แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026


    ครั้งที่ ๑๐๒๖

    สาระสำคัญ

    ความฝันทั้งหมดคือ การคิดนึก

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานคืออย่างไร

    อบรมเจริญปัญญา ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นจากการฟัง

    อัฏฐสาลินี แสดงลักษณะเป็นต้นของ จักขุ


    ข้อความต่อไปมีว่า

    นี้เรียกว่า จักขุธาตุบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นสภาพว่างเปล่า และไม่ใช่สัตว์

    นี้เรียกว่า จักขุนทรีย์บ้าง ด้วยอรรถว่า ให้กระทำความหมายว่า เป็นใหญ่ ในลักษณะ คือ การเห็น

    นี้เรียกว่า โลกบ้าง ด้วยอรรถว่า ต้องแตกย่อยยับ

    นี้เรียกว่า ทวารบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นเครื่องเข้าไป

    นี้เรียกว่า สมุทรบ้าง ด้วยอรรถว่า อันใครๆ พึงให้เต็มไม่ได้

    นี้เรียกว่า ปัณฑระบ้าง ด้วยอรรถว่า บริสุทธิ์

    นี้เรียกว่า เขตบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นที่เกิดมากมายแห่งธรรม มีผัสสะเป็นต้น

    นี้เรียกว่า วัตถุบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งธรรม มีผัสสะเป็นต้น เหล่านั้นแหละ

    นี้เรียกว่า เนตรบ้าง ด้วยอรรถว่า ชี้ให้เห็นที่เรียบและที่ขรุขระนำร่างกายไป

    นี้เรียกว่า นัยนะบ้าง ด้วยอรรถนั้นแหละ

    นี้เรียกว่า ฝั่งนี้บ้าง ด้วยอรรถว่า นับเนื่องในกายของตน

    นี้เรียกว่า บ้านว่างบ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นของสาธารณะแก่สัตว์ส่วนมาก และด้วยอรรถว่า หาเจ้าของมิได้

    . จักขุวิญญาณกระทบกับรูปารมณ์ จึงเกิดการเห็น ใช่ไหม

    สุ. ขณะนี้ที่กำลังเห็น

    . ขณะที่ทำสติปัฏฐาน ระลึกรู้ถึงสภาพที่ปรากฏในขณะนั้นว่า ลมหายใจเข้าออกทางจมูก ทั้งที่เราหลับตาก็เห็นสี หรือภาพนิมิตอะไรต่างๆ การเห็นเช่นนี้เป็นเรื่องของจักขุวิญญาณได้หรือไม่ แต่เพราะหลับตา จักขุวิญญาณไม่ได้กระทบกับ รูปารมณ์ ภาพที่เกิดเช่นนี้ เป็นจิตเห็นหรืออะไร

    สุ. เวลาที่ฝัน ซึ่งก็ฝันกันทุกคนทุกคืน เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องนั้น ควรที่จะเข้าใจเรื่องตามปกติ คือ ปกติไม่ได้ทำสมาธิกำหนดลมหายใจ ไม่ได้มีการเห็นสิ่งต่างๆ พิเศษแปลกไปจากปกติ ใช่ไหม ควรที่จะพูดถึงชีวิตปกติประจำวันก่อนว่า ในขณะที่กำลังเห็นอย่างในขณะนี้ กับในขณะที่กำลังฝันเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งทุกคนก็ฝันกันทุกคืน ในขณะที่กำลังฝันอย่างนั้น เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า

    . หลับไปแล้ว จะเห็นได้อย่างไร

    สุ. ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ใช่ไหม

    . ไม่ใช่

    สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะไม่ทราบเลยว่า ความฝันทั้งหมด คือ การคิดนึกถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งเห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น และกระทบสัมผัสทางกายที่ผ่านมาแล้วในวันหนึ่งๆ แต่เพราะเยื่อใยที่ยังไม่หมด ไม่เคยมีใครหมดเยื่อใยในสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ได้เห็นแล้ว เพราะถึงเห็นแล้วก็ยังคิดถึงอีก ในวันหนึ่งๆ คิดถึงสิ่งต่างๆ มากมาย แม้ว่ากำลังนั่งและเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ใจก็คิดถึงอย่างอื่น

    . หมายความว่า การเห็นภาพต่างๆ ในขณะที่ทำสติปัฏฐานนั้น เป็นสิ่งที่ยกยอดมาจากการเห็นประจำวัน ใช่ไหม

    สุ. เกิดจากการสะสมของจิตซึ่งประสบพบกับสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเจตสิกต่างๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น

    สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำอย่างไรจึงจะหายไปได้ หายจากภาพที่เห็นไปได้

    สุ. เวลานี้ไม่เห็นแล้ว ไม่ต้องทำอะไรก็ไม่ได้เห็นสิ่งนั้น เพราะกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    . ผมหมายถึงสีต่างๆ ที่ปรากฏในขณะที่เราหลับตาทำสติปัฏฐาน

    สุ. ขอประทานโทษ นั่นไม่ใช่ทำสติปัฏฐานแน่

    . ถ้าเช่นนั้น ทำอะไร

    สุ. ทำอะไรที่มีอะไรปรากฏ ซึ่งไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางตาในขณะนี้

    . ระลึกรู้ว่า ลมหายใจเข้าออกที่ผ่านจมูก ผ่านเพดานไป

    สุ. ขอประทานโทษ เวลานี้ทางตากำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางหูกำลังได้ยิน สติปัฏฐานคืออย่างไร

    . ผมหมายถึงในขณะที่หลับตา

    สุ. ไม่ต้องหลับ ถ้าจะเข้าใจสติปัฏฐาน ก็ในขณะที่กำลังเห็นนี่แหละ สติปัฏฐานคืออย่างไร

    . ทำได้ทั้ง ๒ วิธี ใช่ไหม อาจารย์เคยบอกว่า สติปัฏฐานนี้กำหนดลมหายใจเข้าออกทางจมูก

    สุ. สติปัฏฐานมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สติปัฏฐานไม่มีการเจาะจง ไม่มีการเลือก แต่ว่าขณะใดที่สติเกิด ก็เพราะ ฟังเรื่องสติปัฏฐานจนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ให้สติระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเลือก แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ไม่ได้บอกให้ไปทำอานาปาหรืออะไร ต้องเข้าใจอย่างนี้

    . การกำหนดลมหายใจเข้าออกที่ระลึกรู้ว่า ลมกระทบจมูกหรือเพดาน ก็ตาม เป็นอานาปานสติ ไม่ใช่สติปัฏฐานเช่นนั้นหรือ ที่ผมเรียนถามเพราะผมไม่ทราบข้อแตกต่างของการกำหนดลมหายใจเข้าออก

    สุ. กรุณาฟังอีกครั้งหนึ่ง กำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางตา เข้าใจดีหรือยัง

    . เข้าใจแล้ว

    สุ. ทางหูกำลังได้ยิน สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางจมูกกำลังได้กลิ่น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางลิ้นที่กำลังรับประทานอาหารทุกวัน เช้าบ้าง กลางวันบ้าง เย็นบ้าง สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางกายที่กำลังมีการกระทบสัมผัสขณะหนึ่งขณะใด สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางใจที่กำลังคิดนึกหลังจากที่ได้ยินแล้วในขณะนี้ สติปัฏฐานคืออย่างไร

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจดีแล้วก็จะไม่พูดถึงเรื่องลมหายใจ เพราะอะไร ทำไมจึงไม่พูดเรื่องลมหายใจ ทราบไหมว่าเพราะอะไร เพราะว่าลมที่ปรากฏที่จมูกก็เป็นเพียงลมเช่นเดียวกับลมอื่นที่ปรากฏที่กายส่วนอื่น ไม่ว่าจะกระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมซึ่งมีลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ไม่มีการ มุ่งเจาะจงกำหนดลมหายใจ แต่ถ้าลมหายใจจะเกิดขึ้นปรากฏ และขณะนั้นสติระลึกรู้ ก็ไม่ต่างกับลมที่กระทบกับส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย

    ในขณะนี้ ทุกท่านอาจจะมีการกระทบลมที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย หรือว่าอาจจะมีลมหายใจปรากฏกระทบช่องจมูก ก็เป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่ง ไม่ต้องไปเจาะจงอะไรที่จะให้เกิดเห็นอะไรขึ้น นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    . ไม่ได้จะเจาะจงให้เกิดรูป แต่เกิดขึ้นเอง

    สุ. ขณะนี้ก็ไม่มี ขณะนี้มีไหม

    . หมายความถึงขณะที่หลับตา

    สุ. หลับตาเดี๋ยวนี้ มีไหมเดี๋ยวนี้

    . พูดถึงขณะที่เจริญ

    สุ. ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ มีแต่ของจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทวารตามความเป็นจริง คือ ทางตาสีสันวัณณะกำลังปรากฏ ทางหูเสียงกำลังปรากฏ ทางจมูกกลิ่นกำลังปรากฏ ทางลิ้นรสกำลังปรากฏ ทางกายโผฏฐัพพะ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวกำลังปรากฏ ไม่ต้องตื่นเต้นหวั่นไหวไปกับ ลมหายใจอะไรเลย เพราะเป็นแต่เพียงรูปซึ่งกระทบกับกายปสาทเท่านั้น

    . รูปซึ่งกระทบกาย จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม

    สุ. แล้วแต่ จะทำวิปัสสนา หรือจะอบรมเจริญปัญญา

    . อบรมเจริญปัญญา

    สุ. ถ้าอบรมเจริญปัญญา ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นจากการฟัง ถ้ายังไม่เข้าใจอย่าทำอะไรเป็นอันขาด เพราะต้องทำผิด ในเมื่อยังไม่มีความเข้าใจถ้าทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำไปด้วยความไม่รู้ ก็ทำผิดเพราะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ และรู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เป็นของจริงในขณะนี้

    ถ้าหลับตาในขณะนี้ และสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นของจริงตามปกติ นั่นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่ของจริงตามปกติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องรู้ของจริงที่กำลังปรากฏ

    คราวหน้ายังจะมีลมหายใจอีกไหม

    ถ. ... (ฟังไม่ชัด)

    สุ. ไม่ใช่ทำให้สติระลึก แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด และไม่อยากจะเห็น สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ใช่ไหม จึงได้ถามว่า ทำอย่างไรจะหายไป เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องไปทำอย่างที่เคยทำ แต่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ก็จะไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

    . ปสาทรูปเห็นไม่ได้ กระทบได้ ถามว่า รู้ปสาทรูปได้ไหม

    สุ. แล้วแต่สติจะระลึกได้ไหม

    . สติระลึก แต่ไม่เคยรู้สักที

    สุ. เพราะไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของปสาทรูป

    . ก็ระลึก

    สุ. นั่นคือ นึก ไม่ใช่ระลึกลักษณะของปสาทรูป

    . ลักษณะมีอะไรบ้าง

    สุ. เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะกระทบกับรูปารมณ์

    . อย่างเดียวหรือ

    สุ. แน่นอน

    . ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ระลึกที่ตา เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ปสาทรูป ปัญญาต้องถึงขั้นไหน

    สุ. ตั้งใจเจาะจงอีกแล้ว จะรู้โน่น จะรู้นี่ จะรู้นั่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่สนใจเลย แต่ว่าอยากจะรู้ลักษณะของรูปซึ่งตนสนใจ

    ขอกล่าวถึงลักษณะเป็นต้นของจักขุ เพื่อที่จะได้ทราบว่า จักขุปสาทรูปมีลักษณะอย่างไร ที่กล่าวว่า ระลึก แต่ไม่รู้ เพราะไม่ได้ระลึกลักษณะของจักขุปสาทรูป เพียงแต่นึกถึงลักษณะของจักขุปสาทรูป

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงลักษณะเป็นต้นของจักขุ มีข้อความว่า

    จักขุ มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันควรแก่การกระทบรูป

    ซึ่งหมายความถึงรูปารมณ์ สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ถ้าพูดถึง สีสันวัณณะ อย่าคิดถึงสีแดง สีเขียว สีเหลือง หรือสีอะไร เพราะทรงแสดงศัพท์ไว้หลายศัพท์เพื่อที่จะให้เข้าใจ แม้จะกล่าวว่าแสง หรือแม้จะกล่าวว่าสีก็ตาม ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    เช่น ในขณะนี้ ในห้องนี้มีแสง หรือมีสี แสงมีไหม ถ้าไม่มีก็ไม่เห็น ใช่ไหม แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องนึกถึงแสง หรือว่านึกถึงสี สีเขียว สีดำ สีแดง สีต่างๆ สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ต้องนึกถึงคำว่าแสงหรือสี แต่ไม่ว่าจะเป็นแสงหรือสีก็ตาม ปรากฏทางไหน ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ไม่ปรากฏทางลิ้น ไม่ปรากฏ ทางกาย แต่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัย หรือกังวลจนเกินไปในเรื่องของคำที่เคยใช้หรือว่าเคยเข้าใจ เช่น จะใช้แสงดี หรือจะใช้สีดี หรือว่าจะใช้วัณณะดี หรือจะใช้คำว่ารูปะ หรือรูปารมณ์ ซึ่งหมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็แล้วแต่ว่าวิชาการสาขาไหนจะใช้ศัพท์อะไรก็ตามแต่ แต่สภาพธรรมที่เป็นจริง คือ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เพราะกระทบกับจักขุปสาท

    ด้วยเหตุนี้ จักขุ มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันควรแก่การกระทบรูป (คือ รูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา) เป็นลักษณะบ้าง มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันมีสมุฏฐานแต่กรรม ซึ่งมีความประสงค์จะดูเป็นเหตุ เป็นลักษณะบ้าง

    แสดงจนกระทั่งถึงสมุฏฐานที่ก่อตั้งให้เกิดจักขุปสาทว่า มีสมุฏฐานแต่กรรม ซึ่งมีความประสงค์จะดูเป็นเหตุ เป็นลักษณะ

    ทุกท่านมีความประสงค์ที่จะดู ยังไม่มีความประสงค์ที่จะพ้นจากรูปทั้งหมด ให้เหลือแต่เฉพาะอรูป คือ นามขันธ์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งนามและรูปเกิดขึ้นพร้อมกันและอาศัยกันเป็นไป ไม่มีใครในโลกนี้ ในภูมินี้ ซึ่งเป็นภูมิของขันธ์ ๕ ที่เกิดมาแล้วปราศจากรูป มีแต่เฉพาะนาม เพราะฉะนั้นนามธรรมและรูปธรรมอาศัยกันและกัน เพราะว่าแม้จิตจะเป็นสภาพรู้ แต่ถ้าไม่มี จักขุปสาท ไม่อาศัยจักขุปสาท ก็ไม่เห็นอะไร ถ้าไม่มีรูปคือโสตปสาท ก็ไม่ได้ยินอะไร เพราะฉะนั้น จักขุปสาทขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง โดยเป็น นิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัย เป็นอินทริยะ เพราะเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการที่จะให้เกิดการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    มีความชักมาที่รูปเป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีความเป็นที่รองรับแห่งจักขุวิญญาณ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งประสงค์จะดู เป็นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

    นี่คือลักษณะของจักขุปสาท ซึ่งจะรู้ลักษณะของจักขุปสาทได้ตรงตามความเป็นจริง โดย เป็นปสาทแห่งภูตรูป อันควรแก่การกระทบกับรูปเป็นลักษณะ ไม่ใช่กระทบอย่างอื่น ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีจักขุปสาทซึ่งกระทบกับรูป จึงเป็นรูปที่กระทบได้ แต่เห็นไม่ได้

    จะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ไม่ใช่เพียงคิดนึกตาม แต่ว่าที่ฟังนี้ ก็เพื่อให้เห็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็นก่อน ถ้ายังไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมขณะที่กำลังเห็น ก็อย่าไปเจาะจงที่จะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใด หรือว่านามหนึ่งนามใด

    เช่น บางท่านอาจจะอยากรู้ลักษณะของผัสสเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับ จักขุวิญญาณที่เห็น ซึ่งนั่นก็ยังคงเป็นชื่อ เพราะถึงแม้ว่าสภาพธรรมที่เป็นผัสสะมีจริง แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมก่อน จะรู้ได้อย่างไรว่าลักษณะไหนเป็นผัสสะ เพราะผัสสะไม่ใช่รูปกระทบรูป แต่ผัสสะเป็นนามธรรม เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ทำกิจกระทบอารมณ์ที่จิตเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน หรือ ได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก

    เพราะฉะนั้น ต้องไม่มีการเจาะจงที่จะรู้ลักษณะของนามหนึ่งนามใดโดยเฉพาะ หรือว่ารูปหนึ่งรูปใดโดยเฉพาะ แต่ในขณะที่เห็นนี้ ไม่หลงลืมที่จะพิจารณาน้อมไปที่จะรู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    . ครั้งแรกที่เห็นภาพ เช่น เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง สิ่งแรกที่เห็นอย่างที่อาจารย์บอกว่า ไม่จำเป็นต้องบอกว่า เป็นสี หรือว่าเป็นอะไร เห็นตอนแรกก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม

    สุ. ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น หมายความว่า ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    . และตอนไหนที่แปลว่า ผัสสะ

    สุ. การศึกษาธรรมต้องละเอียด และช้าๆ หน่อย อย่างที่ได้กล่าวมาเมื่อ ครู่นี้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หยุดอยู่เพียงแค่นี้ พิจารณาให้เข้าใจความหมายที่ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จริงไหม

    . จริง

    สุ. ยังไม่ใช่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า ตามความเป็นจริงซึ่งทุกคนข้ามไปว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะลืมความจริงว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง นี่คือการที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงแต่ละทางว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา มี อย่าข้ามไป และอย่าหลงลืมจนกระทั่งยึดถือสัณฐานอาการที่เกิดดับสืบต่อกันปรากฏว่า เป็นวัตถุ สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ควรที่จะมีสติระลึกได้ ยั้งคิดที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ จะไม่รู้ลักษณะของผัสสะ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ผัสสะมีจริง มิฉะนั้นแล้วรูปารมณ์จะไม่ปรากฏ เพราะถึงแม้ว่ารูปารมณ์มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่ขณะใดที่สิ่งนั้นไม่กระทบจักขุปสาท สิ่งนั้นจะไม่ปรากฏทางตา

    . นี่ใช่ไหมที่เรียกว่า ผัสสะ

    สุ. ใช่ โดยชื่อ ซึ่งจะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ละอย่าง

    . โดยปกติเวลาเราเดินไป เช่น เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ที่สะดุดตาแรกๆ คือ พอมองปั๊บสีจ้าเลยอะไรอย่างนี้ แต่พอมีสติระลึกรู้ จะรู้ว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม

    สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็น ก็เลยไปถึงรูปร่างสัณฐานทันที ซึ่งทาง มโนทวารก็รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ มีการจำหมายในลักษณะสัณฐานนั้นและก็รู้ความหมายทันที



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564