แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
ครั้งที่ ๑๐๖๒
สาระสำคัญ
ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มี ๕
ผู้มีความปรารถนาลามก
สัมมาสติต่างกับสมาธิ
อถ.ที.สามัญญผลสูตร - อธิบาย “สันโดษ” ๑๒ อย่าง
สุมังคลวิลาสินี อถ.อธิบาย “เสนาสนะ”
ผู้ที่ไปอยู่ป่า หรือคิดจะไป หรือต้องการที่จะไป ควรจะพิจารณาพระสูตรนี้ว่า ท่านไปเพราะเหตุใด เพราะว่าผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มี ๕ จำพวก
จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย
จะรู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในจำพวกนี้หรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสติ เรื่องสติปัฏฐาน คือ อารมณ์ที่สติจะระลึกรู้ เรื่องการที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า ขณะใดสติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ ขณะใดสติระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่ศึกษา ไม่พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ให้เห็นประโยชน์อย่างถ่องแท้ เพียงแต่คิดว่าอยากจะไป ต้องการที่จะไป จะเป็นจำพวกที่ ๑ ไหม ที่เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย
บางท่านก็ไม่ฟัง ไม่พิจารณาในข้อปฏิบัติ ไปก่อนโดยที่ไม่รู้ว่าไปทำไม และเมื่อไปแล้ว ก็อาจจะปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ย่อมไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยถูกต้อง
ที่ถูกต้องแล้วควรจะพิจารณาว่า ไปเพราะอะไร มีความเข้าใจพอหรือยังที่จะไป บางท่านอาจจะได้ฟังธรรมพอประมาณ และก็อยากจะไป เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยที่จะต้องการผล เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังธรรมพอประมาณแล้วก็ไป อย่าลืม บุคคลจำพวกที่ ๒ คือ
มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน บางท่านเห็นคฤหัสถ์สรรเสริญผู้ที่อยู่ป่า เพราะฉะนั้น ก็มีความปรารถนาที่จะได้รับการสรรเสริญ หรือบางท่านเห็นว่า ผู้ที่อยู่ป่าเป็นผู้ที่ได้ลาภ จึงไปสู่ป่าเพื่อต้องการได้ลาภ นั่นเป็นเรื่องของความปรารถนาลามก คือ ความปรารถนาในลาภ ในยศ ในชื่อเสียง ในสักการะ เป็นเหตุให้อยู่ป่าจำพวกหนึ่ง
สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมพอประมาณ และต้องการผลโดยรวดเร็ว พิจารณาบ้างหรือเปล่าว่า มีความอยากอะไรหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ แต่ต้องการผล ต้องการสติมากๆ คิดว่าถ้าไม่ได้อยู่ในที่สงัดเช่นนั้น สติย่อมเกิดน้อย ซึ่งท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะประสบด้วยตนเองว่า ดูเหมือนว่าจะเป็นจริง เพราะวันใดที่ไม่มีกิจธุระมาก หรือว่าขณะใดที่ไม่มีแขกไปมาหาสู่มาก หรือว่าวันใดบังเอิญอยู่ในห้องเพียงคนเดียว หรือว่าบังเอิญตื่นขึ้นกลางดึก สติดูเหมือนจะเกิดมากกว่าขณะอื่น แต่อย่าลืม สัมมาสติ ต่างกับสมาธิ หรือว่าความต้องการ
สำหรับบางท่านซึ่งมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และยังเป็นผู้ที่สังเกตว่า ยามใดสติเกิดมาก เป็นสัมมาสติจริงๆ เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่มีความตั้งใจ และขณะนั้นก็ระลึกถูก คือ ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย แต่อย่าลืมที่จะสังเกตต่อไปว่า มีความติดหรือมีความพอใจในขณะนั้น ในยามนั้นบ้างหรือเปล่าว่า ถ้าเป็นยามนั้นแล้วสติมักจะเกิด
เรื่องของความต้องการนี้ละเอียดมาก แม้ว่าสติจะเกิดมาก และปัญญาจะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่อย่าลืมว่า ต้องมีธรรมที่กั้นความปรารถนา หรือความต้องการที่จะให้มีสติมากๆ อย่างนั้นอีก สมมติว่ามีท่านที่สติปัฏฐานเกิดมากในขณะที่กราบพระ เพราะฉะนั้น อาจจะอยากกราบอีก หรือพอเริ่มจะกราบก็รู้สึกว่า เดี๋ยวสติคงจะเกิดอีกมากๆ บางท่านก็อาจจะเป็นช่วงอื่น ขณะอื่น ระยะอื่น เหตุการณ์อื่นก็ได้ และเป็นผู้ที่มีความสังเกตว่า ถ้าเป็นในขณะนั้นสติจะเกิดมาก แต่ความติดหรือความต้องการในขณะนั้นมีบ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรื่องละ
นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องสังเกต
และอะไรจะเป็นเครื่องทำลายความต้องการสติที่จะให้เกิดมาก เพราะในขณะนั้นเป็นลักษณะของความติดชนิดหนึ่ง แต่เป็นความติดอย่างละเอียด ธรรมประการเดียวซึ่งจะละความปรารถนา ความติด หรือความพอใจ แม้ในขณะที่เวลานั้น เหตุการณ์นั้น เป็นเวลาที่สติจะเกิดมาก ก็คือ แม้ในขณะอื่นสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทันที มิฉะนั้นแล้วจะมีความพอใจใคร่ที่จะทำสิ่งนั้นบ่อยๆ เพื่อจูงใจให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้นานๆ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ก็มีเครื่องกั้นอย่างละเอียดที่ไม่สามารถละทิ้งความพอใจ หรือว่าความต้องการสติและปัญญาได้
การที่จะละคลายได้จริงๆ คือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม สติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อให้สติมีกำลังขึ้นที่จะรู้จริงๆ ว่า นามธรรมไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่แต่เฉพาะนามธรรมในที่บางแห่ง หรือว่าในบางเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมต้องละเอียดจริงๆ แม้แต่ข้อความในบางพระสูตรที่ว่า เมื่อภิกษุอยู่ในสถานที่ใด ในเสนาสนะใด และกุศลธรรมเกิดมาก อกุศลเกิดน้อย ก็ควรจะอยู่ในที่นั้น
ถ้าเพียงผิวเผิน ก็คงจะติด อยากจะอยู่ด้วยความต้องการ ต่อเมื่อใดเป็น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ โดยละเอียด โดยทั่ว จะรู้ว่า เพราะการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานโดยละเอียดโดยทั่วเท่านั้น จึงจะละความติด หรือความพอใจ แม้ ในสถานที่ซึ่งเข้าใจว่าเมื่ออยู่ที่นั่นแล้วสติจะเกิดมาก หรือว่ากุศลธรรมจะเจริญขึ้น
เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาโดยละเอียด ถ้าใครตอบว่า ไปเพราะว่าสติจะเกิดมาก หมายความว่าเป็นผู้ที่ถูกความปรารถนา หรือว่าถูกความอยากครอบงำ เพราะหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หวังลาภ ยศ สรรเสริญ ก็หวังผล คือ รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่าผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะเกิดได้ต่อเมื่อปัญญา คมกล้าจริงๆ ที่จะรู้ว่า ขณะใดที่เห็น เป็นเพียงนามธรรม เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง และ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่สติเกิด
นี่เป็นการตรวจสอบการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะทำให้ละความติดหรือความพอใจในผล ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้หวังผล แต่เจริญเหตุ คือ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนกว่าปัญญาจะรู้ทั่ว
สำหรับบุคคลจำพวกที่ ๓ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน อยู่บ้านไม่ได้ เพราะจิตใจผิดปกติ ก็ออกจากบ้านเร่ร่อนไปสู่ป่า
จำพวกที่ ๔ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะรู้ว่า เป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ
นี่เป็นผู้ที่อยากจะปฏิบัติ อยากจะทำดี แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ว่า อยู่ป่าเพื่ออะไร อยู่แล้วได้อะไร เป็นข้อปฏิบัติที่ถูก หรือข้อปฏิบัติที่ผิด ถ้าอยู่แล้วปฏิบัติผิด ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่อยู่ป่า แต่มีการศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียดจนกระทั่งสามารถอบรมเจริญปัญญาโดยถูกต้อง ย่อมดีกว่าผู้ที่ไปสู่ป่าแล้วปฏิบัติผิด
สำหรับประการสุดท้าย คือ ผู้ที่ถือว่าอยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ นี่เป็นผู้ที่เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด ของภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรทั้ง ๕ จำพวก
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พิจารณา อย่าลืมข้อ ๕ ที่จะพิจารณาว่า เพราะความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงาม คือ ข้อปฏิบัติเช่นท่านพระมหากัสสปะผู้เลิศ ในธุดงคคุณ
ท่านเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่เป็นและจะไปสู่ป่า ถ้าไม่ใช่ข้อที่ ๕ ก็ต้องเป็นข้อหนึ่งข้อใดในอีก ๔ ข้อ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งในเรื่องของความสันโดษ ข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สามัญญผลสูตร อธิบายสันโดษ ๑๒ อย่าง เป็นความสันโดษในเรื่องของจีวร ๓ อย่าง ในเรื่องของบิณฑบาต ๓ อย่าง ในเรื่องของเสนาสนะ ๓ อย่าง ในเรื่องของยารักษาโรคอีก ๓ อย่าง รวมเป็นสันโดษ ๑๒ อย่าง
ท่านผู้ฟังที่จะไปอยู่ป่า จะต้องเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และมีความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด
สำหรับบรรพชิต ผู้ที่สันโดษจริงๆ ประกอบด้วยสันโดษ คือ ยินดีด้วยปัจจัยตามมี ตามกำลัง ตามสมควร ควรครองบริขาร ๘
ที่จะไปอยู่ป่า ก่อนที่จะไปก็ควรจะรู้ว่า มีความสันโดษจริงๆ อย่างนี้หรือเปล่า คือ ควรครองบริขาร ๘ ได้แก่ จีวร ๓ ผืน บาตร ๑ มีดตัดไม้ชำระฟัน ๑ กล่องเข็ม ๑ กายพันธน์ คือ ผ้าพันกาย ซึ่งบางท่านหมายถึงประคตเอว ๑ หม้อกรองน้ำ ๑ นี่คือ ผู้สันโดษในบริขาร ๘
ต่อไปเป็นภาษาบาลีซึ่งมีใจความว่า จีวร ๓ บาตร ๑ มีดโกนหรือมีดเล็ก ๑ เข็ม ๑ ผ้ารัดอกหรือประคตเอว ๑ รวมทั้งหม้อกรองน้ำอีก ๑ เป็น ๘ เหล่านี้เป็นบริขารของภิกษุผู้ประกอบความเพียร เพื่อละภัยในสังสาระ
ถ้าเป็นได้อย่างนี้ได้จริงๆ ก็ควรแก่การที่จะไปสู่ป่า แต่สำหรับภิกษุที่มีความสันโดษน้อยกว่านั้น คือ มีความต้องการมากกว่านั้น เป็นผู้มีความสันโดษในบริขาร ๙ คือ
เมื่อเข้าไปสู่เสยยาที่นอน ควรใช้เครื่องลาดที่ปูอยู่ในที่นั้นๆ
สำหรับผู้มีความสันโดษในบริขาร ๑๐ เพิ่มผ้าปูนั่ง หรือท่อนหนังที่ใช้เป็นที่นอนอีก ๑ สำหรับผู้มีความสันโดษในบริขาร ๑๑ มีไม้เท้า หรือมีหม้อน้ำมันเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ถือบริขาร ๑๒ มีร่มหรือรองเท้าเพิ่มขึ้น
ในผู้ถือบริขารเหล่านี้ คือ บริขาร ๘ หรือบริขาร ๙ บริขาร ๑๐ บริขาร ๑๑ บริขาร ๑๒ เฉพาะภิกษุผู้ที่ถือบริขาร ๘ เท่านั้น ชื่อว่าผู้สันโดษ นอกจากนี้ไม่ชื่อว่า สันโดษ แต่ยังไม่เรียกว่า มักมาก หรือเลี้ยงยาก หรือมหาภารา คือ เป็นผู้มีภาระมาก
แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่สันโดษอย่างนี้จริงๆ สมควรที่จะอยู่ป่า
ข้อความในพระไตรปิฎกมักจะอุปมาผู้สันโดษเหมือนกับนก เมื่อได้จิกกินผลไม้ที่ต้นไม้แล้วก็จากต้นไม้นั้นไปโดยที่ไม่กังวลว่า ผลไม้ต้นนี้สำหรับกินวันนี้ หรือผลไม้ต้นนี้สำหรับกินวันพรุ่งนี้ และเวลาที่ต้นไม้นั้นหมดผลแล้วก็ไม่ห่วง ไม่หวง ไม่เยื่อใยในต้นไม้นั้นเลย ปรารถนาจะไปสู่ทิศใด ก็บินไปด้วยปีกของตนในทิศนั้น
สำหรับผู้ที่มีบริขาร ๘ หรือว่าเป็นผู้ที่สันโดษ ก็ย่อมจะไปสู่ทิศต่างๆ ได้โดยง่าย และสามารถที่จะอยู่ป่าได้ด้วยความปรารถนาน้อยจริงๆ
ข้อความต่อไปได้แสดงว่า
ผลของการอยู่ป่า คือ การละนิวรณ์ เป็นปัจจัยสมบัติส่วนหนึ่งของภิกษุผู้อยู่ป่า
แสดงให้เห็นว่า ถ้าอยู่ในที่สงัด หรือสามารถที่จะอยู่ในที่สงัดได้ จิตใจของ ผู้มักน้อยสันโดษอย่างนั้น ย่อมจะสงบจนกระทั่งสามารถบรรลุฌานจิตขั้นต่างๆ ได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุสมควรแก่การที่จะได้บรรลุฌาน และยังสามารถบรรลุอิทธิต่างๆ ได้ เพราะว่าเสนาสนะเหล่านั้น เช่น ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เป็นที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความสันโดษจริงๆ ที่จะอยู่ ไม่ใช่หมายความว่า จะไปเพราะต้องการความสงัดเพื่อที่จะได้ผล แต่ต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยจริงๆ สถานที่ต่างๆ เหล่านั้นจึงจะเหมาะควร เพราะสามารถที่จะทำให้จิตสงบถึงขั้นฌานจิต และบรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นฌานจนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา อธิบาย เสนาสนะ เหล่านี้ คือ
คำว่า ป่า หมายถึงสถานที่นอกเสาเขื่อน คือ วัดออกจากบ้านไป ๕๐๐ ชั่วธนู
คำว่า โคนไม้ คือ โคนไม้ที่สงัด มีร่มเงาชิด
คำว่า ภูเขา คือ หินเป็นแท่ง
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะในที่นั้น จิตของผู้ที่อยู่ในที่นั้น เมื่อใช้น้ำที่บ่อน้ำ แล้วนั่งใต้เงาไม้เย็นๆ เหลียวดูทิศต่างๆ ตัวถูกลมเยือกพัดอยู่ ย่อมแน่วแน่ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ใครก็ตามที่ไปอยู่ในป่า ก็ย่อมจะได้ใช้น้ำที่บ่อน้ำ นั่งใต้เงาไม้ มีลมอ่อนๆ พัด ทำให้จิตสงบแน่วแน่ ไม่มีเรื่องกังวลวุ่นวาย
คำว่า กนฺทรํ คือ ซอก แยกศัพท์ว่า อักษร ก ย่อจาก อุทก แปลว่า น้ำ หมายถึงส่วนหนึ่งของภูเขาที่มีน้ำซับไหลอาบด้วยน้ำ และน้ำกระเซ็นอยู่ ชื่อกันทระ คือ ซอก ซึ่งบางท่านเรียกว่า นทีตุมพะ ตะพังแม่น้ำก็มี นทีกุชชะ แอ่งน้ำก็มี
ซึ่งในที่นั้นก็มีทรายที่เหมือนแผ่นดิน มีชัฏป่า ข้างบนเหมือนเพดานแก้วมณี มีลำธารเหมือนท่อนแก้วมณีไหลไป เพราะฉะนั้น ที่นั้นก็เป็นสถานที่เงียบสงบ ร่มเย็นโดยมากท่านเหล่านั้นก็ดื่มน้ำที่ควรดื่ม ลูบตัวให้เย็นชื่น เอาผ้าบังสุกุลปูนั่ง และอบรมจิตให้สงบมั่นคง
สำหรับ คำว่า ถ้ำ คือ คิริคุหา หมายถึงช่องใหญ่ในระหว่างภูเขา ๒ ลูก หรือช่องใหญ่เหมือนอุโมงค์ในภูเขาลูกหนึ่ง
ลักษณะของป่าช้า คือ ที่ที่มนุษย์ไม่ค่อยเข้าไป
ลักษณะของป่าชัฏ คือ วนปตฺถ เป็นที่ที่เปลี่ยว เป็นชื่อของเสนาสนะที่ไกลสุดกู่
สำหรับลักษณะของที่แจ้ง คือ ที่ไม่มีอะไรมุง
สำหรับลักษณะของลอมฟาง คือ ปลาลปุญฺช แปลว่า ลอมฟาง
เวลาที่คนรื้อขนฟางจากฟางกองใหญ่ และทำที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับเพิง ภาษาบาลีใช้คำว่า ปลาลปุญฺช เป็นลอมฟาง ซึ่งบางครั้งพระภิกษุท่านเอาฟางใส่เบื้องบนกอไม้ นั่งภายใต้ลอมฟาง ทำสมณธรรม นี่เป็นสถานที่สงบสงัดสำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยเช่นนั้นจริงๆ
เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะสรรเสริญ หรือการที่จะไม่พิจารณาและคิดว่าการอยู่ป่านั้นดี ก็ต้องดูว่า อยู่ป่าแล้วได้ประโยชน์อะไร เกิดความรู้ ความเข้าใจในสภาพธรรมถูกต้อง หรือว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080