แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
ครั้งที่ ๑๐๔๔
สาระสำคัญ
เหตุของข้อประพฤติปฏิบัติให้เป็นพระอริยบุคคล
อัฏฐสาลินี - แสดงเหตุให้เกิดทิฏฐิคือ ความเห็นผิด
สตินี้ระลึกได้ ไม่ใช่เพียงขั้นคิด
ธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏในขณะนี้ (สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมทั้งสิ้น)
ฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังบุคคลอื่น
สงฺ.มหา.อาทิจจสูตร - ความเป็นผู้มีมิตรดี
การเป็นผู้ที่ไม่มีความเห็นผิด ต้องเป็นผู้ที่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลายด้วยปัญญา คือ ด้วยการรู้จริงๆ ว่า ข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะทำให้บรรลุคุณธรรม เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่เพียงกล่าวว่าคนหนึ่งคนใดเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่เข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็น พระอรหันต์ จะเชื่อได้อย่างไรว่าบุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือว่าแม้แต่ตัวท่านเอง ซึ่งเห็นเพียงวัณณะ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้ได้อย่างไรว่า บุคคลนั้นเป็น พระอรหันต์จริงหรือไม่
เพราะฉะนั้น การเป็นบุคคลที่อยากเห็นพระอริยะจริงๆ จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลนั้นสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล และเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล ก็อย่าเพิ่งอยากจะเห็นพระอริยเจ้า เพราะว่าไม่มีโอกาสจะเห็น และไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจได้ด้วยว่า การเป็นพระอริยบุคคลนั้นเป็นได้อย่างไร
ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า
อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง
คือ การไม่ศึกษาให้รู้ในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้พระอริยบุคคลได้ เป็นการไม่อยากเห็นพระอริยะ ซึ่งเป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าบุคคลนั้นๆ เป็นพระอรหันต์ โดยที่บุคคลนั้นไม่ใช่พระอรหันต์
สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ให้แยบคาย ให้ละเอียด ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ท่านเกี่ยวข้องเนื่องอยู่ในความเห็นผิดประการหนึ่งประการใดหรือไม่ ซึ่งความเห็นผิดนี้เป็นโทษ เป็นอันตรายมาก เพราะว่าไม่สามารถทำให้ดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้
ธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ต้องมีเหตุมีปัจจัย ด้วยเหตุนี้ แม้ทิฏฐิ ความเห็นผิด ก็ต้องมีเหตุให้เกิดขึ้น ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงเหตุให้เกิดทิฏฐิ ความเห็นผิด ว่า
พึงทราบการเกิดขึ้นแห่งความเห็นผิด กล่าวคือ ทิฏฐิคตะ นี้ ด้วยเหตุมีอาทิอย่างนี้ (อาทิ แปลว่า เป็นต้น คือ ยกเหตุประการสำคัญขึ้นกล่าว) คือ
อสทฺธมฺมสวนํ การฟังแต่อสัทธรรม
บางท่านอยากจะฟังธรรม แต่ธรรมที่ฟังเป็นอสัทธรรม ไม่ใช่เป็นธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง ที่จะต้องอาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย โดยรอบคอบจริงๆ
บางท่านกล่าวว่า ขอฟังธรรมสัก ๕ นาที ๑๐ นาที แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่เพื่อจะทรงแสดงธรรมเพียง ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที แต่ว่าทรงแสดงธรรมตลอด ๔๕ พรรษาจนกระทั่งถึงกาลใกล้ที่จะปรินิพพาน เพราะทรงเห็นว่า ธรรมจะเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว
เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ธรรมใดก็ตามที่ฟังเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน จะทำให้สามารถรู้ทั่วถึงในธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงแก่สัตว์โลกได้หรือไม่ ถ้าเพียงแต่จะฟัง ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที เท่านั้น
แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ทราบว่าต้องฟังตลอดชีวิต และไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ ก่อนการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล
บางท่านคิดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และกล่าวว่า เวลาที่สติเกิดระลึกขึ้นมา ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่คิดถึงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาในขณะนี้กำลังเห็น ระลึกได้ แต่ไม่ตรงลักษณะของสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นการนึกเรื่อง จักขุวิญญาณซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งก็ยังเป็นการดีที่เมื่อได้ฟังแล้ว ก็ไม่หลงลืมสติเสียทีเดียว ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดนึกถึงเรื่องของการเห็น เพียงแต่ว่าสติยังไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า กว่าจะฟังๆ และมีการเข้าใจๆ ไปเรื่อยๆ จนเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกได้ ไม่ใช่เพียงขั้นคิด แต่ระลึกได้ตรงลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องอาศัยกาลเวลาไม่ใช่น้อยเลย
สำหรับผู้ที่เพียงฟัง และระลึกได้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องเป็นหลังจากที่ฟังแล้วหลายหมื่นกัป พร้อมทั้งอบรม เจริญสติหลายหมื่นกัป จนมีปัจจัยพร้อมที่เมื่อเพียงได้ฟังเรื่องลักษณะของสติ ก็เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเข้าใจแจ่มแจ้งและระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีได้ และเมื่อได้อบรมในเวลาไม่นานนัก ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าขณะใดที่สติเกิด แต่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะท่านผู้นั้นเองบอกว่า ไม่มีลักษณะของธรรมปรากฏ เช่น ทางตา ระลึกได้ก็เป็นเรื่องของการเห็น ไม่ใช่รู้ว่า เป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจึงยังไม่ปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนคล่อง สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือ ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหนที่สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานก็ระลึกได้ตรงลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ซึ่งในขณะนั้นจะทราบได้ว่า เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติปัฏฐานและรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลาย จนรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นธรรมทั้งสิ้น ตรงกับพระพุทธวจนะที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเมื่อสติระลึก ก็ระลึกตรงลักษณะของธรรม รู้ในอาการที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นั่นคือผู้ที่ชำนาญ และรู้ว่า นอกจากธรรมแล้ว ไม่มีอะไร ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ลักษณะของธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ และเป็นธรรมจริงๆ คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นคือผู้ที่เข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาโดยถูกต้อง เพราะต้องเป็นธรรมทั้งหลายจริงๆ
แต่ตราบใดที่ยังไม่ใช่ธรรมทั้งหลาย บางกาลก็เป็นธรรม บางกาลก็ไม่ใช่ธรรม และเวลาที่สติระลึก บางครั้งก็ไม่ได้ระลึกตรงลักษณะที่จะรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะนั้นยังไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาจนรู้ว่า ธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏ
ในขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก และยังมีลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ หรือไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือมัจฉริยะ หรืออิสสา หรือสภาพธรรมใดๆ ก็ตามทั้งหมด ผู้ที่รู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะสติระลึกตรงลักษณะของธรรมจึงรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ และเป็นธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ต้องฟังต่อไปอีก และอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีก เพื่อที่จะรู้ว่า ข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้รู้ได้จริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ตามที่ พระอริยสาวกทั้งหลายท่านได้ตรัสรู้แล้ว เพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด และจะต้องทราบด้วยว่า แม้การฟังธรรม ก็ควรฟังธรรมที่เป็นสัทธรรม มิฉะนั้นแล้วจะเป็นไปกับความเห็นผิด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และการปฏิบัติผิดได้
ข้อความต่อไปใน อัฏฐสาลินี ซึ่งอธิบายเหตุให้เกิดทิฏฐิประการที ๑ มีว่า
อสทฺธมฺมสวนํ การฟังแต่อสัทธรรม
จริงอยู่ ความเห็นผิดนี้พึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟัง อันเว้นจากเข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสียแล้ว มุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมากซึ่งอสัทธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยวาทะ คือ ทิฏฐิเหล่านี้
แม้แต่การที่จะฟังธรรม ก็ควรที่จะทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสียแล้ว มุ่งจะนับถือเป็นอย่างมากซึ่งอสัทธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยวาทะ หรือเปล่า เวลาฟังธรรม ต้องฟังจริงๆ คือ ฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังบุคคลว่า บุคคล ผู้กล่าวธรรมนั้นเป็นใคร เพราะถ้าฟังบุคคล ในขณะนั้นเป็นผู้ที่ มุ่งจะนับถือเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ ก้าวล่วงความเป็นกลาง หมายความว่าขาดการพิจารณาโดยเที่ยงตรงจริงๆ ว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นประกอบด้วยเหตุผลสมบูรณ์ถูกต้องหรือว่ายังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมด้วยความรอบคอบ ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่มุ่งที่จะนับถืออสัทธรรมทั้งหลาย เป็นสิ่งที่สำคัญ
เหตุประการที่ ๒ คือ
อกลฺยาณมิตฺตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
เหตุประการที่ ๒ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงแสดงไว้ในมงคลสูตรข้อที่ ๑ คือ การไม่คบคนพาล เป็นมงคลอันสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของมิตรว่า ถ้ามีคนชั่วหรือคนที่เห็นผิดเป็นมิตร ย่อมคล้อยตามความเห็นนั้นๆ ได้ เพราะว่าเพื่อนที่เห็นผิดจะชักชวนให้ฟังในเรื่องที่ผิด และชักชวนไปสู่สถานที่ที่มีความเห็นผิด การปฏิบัติผิด ซึ่งบางท่านก็แล้วแต่เพื่อนฝูงจะพาไป แม้แต่ในที่ๆ มีความเห็นผิด เหมือนกับว่าเป็นผู้ที่ติดในหมู่คณะและในสำนัก
แต่อย่าลืม ถ้าเกิดเพลี่ยงพล้ำ ไม่พิจารณาธรรมโดยรอบคอบ ก็อาจจะค่อยๆ คล้อยตามความเห็นนั้นไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่รู้สึกตัว
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง และต้อง เห็นโทษของการเป็นผู้มีมิตรชั่ว คือ เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อาทิจจสูตร ข้อ ๕๑๖ มีข้อความว่า
สาวัตถีนิทาน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗
ถ. โพชฌงค์ ๗ หมายถึงอะไร
สุ. โพชฌงค์ หมายถึงธรรมซึ่งเป็นองค์ทำให้ตรัสรู้ มีสติ และองค์ธรรม อื่นๆ กุศลเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ของการตรัสรู้
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องเลือกผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร คือ ผู้ที่เป็นมิตรดี คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม
ถ. ข้อนี้เกี่ยวกับบารมีในอดีตที่สั่งสมมา ในเวลานี้ที่กรุงเทพมีข้อปฏิบัติที่ผิดจากมรรคมีองค์ ๘ แต่คิดว่าเป็นมรรคมีองค์ ๘ มากมายหลายสำนัก เป็นที่นับถือของคนทั้งหลายด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติต่างๆ ในกรุงเทพ เขาก็พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นถูก ถ้าเขาไม่ได้พิจารณา เขาก็คงไม่เข้าไปปฏิบัติ และเมื่อเขาปฏิบัติแล้ว ก็ได้ผลต่างๆ นานา เห็นโน่น เห็นนี่ เพราะฉะนั้น การที่จะคบกัลยาณมิตร ถ้าอุปนิสัยในอดีตไม่ได้สั่งสมมาอย่างถูกต้อง ก็เป็นการยากเหมือนกัน
สุ. แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟัง หรือว่ามีโอกาสที่จะเกื้อกูลกันด้วยการสนทนา ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่า ลึกลงไปของการสะสมของบุคคลนั้น จะมีเชื้อไฟของปัญญาพอที่จะเป็นแสงไฟขึ้นมาได้อีกหรือเปล่า
ถ. ยากมาก ส่วนใหญ่เขาปฏิบัติแล้ว เห็นโน่น เห็นนี่ เขาคิดว่าได้ผล จะเอาข้อปฏิบัติที่ถูกไปให้เขา เขามักจะท้วงว่า ข้อปฏิบัติของเขาดีกว่า ถูกต้องกว่า
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับเหตุที่จะให้เกิดทิฏฐิประการที่ ๓ คือ
อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น
แสดงว่า เป็นผู้ที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะจริงๆ เพราะไม่พิจารณาหนทางที่จะทำให้เห็นพระอริยบุคคล ไม่รู้ว่าพระอริยบุคคลนั้นเจริญปัญญาอย่างไร ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายว่า
ด้วยความเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายและสัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ด้วยความเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็น สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ด้วยความขาดวินัย กล่าวคือ ความแตกแห่งสังวรในธรรมของพระอริยะ อันมีประเภทเป็นปาติโมกขสังวร อินทริยสังวร สติสังวร ญาณสังวร และปหานสังวร ในธรรมของสัตบุรุษ
เพียง ๕ นาที เข้าใจไม่ได้แน่ ในการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ คือ จะต้องรู้ว่า ธรรมใดเป็นธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จะต้องเข้าใจเรื่องของ สติปัฏฐานว่า คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เคยยึดถือว่า เป็นกายของเรา หรือว่าเป็นตัวเรา เป็นเวทนา ความรู้สึกของเรา เป็นจิตของเรา เป็นธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งถ้าไม่ฟังมากๆ ไม่พิจารณาจริงๆ แม้ในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ การประพฤติปฏิบัติย่อมผิด เพราะอาจจะเข้าใจว่า ไม่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา
การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เป็น พระอริยบุคคล ไม่ใช่ทางที่จะทำให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๐๔๑ – ๑๐๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080