขณะนั้นก็จะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต

    . ส่วนใหญ่คนเราทำไปแล้ว บางครั้งก็ไม่ได้ใส่ใจ เช่น เราเดินขึ้นมาบนศาลานี้ ใครจะรู้บ้างว่า ก้าวขึ้นบันไดมากี่ขั้น ถ้าเดินขึ้นบันไดมาและไม่รู้ว่ากี่ขั้น ขณะนั้นเป็นโลภะหรือโมหะ

    สุ. รู้ว่าเป็นบันไดไหม เวลาก้าวขึ้น

    . รู้

    สุ. ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แต่ไม่ต้องนับ ไม่จำเป็นต้องนับ เวลานี้มีเก้าอี้ รู้แล้วว่าเป็นเก้าอี้ กี่ตัวต้องนับไหม

    . ไม่ได้นับ แต่รู้ว่าเป็นเก้าอี้

    สุ. ไม่จำเป็นต้องนับ แต่หมายความว่า มีความสนใจ มีความรู้ในขณะนั้น แต่ถ้าไม่รู้และสิ่งนั้นก็ปรากฏในขณะที่กำลังเดินไป เวลาที่ไม่รู้นั้นเป็นโมหมูลจิต เคยเผลอไหม

    . บ่อย

    สุ. ถ้าถามว่า เคยเผลอไหม ตอบได้ว่า บ่อย หมายความว่ารู้ลักษณะที่เผลอใช่ไหม ขณะนั้นจะเป็นจิตดวงไหน ไม่ใช่กุศลจิตแน่ที่เผลอ เพราะไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจึงเผลอ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศลจิต ขณะที่เผลอ รู้หรือไม่รู้ ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่โลภมูลจิต เป็นโมหมูลจิต คือ เผลอ เมื่อไม่รู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภมูลจิต

    . บางครั้งเราอยู่ในบริเวณที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ราบรื่น ลมเย็น มี น้ำราบเรียบ ขณะนั้นสดชื่นรื่นเริง อะไรที่ฟุ้งซ่านก็ไม่ปรากฏ ขณะนั้นบางทีก็รู้ว่า เป็นโลภมูลจิต แต่ขณะที่โลภมูลจิตเกิด เกิดกับโมหเจตสิกอะไร

    สุ. โมหเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ในอกุศลจิตทุกดวงต้องมี อกุศลเจตสิก ๔ ดวงเกิดร่วมด้วย คือ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก อุทธัจจเจตสิก ๔ ดวงนี้เรียกว่า โมจตุกะ

    . ขณะที่เป็นโลภมูลจิตก็มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่อุทธัจจะในขณะนั้นไม่ปรากฏ

    สุ. จิตดวงหนึ่งๆ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง ซึ่งโลภมูลจิต ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ แต่ไม่ใช่ว่าเจตสิกทุกดวงจะปรากฏสภาพของเจตสิกทั้งหมดพร้อมกัน แล้วแต่ว่าเจตสิกใดขณะนั้นเป็นมูลหรือเป็นเหตุสำคัญ

    และที่เป็นโลภมูลจิต ก็เพราะว่าถึงแม้โมหเจตสิกจะเกิดร่วมกับโลภมูลจิต เป็นมูลหนึ่ง แต่ในขณะนั้นไม่ได้มีแต่โมหเจตสิก ยังมีโลภเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ อยากได้ มีความต้องการ มีความติดข้อง มีความเพลิดเพลิน มีความพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นลักษณะของโลภเจตสิกปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะของอุทธัจจะ หรืออหิริกะ หรืออโนตตัปปะ หรือโมหเจตสิกปรากฏ

    แต่ในขณะใดที่มีความยินดีพอใจ เพลิดเพลิน ในขณะนั้นต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงยินดีพอใจในอารมณ์ที่เกิดดับ ในขณะนั้นต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะซึ่งเป็นสภาพที่ไม่สงบ เพราะถ้าสงบจะไม่ต้องการ หรือยินดี หรือปรารถนา หรือเพลิดเพลิน หรือพอใจในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ

    ลักษณะของความยินดี ปรารถนา พอใจ เกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านที่ไปสู่สถานที่ที่รื่นรมย์ จะเป็นป่าเขาลำเนาไพรที่ไหนก็ตาม และมีความพอใจในสถานที่เหล่านั้น ควรจะทราบว่า ที่กำลังพอใจ ในขณะนั้น จิตไม่สงบ เพราะว่าประกอบด้วยอุทธัจเจตสิก โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และโลภเจตสิกที่ทำให้ยินดีพอใจในสถานที่ที่รื่นรมย์นั้น ไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่สงบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๓๑ – ๑๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564