แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080
ครั้งที่ ๑๐๘๐
สาระสำคัญ
จำแนกผัสสเจตสิกโดยทวาร โดยอารมณ์
ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ (รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร)
จำแนกผัสสเจตสิกโดยวัตถุ
ภวังคจิตเป็นมโนทวาร
โดยทวาร ทวาร คือ ทางที่จิตจะรู้อารมณ์ของโลกนี้ มี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ เป็นชีวิตประจำวัน จนกระทั่งลืมคิดถึงปัจจัยที่จะทำให้มีการเห็น หรือมีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือการคิดนึกเกิดขึ้น แต่ให้ทราบว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของอารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ของ จิตเห็น หรือเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู เป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ คือ จิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ หรือกลิ่น หรือรส หรือเย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือแข็ง หรือเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังคิดนึก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทวาร ซึ่งเป็นทางที่จะเปิดเผยสภาพของรูปธรรมให้ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
รูปธรรมมีจริง แต่ถ้าไม่มีทวาร คือ ไม่มีทางที่จะกระทบกับอารมณ์นั้นๆ แล้ว อารมณ์นั้นๆ ก็ปรากฏให้รู้ว่ามีจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทวาร หรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รู้ว่า อารมณ์ที่ปรากฏในวันหนึ่งๆ แต่ละขณะนั้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยทวารใด
ถ้าไม่พิจารณาเรื่องทวาร ท่านผู้ฟังกำลังเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ มีเรื่องราวของคนที่เห็น ของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว เรื่องสนุกหรือเรื่องไม่สนุก เรื่องที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ แต่ลืมว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ปรากฏเหมือนเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ และเรื่องราวสิ่งต่างๆ นั้น มีทวารเป็นปัจจัย เป็นทางที่จะเปิดเผยให้รู้ว่า สีสันวัณณะต่างๆ มีจริงเวลาที่กระทบกับจักขุปสาท แต่ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาท หรือถ้าจักขุปสาทไม่มี โลกสว่าง คือ สีสันวัณณะ ต่างๆ ที่กำลังปรากฏให้เห็นเหมือนเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ในขณะนี้ จะปรากฏว่าเป็นความจริง หรือว่ามีจริงไม่ได้
เพราะฉะนั้น ที่มีเรื่องราวมากมายจากเพียงการเห็น และก็นึกถึงวัตถุ นึกถึงบุคคล นึกถึงสิ่งต่างๆ ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นแต่เพียงรูปซึ่งมีจริง และสามารถที่จะเปิดเผยสภาพความปรากฏของรูปนี้เมื่อกระทบกับทวาร คือ จักขุปสาท
ผัสสเจตสิก เป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ เพราะสีสันวัณณะจะไม่ปรากฏกับรูปด้วยกัน เสียงจะไม่ปรากฏกับเสียง จะไม่ปรากฏกับกลิ่น จะไม่ปรากฏกับ สีสันวัณณะ แต่เสียงจะปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพของจริงชนิดหนึ่ง และเพราะอาศัยทวาร คือ โสตปสาท จึงเป็นปัจจัยทำให้เปิดเผยลักษณะของเสียงซึ่งเป็นรูปที่ดัง และสามารถที่จะปรากฏให้การได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น ถ้าทวารคือโสตปสาทไม่มี จิตได้ยินก็ไม่มี และเสียงจะปรากฏเป็นสภาพธรรมที่มีจริงก็ไม่ได้ แต่เมื่อเสียงปรากฏ ลืมนึกถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นเสียง ซึ่งปรากฏลักษณะของเสียงเมื่อกระทบกับโสตปสาท แต่นึกถึงคำและเรื่องราวต่างๆ ทันที ลืมคิดว่า รูปธรรมทั้งหมดที่จะปรากฏลักษณะสภาพของรูปธรรมแต่ละชนิดได้ก็เพราะอาศัยทวาร คือ ปสาทที่เป็นรูปธรรม ๕ ทวาร ได้แก่
จักขุปสาท เป็นจักขุทวาร ทำให้รูปารมณ์เปิดเผยลักษณะที่เป็นรูปารมณ์ปรากฏได้
โสตปสาท เป็นโสตทวาร เป็นปัจจัยทำให้ลักษณะของรูปเสียงเปิดเผยปรากฏลักษณะว่า เสียง คือ สิ่งที่ปรากฏทางหู ที่กำลังได้ยินในขณะนี้
ฆานปสาท เป็นฆานทวาร เป็นปัจจัยทำให้กลิ่นซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเปิดเผยปรากฏ เป็นลักษณะของกลิ่นต่างๆ ตามความเป็นจริงของกลิ่นนั้นๆ
ชิวหาปสาท เป็นชิวหาทวาร ทำให้รสต่างๆ ปรากฏ เปิดเผยลักษณะสภาพของรสนั้นๆ ได้ ซึ่งไม่มีทางที่จะปรากฏลักษณะของรสโดยเพียงการเห็น หรือโดยการกระทบสัมผัส ต่อเมื่อใดที่รสกระทบกับชิวหาปสาทซึ่งเป็นชิวหาทวารเท่านั้น รสซึ่งเป็นรูปธรรมจะปรากฏลักษณะของรูปธรรม เปิดเผยให้รู้ว่ารสนั้นเป็นรสอะไร
เพราะฉะนั้น โดยทวาร ผัสสะอาศัยทวาร ๖ คือ เกิดขึ้นกระทบอารมณ์ทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร
ในขณะนี้เอง ผัสสะเกิดดับและกำลังกระทบอารมณ์อยู่ตามทวารต่างๆ
โดยอารมณ์ อารมณ์ มี ๖ คือ อารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นรูปารมณ์ ๑ อารมณ์ที่ปรากฏทางหู คือ เสียง เป็นสัททารมณ์ ๑ อารมณ์ที่ปรากฏทางจมูก คือ กลิ่น เป็นคันธารมณ์ ๑ อารมณ์ที่ปรากฏทางลิ้น คือ รสต่างๆ เป็นรสารมณ์ ๑ อารมณ์ที่ปรากฏทางกาย คือ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงไหวบ้าง เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ๑ และอารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ ๕ ปรากฏได้ทางใจ เป็น ธัมมารมณ์ ๑ ซึ่งผัสสะสามารถที่จะกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ
ถ. ผัสสเจตสิกไม่มีลักษณะของตัวเองหรืออย่างไร ที่บอกว่า จักขุปสาท จักขุวิญญาณ รูปารมณ์ ธรรมทั้ง ๓ ประชุมกัน เป็นผัสสะ เมื่อเป็นอย่างนี้ ผัสสะก็ไม่มีลักษณะของตัวเอง เป็นกิริยาของธรรมทั้ง ๓ คือ จักขุปสาท จักขุวิญญาณ และรูปารมณ์เท่านั้น ใช่ไหม
สุ. จักขุปสาทเป็นรูปธรรมซึ่งกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณเป็นสภาพธรรมที่รู้รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา และรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าปราศจากผัสสะ มีแต่จักขุปสาทรูปเท่านั้น ก็ไม่มีจักขุวิญญาณ เพราะว่า แม้กรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีการเห็นอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เพียงมีจักขุปสาทโดยไม่มีผัสสะ จะไม่มีการเห็น หรือว่า รูปารมณ์ก็มีอยู่ ในขณะที่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้นที่ใด ในที่นั้นก็ต้องมีวัณโณ คือ แสงสว่าง หรือสีสันวัณณะรวมอยู่ด้วยในที่นั้น แต่ไม่ใช่ว่าจะมีการเห็นรูปารมณ์ หรือสีสันวัณณะอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าผัสสเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมไม่เกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ทางจักขุทวาร จิตเห็นจะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมอื่นอีกซึ่งเป็นนามธรรม คือ ผัสสเจตสิก ที่กระทบกับอารมณ์ จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ได้ จะว่าผัสสะไม่มีได้อย่างไร
จักขุปสาทก็เกิดดับอยู่ รูปารมณ์ก็กำลังเกิดดับอยู่ แต่จิตเห็นไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา จิตเห็นจะเกิดขึ้นก็ขณะที่ผัสสะกระทบกับรูปารมณ์ทางจักขุทวารเท่านั้น ถ้าขณะนั้นผัสสะไม่เกิดขึ้นกระทบกับรูปารมณ์ทางจักขุทวาร จิตเห็นก็ไม่มี จิตได้ยิน ก็ไม่มีถ้าผัสสะไม่กระทบกับสัททารมณ์ทางโสตทวาร จิตได้กลิ่นก็ไม่มีถ้าผัสสะไม่กระทบกับกลิ่นทางฆานทวาร รสต่างๆ ก็ไม่ปรากฏถ้าผัสสะไม่กระทบรสทาง ชิวหาทวาร โผฏฐัพพะใดๆ ก็ไม่ปรากฏถ้าผัสสะไม่กระทบกับโผฏฐัพพะนั้นๆ ทางกายทวาร และเรื่องที่จะคิดนึกใดๆ ก็จะไม่ปรากฏ ถ้าเพียงผัสสะไม่กระทบกับเรื่อง นั้นๆ ทางมโนทวาร
กำลังนอนหลับสนิท ผัสสเจตสิกเกิดหรือเปล่า
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นขณะใด ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่ได้ฝัน คือ ไม่ได้คิดนึก จึงเป็นการนอนหลับสนิท แต่แม้กระนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น ขณะนั้นผัสสเจตสิกจะต้องเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ ซึ่งภวังคจิตกำลังรู้อารมณ์นั้นอยู่ ขณะใดที่จิตไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ
การรู้อารมณ์ อาศัยทวาร ๖ และเป็นทวารวิมุตติในขณะที่เป็นภวังคจิต คือ จิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ โดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย
เพราะฉะนั้น อย่าปนกัน เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของโลกนี้ ไม่เห็นโลกนี้ โลกนี้จะเป็นอย่างไรไม่ปรากฏในขณะที่หลับสนิท ไม่ได้ยินเสียงของโลกนี้ ไม่ได้กลิ่นของโลกนี้ ไม่ได้ลิ้มรสของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้แม้คิดนึกเรื่องของโลกนี้ แต่ขณะนั้น ภวังคจิตกำลังรู้อารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ของชาติก่อนที่ใกล้จะจุติซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น ที่โลกนี้จะปรากฏต้องอาศัยทวาร และเวลาที่โลกนี้ไม่ปรากฏ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร จึงมีคำว่า วิถีจิต กับวิถีวิมุตติ หรือ ทวาริกจิต กับทวารวิมุตติ
จิตที่เป็นปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่ใช่วิถีจิต เป็นวิถีวิมุตติ แต่จิตซึ่งรู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นวิถีจิต ต้องแยกกัน คือ ต้องเข้าใจวิถีจิตและวิถีวิมุตติ ทวาริกจิตและ ทวารวิมุตติ ถ้าทวารวิมุตติ จิตเป็นภวังค์ รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
นอนหลับสนิท คิดถึงเรื่องของโลกนี้หรือเปล่า นอนหลับสนิทจริงๆ ขณะที่กำลังหลับสนิทคิดไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น โลกนี้จึงไม่ปรากฏเวลาที่เป็นภวังคจิต
แต่ทราบได้ใช่ไหมว่า นอนหลับสนิท เพราะว่ามีจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่า ขณะนั้นหลับไม่ใช่ตาย และไม่ใช่ตื่น แต่ว่าเป็นการหลับสนิท เพราะขณะนั้นเป็นภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลกนี้ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร แต่แม้ว่าจะไม่อาศัยทวาร ผัสสเจตสิกก็เกิดได้กับภวังคจิต
ถ. แต่ผัสสเจตสิกไม่ได้ปรากฏ จะมีสติพิจารณาได้อย่างไร
สุ. อย่าพยายามให้สติพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ แต่การที่วันหนึ่งสามารถรู้ลักษณะของผัสสเจตสิกได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเสียก่อนว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ เมื่อลักษณะปรากฏแล้ว สติก็ควรที่จะระลึกรู้ และปัญญาก็ควรที่จะพิจารณาจนรู้ชัด รู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรม ประเภทหนึ่ง ชนิดหนึ่ง
ถ. ผู้ที่จะเห็นลักษณะของผัสสะ จะต้องมีปัญญาถึงขั้นไหนจึงจะเห็นได้
สุ. ท่านผู้ฟังเคยถามคำถามนี้ครั้งหนึ่งแล้ว คล้ายๆ กับจะให้เป็นลำดับไปทีเดียวว่า ญาณนี้จะรู้ลักษณะของรูปธรรมอะไร หรือว่าญาณไหนจะรู้ลักษณะของนามธรรมชนิดไหน
การอบรมเจริญปัญญาเป็นอนัตตา ไม่มีกฎเกณฑ์ว่า จะต้องญาณนั้นรู้รูปธรรมนั้น หรือว่าวิปัสสนาญาณนี้จะรู้นามธรรมนี้ แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล แต่ขอให้ทราบว่า ผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง
ตามความเป็นจริงนี่ ต้องเป็นจริง จริงๆ ถ้าเป็นโลภะเกิดปรากฏ ก็เป็นโลภะนั่นเองที่เกิดปรากฏ ถ้าเป็นโทสะกำลังเกิดขึ้นปรากฏ ก็ต้องเป็นโทสะขั้นนั้น ลักษณะนั้นจริงๆ ที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏ คือ ไม่ว่าสภาพธรรมที่กำลังเป็นปกติในขณะนี้เป็นอย่างไร ปัญญาจะต้องสามารถรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเป็นปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง จึงจะละคลายการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม ต้องเป็นการละคลายการยึดถือสภาพธรรมซึ่งเข้าใจว่าเป็นตัวตนในชีวิตประจำวันตามปกติจริงๆ ถ้ารู้สึกว่า ละคลายมากในขณะอื่น แต่ถ้าเห็นทางตายังไม่ได้เป็นเพียงสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นยังไม่พอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล
โดยนัยของวัตถุ ท่านผู้ฟังคงไม่ลืมพยัญชนะที่ต่างกัน
ทวาร คือ ทางรู้อารมณ์ มี ๖ ทาง เป็นรูป ๕ ทวาร และเป็นนาม ๑ ทวาร จักขุปสาทเป็นจักขุทวาร เป็นรูป โสตปสาทเป็นโสตทวาร เป็นรูป ฆานปสาทเป็น ฆานทวาร เป็นรูป ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร เป็นรูป กายปสาทเป็นกายทวาร เป็นรูป รวมเป็นรูปธรรม ๕ ทวาร และเป็นนามธรรม ๑ ทวาร คือ มโนทวาร
ในขณะที่คิดนึก ไม่ต้องอาศัยตาเห็น ไม่ต้องอาศัยหูได้ยิน ไม่ต้องอาศัยจมูก ได้กลิ่น ไม่ต้องอาศัยลิ้นลิ้มรส ไม่ต้องอาศัยกาย แต่ว่าสามารถนึกถึงอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นอาศัยจิตเป็นมโนทวาร
ถ้าจิตเป็นภวังค์เกิดดับสืบต่อ กำลังนอนหลับสนิท ไม่ได้คิดนึกเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นยังไม่ได้อาศัยทวารใด แต่ทุกคนไม่สามารถนอนหลับสนิทอยู่เรื่อยๆ จะต้องมีการตื่น คือ รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางทวารหนึ่งทวารใด ถ้ากำลังคิดในขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่ภวังคจิต แต่ที่จะคิด ต้องคิดหลังจากที่ภวังคจิตเกิดและดับไป เพราะฉะนั้น ภวังคจิตนั่นเองเป็นมโนทวาร ทำให้เกิดจิตคิดนึกทางใจขึ้น
เพราะฉะนั้น สำหรับทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร และเป็นนาม ๑ ทวาร
แต่ถ้ากล่าวโดยวัตถุ ๖ หมายความถึงที่เกิดของจิต ในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ คือ ในภูมิที่มีทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ หรือในภูมิที่มีทั้งนามธรรมและรูปธรรม จิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมจะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๗๑ – ๑๐๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1021
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1022
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1023
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1024
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1025
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1026
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1028
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1029
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1030
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1031
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1032
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1033
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1034
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1035
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1036
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1037
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1038
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1039
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1040
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1041
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1042
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1043
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1044
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1045
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1046
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1047
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1048
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1049
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1050
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1051
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1052
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1053
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1054
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1055
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1056
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1057
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1058
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1059
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1060
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1061
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1062
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1063
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1064
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1065
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1066
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1067
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1068
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1069
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1070
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1073
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1074
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1075
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1076
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1077
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1078
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1079
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1080