แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
ครั้งที่ ๑๐๕๓
สาระสำคัญ
มงคลตื่นข่าว
เรื่องกรรมของตน
โลภมูลจิต ๘ ดวง
ถ. ก็ยังอยู่ตามเดิม ถ้าพูดตามเดิม อาตมาเข้าใจว่า เพราะไม่มีตัวบังคับจึงเรียกว่า บังคับไม่ได้ ทีแรกนั้นแปลว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนจะมีอะไรไปบังคับ มีตัวที่ไหนไปบังคับ ถ้าอย่างนั้น คำว่า บังคับไม่ได้ เป็นคำที่ไม่แน่นอน คำที่แน่นอน คือ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เพราะอะไร เพราะไม่มีตัว ไม่มีตน ธรรมทั้งหลาย สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน แต่มีสภาพตามความเป็นจริง เป็นวิสังขารธรรมก็มี เป็นสังขารธรรมก็มี ต้องมีทั้ง ๒ ประเภท แต่ไม่มีตัวตนอยู่ในสังขารหรือวิสังขารเลย เอาตัวตนไปเติม ไปสมมติเพื่อจะพูดให้รู้เรื่องกันเท่านั้น ไม่มีตัวไม่มีตนนี่เฉพาะผู้ที่ได้พิจารณาเฉพาะตน พิจารณาให้เห็นรูปอย่างนั้น เวทนาอย่างนั้น สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนั้น
สุ. ก็ดีที่ท่านกล่าวถึงพิจารณารูป เพราะว่ากำลังปรากฏทางตาก็ควรแก่การที่จะพิจารณา เสียงที่กำลังปรากฏทางหูก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงการพิจารณารูป ก็เป็นการดีที่จะได้พิจารณาจนเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นในรูปที่ปรากฏทางหูด้วย ถูกไหมเจ้าคะ กลิ่นก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณารูป ก็เป็นการดีที่จะพิจารณากลิ่นที่ปรากฏที่จมูก เพราะกลิ่นก็เป็นรูป
ถ. พิจารณาในรูปเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เอาใจกับเอาธรรมมาเป็นอารมณ์มันต่างกัน สมมติว่าเราเอาราคะมาพิจารณา อย่างไรจึงจะเรียกว่า ราคะ โทสะอย่างไร มาจากเหตุอะไรจึงเกิดโทสะ รู้เหตุรู้ผลอย่างนี้เรียกว่า ธัมมานุปัสสนา แต่เวลาที่ใจเรากำลังพิจารณา ขณะนั้นที่ใจกำลังเป็นอยู่ เห็นรูปสวยงาม กำหนัดยินดีเกิดขึ้นประกอบด้วยจิตนี้ ฉันให้เอาจิตนี้มาเป็นอารมณ์ ฉันไม่ให้เอาธรรมมาเป็นอารมณ์ นี่ตามความเข้าใจของหลวงพ่อนะ แต่อาจารย์เข้าใจอย่างไรก็ช่าง
สุ. ไม่รับฟังความเห็นของดิฉัน ดิฉันจะคิดอย่างไรก็ช่าง
ถ. เรื่องความเห็น อาจารย์คิด อาตมาคิด ต่างคนต่างเข้าใจ ที่พูดกันนี่เพื่ออะไร เพื่อเอาทั้ง ๒ ประเภทไปพิจารณากัน ผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็เอาไปพิจารณา ตรงไหนผิดก็ตัดทิ้งไป ตรงไหนถูกก็เอาไป เพราะคนทุกวันนี้อธิบายธรรมต่างคนต่างอธิบายไป แต่ที่อาจารย์พูดนั้นมากไป อาตมาก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ตามที่อาตมาเข้าใจ ไม่เหมือนกับที่อาจารย์พูดหรอก
สุ. ถ้ามากไป แต่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. เรื่องนี้อาตมาไม่อยากจะยืดยาวไปอย่างนั้น อยากจะพูดสั้นๆ เพราะ เราเคยจำกฎเกณฑ์มาได้บ้างแล้ว ที่มาปรึกษากันนี้เพื่อหาความเท็จจริง ผิดถูก เท่านั้นเอง ไม่ใช่เพื่อไปจำ จะไปจำทำไมอีก จำมาแล้ว
ถ ผมยังสงสัยเรื่องของมงคลตื่นข่าวที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า พุทธบริษัททั้งหลายให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ อย่าถือมงคลตื่นข่าว แต่บุคคลบางคน ถ้ากำลังมีความเจ็บปวด มีโรคเบียดเบียนอย่างหนัก ถ้าไม่ไปหาเจ้าเข้าทรง จะถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะในขณะที่เจ็บปวดนั้น จะถืออย่างไร
สุ. รู้ว่าเป็นกรรมของตนหรือเปล่า และก็รักษาตามปกติธรรมดา
ถ. รักษาแล้วก็ยังไม่หาย
สุ. คิดว่าจะหายด้วยการไปให้เจ้ารักษาหรือ
ถ. ใช่
สุ. ถ้าเกิดหาย เป็นเพราะเจ้า หรือเป็นเพราะกรรมของตน เพราะฉะนั้น การที่จะไม่รู้ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาแสดงธรรมทุกประการที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ โดยเหตุและโดยผล เช่น เรื่องกรรมของตน เป็นสิ่งที่มีจริง รู้ได้ ว่าเป็นเพราะกรรมของตนแน่นอน
ถ. ถ้าพูดเรื่องกรรมของตน คนไข้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ๓ บุคคล คนไข้บางคนรักษาก็หายไม่รักษาก็หาย คนไข้บางคนรักษาก็ตายไม่รักษาก็ตาย คนไข้บางคนรักษาแล้วจึงจะหายถ้าไม่รักษาแล้วตาย เพราะฉะนั้น การเข้าหาเจ้าก็ดี เข้าหาการเข้าทรงต่างๆ ก็ดี ก็เป็นวิธีการรักษาประการหนึ่ง
สุ. เจ้าที่เข้าทรง จะบอกยาให้ใช่ไหม
ถ. บางทีก็บอกยาให้ บางทีก็เอาน้ำมนต์ หรือเอาอะไรให้ แต่ละสำนัก ไม่เหมือนกัน
สุ. เพราะฉะนั้น ขอให้ทราบว่า เจ้าผู้ที่เข้าทรงก็จะต้องมีความรู้เรื่องยา เวลานี้หลายท่านก็สนใจในเรื่องสมุนไพร ถึงแม้จะไม่ใช่เจ้าก็พอจะทราบได้ว่า พืชพันธุ์ชนิดไหนเป็นประโยชน์สำหรับโรคภัยชนิดไหน และถ้าจะมีการเข้าทรง ผู้ที่เข้าทรงก็ย่อมมีความรู้เรื่องยารักษาโรคบ้าง เป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะฉะนั้น การที่จะหาย ก็ควรที่จะพิจารณาว่า เพราะเหตุอะไร และควรที่จะศึกษาโดยกว้างขวาง
เช่น ได้ทราบข่าวว่า ที่ต่างประเทศมีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งใช้กำลังจิตฝึกหัดจนกระทั่งสามารถเพียงใช้มือแตะคนที่มาหา ก็สามารถที่จะรักษาโรคของคนนั้นได้ แต่เขาก็ไม่ได้อ้างว่าเป็นเจ้า ซึ่งถ้าใครจะอ้างว่าเป็นเจ้า ก็อาจจะมีคนเชื่อว่า มีเจ้ามาเข้าผู้หญิงคนนี้ แต่ผู้หญิงคนนี้เป็นผู้ที่เปิดเผยตามความเป็นจริงว่า อาศัยกำลังจิต อาศัยสมาธิซึ่งฝึกหัดจนกระทั่งสามารถที่จะรักษาโรคได้ เพียงใช้มือแตะ
เพราะฉะนั้น การที่จะหายด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ควรพิจารณาว่า เหตุอะไรเป็นเหตุที่แท้จริง และถ้าหายแล้วก็ควรที่จะได้ทราบว่า หายเพราะเหตุใด ไม่ใช่ยังสงสัยว่า เป็นเจ้า หรือไม่ใช่เจ้า เพราะแม้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้า ก็มีความรู้ในเรื่องสมุนไพรต่างๆ ได้ หรือว่าในเรื่องกำลังของสมาธิ ซึ่งอาจจะฝึกอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรักษาโรคได้ โดยไม่ต้องอ้างว่าเป็นเจ้า
ถ. วิธีที่อาจารย์กล่าวนั้น ประเทศไทยก็มีมาก บางสำนักเขาใช้อำนาจจิต และใช้มือแตะก็มี ใช้เทียนจี้ก็มี อะไรต่างๆ อย่างนี้ ถ้าใช้เทียนจี้แล้ว โรคอะไรเขาก็สามารถจะรู้ได้ และภายหลังก็สามารถจะรักษาหายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปรักษาด้วยกำลังจิตก็ดี ใช้เทียนจี้ก็ดี และหายโรค จะถือว่าเป็นมงคลตื่นข่าวหรือไม่
สุ. ถ้าเป็นผู้รู้เหตุว่าหายเพราะเหตุอะไร ก็ไม่ใช่มงคลตื่นข่าว แต่ถ้าไม่รู้ สงสัย ไม่แน่ใจ และเชื่อว่าต้องเป็นเจ้าทั้งๆ ที่มองไม่เห็น และยังมีความผูกพันด้วย เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ไปหาเจ้าเข้าทรงก็เพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ใช่เรื่องรักษาโรค ก็เป็นเรื่องลาภ สักการะ ยศ คดีความต่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องละ แต่เป็นเรื่องติด และยังไม่เข้าใจในเหตุผลอันแท้จริงว่า ผู้อื่นสามารถจะดลบันดาลได้จริงๆ หรือเปล่า
เชื่อแน่หรือว่า ผู้อื่นสามารถที่จะดลบันดาลได้จริงๆ หรือว่าเป็นเพราะ ผลของกรรมของตนเอง
ถ. บุคคลที่เป็นหนี้เขามากมาย และกำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย ขณะนั้นถ้าจะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จะต้องปฏิบัติอย่างไร
สุ. ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ไปขอพระรัตนตรัยให้ช่วย เพราะว่าเวลาที่อยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดวิธีที่ง่ายที่สุดมักจะคิดว่า ด้วยการขอ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็มักจะขอสิ่งนั้น โดยลืมว่าการมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือ มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ โดยเชื่อในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงธรรม เพราะได้ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง นี่เป็นที่พึ่งจริงๆ ที่จะให้พ้นทุกข์ โดยการที่ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้น จนสามารถเข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และมีความมั่นคงในการที่จะประพฤติปฏิบัติตาม นี่จึงจะเป็นที่พึ่งจริงๆ แต่ไม่ใช่พึ่งชั่วคราว พึ่งประเดี๋ยวเดียว คือ โดยการขอ ซึ่งไม่มีเหตุผล ไม่ได้มีเหตุ ไม่ได้กระทำเหตุด้วยตนเองที่จะให้ได้รับผลนั้นด้วยตนเอง
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมต้องละเอียด แม้แต่การที่จะพึ่งพระธรรม ก็คือ ด้วยการศึกษาจนกระทั่งมีความเข้าใจในพระธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ลึกซึ้งละเอียดขึ้น เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตามจนสามารถที่จะบรรลุความเป็นพระอริยสงฆ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่ว่ามีพระอริยเจ้าเป็นที่พึ่ง เป็นที่เคารพ เป็นที่สักการะ เป็นสรณะ แต่ตนเองไม่ประพฤติปฏิบัติตามเพื่อให้ถึงความเป็นพระอริยเจ้าด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น
ถ. ผู้ที่เป็นหนี้เขามากมาย ก็ต้องการหาเงินมาใช้หนี้ด้วยทางใดทางหนึ่ง ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เงินทองที่จะหามาใช้ก็ไม่มี แต่ถ้าเขาไปหาเจ้า หาหลวงพ่อ บางทีหลวงพ่อให้หวยไปแทงแล้วถูก เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้นมองไม่เห็น แต่ไปหาเจ้าหรือหาหลวงพ่อให้หวย ไปแทงหวยแล้วถูก นี่มองเห็น เพราะฉะนั้น พึ่งหลวงพ่อดีกว่าพึ่งพระรัตนตรัย
สุ. ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นผิด เพราะการมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้กระทำอะไรเลย แต่ไม่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ คือ เมื่อเหตุที่ดีมี ผลที่ดีย่อมเกิดขึ้น แต่รู้สึกว่าจะมั่นใจยาก ใช่ไหม หาทางลัด หรือทางขอ หรือทางช่วย หรือทางอื่น คิดว่าคงจะสะดวกดี แต่นั่นไม่ใช่เหตุ เพราะอกุศลจิตหรืออกุศลกรรมไม่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก
เวลาที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความต้องการ ด้วยความปรารถนา ด้วยความอยากได้ และได้รับความสำเร็จ ความสำเร็จนั้นไม่ใช่เพราะอกุศลจิต แต่วิบากที่เป็นกุศลวิบากทั้งหมด เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่เป็นผลของโลภมูลจิตที่ปรารถนา ที่ต้องการ ที่อยากได้ในขณะที่กระทำนั้น เพราะฉะนั้น ต้องแยกเหตุกับผลให้ตรงจริงๆ จึงจะเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุ คือ การอบรมเจริญกุศล ซึ่งไม่ใช่โลภะที่จะนำมาซึ่งกุศลวิบาก
เวลาที่ท่านผู้ฟังซื้อลอตเตอรี่และก็ถูกลอตเตอรี่ เวลาถูกเป็นผลของอะไร เวลาซื้อเป็นอกุศลจิต ปรารถนาอยากจะถูก แต่ขณะที่ได้รับรางวัลต้องเป็นผลของกุศล ไม่ใช่เป็นผลของอกุศลจิตที่ปรารถนา มิฉะนั้นทุกคนที่ซื้อต้องถูกหมด ใช่ไหม เพราะทุกคนก็อยากถูกลอตเตอรี่ แต่ทั้งๆ ที่มีโลภมูลจิตกันทุกคน ซื้อลอตเตอรี่กันทุกคน ก็ไม่ใช่ว่าการถูกลอตเตอรี่นั้นจะเป็นผลของโลภมูลจิตที่ต้องการถูก แต่การถูกนั้นต้องเป็นผลของกุศลวิบาก และคนที่ถูกลอตเตอรี่โดยไม่ได้ไปหาหลวงพ่อมีมากไหม หรือว่าต้องไปหาหลวงพ่อทุกคนจึงจะถูก
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ไปหาหลวงพ่อแต่ถูกลอตเตอรี่ ก็ทราบได้ว่า เป็นผลของกรรมของตนที่ได้กระทำกุศลไว้ในอดีต แต่คนที่ไปหาหลวงพ่อ แทนที่จะเชื่อเรื่องกรรมของตน กลับกลายเป็นว่าเพราะหลวงพ่อ ไม่ใช่เพราะกรรมของตน
ควรที่จะพิจารณาให้ละเอียดว่า ผลทั้งหลายมาจากเหตุอะไร เพื่อจะได้มั่นคงขึ้นในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ได้ยึดถือธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง
เรื่องของการติด หรือยึดถือมงคลตื่นข่าว เป็นเรื่องง่าย และมีมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรที่จะพิจารณาว่า ถ้าจิตใจอ่อนแอ หวั่นไหว ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความทุกข์ยากลำบาก ความเดือดร้อน ปัญหานานาประการ ประกอบกับเป็นผู้ที่ ไม่มั่นคง ก็จะทำให้ง่ายต่อการเป็นผู้ที่ยึดถือมงคลตื่นข่าว โดยไม่คิดว่าเป็นโทษ และจะเพิ่มความยึดถือมงคลตื่นข่าวทีละเล็กทีละน้อยๆ จนในที่สุดก็ไม่สนใจในเหตุผล หรือในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งแทนที่จะศึกษาพระธรรมและยึดมั่นในเหตุผล ก็จะเป็นผู้ที่ขวนขวายในการที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว เพราะเมื่อยึดถือมงคลตื่นข่าวแล้ว ต้องมีการขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความยึดถือนั้น จะไม่อยู่เฉยๆ แน่ ใช่ไหม และจะไม่ศึกษาธรรมด้วย เพราะเมื่อยึดถือในมงคลตื่นข่าวแล้ว ก็ย่อมจะขวนขวายกระทำตามมงคลตื่นข่าว
อย่างการไปหาเจ้า ก็ต้องเดินทางไป และต้องเสียเวลานานพอสมควร และเวลาที่เจ้าให้เลขลอตเตอรี่ ที่ไม่ถูกมีไหม ก็มี ถ้าเช่นนั้นทำไมเชื่อว่าถูกเพราะเจ้าให้ เวลาที่ไม่ถูกลอตเตอรี่ไม่พูดถึง แต่เวลาที่ถูกกลับคิดว่าเป็นเพราะเจ้าให้ ก็ไม่มีเหตุผล เพราะว่าคนถูกลอตเตอรี่โดยที่ไม่ได้ขอจากเจ้าก็มี
ยังมีอะไรที่เป็นมงคลตื่นข่าวอีกไหมที่จะต้องทิ้งจริงๆ เพราะถ้าจิตใจยังอ่อนไหวที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว จะไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในการเชื่อกรรมของตน
เรื่องของความคิดเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่วิจิตรมาก เพราะว่าความคิดแต่ละขณะจิตเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งทำให้เป็นผู้ที่มีเหตุผลยิ่งขึ้น มั่นคงขึ้น หรือว่าเป็นผู้ที่ลดน้อยลงในเรื่องเหตุผลทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกระทั่งนอกจากจะเป็น ผู้ที่ยึดถือมงคลตื่นข่าวแล้ว ในที่สุดจะกลายเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดจากเหตุผล จนกระทั่งไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า เหตุผลเป็นอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ โลภมูลจิต ๘ ดวง ดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด อสงฺขาริกํ เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง จึงต่างกับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นโสมนสฺสสหคตํ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่เป็น สสงฺขาริกํ คือ เกิดโดยอาศัยการชักจูง
แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของจิตแต่ละขณะซึ่งวิจิตรมาก เวลาที่เกิดความเห็นผิดขึ้น ยังจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท สำหรับโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและเกิดร่วมกับความเห็นผิด คือ เป็นประเภทที่มีกำลังกล้า เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูงประเภทหนึ่ง และต้องอาศัยการชักจูงจึงจะเกิดขึ้นอีก ประเภทหนึ่ง
เป็นความละเอียดจริงๆ ของจิต ซึ่งสามารถจำแนกออกได้จากชีวิตประจำวันในทุกๆ ขณะที่คิดเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ค่อยๆ ปรุงแต่งจนถึงขณะที่เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ที่เป็นอสังขาริก หรือว่าเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นสสังขาริก แม้ว่าจะเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและเกิดพร้อมกับความเห็นผิดเหมือนกันด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๕๑ – ๑๐๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080