แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
ครั้งที่ ๑๐๘๑
สาระสำคัญ
จำแนกผัสสเจตสิกโดยวัตถุ ๖
จิตแต่ละชนิดแต่ละขณะเกิดดับที่ไหน
อวิชชาไม่สามารถรู้ความจริง
โดยวัตถุ ๖ หมายเฉพาะรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต มี ๖ รูป ได้แก่
จักขุปสาท เป็นจักขุวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ให้ทราบว่า จักขุวิญญาณและเจตสิกซึ่งเกิดกับจักขุวิญญาณกำลังเกิดดับที่จักขุปสาทซึ่งเป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ
ขณะที่กำลังได้ยินเสียง โสตปสาทเป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของ โสตวิญญาณที่กำลังได้ยินเสียง ๒ ดวง
ขณะที่กำลังได้กลิ่น ฆานปสาทเป็นฆานวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ซึ่งกำลังได้กลิ่น ท่านผู้ฟังมีการได้กลิ่นอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ทราบว่า ขณะนั้นสภาพที่รู้กลิ่น กำลังรู้กลิ่นที่จมูก ที่ฆานปสาท และเกิดดับที่ฆานปสาทนั่นเอง
หรือขณะที่ลิ้มรส เวลารับประทานอาหาร สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ลิ้ม คือ รู้รส หรือลักษณะของรสที่กำลังปรากฏ ให้ทราบว่า ในขณะที่รสปรากฏ ชิวหาวิญญาณกำลังลิ้มรสที่กระทบกับชิวหาปสาท และชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรสนั้นเกิดดับที่ชิวหาปสาท ซึ่งเป็นชิวหาวัตถุ
เพราะฉะนั้น สำหรับวัตถุ ๖ ได้แก่ จักขุวัตถุ ๑ โสตวัตถุ ๑ ฆานวัตถุ ๑ ชิวหาวัตถุ ๑ กายวัตถุ ๑ เป็นที่เกิดของทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คือ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่จักขุวัตถุ โสตวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่โสตวัตถุ ฆานวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่ฆานวัตถุ ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่ชิวหาวัตถุ กายวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่กายวัตถุ
นี่เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละท่านตามความเป็นจริง ซึ่งควรที่จะได้ทราบว่า จิตแต่ละชนิดแต่ละขณะเกิดดับที่ไหนอย่างรวดเร็ว
สำหรับวัตถุที่ ๖ คือ หทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมด เว้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คือ เว้นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จิตอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตก็ดี หรือว่าจะเป็นกุศลจิตก็ดี เป็นสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตก็ดี เกิดดับที่หทยวัตถุ
เพราะฉะนั้น โดยวัตถุ ๖ ผัสสเจตสิกเกิดที่ไหนบ้าง เกิดที่วัตถุ ๖
ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดกับจักขุวิญญาณ ขณะนั้นผัสสเจตสิกเกิดที่จักขุปสาท ซึ่งเป็นจักขุวัตถุ ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดกับโสตวิญญาณ ขณะนั้นผัสสเจตสิกเกิดที่โสตปสาทซึ่งเป็นโสตวัตถุ ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตอื่นที่เกิดที่หทยวัตถุ ขณะนั้นผัสสเจตสิกก็เกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น โดยวัตถุ ๖ ผัสสเจตสิกก็เกิดดับที่วัตถุ ๖ ทีละวัตถุ ไม่ใช่พร้อมๆ กันทั้ง ๖ วัตถุ
ถ. หทยวัตถุอยู่ที่ไหน
สุ. ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นจิตดวงแรกของภพนี้ มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ และกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ ในภูมิมนุษย์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นจะมีกัมมชรูป ๓ กลุ่ม หรือ ๓ กลาปะ ที่ภาษาไทยเรียกกันว่า กลาป เกิดร่วมกันในขณะนั้น ได้แก่ กายทสกกลาป ๑ กลุ่ม มีรูปในที่นั้น ๑๐ รูป ภาวทสกกลาป อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้ปรากฏในภายหลังว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย และหทยวัตถุ เป็นวัตถุทสกกลาปอีก ๑ กลุ่ม ซึ่งท่านผู้ฟังส่วนมากจะได้ยินคำว่า หัวใจ และเวลาที่เติบโตขึ้นมา ก็มีส่วนของผม ของเล็บ ของปอด ของม้าม ส่วนต่างๆ รวมทั้งรูปซึ่งเป็นรูปร่างของหัวใจด้วย แต่ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็มีวัตถุรูปซึ่งเป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้จิต เจตสิก และรูปเกิดในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ยังไม่มีรูปร่างหัวใจ แต่มีรูปซึ่งละเอียดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะทั้ง ๓ กลาปนี้แม้จะรวมกันแล้วก็ยังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นรูปที่ละเอียดที่ใช้คำอุปมาว่า เหมือนกับใช้ขนจามรีซึ่งเป็นขนสัตว์ที่ละเอียดมาก จุ่มลงในน้ำมันงา และสะบัดออก ๗ ครั้ง ส่วนที่เหลือก็เป็นส่วนที่เป็นรูปในขณะที่ปฏิสนธิ ซึ่งเล็กมากและมองไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้น ไม่มีรูปร่างของหัวใจ แต่ แม้กระนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็จะต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตรวมอยู่ด้วย
และเมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้น ส่วนต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น มีปุ่มงอกขึ้น เป็นส่วนของศีรษะ เป็นส่วนของมือ เป็นส่วนของขา และส่วนต่างๆ ในร่างกายเจริญเติบโตขึ้นที่บัญญัติเรียกเป็นปอด เป็นม้าม เป็นไต เป็นตับ รวมทั้งเป็นหัวใจด้วย
ตามปกติ ร่างกายซึ่งเจริญเติบโตแล้ว หทยวัตถุจะเกิดที่กลางหัวใจ จะมีรูปๆ หนึ่งซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเป็นที่เกิดของจิต มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เสียงก็มองไม่เห็น กลิ่นก็มองไม่เห็น แม้แต่หทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิตก็มองไม่เห็น เพราะสิ่งเดียวที่จะมองเห็นได้คือรูปารมณ์ สิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ซึ่ง สีสันวัณณะไม่ใช่หทยวัตถุ ไม่ใช่รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต แต่รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมี กรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดดับอยู่ที่กลางหัวใจ
จะพิสูจน์ได้ไหม จะพิสูจน์ว่า จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทได้ไหม
โลภมูลจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท โทสมูลจิตไม่ได้เกิดที่โสตปสาท แต่กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว เป็นเหตุให้เมื่อกระทบส่วนหนึ่งส่วนใดภายในหรือภายนอกของร่างกายก็สามารถที่จะรู้ถึงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวส่วนใด ส่วนนั้นมีกายปสาทเป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ซึ่งเป็นจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น ในที่นั้นก็ไม่ใช่หทยวัตถุ
เพราะฉะนั้น สำหรับหทยวัตถุเป็นที่เกิดของจิตเป็นส่วนมาก เว้นจิตเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้นที่เกิดที่จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ และกายวัตถุ
ถ. กรณีที่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ คือ เอาหัวใจของผู้อื่นมาแทน จิตของผู้นั้นจะมาเกิดดับที่หัวใจใหม่นี้หรือไม่
สุ. ถ้าพูดถึงหัวใจ ดูเหมือนจะเก่ามาก คือ อยู่มานานนานมาก เป็นหัวใจอันหนึ่งอยู่หลายวัน หลายเดือน หลายปีตามอายุ แต่ถ้าพูดถึงรูปแล้ว เกิดดับเร็วที่สุด เพียงแต่ช้ากว่าจิต เพราะรูปๆ หนึ่งจะดับเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่ง ๑๗ ขณะนี้จะเร็วสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น หทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เกิดดับเร็วมาก แต่ว่าก้อนเนื้อหัวใจที่เป็นไปตามอายุนี้ ดูเหมือนของเดิมตั้งแต่เด็กจนโต เพียงแต่ว่าเจริญเติบโตขึ้น แต่ก็ยังเป็นของเก่า ของเดิม แต่ตามความเป็นจริงแล้วรูปทุกรูปเกิดดับ เป็นรูปใหม่ แม้แต่หทยวัตถุก็ไม่ใช่ก้อนเนื้อหัวใจ และก้อนเนื้อหัวใจเองแท้จริงแล้วก็เกิดดับ จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการเสื่อม หรือว่ามีการชรา หรือพยาธิ เป็นโรคภัยต่างๆ ได้
เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงปรมัตถธรรม แม้แต่รูปธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ชัดถึงลักษณะสภาพที่แท้จริงของรูปธรรมแต่ละรูปซึ่งเกิดดับจริงๆ อย่างรวดเร็ว อย่ายึดถือรูปเก่ารูปเดิม เพราะตามความเป็นจริงรูปธรรมเกิดดับเร็วมาก มากกว่าการที่จะยึดถือรูปเดิมทั้งหมด
ถ. คำว่า เกิดดับ เช่น สีมากระทบตา ขณะนั้นเกิดการเห็น นั่นหมายความถึงการเกิด และเวลาที่การเห็นหมดไป ก็หมายถึงสีนั้นดับไป ใช่ไหม
สุ. การเห็นเวลานี้หมดไปหรือยัง
ถ. บางทีก็ไม่เห็น
สุ. แต่ว่ารูปก็ดับแล้ว นามก็ดับแล้ว นี่คือความหมายของคำว่า เกิดดับ คือ เกิดดับสืบต่อกันจนไม่ปรากฏว่าเกิดดับ
ถ. อย่างรูปที่ไม่ปรากฏ จะมีการเกิดดับไหม
สุ. หมายความว่า ขณะนั้นไม่ได้เป็นอารมณ์ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. ธรรมดาของสังขารธรรมทั้งหลาย หมายความถึงสภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ต้องดับ สภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี สังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นต้องดับ
ถ. อะไรคือ สังขารธรรม
สุ. สภาพธรรมที่เกิด
ถ. วันก่อนอาจารย์อธิบายคำว่า รูป วิญญาณ สังขาร
สุ. ขันธ์ ๕ ใช่ไหม เมื่อจำแนกตามปรมัตถธรรม ๔ จะเป็นรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ ซึ่งบางทีบางท่านอาจจะทิ้งคำว่า ขันธ์ ก็มีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
การศึกษาต้องละเอียด เวลาที่ได้ยินคำว่า สังขาร ในขณะนั้นได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง ๕๐ ชนิด ซึ่งเกิดดับพร้อมกับจิต เพราะฉะนั้น สังขารในที่นั้นก็เป็น สภาพธรรมซึ่งได้แก่เจตสิกเท่านั้น ซึ่งจำแนกเป็นสังขารขันธ์
การศึกษาธรรมจะชัดเจนขึ้นเวลาที่พูดเต็ม ถ้าพูดย่ออาจจะทำให้สับสน และอาจจะทำให้ผู้ที่เริ่มศึกษาเข้าใจผิดได้ เช่น สังขารธรรม กับสังขารขันธ์ ถ้าไม่พูดคำว่า ขันธ์ ก็อาจจะเข้าใจว่า สังขารในขันธ์ ๕ หมายความถึงสังขารธรรม แต่ความจริงแล้ว สังขารในขันธ์ ๕ หรือ สังขารที่เป็นขันธ์ ไม่ใช่หมายถึงสังขารธรรมทั้งหมด เพราะสังขารธรรม ได้แก่ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด รูปทั้งหมด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นสังขารธรรมทั้งสิ้น แต่สำหรับสังขารขันธ์นั้น ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง
เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ดวง เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดโดยนัยของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ทราบว่า ไม่ได้กล่าวคำเต็ม คือ ละคำว่าขันธ์
ถ. ที่ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง หมายถึงสังขารธรรมใช่ไหม
สุ. ใช่ สังขารธรรมทุกชนิด
ถ. ที่อาจารย์อธิบายเป็นประจำว่า การเจริญสติให้รู้ลักษณะของรูป ของนาม อย่างลักษณะของรูป สมมติว่าเป็นสี มีลักษณะอย่างไร
สุ. กำลังปรากฏทางตา
ถ. ใช่ ปรากฏทางตา
สุ. เรื่องของทวาร เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะต้องพิจารณา เพราะบางท่านอาจจะคิดว่า ทำไมพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ่อยๆ ดูเหมือนกับว่า เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ใครๆ ก็ทราบแล้ว
แต่ตามความเป็นจริง การอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้ง อริยสัจธรรม จะข้ามการพิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ นี้ไม่ได้เลย เพราะว่า แม้รูปจะมีจริง แต่ถ้าไม่มีทวาร ไม่มีจักขุปสาทเป็นจักขุทวาร จะรู้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง กำลังปรากฏ ซึ่งจะต้องรู้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ที่จะละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ต้องอาศัยทวารจึงจะรู้ได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลักษณะที่แท้จริงไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ. ลักษณะของรูปที่เป็นสี คือ ปรากฏทางตาเท่านั้น ใช่ไหม
สุ. ใช่ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และเมื่อไรจะรู้จริงๆ อย่างนี้ ซึ่งนี่คือความจริง เป็นสัจธรรม จึงต้องเน้น ต้องพูดถึงบ่อยๆ เพื่อที่จะให้สติระลึกได้โดยถูกต้องว่า ขณะนี้ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อกระทบกับจักขุทวาร เป็นทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงถูกต้อง
ถ. ลักษณะของนาม อย่างนามโทสะ มีลักษณะอย่างไร
สุ. หยาบกระด้าง เดือดร้อน ไม่แช่มชื่น ที่จะรู้ลักษณะของโทสะ ต้องรู้ทางใจ ทางตาไม่สามารถจะเห็นโทสะได้ เห็นแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ. การเจริญสตินี่ ต้องพยายามรู้ทุกลักษณะ
สุ. เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะศึกษาให้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทีละทาง จนกว่าจะรู้ชัดตามความเป็นจริง
ของจริงมี กำลังปรากฏ แต่อวิชชาหรือโมหะไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ อวิชชาไม่สามารถรู้ว่า ในขณะนี้ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเมื่อกระทบกับจักขุปสาท และกำลังเกิดดับ
ทางหู ไม่ใช่เราได้ยิน แต่ที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งเวลาที่ได้ยิน เสียงปรากฏ ขณะนั้นเป็นสภาพรู้เสียง ไม่ใช่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น อย่าเพียงชินกับชื่อนามธรรม ถ้าเพียงชินกับชื่อนามธรรม ไม่มีทางที่จะดับกิเลส เพราะยังไม่ได้ใกล้ชิดคุ้นเคยกับลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้เท่านั้น แต่มีจริงๆ สภาพรู้ ธาตุรู้ กำลังรู้ กำลังเห็น กำลัง ได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้ ธาตุรู้นั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อาศัยปัจจัย คือ อารมณ์กระทบกับทวาร และผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด อารมณ์นั้นก็ปรากฏ แม้ว่าอารมณ์นั้นมีจริงแต่ถ้าผัสสเจตสิกไม่กระทบกับอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นก็ปรากฏไม่ได้
เสียง ใครจะทำให้เสียงปรากฏ ถ้าผัสสเจตสิกไม่กระทบเสียง โสตวิญญาณไม่เกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงก็ปรากฏไม่ได้ทั้งๆ ที่เสียงมีจริง แต่ทั้งๆ ที่เสียงมีจริง ก็จะต้องอาศัยปัจจัย คือ ทวาร โสตปสาท ถ้าโสตปสาทไม่มี รูปเสียงก็ปรากฏลักษณะของเสียงไม่ได้
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย และดับไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ต้องอาศัยทวารต่างๆ ที่กำลังมีอารมณ์ต่างๆ ปรากฏให้รู้ และสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าจะรู้ชัด
สำหรับโดยนัยของสสังขาริก อสังขาริก ก็แล้วแต่จิต ถ้าจิตเป็นสสังขาริก ผัสสเจตสิกก็เป็นสสังขาริก คือ เกิดโดยการชักจูง ถ้าจิตเป็นอสังขาริก ผัสสเจตสิกก็เป็นอสังขาริก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๘๑ – ๑๐๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140