แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
ครั้งที่ ๑๐๗๒
สาระสำคัญ
คำถามทบทวน (ปรมัตถธรรม ๔ กับ ขันธ์ ๕) คำถามทบทวนเฉพาะเรื่องจิต เรื่องมงคลตื่นข่าว และเรื่องความมั่นคงในกรรมและ ผลของกรรม
สุ. อัพยากตธรรมเป็นสังขารขันธ์ใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์ก็มี ไม่เป็นสังขารขันธ์ก็มี
สุ. อะไรที่เป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง รูปเป็นสังขารขันธ์
สุ. ตอนนี้งงแล้ว รูปเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้ ต้องมั่นคงและต้องคิด ช้าๆ ก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะอาจจะเป็นเรื่องปวดศีรษะ แต่ธรรมต้องเป็นเรื่องตรง ยิ่งคิดละเอียดเท่าไร ยิ่งไม่หลงลืม ที่ว่าอัพยากตธรรมเป็นสังขารขันธ์ใช่ไหม อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง วิบากจิต กิริยาจิต และเจตสิกที่ประกอบ
สุ. เอาจิตเข้ามาเป็นสังขารขันธ์อีก ต้องกันออกไป เพราะจิตไม่ใช่ สังขารขันธ์ อีกครั้งหนึ่ง อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง
ผู้ฟัง ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต
สุ. ถามถึงสังขารขันธ์ จิตเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้ อาจจะน่าเบื่อและน่างง แต่แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น วันนี้ขอให้คิดเรื่องนี้ ทบทวน กลับไปถึงบ้านคิดอีก ขอให้เห็นประโยชน์ของการที่กุศลจิตจะเกิดแทนที่จะเป็นอกุศล และจะทำให้เข้าใจธรรมประการต่อๆ ไปโดยที่ไม่หลงลืม
อีกครั้งหนึ่ง อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง เจาะจงด้วยว่า อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง ได้แก่ เจตสิกที่ประกอบในวิบากจิตและกิริยาจิต
สุ. เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า วิบากเจตสิก ๕๐ และกิริยาเจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ก็ได้ เพราะเข้าใจกันอยู่แล้วว่าเฉพาะเจตสิก ๕๐ เท่านั้นที่เป็น สังขารขันธ์ แต่เมื่อเป็นสังขารขันธ์ที่เป็นอัพยากตะ ก็ต้องหมายเฉพาะที่เป็นวิบากเจตสิก ๕๐ และกิริยาเจตสิก ๕๐ เท่านั้น
สังขารขันธ์เป็นกุศลใช่ไหม
ผู้ฟัง กุศลธรรมก็มี ไม่เป็นก็มี
สุ. ถ้าศึกษาละเอียดต่อไปจะทราบว่า สังขารขันธ์ คือ กุศลเจตสิก ๒๕ เป็นกุศลธรรม
สัญญาขันธ์เป็นอกุศลธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นอกุศลธรรมก็ได้ ไม่เป็นก็ได้
สุ. สัญญาขันธ์ที่เกิดกับอกุศลจิต เป็นอกุศลธรรม
กิริยาจิตเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นวิญญาณขันธ์
สุ. เจตสิกที่เป็นชาติกิริยาเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์
สุ. เจตสิกที่เป็นชาติกิริยาเป็นขันธ์อะไร
ถ้าไม่กล่าวถึงธรรมเหล่านี้ ก็เข้าใจ พูดถึงเรื่องอัพยากตธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรม พูดถึงเรื่องขันธ์ ๕ พูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม ๔ พูดถึงเรื่องสังขารธรรม วิสังขารธรรม หรือสังขตธรรม อสังขตธรรม ก็เข้าใจ พูดไปเรื่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจะต้องคิด ก็ยิ่งจะทำให้เข้าใจและไม่ลืม ข้อสำคัญ คือ ไม่ลืมที่จะต้องสงเคราะห์กันด้วย
เจตสิกที่เป็นชาติกิริยาเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
สุ. วิญญาณขันธ์มีกี่ชาติ
ผู้ฟัง มี ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา
สุ. อกุศลจิตเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง เป็นอกุศลชาติ
สุ. อกุศลจิตในรูปพรหมภูมิเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง อกุศลชาติ
สุ. อกุศลจิตในอรูปพรหมภูมิเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง อกุศลชาติ
สุ. ต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน โลภมูลจิตในโลกมนุษย์ โลภมูลจิตในโลกสวรรค์ โลภมูลจิตในรูปพรหมภูมิ โลภมูลจิตในอรูปพรหมภูมิ ก็เป็นอกุศล คือ โลภมูลจิตนั่นเอง จะเปลี่ยนชาติไม่ได้เลยไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ก็ยังคงเป็นชาติอกุศล
อกุศลวิบากจิตเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง วิญญาณขันธ์
สุ. อัพยากตธรรมเป็นจิตใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นจิตก็มี ไม่ใช่จิตก็มี
สุ. อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่จิต คือ รูป เจตสิก และนิพพาน
จิตเป็นอัพยากตธรรมใช่ไหม
ผู้ฟัง เป็นก็มี ไม่เป็นก็มี
สุ. คือ อกุศลจิตและกุศลจิตไม่ใช่อัพยากตธรรม
อัพยากตธรรมเป็นชาติกิริยาใช่ไหม
ต้องคิดถึงว่าอัพยากตธรรมมีอะไรบ้าง อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่กิริยา ได้แก่ รูปและนิพพาน วิบากจิตและวิบากเจตสิก เพราะฉะนั้น เฉพาะกิริยาจิตและกิริยาเจตสิกเท่านั้นที่เป็นอัพยากตธรรมที่เป็นชาติกิริยา
อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่นามธรรมมีไหม
ผู้ฟัง มี คือ รูปทั้งหมด
สุ. นามธรรมที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม
ผู้ฟัง มี ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และเจตสิกที่ประกอบ
สุ. ขันธ์ที่ไม่ใช่กุศลมีไหม
ผู้ฟัง มี ได้แก่ รูปขันธ์ และอกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต กับเจตสิก ที่ประกอบ
สุ. ถ้าถามถึงขันธ์ก็ตอบได้ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอกุศล วิบาก กิริยา เพราะถามว่า ขันธ์ที่ไม่ใช่กุศล ก็ต้องได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา และรูปขันธ์ทั้งหมด
กุศลที่ไม่ใช่ขันธ์มีไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
สุ. รูปที่เป็นวิบากมีไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
สุ. ธรรมที่เป็นวิบากต้องเป็นนามธรรมเท่านั้น ต้องเป็นจิต เจตสิก ธรรมอื่น เช่น รูป นิพพาน เป็นวิบากไม่ได้ เพราะธรรมที่เป็นธรรมที่ดี คือ กุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก ซึ่งได้แก่ จิตและเจตสิก
ธรรมที่เป็นอกุศล คือ อกุศลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก คือ จิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นวิบากไม่มี รูปที่เป็นผลของกรรมมี แต่รูปที่เป็นผลของกรรมนั้นไม่ใช่วิบาก คำว่า วิบาก เคยเรียนให้ทราบแล้วว่า หมายเฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้น
ปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม
ผู้ฟัง มี
สุ. ปรมัตถธรรมกว้าง มีทั้งจิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่อัพยากตะก็มี คือ กุศลจิตและเจตสิก อกุศลจิตและเจตสิก
อารมณ์เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นอัพยากตะ
ผู้ฟัง อารมณ์เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี
สุ. เพราะอารมณ์เป็นทุกอย่างที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ปรมัตถธรรม ๔ ถ้าไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ ไม่สามารถที่จะปรากฏเป็นอารมณ์ได้ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง แต่ที่ทรงแสดงรูปทั้งหมด จิตทุกประเภท เจตสิก ทุกชนิด และนิพพาน เพราะเป็นธรรมที่สามารถปรากฏให้รู้ได้ เป็นอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น อารมณ์ต้องเป็นสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่เว้น เพราะฉะนั้น เมื่อจำแนกแล้ว อารมณ์ที่เป็นกุศลก็มี ได้แก่ กุศลจิตและกุศลเจตสิก อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็มี ได้แก่ อกุศลจิตและอกุศลเจตสิก ส่วนอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่กุศลและอกุศลก็เป็น อัพยากตะ
ผู้ฟัง ผมมีเรื่องที่จะเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบเพื่อเป็นประโยชน์ ตามที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายเรื่องมงคลตื่นข่าว และเรื่องความหนักแน่นมั่นคงในกรรมและ ผลของกรรม คือ มีนักศึกษาธรรมท่านหนึ่ง ท่านเป็นทหารปฏิบัติราชการที่อำเภอ หล่มสัก ด้านชายแดนเพชรบูรณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ ก.ค. ประมาณสี่ทุ่มครึ่ง ท่านผู้นี้ได้ออกตรวจด่านกักรถในเส้นทางระหว่างหล่มศักดิ์ – พิษณุโลก โดยนั่งรถดัทสันปิคอัพ ท่านผู้นี้นั่งคู่มากับคนขับ และมีผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ข้างหลัง ขณะนั้นฝนตกหนัก รถเสียหลักพุ่งชนเหล็กกั้นข้างทาง พลิกคว่ำ ตกเหวซึ่งลึกประมาณ ๖๐ เมตร แต่รถตกไปได้ประมาณ ๒๐ เมตร ก็ไปค้างอยู่ที่หินก้อนใหญ่ แต่ก่อนที่จะหยุดที่หินก้อนนั้น รถได้ตีลังกาและกระบะท้ายไปฟาดต้นไม้ ต้นไม้นั้นไม่หัก โน้มเด้งกลับ ทำให้รถตั้งอยู่ในสภาพเดิม เมื่อรถจอดนิ่งสนิทแล้ว ปรากฏว่าทุกคนไม่หมดสติ และไม่สลบ มีการถามกันและก็คลานขึ้นมา
หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมมีโอกาสสนทนาด้วย ก็ได้ทราบความจริงว่า ในขณะที่ตัวเองพอรู้สึกตัว ก็จับดูร่างกายบางส่วนว่าส่วนไหนหมดความรู้สึกบ้าง ก็รู้สึกว่า ทุกส่วนปกติดี ผมก็ถามว่า ในขณะนั้นคิดถึงอะไรบ้าง เขาก็ตอบว่า ในขณะที่มีความรู้สึกตัว เขานึกถึงท่านอาจารย์สุจินต์เป็นคนแรกว่า ถ้าเขาต้องพิการไป เขาจะรู้สึกดีใจมาก เพราะต่อไปนี้เขาจะได้มีเวลาศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมต่อไป หรือแม้จะต้องตายก็ขอให้มีสติระลึกถึงกรรมและผลของกรรม เขาเดินขึ้นจากเหวกับเพื่อนทั้งๆ ที่บาดเจ็บ ใช้เวลาเดินทางมาถึงด่านระยะทาง ๑ กม. ประมาณชั่วโมงครึ่ง หลังจากเข้าโรงพยาบาลเรียบร้อย ก็มีหน่วยกู้ภัยไปเอารถขึ้นมา ทุกคนเห็นสภาพของรถที่แหลกทั้งคันแล้วก็คิดว่าไม่น่าจะมีคนรอดชีวิต ทำให้ผู้รู้เหตุการณ์อยากจะทราบว่า ท่านผู้นี้มีของดีอะไรหรือเปล่า ถามท่านว่า ท่านพึ่งอะไร ท่านก็ตอบว่า ท่านพึ่งพระธรรม คำสอน
เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงที่ท่านอาจารย์เคยบรรยายคำว่า มงคลตื่นข่าว ทำให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านผู้นี้ เขาไม่มีอะไรเลยแม้แต่เหรียญ ๑ เหรียญ แต่ก็รอดตายหรือความวิบัติทั้งหมดได้ เมื่อฟังแล้วทำให้ผมคิดได้ว่า ความมั่นคง ความหนักแน่น ความไม่เห็นแก่ร่างกาย หรือความเจ็บป่วย อาจจะเป็นผลทำให้เขารอดพ้นจากอันตรายได้
สุ. ขอบพระคุณ ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า เพราะท่านผู้นี้ที่ได้รับอุบัติเหตุเป็นผู้ที่สนใจฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านมีหนังสือและเทปติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ ดิฉันได้เรียนถามว่า ใช้เวลาที่ไหนสำหรับฟังเทป ท่านก็บอกว่า ในระหว่างที่นั่งรถเดินทางไปที่ต่างๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นเวลาฟังเทปของท่าน เพราะฉะนั้น ในรถคันที่ประสบอุบัติเหตุ เทปก็แตกกระจายอยู่แถวนั้น แต่มีกุศลจิตที่มั่นคงเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม ซึ่งก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ท่านเกิดนึกขึ้นมาว่า ท่านมีอายุเท่ากับพี่ชายของท่านที่เสียชีวิต ท่านคงจะมีอุบัติเหตุ แต่คงจะไม่เป็นไร และทันทีนั้นก็เกิดอุบัติเหตุ แต่ท่านเป็นผู้มีสติ และเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศลธรรม
ในคราวก่อนเป็นการทบทวนสิ่งที่ได้รับฟังแล้ว ก่อนที่จะศึกษาต่อไป สำหรับวันนี้ขอทบทวนเพิ่มเติมอีกไม่มาก ไม่ทราบว่าจะมีผู้ฟังที่เป็นตัวแทนไหม
นิพพานเป็นโลกุตตรจิตใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่
สุ. เพราะนิพพานไม่ใช่จิต นิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้อารมณ์ นิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับ เพราะฉะนั้น นิพพานไม่ใช่ โลกุตตรจิต
โลกุตตรจิตเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นวิญญาณขันธ์
สุ. ถูกต้อง จิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโลกียจิต ซึ่งไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือโลกุตตรจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็เป็นวิญญาณขันธ์
นิพพานเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง ขันธวิมุตติ
สุ. ไม่ใช่ขันธ์ ภาษาบาลีใช้คำว่า ขันธวิมุตติ
โลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือวิสังขาร
ผู้ฟัง เป็นสังขารธรรม
สุ. สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป เป็น สังขารธรรม
นิพพานเป็นสังขารธรรมหรือวิสังขารธรรม
ผู้ฟัง เป็นวิสังขารธรรม
สุ. จิตภูมิไหนมี ๔ ชาติ
ผู้ฟัง ในกามภูมิ
สุ. กามาวจรจิตมี ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี
เวทนาเจตสิกเป็นภูมิอะไร
ผู้ฟัง เป็นภูมิทั้ง ๔
สุ. เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น เวทนาที่เกิดกับกามาวจรจิตก็เป็นกามภูมิ เวทนาที่เกิดกับรูปาวจรจิตก็เป็นรูปภูมิ เวทนาที่เกิดกับอรูปาวจรจิต ก็เป็นอรูปภูมิ เวทนาที่เกิดกับโลกุตตรจิตก็เป็นโลกุตตรภูมิ
สัญญาเจตสิกมีกี่ภูมิ
ผู้ฟัง มี ๔ ภูมิเหมือนกัน
สุ. เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง
โลกุตตรจิตมีเวทนาไหม
ผู้ฟัง มี
สุ. นิพพานมีเวทนาไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
สุ. เพราะอะไร
ผู้ฟัง นิพพานไม่ใช่จิต
สุ. เพราะนิพพานไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก
เจตสิกอะไรไม่มีเวทนาเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง เวทนาเจตสิก
สุ. เวทนาเจตสิกไม่มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกอื่นทุกดวงเกิดร่วมกับเวทนาเจตสิก ถูกไหม
ผู้ฟัง ถูก
สุ. สัญญาเจตสิกเป็นเหตุ หรือนเหตุ อเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง เป็นนเหตุ
สุ. เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง เป็นได้ทั้งสอง
สุ. เวทนาขันธ์เป็นเหตุ หรือนเหตุ
ผู้ฟัง เป็นนเหตุ
สุ. เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง เป็นได้ทั้งสอง
สุ. โลภเจตสิกเป็นเหตุ หรือนเหตุ
ผู้ฟัง เป็นเหตุ
สุ. เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง เป็นสเหตุกะ
สุ. เพราะทุกครั้งที่โลภเจตสิกเกิด จะต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกไม่มีวันจะเป็นอเหตุกะ ไม่ว่าเกิดขึ้นขณะใดต้องมีอีกเหตุหนึ่ง คือ โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกจึงเป็นสเหตุกะ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๗๑ – ๑๐๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080