แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1027


    ครั้งที่ ๑๐๒๗

    สาระสำคัญ

    อรรถของจิต ๕ อย่าง

    เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา

    ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ

    ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

    อยู่ในโลกของสมมติสัจจะ

    การรู้เรื่องทวาร มีประโยชน์กับการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน

    คำอุปมาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    โลกกำลังปรากฏเป็นโลกก็เพราะมีทวาร

    ธัมมสังคิณีปกรณ์ - ทบทวนอรรถของจิต


    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า วันหนึ่งๆ ข้ามไป หลงลืมไป ไม่ได้ระลึกรู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งถ้าไม่ระลึกอย่างนี้ไม่มีวันที่จะเห็นจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และจะไม่เข้าใจถึงอรรถในพระไตรปิฎกที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ คือ ไม่ยึดถือในรูปร่างสัณฐานและส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้าไม่เข้าใจโดยละเอียดจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคตรัสให้ไม่ติด ก็จึงไม่สนใจในรูปร่างสัณฐาน แต่ว่าปัญญาไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้อบรม ไม่ได้เจริญว่า การที่จะไม่ยึดถือ ไม่ติดในรูปร่างสัณฐานได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น และค่อยๆ รู้ขึ้นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่มีจริงและกำลังปรากฏ เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา จึงจะถ่ายถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา และเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตรงตามความเป็นจริง เพราะค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแท้ๆ ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีวัตถุสิ่งใดในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    . เข้าใจแล้ว ขอบพระคุณ

    . ในอรรถกถา อ่านแล้ว บางทีก็คิดว่า จะขัดกับพุทธพจน์หรือไม่ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผลของกุศลกรรมต้องให้ผลเป็นสุข แต่ใน อรรถกถา สารัตถปกาสินี มีข้อความตอนหนึ่งว่า พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นโบสถ์ก็ดี เห็นพระเจดีย์ก็ดี ไม่ชอบ ปิดตา แสดงความไม่พอใจ เขาจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่จิตที่เห็น เป็นกุศลวิบาก กุศลวิบากนี้ทำให้ไม่ชอบต้องปิดตา แสดงว่าไม่เป็นสุข อีกตัวอย่างหนึ่ง หมาเห็นขี้แล้วหอมอร่อย อยากจะกิน ขณะที่ได้กินนั้น อร่อยทั้งรส หอมทั้งกลิ่น ดีทั้งหมด ชอบใจ ท่านกล่าวว่า ขณะที่กินนั้น จะเป็นชิวหาวิญญาณก็ดี ขณะที่เห็นจะเป็นจักขุวิญญาณก็ดี เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น อรรถกถาบทนี้จะขัดกับ พุทธพจน์หรือไม่

    สุ. ยาวไปหลายเรื่อง และก็ปนรวมกันหลายทวาร การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ต้องช้าๆ และทีละทวารจริงๆ

    ถ้าเป็นเรื่องของทวารตา คือ จักขุทวาร ก็อย่าเพิ่งผ่านไปจนกระทั่งถึงมโนทวาร มิฉะนั้นแล้ว จะไม่เข้าใจลักษณะของจักขุทวาร เพราะรวมผสมปนกับทางมโนทวาร

    การศึกษาเรื่องทวารมีประโยชน์ ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้สามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้ แต่ต้องมีความเข้าใจถูก แม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ทางใจ ต่างกันอย่างไร สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูไม่ใช่ทางใจ ต่างกันอย่างไร เพราะสภาพธรรม คือ นามธรรม จิตและเจตสิกเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดูเหมือนนั่งอยู่อย่างนี้ ก็เห็นด้วย ได้ยินด้วย แต่ละทวารที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ดับไปอย่างรวดเร็ว และสืบต่อกับทางใจ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของจิตที่เกิดขึ้นทางจักขุทวาร เห็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับทางใจเลย ยังไม่ถึงทางใจ

    ปกติธรรมดาเวลาที่จักขุทวาร คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อคั่นแล้ว มโนทวาร คือ จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจาก ทางจักขุทวาร เกิดต่อ ซึ่งขณะที่มโนทวารสืบต่อจากทางจักขุทวารนั้นเร็วเหลือเกิน จนไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของจักขุทวารและมโนทวาร โสตทวารและมโนทวาร ชิวหาทวารและมโนทวาร ฆานทวารและมโนทวาร กายทวารและมโนทวารได้ จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะเรื่อยมา

    ทั้งๆ ที่ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของจริงแท้แน่นอน เพราะกำลังปรากฏ จะเปลี่ยนสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ก็ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา เพราะทางใจเกิดขึ้นสืบต่อรับรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา และจดจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏจนลืมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ

    สติปัฏฐานไม่ใช่ไปรู้ลม และเห็นสิ่งต่างๆ ที่ผิดจากปกติในขณะนี้ ซึ่งการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั้น คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ ระลึกได้ที่จะพิจารณาว่า สภาพธรรมทางตากำลังปรากฏ เป็นของจริงอย่างหนึ่ง จนกว่าจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เมื่อนั้นจึงชื่อว่า รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาถูกต้องตรงตามความเป็นจริงซึ่งเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    และทางตาเปรียบเหมือนสมุทร คือ กว้างใหญ่จริงๆ ไม่เต็ม สามารถจะเห็นถึงพระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาวต่างๆ ซึ่งอยู่แสนไกล ถ้ามองไปก็กระทบกับจักขุปสาท และปรากฏได้ เพราะฉะนั้น จึงทำให้ดูเหมือนว่า เป็นโลกซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุ สัตว์ บุคคลต่างๆ เต็มไปหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว นั่นคือคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมมีจริง แต่สมมติเป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลต่างๆ เป็นพระจันทร์ เป็นพระอาทิตย์ เป็นดาวต่างๆ ซึ่งถ้ากระทบสัมผัสทางกาย สิ่งที่ปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แต่สำหรับผู้ที่ตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะประจักษ์ว่า เป็นโลก คือ แตก และเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    ไม่มีสภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ดับไปเลย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดดับ และไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางจักขุทวารแท้ๆ เป็นอย่างไร ทาง มโนทวารก็จดจำสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา จำเสียงสูงต่ำซึ่งเป็นคำบัญญัติความหมาย อรรถของสิ่งต่างๆ ทางหู เป็นเรื่องเป็นราว ทางจมูกก็จำกลิ่น รวมกับรูปที่เห็นทางตาและรสที่ลิ้มทางลิ้น ก็ปรากฏเป็นรสของวัตถุต่างๆ เป็นรสเกลือ เป็น รสน้ำตาล เป็นรสผลไม้นานาชนิด เพราะนึกถึงรูปร่างสัณฐาน นึกถึงกลิ่น ถ้าเป็นแต่เพียงขณะที่กำลังลิ้มรสจริงๆ รสเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นแต่เพียงรส เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้น และที่จะรู้รสได้ก็เพราะว่ามี ชิวหาปสาท รูปซึ่งมีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบกับรส แต่ถ้ารูปนั้นไม่มี รสใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่รสปรากฏ มีลิ้น หรือชิวหาปสาท เป็นที่รองรับให้จิตเกิดขึ้นที่นั่น เพื่อที่จะลิ้มรสที่กระทบกับชิวหาปสาท รสต้องประทบชิวหาปสาท ถ้า รสไม่กระทบชิวหาปสาท แต่กระทบกายปสาทส่วนอื่น รสจะไม่ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รสปรากฏ เวลารับประทานอาหารมีรสปรากฏแน่นอน ขณะใดที่รสปรากฏให้รู้ว่า ขณะนั้นรสกำลังกระทบกับชิวหาปสาท รสจึงปรากฏกับชิวหาวิญญาณ คือ จิตที่ลิ้มรส ซึ่งเกิดที่ชิวหาปสาท และรสก็ดับ ชิวหาปสาทก็ดับ จิตที่ลิ้มรสก็ดับ แต่ละขณะ นี่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะรู้ได้ต่อเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ

    ถ้าไม่มีทวารต่างๆ ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ต้องอาศัยรูปด้วย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยจักขุปสาท จิตเห็นจึงจะเกิดขึ้นเห็นโลก เห็นรูปารมณ์ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ ต้องมีโสตปสาทรูป จิตได้ยินจึงจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงได้ ต้องมีฆานปสาทรูป คือ รูปที่สามารถรับกระทบกลิ่น กลิ่นจึงจะกระทบและปรากฏได้ ต้องมีชิวหาปสาทสำหรับกระทบกับรส รสจึงจะปรากฏได้ ต้องมีกายปสาทรูปที่รับกระทบโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวจึงจะปรากฏได้ นอกจากนั้น ต้องมีใจที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลาหลังจากที่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบโผฏฐัพพะ ทางใจก็คิดนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของจิต ถ้าไม่มีทวาร

    การรู้เรื่องทวาร มีประโยชน์กับการอบรมเจริญสติปัฏฐานไหม ถ้าให้ไปนั่ง จดจ้องเป็นสมาธิอยู่ที่ลมหายใจ จะรู้เรื่องทวารไหม เมื่อไม่รู้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส หรือในขณะที่คิดนึก

    ขอกล่าวถึงคำอุปมาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบถึงชีวิตในวันหนึ่งๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าอย่างไร

    ตา เปรียบเหมือนงู

    คงเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    งู ย่อมไม่ชอบอยู่ในที่ที่ชื้นแฉะและราบเรียบในภายนอก แต่เวลาที่เลื้อยเข้าไปยังที่ที่เป็นกองหยากเยื่อที่รกไปด้วยหญ้า ใบไม้ และจอมปลวกเท่านั้นแล้วนอน ย่อมชอบใจ ย่อมถึงความสงบฉันใด แม้จักขุนี้ก็เหมือนฉันนั้นทีเดียว พอใจในที่ที่ไม่ราบเรียบ ย่อมไม่ชอบใจในที่ที่เกลี้ยงเกลา มีฝาทองคำ เป็นต้น ไม่ปรารถนาแม้เพื่อที่จะแลดูทีเดียว แต่ในที่ที่พราวไปด้วยรูป และพราวไปด้วยดอกไม้และเครือเถา เป็นต้นทีเดียวย่อมชอบ เพราะสถานที่เช่นนั้น คนเราเมื่อดวงตายังไม่พอ ยังแถมแม้อ้าปาก อยากจะมองดู

    ที่อุปมาว่าตาเหมือนงู เพราะไม่ชอบที่เรียบๆ จริงไหม แต่ชอบที่ที่พราวไปด้วยรูปและพราวไปด้วยดอกไหม้และเครือเถา มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีจิตรกรรม เพราะว่า โล่งไปหมด โล่งไปหมดนี้ไม่ชอบ ต้องมีลวดลาย มีสัณฐาน ให้เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ สนใจที่จะดู นั่นคือลักษณะของตา หรือจิตซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งต่างๆ และพอใจในรูปร่างสัณฐานต่างๆ ในที่ที่พราวไปด้วยสัณฐานต่างๆ

    เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ในชีวิตประจำวัน ท่านดูอะไร ลองคิดดู หรือว่าไปดูอะไร หรือมีอะไรให้ดูบ้าง สิ่งที่จะให้ดูไม่ใช่เป็นพื้นโล่งๆ แต่จะต้องมีลวดลาย มีสัณฐาน พราวไปด้วยสิ่งต่างๆ ให้ทราบถึงลักษณะของจักขุซึ่งมีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ ว่า นี่เป็นอาการของจักขุ

    หู เปรียบเหมือนจระเข้ แม้จระเข้ออกไปข้างนอก ย่อมไม่เห็นสิ่งที่จะงับ มันย่อมหลับตาไปอย่างเดียว แต่เมื่อลงน้ำไปสัก ๑๐๐ วา เข้าสู่โพรงนอน จิตก็ย่อมสงบ หลับสบาย แม้โสตนี้ก็เหมือนเช่นนั้น พอใจสิ่งที่เป็นโพรง อิงอาศัยอากาศ ชอบใจอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นช่อง คือ รูหูทีเดียว อากาศในรูหูย่อมเป็นปัจจัยในการได้ยินเสียงของโสตนั้น แม้อัชฎากาศ คือ อากาศที่โล่งตลอด ก็ควรเป็นปัจจัยเหมือนกัน ด้วยว่าเมื่อบุคคลกระทำการสวดภายในถ้ำ เสียงก็หาพังฝาถ้ำออกไปข้างนอกไม่ แต่ย่อมออกไปทางช่องประตูและหน้าต่าง เมื่อกระทบกันโดยสืบๆ กันแห่งธาตุ ย่อมไปกระทบโสตปสาท ถ้าว่าในเวลานั้น คนที่นั่งอยู่บนหลังถ้ำย่อมรู้ว่า คนชื่อโน้นสวด

    นี่เป็นการที่จะให้รู้ลักษณะของทวารแต่ละทวารว่า ปกติในชีวิตประจำวันที่มีการได้ยินเสียง จะต้องอาศัยอากาศ

    จมูก เปรียบเหมือนนก แม้นกก็ย่อมไม่ยินดีอยู่บนต้นไม้ หรือบนพื้นดิน แต่เมื่อโผบินขึ้นสู่อากาศโล่ง เลยไปสักชั่วหนึ่ง หรือสองระยะขว้างก่อนดิน ก็ย่อมถึงความเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ แม้ฆาน (จมูก) ก็เปรียบเหมือนเช่นนั้น พอใจอากาศ มีกลิ่น ซึ่งต้องอาศัยลมเป็นอารมณ์ ดังจะเห็นได้เช่นเดียวกันกับโค เมื่อฝนตกใหม่ๆ ก็ดมแล้วดมเล่าที่แผ่นดิน แล้วก็เบิ่งหน้าหาอากาศ หันหาลม แล้วเวลาที่คนเราแม้เอานิ้วมือจับชิ้นแห่งสิ่งที่มีกลิ่นแล้วสูดดม ไม่หันมาทางลม ก็หารู้กลิ่นของสิ่งนั้นไม่

    นี่เป็นการแสดงให้รู้ว่า สำหรับทางจมูกย่อมพอใจที่จะดมกลิ่น ซึ่งอาศัยมากับอากาศและลม

    ลิ้น เปรียบเหมือนสุนัขบ้าน

    กาย เปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก

    สำหรับในตอนต้น จะยังไม่กล่าวถึงเรื่องของทวารทั้ง ๖ โดยละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่า ที่โลกกำลังปรากฏเป็นโลกก็เพราะว่ามีทวาร คือ ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่งได้แก่ทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร และเป็นนาม คือ จิต ๑ ทวาร

    ขอทบทวนคำว่า จิต ใน ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ ซึ่งมีข้อความว่า

    ๑. ที่ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    ๒. ที่ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ๓. ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    ๔. จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ๕. ชื่อว่าจิต เพราะกระทำให้วิจิตร

    จะขอกล่าวถึงอรรถที่ ๔ คือ จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ซึ่งที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ โดยนัยของชาติ โดยนัยของภูมิ โดย นัยของเหตุ โดยนัยของโสภณ อโสภณ โดยนัยของอสังขาริก สสังขาริก โดยนัยของโลกียะ โลกุตตระ และโดยนัยของทวาร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๒๑ – ๑๐๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 84
    28 ธ.ค. 2564