แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
ครั้งที่ ๑๐๖๕
สาระสำคัญ
จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม
ข้อความใน สุมังคลวิลาสินี จำแนกโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยชาติ โดยภูมิ โดยเวทนา โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ โดยอสังขาริกและสสังขาริก โดยเหตุ ๖ โดยนัยของอเหตุกะและสเหตุกะ โดยโสภณะและอโสภณะ โดยทวาร ๖
สำหรับยารักษาโรค บรรพชิตเป็นผู้ที่สันโดษ ๓ ประการ คือ ๑. ตามที่ได้ ๒. ตามกำลัง ๓. ตามควร แล้วแต่ว่าสิ่งที่ท่านได้มานั้นเป็นสิ่งที่ประณีต ก็พิจารณาว่าสมควรแก่ผู้ใดก็ถวายแก่ผู้นั้น เพราะบางท่านเป็นผู้ที่มีโรค ต้องการน้ำมันก็อาจจะได้น้ำอ้อย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านแลกกับภิกษุรูปอื่นเพื่อความเป็นปกติสุขของร่างกาย ก็ยังเป็นผู้สันโดษ เพราะว่าสันโดษตามกำลัง ตามควรของยารักษาโรค
หรือว่าบางท่านได้ยาที่ประณีตเป็นอันมาก เช่น น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมากมายเหลือเฟือ ท่านก็เป็นผู้ที่สันโดษ ไม่ติด ไม่เก็บ ไม่สะสม สามารถถวายให้แก่ภิกษุรูปอื่นได้ และยินดีตามควรที่ท่านต้องใช้
สำหรับคฤหัสถ์ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าท่านเป็นผู้ที่พิจารณา ท่านก็สามารถที่จะละคลายความคิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นสิ่งนี้ได้ แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นเพียงพอ สามารถที่จะบำบัดโรคให้หายได้ ก็ใช้ได้
สำหรับบรรพชิตบางรูป เป็นผู้ที่บรมสันโดษ คือ ถึงแม้ว่าจะได้ยารักษาโรคที่ประณีต แต่ท่านก็คิดว่า ถึงแม้ว่าโรคของท่านจะหายขาดด้วยรสอร่อย ๔ อย่างนี้ที่ เป็นยารักษาโรคแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็ ชื่อว่ายาดองด้วยน้ำมูตรเน่าเจือสมอ หรือมะขามป้อมนี้ พระพุทธเจ้า เป็นต้น สรรเสริญ เพราะฉะนั้น ท่านก็ใช้มูตรและสมอหรือมะขามป้อมนั่นแหละทำยา ชื่อว่าเป็นผู้บรมสันโดษ
การขัดเกลากิเลส สำหรับทุกท่านก็คงมุ่งให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง ซึ่งจากการบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว กิเลสย่อมลดน้อยลงตามกำลังของปัญญา และเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล ก็จะต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง แต่ไม่ใช่เร็ว เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญ ปัญญามีหนทางเดียว คือ ศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะได้เข้าใจในสภาพธรรม เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นอนัตตา
นี่เป็นจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น เพราะว่าการศึกษาพระธรรมนั้นมี ๓ ลักษณะ ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี มีว่า
จริงอยู่ การเรียนปริยัติ มี ๓ ประเภท คือ
อลคัททูปมา การเรียนปริยัติเหมือนจับงูข้างหาง
นิสสรณัตถา การเรียนปริยัติมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย
ภัณฑาคาริกปริยัติ การเรียนปริยัติของพระอรหันต์ผู้เหมือนคนรักษาเรือนคลัง
ท่านผู้ฟังหลายท่านสนใจที่จะศึกษาพระปริยัติ แต่อย่าลืมพิจารณาจุดประสงค์ของการศึกษาว่าเพื่ออะไร ถ้าเป็นการศึกษาที่ผิดทาง คือ เรียนเพราะต้องการข่ม คนอื่น เป็นต้น การเรียนปริยัติเช่นนี้ชื่อว่า อลคัททูปมา คือ เหมือนการจับงู ข้างหาง ซึ่งงูนั้นย่อมจะกัด เมื่อเรียนแล้วข่มคนอื่นว่าเป็นผู้ที่รู้ดี หรือเป็นผู้ที่รู้มาก ขณะนั้นไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย เพราะฉะนั้น ท่านที่กำลังจะศึกษา ก็ควรจะศึกษาเพียงเพื่อเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น เพื่อเกื้อกูลต่อการที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นอนัตตา ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาไม่ใช่สิ่งที่จะประจักษ์แจ้งได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเรียนและการพิจารณา เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตาจริงๆ และนี่ควรจะเป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่จุดประสงค์อื่น แต่ถ้าเป็นการเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อย่างอื่น คือ เพื่อให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม และมีความรู้ดีกว่าบุคคลอื่น นั่นเป็นการศึกษาประเภท อลคัททูปมา คือ การเรียนปริยัติเหมือนจับงูข้างหาง
สำหรับ นิสสรณัตถา การเรียนปริยัติมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย คือ คนที่เรียนถูกทาง และไม่ได้เรียนเพื่อข่มคนอื่น แต่เรียนเพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมเหล่านั้น อันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนถูกทางแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสวัสดิภาพ และเพื่อความสุขสิ้นกาลนาน หมายความว่าเมื่อเรียนแล้ว และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียด
ขอเล่าถึงท่านผู้หนึ่งซึ่งพยาบาลผู้ป่วยท่านหนึ่งที่ชราแล้ว วันหนึ่งท่านเกิดพิจารณาเห็นทุกข์ของความชราของผู้ป่วยนั้น เห็นว่าความชราช่างเป็นทุกข์เสียจริงๆ ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวโดยรวดเร็ว หรือไม่สามารถที่จะหยิบจับทุกสิ่งทุกอย่างได้ เหมือนกับเวลาที่ยังไม่ชรา และเห็นโทษ คือ ความปวด ความเจ็บของร่างกาย ส่วนนั้นบ้าง ส่วนนี้บ้าง ท่านมีความสลดใจจนกระทั่งไม่สามารถป้อนอาหารผู้นั้นต่อไปอีกได้ ถึงกับร้องไห้ใหญ่ ซึ่งท่านก็ได้ถามผู้เป็นอาจารย์ที่สอนธรรมว่า ที่เป็นอย่างนี้ คืออะไร อาจารย์ที่สอนธรรมท่านนั้นก็ตอบว่า นี่คืออารมณ์ของวิปัสสนา
นี่ไม่ใช่การพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่ละลักษณะ และไม่ใช่การรู้ว่า ลักษณะนี้เป็นเพียงสภาพของนามธรรม ชนิดหนึ่ง หรือว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ละลักษณะนั้นเป็นเพียงรูปธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คนชรา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและศึกษา คือ น้อมพิจารณาที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เห็นความชราและความทุกข์ของความชรา และเกิดสลดใจ เสียใจ ร้องไห้ จะถือว่าขณะนั้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา
ซึ่งท่านผู้นั้นที่ได้ฟังก็คิดว่า ท่านที่บอกนี้ ท่านหลงไปหรือเปล่า หรือว่าท่านเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และท่านก็พิจารณาคำพูดของอาจารย์ธรรมท่านนั้นต่อไปที่บอกว่า แม้แต่คนชราบางคนก็ไม่เกิดความรู้สึกอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังคำพูดอย่างนี้ ท่านผู้นั้นก็ถือว่าท่านผู้ที่กล่าว คืออาจารย์ผู้ที่สอนธรรมท่านนั้น เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
แต่ว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังว่า อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องการประพฤติปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ตาม ขอให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นปริยัติที่ท่านสนใจจะศึกษา หรือไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นไปที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้หรือเปล่า ถ้าการศึกษาและการปฏิบัตินั้นสามารถที่จะให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้อง การศึกษานั้นก็เป็น นิสสรณัตถา คือ การเรียนปริยัติมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย จากโทษ คือ กิเลสทั้งหลาย
สำหรับ ภัณฑาคาริกปริยัติ คือ การเรียนปริยัติของพระอรหันต์นั้น เป็นเพราะท่านเป็นผู้ที่ละกิเลสได้แล้ว มีมรรคอันอบรมแล้ว มีพระอรหัตตผลอันแทงตลอดแล้ว มีนิโรธอันทำให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนซึ่งปริยัติใดเพื่อประโยชน์แก่การรักษาไว้ซึ่งประเพณี คือ ความสืบสันตติของพระธรรม และเพื่อประโยชน์แก่การรักษาไว้ซึ่งพุทธวงศ์โดยเฉพาะ การเรียนปริยัตินี้ชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ การเรียนปริยัติของพระอรหันต์ ผู้เหมือนคนรักษาเรือนคลัง
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟังที่ยังไม่หมดกิเลส การศึกษาของท่านควรจะเป็น นิสสรณัตถะ คือ เป็นการศึกษาเพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตรงตามที่ได้ศึกษาจริงๆ
การศึกษาแม้เรื่องของจิตดวงเดียว โดยที่เข้าใจเรื่องลักษณะของจิตนั้นชัดเจนขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ที่จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของจิตดวงอื่นๆ ได้
ขอกล่าวถึงการจำแนกอกุศลจิตดวงที่ ๑ เพื่อให้ท่านผู้ฟังมีปัจจัยที่จะให้เกิดการคิดพิจารณาเรื่องของปริยัติธรรมที่ได้ศึกษา เพราะว่าเรื่องของความคิดย่อมเป็นไปตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องของปริยัติ คือ เรื่องของจิต เจตสิก และรูปมาก ก็เป็นปัจจัยให้เกิดคิดนึก พิจารณา ตรึกตรอง เพื่อที่จะได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น เพราะทุกคนยับยั้งความคิดไม่ได้
และวันหนึ่งๆ ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คิดถึงสิ่งนั้นทันที ได้ยินเสียงอะไร ก็คิดถึงเรื่องของเสียงนั้นทันที ได้กลิ่นอะไร ก็คิดถึงเรื่องของกลิ่นนั้นทันที ลิ้มรสอะไร ก็คิดถึงเรื่องของรสนั้นทันที เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อจากปัญจทวารวิถีจิต ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใดก็คิดถึงสิ่งนั้น ได้ยินเสียงใดก็คิดถึงเรื่องนั้น ซึ่งแทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่นที่เปล่าประโยชน์หรือว่าไม่เป็นสาระ ถ้าท่านพยายามพิจารณาเรื่องของสภาพธรรมที่ได้ศึกษาแล้วโดยนัยต่างๆ จะทำให้การคิดนั้นเป็น มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาที่ตรึกนึกถึงสภาพธรรมที่ได้ศึกษา
สำหรับอกุศลจิตดวงที่ ๑ คือ โลภมูลจิต ซึ่งเกิดพร้อมโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับความเห็นผิด และเป็นอสังขาริก คือ เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง และจำแนกออกได้โดยนัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ
โดยชาติ ๔ ชาติ เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา
สำหรับอกุศลจิตดวงที่ ๑ โดยชาติ เป็นอกุศลชาติ เป็นจิตที่เป็นเหตุ ไม่ใช่จิตที่เป็นผล คือ ไม่ใช่วิบากจิต และไม่ใช่กิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต
โดยภูมิ โลภมูลจิตเป็นกามาวจรจิต เป็นจิตขั้นกามภูมิ ถึงแม้จะเกิดใน รูปพรหม หรืออรูปพรหมภูมิ ไม่ว่าจิตนี้จะเกิดที่ใดก็ตาม โดยสภาพของจิตแล้ว เป็นจิตขั้นกามาวจร คือ เป็นจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
โดยเวทนา โลภมูลจิตมี ๘ ดวง ๔ ดวงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา อีก ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยเวทนา เป็นโสมนสฺสสหคตํ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ คือ เกิดร่วมกับความเห็นผิด
โดยอสังขาริกและสสังขาริก โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอสังขาริก คือ เกิดโดย ไม่อาศัยการชักจูง
โดยเหตุ ๖ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุ และสภาพธรรมที่ไม่ใช่เหตุ คือ นเหตุ เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับเหตุ คือ สเหตุกะ และสภาพธรรมที่ไม่เกิดร่วมกับเหตุเจตสิก ๖ ดวง คือ อเหตุกะ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยของเหตุและ นเหตุ โดยภาษาบาลี โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร เป็นเหตุ หรือเป็นนเหตุ
นี่เป็นความละเอียดของธรรม ซึ่งเป็นเพียงขั้นต้น ต่อไปธรรมจะยิ่งละเอียด ขึ้นๆ ซึ่งการที่จะศึกษาธรรมและพิจารณาให้เข้าใจชัดเจน ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม จึงจะเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง
ปรมัตถธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓ และอโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ เป็นโสภณเหตุ ๓ เพราะฉะนั้น เกิดกับกุศลวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้ที่เป็นโสภณะ
โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยที่เป็นเหตุ และไม่ใช่เหตุ คือ นเหตุ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร
เป็นนเหตุ
เพราะเหตุใด เพราะเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก โลภมูลจิตเป็นเหตุไม่ได้ เพราะว่า สภาพธรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูปก็ตาม ที่ไม่ใช่เจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุ ทั้งหมดเป็นนเหตุ
โดยนัยของอเหตุกะ คือ ไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ และสเหตุกะ คือ เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ โลภมูลจิตเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
เป็นสเหตุกะ
และต้องทราบด้วยว่า สำหรับจิตที่เกิดร่วมกับเหตุ ถ้าเกิดร่วมกับเหตุเดียว เป็นเอกเหตุ ถ้าเกิดร่วมกับ ๒ เหตุ เป็นทวิเหตุ ถ้าเกิดร่วมกับ ๓ เหตุ เป็นติเหตุ หรือติเหตุกะ
เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นนเหตุ ไม่ใช่เหตุ เป็นสเหตุกะ เพราะเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ และเมื่อเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุแล้ว เป็นเอกเหตุกะ หรือเป็นทวิเหตุกะ หรือเป็นติเหตุกะ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร
เป็นทวิเหตุกะ เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิกและโมหเจตสิก
อกุศลทุกดวงต้องเกิดร่วมกับโมหเจตสิก ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็ประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกและโลภเจตสิก ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็เกิดร่วมกับเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกและโทสเจตสิก
สำหรับอกุศลจิตไม่มีติเหตุกะ เพราะว่าโลภเจตสิกเกิดร่วมกับโทสเจตสิกไม่ได้
โดยโสภณะและอโสภณะ อกุศลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร
เป็นอโสภณะ เพราะไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ต้องมีเหตุผลตลอด สำหรับการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ
โดยทวาร ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดได้กี่ทวาร
เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
ไม่มีใครที่จะพ้นไปจากโลภมูลจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร หรือถ้าจะกล่าวถึงโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง ก็กล่าวได้ว่า โลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
นั่งเฉยๆ ดิฉันเรียนถามท่านผู้หนึ่งว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ท่านตอบว่า เป็นกุศลเพราะท่านไม่ได้กระทำทุจริตกรรมอะไร แต่ถ้าขณะใดไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่ใช่ความสงบของจิต ไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พ้นจากโลภมูลจิต แม้แต่เพียงการคิด เพียงคิดว่า พรุ่งนี้วันจันทร์ ก็ต้องรู้ว่าจิตอะไรที่คิด เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่จะพ้นจากโลภะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด มีทางที่จะพ้นได้ไหม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิดที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้นกระแสของโลภะได้ เพราะว่าทางตาที่เห็น หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว ถ้าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่แช่มชื่น ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่ใช่กุศล
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080