แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
ครั้งที่ ๑๐๖๙
สาระสำคัญ
ธรรมเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน [อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์]
ความหมายของอัชฌัตตติกะ [อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์]
รูปขันธ์ที่หยาบ ละเอียด รูปทราม รูปประณีต รูปใกล้ รูปไกล
เวทนาที่หยาบและละเอียด [สัมโมหวิโนทนี]
เรื่องของขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป เป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่ขันธ์มีอยู่อย่างเดียว คือ นิพพาน
สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ความละเอียดของปัจจัยมีมาก และลักษณะของขันธ์แต่ละประเภทๆ ก็ต่างกันไป แต่เมื่อประมวลโดยส่วนที่เสมอกันแล้ว แม้ว่า รูปขันธ์จะมีประเภทต่างๆ ก็เป็นรูปขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์
สำหรับความหมายที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายว่า
อธิบาย อตีตะ คือ อดีต มีข้อความว่า ชื่อว่าอตีตะ เพราะถึงสภาวะของตน หรือถึงอุปาทขณะ เป็นต้น แล้วก็ล่วงเลยไป คือ เกิดขึ้นและดับไป
ขณะนี้กำลังเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตอย่างรวดเร็ว ทราบได้อย่างไรว่า เป็นอดีตแล้ว เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ถึงแล้ว ถึงสภาวะของตน เช่น การเห็น ที่กำลังเห็นและก็ดับ เป็นอดีต ถึงแล้ว ถึงสภาพที่จะเห็นสิ่งนี้แล้ว ทางหู ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาวะที่ถึงแล้ว คือ ได้ยินเสียงนี้แล้ว ก่อนนั้นไม่รู้ว่าจะเห็นอะไร เพราะยังไม่ถึง ก่อนนั้นไม่ทราบว่าจะได้ยินอะไร เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อยังไม่ถึงก็ยังไม่รู้ แต่ขณะที่กำลังเห็น รู้เลยว่าถึงแล้ว คือ ถึงการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ
ทางตา เป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรม ไม่มีใครทราบว่า ขณะต่อไป พรุ่งนี้ หรือว่าวันต่อๆ ไปจะเห็นอะไร เพราะว่ายังไม่ถึง แต่เมื่อใดก็ตามที่ถึง ถึงแล้ว เป็นอดีตทันที เพราะว่าทางตาเห็นและดับ รับผลของกรรม โดยการที่ขณะนั้น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นและก็ดับ จึงชื่อว่าถึงแล้ว เป็นอดีตแล้ว ขณะที่ได้ยินขณะนี้ ถึงแล้ว และเป็นอดีตแล้ว เพราะว่าเกิดขึ้นและก็ดับไป นี่เป็นลักษณะของอดีตธรรม คือ เพราะถึงสภาวะของตน หรือถึงอุปาทขณะ เป็นต้น แล้วก็ล่วงเลยไป คือ ดับไป
อดีตที่เกิดแล้ว ทุกคนทราบใช่ไหมว่า เพราะเกิดขึ้นและดับไป แต่ว่าอนาคตเป็นสิ่งซึ่ง เพราะยังไม่ถึงแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น คือ ยังไม่เกิด ยังไม่ดับ เมื่อยังไม่เกิดก็ดับไม่ได้ เมื่อยังไม่เกิดขึ้นจึงเป็นอนาคต ต่อเมื่อใดถึงแล้ว เกิดขึ้นและดับไป เป็นอดีต
ชื่อว่าปัจจุปปันนะ เพราะอาศัยเหตุนั้นๆ เกิดขึ้น คือ ดำเนินไปเบื้องบนตั้งแต่
อุปาทขณะจนถึงภังคขณะ
นี่คือความหมายของปัจจุบัน เพราะว่าจิตดวงหนึ่งแม้ว่าจะเกิดดับอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ก็มีขณะย่อย ๓ ขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้นเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ และขณะที่ดับเป็นภังคขณะ เพราะฉะนั้น ความหมายของ ปัจจุปปันนะ คือ
ชื่อว่าอุปปันนะ เพราะถึง คือ ดำเนินไปเบื้องบนตั้งแต่อุปาทขณะจนถึง ภังคขณะ
สั้นไหม ปัจจุบัน จากอุปาทขณะจนถึงภังคขณะ นั่นคือ ปัจจุบัน แต่เมื่อล่วงเลยภังคขณะแล้ว เป็นอดีต นี่คือความหมายของขันธ์ ซึ่งได้แก่ รูปเกิดดับ เวทนา ความรู้สึกเกิดดับ สัญญา สภาพที่จำเกิดดับ สังขารขันธ์เกิดดับ วิญญาณขันธ์เกิดดับ เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน
สำหรับความหมายของภายในและภายนอก ข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีนิทเทส อัชฌัตตติกะ มีข้อความว่า
ธรรมภายในเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดเป็นภายใน เป็นเฉพาะตน เกิดในตน เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล เป็นอุปาทินนะของสัตว์นั้นๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นภายใน
ข้อความอธิบาย นิทเทสอัชฌัตตติกะ มีว่า
ด้วยสองบทว่า ของสัตว์นั้นๆ ทรงกำหนดถือเอาสัตว์ทุกจำพวก
บททั้งสองว่า เป็นภายใน เป็นเฉพาะตน เป็นชื่อของธรรมที่เป็นภายใน เกิดแก่ตน
คำว่า นิยตา แปลว่า เกิดในตน
คำว่า เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล คือ เป็นของบุคคลแต่ละบุคคลๆ
คำว่า เป็นอุปาทินนะ ได้แก่ ตั้งอยู่ในสรีระ
ก็สภาพธรรมเหล่านั้นจะบังเกิดแต่กรรมหรือหาไม่ก็ตาม ที่ตรัสว่าอุปาทินนะ ในที่นี้ ก็ด้วยอำนาจที่ได้ยึด ที่ได้ถือ และที่ถือผิด
ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ พรรณนาทุกนิทเทส ใน รูปวิภัตติ มีว่า
ทั้งสรีระ ทั้งขันธปัญจก ย่อมเรียกว่าอัตภาพ เพราะเหตุที่พาลชนกำหนดถือเอาว่า นี้เป็นอัตตาของเรา
นี่คือความหมายของอัชฌัตตติกะ คือ ธรรมภายใน
รูปภายใน เป็นรูปที่เกิดที่ตน สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดในตน นั่นเป็นอัชฌัตตติกะ
สำหรับภายนอก เป็นธรรมที่ตรงกันข้าม คือ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นภายใน ที่ไม่ได้เกิดในตน
สำหรับความหมายของหยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ใกล้ ไกล
รูปขันธ์ที่หยาบ ได้แก่ รูปขันธ์ที่กระทบและปรากฏ ทางตา รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู สัททารมณ์ คือ เสียงที่ปรากฏเมื่อกระทบโสตปสาท ทางจมูก คันธารมณ์ คือ กลิ่นที่ปรากฏเมื่อกระทบฆานปสาท ทางลิ้น รสารมณ์ คือ รสที่ปรากฏเมื่อกระทบชิวหาปสาท ทางกาย โผฏฐัพพารมณ์ ๓ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ปรากฏเมื่อกระทบกายปสาท รวม ๗ รูป และปสาทรูป ๕ รวมเป็น ๑๒ รูป ชื่อว่ารูปหยาบ เพราะว่า ๗ รูป เป็นรูปที่รู้ได้เมื่อกระทบกับปสาท และปสาทรูป ๕ นั้นก็เป็นรูปหยาบ เพราะว่าเป็นรูปที่สามารถกระทบอารมณ์ได้ ส่วนรูปอื่นที่เหลือทั้งหมดเป็นรูปละเอียด
ทั้งๆ ที่ทรงแสดงว่าเป็นรูปหยาบ และที่เป็นรูปหยาบเพราะว่าสามารถที่จะรู้ ได้ง่าย แต่ก็ยังไม่ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของรูปจริงๆ ซึ่งกำลังปรากฏ จนกว่าจะอบรมปัญญาจริงๆ จนเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ที่จะเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ นั่นจึงจะเป็นการรู้รูปหยาบตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรม ชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏได้ทางตาเท่านั้น
สำหรับความหมายของรูปทราม รูปประณีต ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ขันธวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า
บทว่า อุญฺญาตํ แปลว่า ที่เขาดูหมิ่น
บทว่า อวมญฺญาตํ แปลว่า ที่เขารู้จักกันอย่างข่มๆ คือ ที่ไม่ประกาศว่า รูปบ้าง คือ เป็นรูปที่ไม่ยอมรับ เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เล็กน้อย
บทว่า ที่เขาชัง โดยอรรถว่า ที่เขาเหวี่ยง ที่เขาทิ้ง ด้วยอรรถว่า เป็นรูปที่ ใครๆ ไม่พึงถือเอา และอาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวว่า เขาเกลียดบ้าง
บทว่า ที่เขาตำหนิ คือ ที่เขาตำหนิด้วยวาจาว่า ประโยชน์อะไรด้วยรูปนี้ คือ ไม่เป็นที่ต้องการของใคร
บทว่า ที่เขาไม่สนใจ คือ ไม่ใช่ที่เขาเคารพ
บทว่า ทราม คือ ลามก
บทว่า ที่สมมติว่าทราม คือ ที่เขาสมมติกันในโลกว่า เป็นรูปทราม หรือ ที่พวกคนทรามรู้กันดี เหมือนอย่างคูถที่สัตว์จำพวกมีคูถเป็นอาหารรู้กันดี ฉะนั้น
บทว่า ที่เขาไม่ปรารถนา คือ ไม่เป็นที่รัก หรือที่เขาไม่แสวงหาเพื่อต้องการ จะได้
บทว่า อกนฺตํ แปลว่า ที่เขาไม่ใคร่ หรือที่ไม่มีสิริ
บทว่า ที่ไม่น่าพึงใจ คือ ไม่เอิบอาบใจ
อีกอย่างหนึ่ง ตั้งวิเคราะห์ว่า มนํ อปฺปายติ วฑฺเฒตีติ มนาปํ อารมณ์ใดที่ยังใจให้เอิบอาบ คือ ให้เจริญ เหตุนั้นอารมณ์นั้นชื่อว่ามนาปะ แปลว่า อันยังใจให้เอิบอาบ
น มนาปํ อมนาปํ รูปไม่ใช่อารมณ์ที่ยังใจให้เอิบอาบ ชื่อว่าอมนาปะ คือ ไม่ใช่อารมณ์ที่ยังใจให้เอิบอาบ
อีกนัยหนึ่ง รูปชื่อว่าที่เขาไม่ปรารถนา เพราะเว้นจากสมบัติ รูปชื่อว่าที่เขา ไม่ใคร่ เพราะไม่ใช่เป็นเหตุแห่งสุข รูปชื่อว่าที่ไม่น่าพึงใจ เพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์
สำหรับรูปที่ประณีตนั้น ก็โดยนัยที่ตรงกันข้ามกับรูปทราม
สำหรับรูปใกล้ ได้แก่ รูป ๑๒ รูป เหมือนกับรูปหยาบ เพราะรู้ได้ง่ายและกระทบปสาทได้
สำหรับรูปไกลก็เหมือนกับรูปละเอียด เพราะแม้อยู่ใกล้ก็ชื่อว่ารูปไกล เพราะมีลักษณะที่รู้ได้ยาก และไม่อาจจะรู้ได้ด้วยการกระทบ เพราะว่าความหมาย ใกล้หรือไกลมี ๒ อย่าง คือ โดยลักษณะที่รู้ได้ยากอย่างหนึ่ง และโอกาส คือ โดยที่ตั้งของรูปนั้น เพราะว่าบางรูปอยู่ใกล้จริง แต่ว่าลักษณะนั้นละเอียด เพราะฉะนั้น จึงเป็นรูปที่ไกลเพราะว่ารู้ยาก
สำหรับเวทนา ในเรื่องของอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพราะว่าเป็นสภาพที่เกิดดับ ก็ไม่เป็นที่สงสัย แต่ในเรื่องที่เป็นเวทนาหยาบ เวทนาละเอียด เวทนาทราม เวทนาประณีต เวทนาใกล้ เวทนาไกล ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี แสดงว่า
เวทนาที่หยาบและละเอียดโดย ๔ ประการ คือ โดยชาติ ๑ โดยสภาพ ๑ โดยบุคคล ๑ โดยโลกียะ โลกุตตระ ๑
ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและละเอียดเกินไป แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเป็นประจำ แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันนั้นหรือเปล่าว่า สภาพธรรมแต่ละขณะนั้นต่างกันอย่างไร เช่น เวทนาที่หยาบ โดยชาติ คือ เวทนาที่เป็นอกุศล ที่เกิดกับอกุศลจิต หยาบ เพราะว่ามีความกระวนกระวาย และมีวิบากเป็นทุกข์ ซึ่งจะสังเกตพิจารณาได้ว่าต่างกับเวทนาที่เกิดกับกุศลจิต แต่ถ้าไม่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน จะไม่เห็นความต่างกันของเวทนาหยาบซึ่งเป็นอกุศล กับเวทนาละเอียดซึ่งเป็นกุศล ถ้าต่อไปเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกในขณะที่เป็นอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด จะสังเกตเห็นลักษณะสภาพของเวทนาหยาบได้ว่า ต่างกับสภาพของเวทนาที่ละเอียดที่เป็นกุศล
นี่คือสภาพของเวทนาหยาบและละเอียดซึ่งต่างกันโดยชาติ
เวทนาที่หยาบและละเอียดซึ่งต่างกันโดยสภาพ คือ ทุกขเวทนาเป็นเวทนาหยาบ เพราะขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่สบาย ไม่สำราญ และเป็นสภาพที่ทนได้ยาก ส่วนเวทนาอื่นเป็นเวทนาละเอียด พิสูจน์ได้ใช่ไหม เวทนาหยาบ คือ ทุกขเวทนานอกจากนั้นเป็นเวทนาละเอียด
โดยบุคคล เวทนาของผู้ที่ไม่เข้าสมาบัติ เป็นเวทนาหยาบ ส่วนเวทนาของผู้ที่เข้าสมาบัติ คือ ผู้ที่ได้ฌาน และขณะนั้นจิตเป็นฌานจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ ในระหว่างที่เป็นฌานจิต เวทนาก็ละเอียด
โดยโลกียะ โลกุตตระ เวทนาที่มีอาสวะเป็นเวทนาหยาบ เวทนาซึ่งไม่มีอาสวะ เป็นเวทนาละเอียด
เพราะฉะนั้น ก่อนการเจริญสติปัฏฐาน ไม่เคยสังเกตลักษณะของเวทนาว่า หยาบละเอียดอย่างไร แต่ถ้าสังเกตขึ้นๆ จะเห็นความต่างกันว่า เวทนาซึ่งเกิดกับอกุศลทั้งหมด หยาบ เป็นสภาพที่กระวนกระวาย มีวิบากที่เป็นทุกข์เดือดร้อน แต่เวทนาที่เป็นกุศลประณีตขึ้นตามขั้นจนกระทั่งถึงเวทนาที่ไม่มีอาสวะ ซึ่งย่อมละเอียดกว่าเวทนาที่มีอาสวะ ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศล แต่ก็เป็นกุศลที่ยังมีอาสวะอยู่
สำหรับเวทนาใกล้ไกล ก็เป็นการเทียบเคียงว่า เวทนาที่เป็นอกุศลไกลจากเวทนาที่เป็นกุศลและอัพยากตะ
ผิดกันเหลือเกิน คือ ความไกล ลักษณะของความรู้สึก ความสุข ความติด ความพอใจในขณะที่เป็นอกุศล กับลักษณะของความปีติ ความโสมนัส ความยินดี ในกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไกลกันมาก
สำหรับเวทนาที่เป็นอกุศลใกล้กับเวทนาที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นอกุศลใน ภูมิไหน เช่น โลภมูลจิตที่เกิดในกามภูมิ ในมนุษย์ภูมิ เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับ โลภมูลจิตก็เป็นเวทนาที่เป็นอกุศล และโลภมูลจิตที่เกิดกับรูปพรหมบุคคล โลภมูลจิตเป็นอกุศล เวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิตก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเวทนาซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตจะไกลกันโดยภูมิ คือ บุคคลหนึ่งอยู่ในกามภูมิ อีก บุคคลหนึ่งอยู่ในรูปพรหมภูมิ และโลภมูลจิตเกิด เวทนาที่เป็นอกุศลก็ใกล้กับเวทนา ที่เป็นอกุศลด้วยกัน แม้ว่าจะต่างภูมิกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบเวทนาที่เป็นอกุศล ย่อมไกลกับเวทนาที่เป็นกุศล แต่เวทนาที่เป็นอกุศลใกล้กับเวทนาที่เป็นอกุศล และเวทนาที่เป็นกุศลก็ใกล้กับเวทนาที่เป็นกุศล
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ลักษณะต่างกัน ผิดกันมาก ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันหมายความว่า ยังไม่รู้ความต่าง
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. แต่ว่าสุขเวทนาที่เกิดร่วมกับสังขารขันธ์ที่เป็นอกุศล สุขนั้นเป็นความเศร้าหมอง เป็นความกระวนกระวาย เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์
ถ. กุศลที่ทำเสร็จแล้วก็เป็นโสมนัสเวทนา อกุศลที่เกิดขึ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เมื่อได้รับสมความปรารถนาแล้ว โสมนัสเวทนาก็เกิดขึ้น ก็เป็นโสมนัสเหมือนกัน
สุ. ไม่เหมือน ถ้าพิจารณาจะทราบว่า ในขณะที่เป็นโลภะ กำลังติด กำลังสนุก กำลังพอใจอย่างยิ่งที่กล่าวว่าเป็นสุข แท้ที่จริงแล้วกระวนกระวาย ขณะที่กำลังติด กระวนกระวายมาก ห่างไกลกับเวทนาที่เป็นกุศล
ถ. ต่างกันอย่างไร กุศลสุขอย่างไร อกุศลสุขอย่างไร
สุ. เคยสุขเวลาเป็นกุศลไหม เคยสุขเวลาเป็นอกุศลไหม เหมือนกันหรือต่างกัน
ถ. อาจารย์ว่าต่างกัน แต่ผมว่าเหมือนกัน
สุ. จริงหรือ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ไม่มีทางที่จะเหมือนกัน เป็นเพราะไม่ได้สังเกตลักษณะที่กระวนกระวายในขณะที่ติดด้วยความสุขนั้น ซึ่งไม่สงบเลย
ถ. ต่างกันที่กุศลปล่อยวาง แต่อกุศลเข้าไปติด
สุ. ความพอใจ ความตื่นเต้น ความยึด ในขณะนั้นเป็นความ กระวนกระวาย ไม่สงบ แม้จะพอใจและรู้สึกเป็นสุข แต่ไม่สงบ
เพราะฉะนั้น ลองใหม่ พิจารณาดูว่าจะเหมือนหรือไม่เหมือน เพราะว่าลักษณะของเวทนาที่เป็นอกุศลไกลจากเวทนาที่เป็นกุศล เวทนาที่เกิดกับโลภะใกล้กับเวทนาที่เกิดกับโลภะ แต่ไกลเวทนาที่เกิดกับโทสะ
พอสังเกตได้ว่า จริง ใช่ไหม โลภะทางตา โลภะทางหู เวทนาที่เกิดกับโลภะใกล้กับเวทนาที่เกิดกับโลภะ มีลักษณะที่คล้ายกัน เป็นความพอใจ เป็นความติด เป็นความกระวนกระวายเช่นเดียวกัน เพียงแต่ในวัตถุอารมณ์ที่ต่างกัน แต่ลักษณะของความพอใจเหมือนกัน ลักษณะของเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภะทางตา ลักษณะของเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภะทางหู ลักษณะของเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภะทางจมูก ลักษณะของเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภะทางลิ้น ลักษณะของเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภะทางกาย ใกล้กับเวทนาที่เกิดกับโลภะทางหนึ่งทางใดก็ตาม เหมือนๆ กัน คล้ายๆ กัน ใกล้ๆ กัน เพราะว่ามีความกระวนกระวาย อย่าลืม เป็นความติด เป็นความสุขที่กระวนกระวาย ถ้าไม่เคยสังเกต ก็ลองสังเกตเพื่อจะได้เห็นว่า ต่างกับเวทนาที่เป็นกุศล
สำหรับเวทนาที่เกิดกับโลภะ ใกล้กับเวทนาที่เกิดกับโลภะ ไกลเวทนาที่เกิดกับโทสะ อันนี้ทุกคนซาบซึ้ง ใช่ไหม ความรู้สึกที่เกิดกับโลภมูลจิต กับความรู้สึกที่เกิดกับโทสมูลจิต ต่างกันแสนไกล
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๖๑ – ๑๐๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080