แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075


    ครั้งที่ ๑๐๗๕

    สาระสำคัญ

    ลักขณาทิจตุกะ ของ ผัสสะ

    อปริชานสูตรที่ ๒ (รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ)

    ปุตตมังสสูตร (อาหาร ๔ อย่าง)


    ที่ชื่อว่าผัสสะ เพราะกระทบอารมณ์

    ผัสสะ มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ ผุสนลกฺขโณ

    มีการประสานอารมณ์ วัตถุ วิญญาณ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ สํฆฏนรโส

    มีการประชุมพร้อมกันเป็นผลปรากฏ เป็นปัจจุปัฏฐาน สนฺนิปาตปจฺจุปฏฺฐาโน

    มีอารมณ์ที่มาสู่คลอง คือ อารมณ์ที่ปรากฏ เป็นปทัฏฐาน อาปาถคตวิสยปทฏฺฐาโน

    นี่คือ ลักษณะของผัสสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์เป็นลักษณะ

    กำลังนอนหลับ ผัสสเจตสิกเกิดหรือเปล่า นอนหลับสนิท เกิดไหม เกิด

    ไม่ว่าจิตใดจะรู้อารมณ์หรือไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ก็ตาม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะปราศจากผัสสเจตสิกไม่ได้เลย เวลาที่เป็นภวังคจิต ผัสสเจตสิกก็กระทบอารมณ์ของภวังคจิต แต่เวลาที่ตื่นลืมตาขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏ ผัสสะไม่ได้กระทบอารมณ์ของภวังคจิตแล้ว แต่ผัสสะกระทบกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจิตเห็นจะเกิดขึ้นที่ไหน ในโลกมนุษย์ ในสวรรค์ ในนรก ในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ ผัสสเจตสิกก็มีลักษณะอย่างเดียว คือ กระทบอารมณ์

    มีการประสานอารมณ์ วัตถุ วิญญาณ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า

    เหมือนกับแพะ ๒ ตัวชนกัน พึงเห็นจักษุเหมือนแพะตัวที่หนึ่ง พึงเห็นรูปเหมือนแพะตัวที่สอง พึงเห็นผัสสะเหมือนการชนกันของแพะทั้ง ๒ ตัวนั้น

    จักขุปสาทเกิดและดับไป เร็ว ถ้าเทียบกับจิตจึงจะเห็นว่า ช้ากว่าจิตเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีใครสามารถประจักษ์ความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจักขุปสาทได้ แม้ว่าจะเกิดดับช้ากว่าจิต ซึ่งขณะที่จักขุปสาทเกิดและยังไม่ดับ มีอารมณ์ คือ รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทนั้น และรูปารมณ์นั้นยังไม่ดับ ขณะใดที่ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์นั้นขณะนั้นจิตเห็นจึงเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผัสสะไม่ใช่จักขุปสาท และไม่ใช่รูปารมณ์ แต่เป็นสภาพนามธรรมที่กระทบกับรูปารมณ์พร้อมกับจิตเห็น

    อุปมาอีกอย่างหนึ่ง คือ

    เหมือนฝ่ามือ ๒ ข้างประสานกัน พึงเห็นจักษุเหมือนฝ่ามือข้างหนึ่ง พึงเห็นรูปเหมือนฝ่ามืออีกข้างหนึ่ง พึงเห็นผัสสะเหมือนการที่ฝ่ามือทั้ง ๒ ข้างนั้นประสานกัน

    เวลาที่ฝ่ามือประสานกัน เห็นแต่ฝ่ามือ ๒ ข้าง ใช่ไหม ซึ่งฝ่ามือ ๒ ข้างไม่ได้แยกกัน ขณะใดที่ฝ่ามือ ๒ ข้างประสานกัน อาการที่ประสานกันนั้น คือ ลักษณะของผัสสะโดยอุปมา เห็นแต่มือ แต่ว่าขณะใดที่ประสานกัน อาการที่ประสานกันนั้น คือ กิจของผัสสะ

    ส่วนปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ ชื่อว่ามีการประชุมพร้อมกัน สนฺนิปาตปจฺจุปฏฺฐาโน เป็นปัจจุปัฏฐาน

    คือ การประชุมกันแห่งปัจจัย ๓ ประการ ได้แก่ วัตถุ ๑ อารมณ์ที่ปรากฏ ๑ และวิญญาณที่รู้อารมณ์นั้น ๑ โดยการที่ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อปริชานสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๖๒ มีข้อความที่แสดงถึงลักษณะของผัสสะว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระตำหนักซึ่งมุงด้วยกระเบื้องของ หมู่พระประยูรญาติ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับพักผ่อนอยู่ในที่สงัด ได้ทรงภาษิตธรรมปริยายนี้ว่า อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ

    ที่จะให้รู้ว่ามีผัสสะ ที่จะให้มีอาการปรากฏของผัสสะ ก็ต่อเมื่อมีจักษุและรูป และจักขุวิญญาณ ถ้าไม่มีจักขุ จะมีผัสสะไม่ได้ ถ้าไม่มีรูปกระทบจักขุปสาท ผัสสะก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน แม้ผัสสะเองก็จะต้องอาศัยปัจจัย ถ้าไม่มีจักขุปสาท ผัสสะก็กระทบรูปไม่ได้ ถ้ามีจักขุปสาท แต่ไม่มีรูปกระทบ ผัสสะก็กระทบกับรูปนั้นไม่ได้ และถ้าวิญญาณไม่เกิดขึ้นเห็นในขณะนั้น ผัสสะก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน

    ทุกคนมีจักขุปสาทเกิดดับอยู่เรื่อยๆ จะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม จักขุปสาทตรงกลางตาเกิดขึ้นและดับไปๆ อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าผัสสะไม่กระทบอารมณ์ จักขุวิญญาณไม่เห็น ผัสสะก็เกิดไม่ได้ แม้ว่ามีจักขุปสาท ทุกคนมีจักขุปสาท มี รูปารมณ์ แต่ถ้าผัสสะไม่กระทบอารมณ์ จักขุวิญญาณ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้

    เช่น ในขณะที่ได้ยินเสียง จักขุปสาทรูปก็มี รูปารมณ์ก็มี แต่ผัสสะในขณะนั้นกระทบเสียง จิตจึงได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีจักขุปสาท มีรูปารมณ์ แต่ถ้าผัสสะไม่กระทบรูปารมณ์ จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้

    สภาพธรรมที่ตัวทุกคน แต่เวลาที่จะพิจารณา ต้องพิจารณาว่า ขณะใดซึ่งมีการประชุมพร้อมกันของธรรม ๓ อย่าง คือ วัตถุ อารมณ์ที่กำลังปรากฏ และวิญญาณที่รู้อารมณ์นั้น ขณะนั้นมีผัสสะที่กระทบอารมณ์นั้น จึงทำให้วิญญาณรู้อารมณ์นั้น จึงทำให้อารมณ์นั้นปรากฏ ตามข้อความใน อปริชานสูตรที่ ๒ ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส และอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

    ข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน ตลอดไปจนถึง อาศัยหูและเสียงจึงเกิด โสตวิญญาณ อาศัยจมูกและกลิ่นจึงเกิดฆานวิญญาณ อาศัยลิ้นและรสจึงเกิด ชิวหาวิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะจึงเกิดกายวิญญาณ อาศัยใจและ ธัมมารมณ์จึงเกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการนี้ เป็นผัสสะ

    เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา สำหรับทุกคน ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าปุถุชน ในภูมิใดๆ ทั้งสิ้น

    แต่ข้อความต่อไปมีว่า

    ... เพราะตัณหานั้นแลดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ

    ทรงแสดงเรื่องของผัสสะตลอดไปจนกระทั่งถึงปฏิจจสมุปปาท และจนกระทั่งถึงการที่จะดับการเกิดขึ้นของธรรมซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งสามารถจะดับได้ ถ้าปัญญารู้สภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง

    สำหรับปัจจุปัฏฐาน มี ๒ อย่าง คือ

    อีกประการหนึ่ง อนึ่ง ผัสสะ ที่ชื่อว่ามีเวทนาเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือ เป็นอาการที่ปรากฏ หรือว่าเป็นผลของผัสสะ) เพราะเหตุว่าผัสสะย่อมยังเวทนาให้ปรากฏ คือ ให้เกิดขึ้น

    ข้อความต่อไป แสดงให้ชัดเจนขึ้นอีกว่า

    ผัสสะย่อมยังเวทนาให้ปรากฏในจิตที่ตนเองเกิดร่วมด้วย

    เวลาที่ผัสสะกระทบอารมณ์พร้อมกับจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เวทนาก็เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของผัสสะและจิตนั้น เพราะ ผัสสะย่อมยังเวทนาให้ปรากฏในจิตที่ตนเองเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น จะบอกว่า ผัสสะกระทบจิตดวงหนึ่ง เวทนาไปเกิดกับจิตอีกดวงหนึ่ง และสัญญาไปจำกับจิตอีกดวงหนึ่งไม่ได้ เพราะสัมปยุตตธรรมเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ และดับพร้อมกันในภังคขณะ

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาว่า

    เหมือนกับไออุ่นที่อาศัยอยู่ในธาตุ คือ ครั่ง ย่อมทำให้เกิดความอ่อนในครั่ง แม้เพราะความร้อนภายนอกเป็นปัจจัย แต่ไม่ทำให้เกิดความอ่อนในความร้อน คือ ถ่านที่ปราศจากเปลวภายนอก แม้จะเป็นปัจจัยของตน

    ถ้าเอาความร้อน คือ เอาถ่านไปลนครั่ง ครั่งจะอ่อน เพราะไออุ่นที่อาศัยอยู่ในครั่ง เพราะฉะนั้น ไออุ่นที่อาศัยอยู่ในครั่งย่อมทำให้เกิดความอ่อนในครั่ง แม้ว่าความอ่อนในครั่งนั้นจะเกิดเพราะอาศัยไฟที่เกิดจากถ่านข้างนอก แต่ไออุ่นที่อาศัยอยู่ในธาตุ คือ ครั่ง ไม่ทำให้เกิดความอ่อนในความร้อน คือ ถ่านที่ปราศจากเปลว ซึ่งเป็นปัจจัยให้ไออุ่นนั้นทำให้ครั่งนั้นอ่อน เพราะฉะนั้น ผัสสะกระทบกับอารมณ์ใด ก็ทำให้เกิดเวทนาในจิตที่ตนเองเกิดร่วมด้วย

    สำหรับผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปุตตมังสสูตร มีข้อความเรื่องผัสสาหารและคำอุปมา

    ถ้าอุปมาปราสาท ผัสสะก็เหมือนกับเสา ถ้าไม่มีเสา หน้าต่าง ขื่อ แป ทั้งหลายก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผัสสะโดยปัจจัย เป็นอาหารปัจจัย เพราะนำมาซึ่งผลต่างๆ ได้แก่ เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำ สังขารคือความยินดี ยินร้าย กุศลหรืออกุศลต่างๆ และวิญญาณคือสภาพที่รู้อารมณ์ต่างๆ

    ข้อความใน ปุตตมังสสูตร มีว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ ๑. กวฬีการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒. ผัสสาหาร (ได้แก่ ผัสสเจตสิก) ๓. มโนสัญเจตนาหาร (ได้แก่ เจตนากรรม) ๔. วิญญาณาหาร (ได้แก่ ปฏิสนธิจิตและจิตอื่นๆ) ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล เพื่อดำรงอยู่แห่งสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ

    โดยมากท่านผู้ฟังรู้จักอาหารอย่างเดียว คือ อาหารที่รับประทาน ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์โลกที่เกิดมาแล้วดำรงชีวิตอยู่ แต่การที่สัตว์ คือ แต่ละบุคคล ดำรงชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ ไม่ใช่เพราะอาหารที่บริโภคเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นอาหารปัจจัยว่า มี ๔ อย่าง

    และใครกำลังแสวงหาที่เกิด ใครไม่กำลังแสวงหาที่เกิด บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านไม่ได้แสวงหา ท่านไม่ได้คิดถึงเรื่องของที่เกิดเลย แต่การที่ท่านมีชีวิตไปวันหนึ่งๆ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง สนุกบ้าง ทำกิจธุรการงานต่างๆ บ้าง ให้ทราบว่า ขณะนั้นๆ กำลังแสวงหาที่เกิด เพราะยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกิเลส ยังมีกรรม ยังมีความคิด ยังมีสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งกรรมเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง จึงเป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นหลังจุติ เพราะฉะนั้น อาหาร ๔ เหล่านี้แล เพื่อดำรงอยู่แห่งสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กวฬีการาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามี ๒ คน ถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยๆ น่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง เมื่อขณะทั้งสองคนกำลังเดินไปในทางกันดารอยู่ เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้ ครั้งนั้น เขาทั้งสองคนคิด ตกลงกันอย่างนี้ว่า เสบียงเดินทางของเราทั้งสองอันใดแลมีอยู่เล็กน้อย เสบียงเดินทางอันนั้นก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ทางกันดารนี้ยังเหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารักน่าพอใจคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตรจะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่

    ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้นก็ฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารักน่าพอใจนั้นเสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตรพลาง ค่อนอกพลางรำพันว่า ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ดังนี้ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นอย่างไร คือว่า เขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนอง หรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดาร่างกาย ใช่ไหม

    ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

    หามิได้ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า

    ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม

    ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

    ใช่ พระเจ้าข้า

    พระองค์จึงตรัสว่า

    ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็นกวฬีการาหารว่า [เปรียบด้วยเนื้อบุตร] ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬีการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่ เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี ฯ

    สติปัฏฐานหรือเปล่า เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬีการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ

    เวลารับประทานอาหาร ส่วนมากจิตอะไร เพราะว่าทุกท่านปรุงอาหารตามที่ท่านชอบ แสวงหาอาหารรสที่พอใจ เพราะฉะนั้น เวลารับประทานอาหาร จิตอะไร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นโลภมูลจิต ซึ่งต้องรู้ เพราะ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ กวฬีการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๗๑ – ๑๐๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564