แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
ครั้งที่ ๑๐๒๔
สาระสำคัญ
สงฺ.สฬ.เสยยสูตร - สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
รู้จักโลกตามความเป็นจริง โดยปรมัตถธรรม
ผีคืออะไร
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมี เพราะยึดมั่นจักษุ ถือมั่นจักษุ จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ฯลฯ
วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า เรื่องตาเคยพูดกันบ้างไหม ตาใครดีกว่าตาใคร ใครเห็นดีกว่าใคร ชัดเจนกว่า หรือว่าตาใครเสื่อมมากกว่าตาใคร หรือว่าตาใครเป็นโรคภัยต่างๆ หรือว่าตาใครมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ดี
ถ้าไม่มีตา จะพูดเรื่องตาในลักษณะที่ว่า ประเสริฐกว่า เสมอกัน หรือว่า เลวกว่าได้ไหม ก็ไม่ได้ และย่อมจะไม่พ้นจากเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า
เมื่อใจมี เพราะยึดมั่นใจ ถือมั่นใจ จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ยึดมั่นสิ่งนั้นแล้ว จะพึงมีความสำคัญตนว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา บ้างหรือหนอ ฯ
ภิกษุกราบทูลว่า
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามต่อไปจนกระทั่งถึงใจ ซึ่งก็ไม่เที่ยง ตอนท้ายของพระสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ฯลฯ ทั้งในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
จบ สูตรที่ ๕
เพราะฉะนั้น ทุกข์ไม่ใช่อื่น ต้องเป็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้
ถ. เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นโลก และตา หู จมูก ลิ้น กายนี้เป็นทุกขสัจ ทุกขสัจพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรกำหนดรู้ แต่ว่าอจินไตยมีอยู่ ข้อหนึ่งที่ว่า เรื่องของโลกนี้ไม่ควรคิด ถ้าใครคิดจะเป็นบ้า จะไม่ขัดกันหรือ
สุ. คิดเรื่องโลก ไม่ใช่รู้ลักษณะของโลกที่กำลังเกิดดับ คิดว่าโลกมีตั้งแต่เมื่อไร นั่งคิดไป พยายามค้นหาว่าโลกเกิดตั้งแต่เมื่อไร โลกจะแตกทำลายไปเมื่อไร จะได้ประโยชน์อะไร ในเมื่อไม่ได้รู้ลักษณะของโลกที่ปรากฏเพราะเห็นทางตา นี่คือโลกที่จะต้องรู้ ในขณะที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนี้ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ จะมีโลกไหนๆ ไหม แต่พอเห็นเท่านั้น มีโลกทางตาปรากฏ เป็นโลกที่กว้างใหญ่ เป็นเรื่องโลกที่ปรากฏ แต่ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของโลก
ถึงแม้ว่าจะอยู่ในโลกมานานหลายปี แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ชื่อว่ารู้จักโลก ทั้งๆ ที่ยังคงอยู่ในโลก แต่อยู่ด้วยความไม่รู้จักโลก และก็มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง วนเวียนไป เมื่อยังไม่รู้จักโลก ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากโลก ก็ยังจะต้องเป็นสุข เป็นทุกข์ไปเรื่อยๆ และในวันหนึ่งๆ ในกาลสมัยต่อไปก็เข้าใจว่า ทุกข์มากกว่าสุข แต่ก็หนีไม่พ้น ต่อให้ทุกข์ยิ่งกว่านี้ก็ ไม่พ้นจากโลก ตราบใดที่ยังไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดเรื่องโลก แต่ว่า เป็นการรู้ลักษณะของโลกแท้ๆ ที่กำลังปรากฏ
ก่อนอื่นต้องทราบว่า ไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง กำลังอยู่ในโลกซึ่งไม่ใช่โลกตามความเป็นจริง ตราบใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าสภาพนั้นๆ จะปรากฏโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ. หมายความว่า เรื่องของโลกนี้รู้ได้ แต่คิดไม่ได้ อย่างนั้นหรือ
สุ. คิดว่าโลกเกิดมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่ใช่รู้ลักษณะของโลกที่กำลังปรากฏ โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย โลกทางใจ จะต้องแยกโลกออกเป็นโลกแต่ละขณะจึงจะประจักษ์ว่า โลกจริงๆ นั้นคืออย่างไร
ถ้ายังรวมโลกทั้ง ๖ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่ได้รู้จักโลกตามความเป็นจริง และเมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป จึงปรากฏเป็นสัณฐานต่างๆ และยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ถ้าเกิดและดับทีละขณะไม่ต่อกัน ก็จะไม่สามารถปรากฏสัณฐานเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้
ตอนเป็นเด็ก ทุกท่านคงจะเคยมองดูท้องฟ้า และเห็นเมฆเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เกิดจินตนาการว่า เป็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ชั่วครู่เดียวก็หายไปหมด เพราะไม่ใช่ของจริง เป็นแต่เพียงปรากฏสัณฐานทำให้คิดนึกว่าเป็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ฉันใด ไม่ต้องเป็นเมฆในท้องฟ้า แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปทีละขณะอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ยึดถืออาการสัณฐานซึ่งสืบต่อ เพราะฉะนั้น จึงเป็นโลกของความฝัน ของการไม่รู้ลักษณะของโลกซึ่งเกิดดับจริงๆ
โลกไหนจริง ตอนนี้ โลกของรูปร่างสัณฐาน วัตถุสิ่งต่างๆ หรือว่าโลกที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่ได้ยินเสียง โลกทางตาปรากฏไม่ได้ นี่จึงจะเป็นความจริง แต่ถ้าตราบใดยังเห็นและได้ยินด้วย โลกยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อโลกทางตากับโลกทางหูยังไม่ได้แยกขาดจากกัน
สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็ย่อมจะสืบต่อไปถึงมโนทวาร ซึ่งจำสิ่งที่ปรากฏทางตา และตรึกนึกถึงสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ หลังจากนั้นก็ยังนึกถึงชื่อ นึกถึงคำ ต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้ลักษณะของโลกตามความเป็นจริงได้โดยง่าย แต่เมื่อได้ศึกษาก็เริ่มเข้าใจ พร้อมกันนั้นก็มีหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของโลกที่กำลังปรากฏทีละโลกตามความเป็นจริงได้
ถ. ....ผีมีไหม
สุ. โดยปรมัตถธรรม ผีคืออะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยปรมัตถธรรมผีคืออะไร ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป
โดยปรมัตถธรรมเทพคืออะไร ก็จิต เจตสิก รูป เทพมีใช่ไหม เมื่อมี จิต เจตสิก รูปประเภทนั้นๆ ก็บัญญัติว่า เป็นเทพ
ถ. ผมยังข้องใจเรื่องผีเข้าพระ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงห้าม ไม่ให้มีการสวดปาติโมกข์ ที่ว่าผีเข้า อาจารย์อธิบายว่า มีจิต เจตสิก รูป ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธเรื่องผี
สุ. ทรงแสดงเรื่องของโลกโดยกว้างขวาง ทรงแสดงกำเนิดต่างๆ ภพภูมิต่างๆ ไว้โดยละเอียด
ถ. ถ้าแสดงอย่างนี้ แปลว่า รับรองว่าผีมีจริง
ส. จะให้รับรองว่า ผีเข้าด้วยใช่ไหม ในเมื่อผีมีจริง แต่อย่าลืมว่า ต้องเป็นผู้มีเหตุผล จิตของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้น คำว่า เข้า หรือคำว่า สิง จะมีความหมายว่าอย่างไร จะเป็นไปได้อย่างไร จิตของคนนั้นก็ยังอยู่ ยังเกิดดับอยู่ ยังไม่ตาย ใครก็ตามที่ยังไม่ตาย จะเอาจิตไปทิ้งที่อื่นไม่ได้ จะต้องมีจิตเกิดดับอยู่ในรูปร่างกายของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ที่ว่าสิง โดยอาการอย่างไร
ถ. เท่าที่เห็น มีคนขึ้นไปกล่าวคาถา สักครู่ก็มีอาการแน่นิ่ง มีผู้เข้ามาพูดกับผู้เข้าทรง และผู้ที่เข้าไปจะถามเรื่องอะไรก็ได้ อาจจะถามเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเรื่องอาการป่วยไข้จะมีวิธีรักษาอย่างไร
สุ. ได้ทราบจากผู้ที่ใกล้ชิดท่านหนึ่ง ท่านไปตามสำนักต่างๆ ในตอนต้นก็รู้สึกว่าเลื่อมใสมากในการที่มีเทพมาเข้าสิง และมาพูดเรื่องราวต่างๆ หลายๆ ครั้งเข้าลองพูดเรื่องของคนๆ นั้น ในขณะที่เทพกำลังสิง ก็ตอบได้ ถามเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ที่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลนั้น ซึ่งคนนั้นก็ลืมไปว่า เทพกำลังเข้าสิง ความจริงควรจะเป็นคนละเรื่อง แต่ก็ตอบได้ ก็ลองดู มีวิธีที่จะพิสูจน์หลายๆ อย่าง เพราะเมื่อคิดแล้ว อยู่คนละภพ คนละภูมิ
ถ. นี่ก็เป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน มาเจอกันได้อย่างไร
สุ. แต่แท้ที่จริงควรที่จะได้ทราบว่า เทพท่านอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่น่าที่จะมาสนใจใยดีเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ภูมิของใครก็ของคนนั้น
ถ. ปัญหาที่ท่านอาจารย์พูดก็ถูกหลักทุกประการ ภพใคร ใครก็อยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ อาจารย์คงทราบข้อเท็จจริงดีกว่าผมบางประการ
สุ. ในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะในพระวินัย เรื่องเกี่ยวกับการสวดปาฏิโมกข์ ให้สวดย่อได้เวลาที่ภิกษุมีผีเข้า หรือผีสิง ไม่ใช่เชิญเทพมา ความหมายผิดกัน แต่สมัยนี้ไม่ใช่มาเข้าเอง เชิญมา บางทีน่าจะเรียกว่า ใช้ เพราะเชิญท่านมาให้ทำธุระ เพื่อประโยชน์ของผู้ที่เชิญ แต่ว่าในพระไตรปิฎกไม่มีเรื่องเชิญ
ถ. มีแต่เรื่องมาเข้าเอง
สุ. ในพระวินัย ในเรื่องการสวดปาติโมกข์ และในเวลาที่เทพทั้งหลายมาทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค ก็ไม่ใช่เวลาที่พวกมนุษย์มาฟังธรรม เทพทั้งหลายมา ไม่ใช่ไปเชิญให้มาสิง แต่เพื่อประโยชน์ในทางธรรม
ถ. ในพระไตรปิฎก มีกล่าวหรือเปล่าเรื่องที่มีผีสิงพระในขณะที่สวดปาติโมกข์ หรือเพียงแต่พูดว่า ผีสิงเท่านั้น
สุ. ในบางแห่งจะใช้คำว่า หมายความถึงลมบ้าหมู
ถ. ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง
สุ. ในบางแห่ง ในพระสูตรๆ หนึ่ง เรื่องสามเณรสาณุ ก็มีเทพหรือยักษ์เข้าสิง แต่ไม่ใช่เชิญ มาเพื่อเกื้อกูลอุปการะแก่สาณุสามเณร ไม่เหมือนในสมัยนี้ เทพในสมัยก่อนกับเทพในสมัยนี้ สมัยไหนจะใจดีกว่ากัน
และเรื่องเข้าสิง จะเป็นไปได้โดยอย่างไร จิตของคนนั้นยังมีอยู่ อย่าลืม ยังเป็นสภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ทำให้ยังไม่ใช่คนที่ตาย แต่คนที่มีจิตที่มีกำลังกว่า สามารถที่จะสร้างรูปให้เกิดขึ้นที่จะทำให้เกิดเสียงต่างๆ ในร่างของบุคคลนั้นได้ ด้วยกำลังของจิต
ถ. พูดถึงเรื่องเทพ ผมก็เคยไปหาเกี่ยวกับเรื่องงาน เพื่อให้หางานให้ ใช้ให้ไปหางานให้
สุ. ใช้ใคร
ถ. ใช้เทพ ไม่รู้นี่ เขาบอกว่า ใครจะขออะไรก็ได้ ผมก็ต้องการเรื่องปากท้อง เรื่องงาน แต่มีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ เทพสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เช่นบอกว่าจะได้งานเมื่อนี้เมื่อนั้น นัดวันให้ พอถึงวันนั้นก็เกิดขึ้นจริงๆ ผมสงสัยว่า เทพมีอะไรวิเศษกว่ามนุษย์ อย่างกรมอุตุ ฯ จะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าต้องมีเครื่องมือ เครื่องวัดอากาศต่างๆ จึงจะรู้ว่าเมื่อไรอากาศจะแปรปรวน แต่เทพนี่รู้ล่วงหน้าได้อย่างไร มีคุณวิเศษอย่างไร ผมศึกษาในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าท่านทรงไว้ซึ่ง พระสัพพัญญุตญาณ รู้เหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าได้ ไม่น่าสงสัย แต่เทพรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างไร
สุ. ถ้าจะพูดถึงสภาพของจิต จิตแต่ละดวงของแต่ละบุคคล เป็นสภาพที่ละเอียดลึกซึ้ง บางคนก็มีพลังจิต หรือมีสมาธิจิต มีจิตที่สงบมั่นคง ซึ่งมีกำลังมากกว่าจิตที่กำลังไม่สงบมั่นคง
ถ. เป็นความจริง เหตุการณ์ที่เขารู้ล่วงหน้าได้ ผมยังสงสัย และเขานัดวันเวลาให้
สุ. นิดๆ หน่อยๆ ไม่ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ของคนอื่นซึ่งหย่อนกว่า ก็ต้องตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล
ถ. แต่สำหรับมนุษย์เรา อย่างผมเคยคำนวณเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ มารวมกันแล้วจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ๆ บางทีก็เป็นไปตามที่คาดคิด แต่เทพเขามีเครื่องมืออะไรที่จะรู้ล่วงหน้า
สุ. คงจะคล้ายๆ กัน แต่ระดับสูงกว่า เพราะเรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด และล้ำลึกจริงๆ
ถ. ท่านอุทกดาบสที่บอกว่า รู้โดยส่วนเดียว รู้อะไร
สุ. หมายความว่า โดยแน่นอน ทุกครั้งที่มีพยัญชนะว่า โดยส่วนเดียว หมายความว่า โดยแน่นอน ไม่เป็นสอง เพราะฉะนั้น ก็ต้องแน่ คือ เป็นหนึ่ง เป็นอย่างเดียว
ถ. เรื่องสิงนี่ มีอยู่ เช่น ท่านพระอานนท์เข้าทำสังคายนาครั้งแรก ถูกในที่ประชุมสงฆ์ปรับอาบัติ ๕ ตัว ๕ เรื่อง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ประชุมสงฆ์กล่าวว่า ดูกร ท่านอานนท์ สงฆ์ได้ปรับอาบัติทุกกฏแก่ท่าน เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตอันหยาบ ท่านพระอานนท์ก็ไม่ทูลอ้อนวอนขอให้ทรงเจริญอิทธิบาทให้ทรงอยู่ตลอดกัปท่านพระอานนท์ก็กล่าวว่า ผมก็ไม่เห็นว่าที่ไม่ทูลขอนั้นเป็นอาบัติทุกกฏ เพราะขณะนั้นผมถูกมารดลใจ มารดลใจ หรือผีสิง หรือผีเข้า จะเหมือนกันไหม
สุ. ไม่เหมือน มารดลใจโดยการก่อเหตุการณ์ที่ทำให้บุคคลนั้นสนใจในเหตุการณ์นั้น
ถ. มารที่มาดลใจ ที่ทำให้ท่านพระอานนท์ไม่ได้ทูลขอนี้ ทำไมไม่มีใครปราบในสมัยนั้น
สุ. ใครปราบใครได้ ตามความเป็นจริงแล้ว ใครปราบใครได้
ถ. อย่างเช่น มนุษย์ ถ้าใครทำผิด ตำรวจก็จับเข้าคุก จับไปยิงบ้าง
สุ. พระผู้มีพระภาคปราบท่านพระเทวทัตได้ไหม
ถ. ก็ปราบอยู่แล้ว เขาเป็นคนมีทิฏฐิ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องอะไรด้วย
สุ. ปราบอย่างไร ท่านพระเทวทัต ไม่ใช่ท่านพระฉันนะ
ถ. พระเทวทัตจะมีปราบไหม
สุ. กรรมของท่านเองใช่ไหมที่ทำให้ท่านเกิดในอเวจีมหานรก ท่านถูกใครปราบให้ตกอเวจีหรือเปล่า
ถ. มารตัวนี้ขัดขวางกี่ครั้งๆ ไม่ไปตกอเวจีสักที
สุ. เพราะฉะนั้น ใครปราบใครได้ แล้วแต่เหตุ คือ กรรมในสังสารวัฏฏ์
ถ. มารตัวนี้ได้ทำกรรมไว้อย่างหนัก ที่ไม่ให้ท่านพระอานนท์ทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคมีอายุต่อไป มารตัวนี้น่าจะร้ายกว่าพระเทวทัตด้วยซ้ำ
สุ. แต่ไม่มีใครจะปราบใครได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080