แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
ครั้งที่ ๑๐๙๐
สาระสำคัญ
ฉันทาธิปติ
อกุศลจิต ๑๒ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยมี ๑๐ (เว้นโมหมูลจิต ๒)
ลักษณะของการยิ้มและการหัวเราะ ๖ อย่าง (หนังสือสุโพธาลังการ ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์)
เหตุที่พระอรหันต์ยิ้ม
ถ. เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะที่อ่านพระไตรปิฎกกับขณะที่อ่านหนังสือจิตวิทยา จิตใจในขณะนั้นรู้สึกว่าไม่มีอะไรต่างกัน
สุ. จิตวิทยาพูดเรื่องธรรมอะไรที่จะให้เข้าใจ
ถ. เขาก็พูดเรื่องจิตใต้สำนึกบ้าง อะไรๆ พวกนี้
สุ. เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นจิตเรา ถูกหรือผิด
ถ. ตามที่ศึกษาก็ว่าผิด
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาละเอียดจริงๆ จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว และก็มีระดับหลายขั้น แม้แต่จิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ประกอบด้วยปัญญาก็มีหลายระดับหลายขั้น ตั้งแต่อย่างอ่อนที่สุดจนกระทั่งถึงอย่างคมกล้าที่สุด เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องฟังเรื่องของจิตเหล่านี้ พร้อมกันนั้นก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ในความละเอียดของเรื่องจิตที่ได้ยินได้ฟังด้วย
ผู้ฟัง รู้ทางโลกจิตไม่สงบ รู้ทางธรรมจิตสงบ ขณะนั้นเบาสบาย
สุ. ท่านผู้ฟังชอบอ่านหนังสือประเภทไหน ตามร้านหนังสือหรือที่บ้านของท่านมีตั้งแต่หนังสือพิมพ์จนกระทั่งหนังสือรายสัปดาห์ รายเดือน มีหนังสือประเภท ต่างๆ เป็นวิชาการต่างๆ เป็นเรื่องบันเทิงต่างๆ แล้วแต่ฉันทะใช่ไหม ซึ่งขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แม้เพียงจะอ่านหนังสือ มีหนังสือหลายประเภท หลายเล่ม โลภมูลจิตเกิดจึงต้องการที่จะอ่าน แต่แล้วแต่ฉันทะของท่านที่สะสมมาในทางใดเป็นอธิปติในขณะนั้น ก็ทำให้เลือกหนังสือที่จะอ่านตามความพอใจของ แต่ละท่าน เป็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าศึกษาแล้ว สติเกิดระลึกได้
ขณะที่มีหนังสือ ๒ เล่ม จะอ่านเล่มไหน จะเห็นฉันทาธิปติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ที่กำลังอ่านด้วยความเพลิดเพลินพอใจ หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวก็มีหลายเรื่อง หลายหน้า ท่านเปิดหน้าไหนก่อน บางท่านอาจจะชอบโหราศาสตร์ พอเปิดก็ดูทันทีว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร ในขณะนั้นจะประกอบด้วยอธิปติปัจจัยตามฉันทะ ตามความพอใจของท่าน นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะเห็นว่า สำหรับอกุศลจิต โลภมูลจิตมีฉันทาธิปติได้ มีวิริยะเป็นอธิปติได้ หรือว่ามีจิตเป็นอธิบดีก็ได้
สำหรับโทสมูลจิตก็มีอธิปติปัจจัยด้วย จะมีฉันทะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ จะมีวิริยะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ จะมีจิตตะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ แต่ว่าทางฝ่ายอกุศลไม่มีวิมังสา คือ ปัญญา ไม่สามารถจะเป็นอธิปติปัจจัยได้
หลายท่านยังคงมีความเห็นว่า ต้องโกรธจึงจะถูก จึงจะควร จึงจะดี ขณะนั้นเพราะฉันทะเป็นอธิปติ มีความพอใจที่เห็นว่าควรจะโกรธในขณะนั้น มีไหม ในชีวิตประจำวัน บางคนไม่โกรธ คนอื่นก็บอกว่าต้องโกรธ ไม่โกรธไม่ได้ ในขณะนั้นเป็นสสังขาริกได้ถ้าเกิดโกรธขึ้น และเป็นฉันทาธิปติได้เพราะมีความเห็นว่า ควรจะต้องโกรธด้วย ถูกชักจูงให้มีความเห็นอย่างนั้นได้
เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ก็มี ๑๐ เว้นโมหมูลจิต ๒
สำหรับโมหมูลจิต ทำไมจึงไม่เป็นสหชาตาธิปติ มีใครอยากจะพอใจในโมหะบ้างไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ฉันทเจตสิกไม่เกิดกับโมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวง จึงไม่มี ฉันทาธิปติ และต้องมีความพากเพียรอะไรไหมที่จะให้เป็นโมหะ ไม่มี เพราะฉะนั้น วิริยะก็ไม่เป็นอธิบดี และโมหมูลจิตเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเจตสิกเพียงเหตุเดียว คือ โมหเจตสิก จึงเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ก็ไม่เป็นจิตตาธิปติ สำหรับวิมังสาธิปติ ไม่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้น วิมังสาธิปติก็ไม่มี
สำหรับวิบากจิต โลกียวิบากทั้งหมดไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย แต่โลกุตตรวิบาก มีสหชาตาธิปติปัจจัย
สำหรับกิริยาจิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์ โดยเฉพาะที่เป็นชวนจิต ต้องเป็นของพระอรหันต์เท่านั้น ปุถุชนจะไม่มีกิริยาจิตที่เป็นชวนจิต เพราะว่าสำหรับปุถุชน เห็นแล้วเป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง ไม่ใช่เป็นมหากิริยา เพราะฉะนั้น กิริยาจิตที่เป็นชวนจิตจึงเป็นของพระอรหันต์เท่านั้น
สำหรับกิริยาจิตที่เป็นชวนจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมี ๑ ดวง คือ หสิตุปปาทจิต เป็นจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ทำให้เกิดการยิ้มแย้มเพียงเล็กน้อยสำหรับ พระอรหันต์ เวลาที่เกิดโสมนัสยินดีเป็นปัจจัยให้รูปปรากฏเป็นลักษณะของการยิ้ม และการหัวเราะ
ในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังก็ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบว่าในขณะนั้นยิ้มเพราะจิตอะไร หรือถ้าหัวเราะ อาจจะทราบได้ว่าหัวเราะเพราะจิตอะไร ทราบได้ไหมปกติที่หัวเราะเพราะจิตอะไร กุศลจิตหรืออกุศลจิต อกุศลจิต เป็นโลภมูลจิต
และจิตที่จะทำให้เกิดการยิ้มหรือการหัวเราะ ต้องเป็นจิตที่เกิดร่วมกับ โสมนัสเวทนา ถ้าขณะนั้นจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มหรือหัวเราะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ยิ้มหรือหัวเราะ เวทนาในขณะนั้นต้องเป็นโสมนัสเวทนา
สติปัฏฐานเกิดได้ไหมในขณะที่ยิ้มหรือหัวเราะ ไม่มีใครไปบังคับว่าอย่าเกิด หรือว่าเกิดไม่ได้ ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานต้องไม่ยิ้ม ต้องไม่หัวเราะ สติเป็นอนัตตา การยิ้ม ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิดขึ้น และในขณะที่ยิ้ม สติเกิด สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของโสมนัสเวทนาได้ในขณะนั้น หรืออาจจะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใด หรือนามหนึ่งนามใดก็ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับว่า โสมนัสเวทนาอย่าปรากฏ ความดีใจอย่าปรากฏ ความสนุกสนานรื่นเริงอย่าปรากฏ
ในขณะที่กำลังสนุก ลักษณะสภาพที่เป็นโสมนัส หรือความรู้สึกสนุกสนานปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว สติย่อมสามารถระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของความรู้สึกชนิดหนึ่งซึ่งกำลังดีใจ เพลิดเพลิน หรือว่าสนุกสนานในขณะนั้น
สำหรับปุถุชน ยิ้มด้วยจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาที่เป็นมหากุศลโสมนัส ๔ ดวง ได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ๒ ดวง และมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ๒ ดวง และยิ้มด้วยโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง คือ เกิดร่วมกับ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๒ ดวง และทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๒ ดวง เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่ยิ้มให้ทราบว่า เพราะโสมนัสเวทนาที่เกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต
เวลาที่กำลังเพลิดเพลินในธรรม ซาบซึ้ง ผ่องใสเบิกบานในกุศลที่กำลังประกอบ ที่กำลังกระทำอยู่ หน้าตาจะปรากฏเป็นลักษณะที่ยิ้มแย้มได้ไหม ใน ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แล้วแต่ว่าจะเป็นญาณสัมปยุตต์หรือว่าญาณวิปปยุตต์
สำหรับการยิ้มหรือการหัวเราะ หนังสือสุโพธาลังการ ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ ข้อ ๓๖๐ - ข้อ ๓๖๑ ได้กล่าวถึงลักษณะของการยิ้มและการหัวเราะ ๖ อย่าง ซึ่ง แปลจากภาษาบาลี มีความว่า
อาการหัวเราะ มีนัยน์ตาบาน ชื่อสิตะ
อาการหัวเราะ มีฟันปรากฏนิดหน่อย ชื่อหสิตะ
อาการหัวเราะ มีเสียงไพเราะ ชื่อวิหสิตะ
อาการหัวเราะ มีไหล่และศีรษะหวั่นไหว ชื่ออุปหสิตะ
อาการหัวเราะ มีน้ำตาลไหล ชื่ออวหสิตะ
อาการหัวเราะ มีอวัยวะโยกโคลง ชื่ออติหสิตะ
และบรรดาอาการหัวเราะเหล่านี้ อาการละสองๆ ย่อมมีในบุคคลผู้เจริญ ผู้ปานกลาง และผู้ต่ำโดยลำดับ ซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ พระเสกขบุคคล และปุถุชน
เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องหัวเราะทุกครั้ง เพียงแต่เบิกบานผ่องใส ปลาบปลื้ม นัยน์ตาแจ่ม หรือว่านัยน์ตาบาน ในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะโสมนัสเวทนาได้
เคยเป็นไหมอย่างนี้ อาจจะไม่เคยรู้สึก แต่ขณะใดที่รู้สึกโสมนัส ยังไม่ทันจะยิ้ม แต่ว่ามีความสุข ในขณะนั้นถ้าดูที่ตาจะทราบว่า ขณะนั้นนัยน์ตาแจ่ม หรือว่า นัยน์ตาบาน นั่นก็เป็นสิตะ และบางครั้งเป็นการยิ้มแย้มเพียงเห็นฟัน นั่นก็เป็นหสิตะ
สำหรับพระอรหันต์จะมีการยิ้มหรือการแย้มที่มีฟันปรากฏนิดหน่อย คือ เป็นเพียงสิตะและหสิตะเท่านั้น ท่านจะไม่มีการหัวเราะเสียงดัง หรือมีเสียงไพเราะเกิดขึ้น
เสียงหัวเราะเพราะไหม ธรรมดาเสียงหัวเราะเพราะไหม เทียบกับเสียงร้องไห้ ต้องเทียบกัน บางคนได้ยินเสียงคนอื่นหัวเราะก็หัวเราะแล้ว หัวเราะในเสียงหัวเราะที่ได้ยิน เพราะเสียงนั้นช่างน่าหัวเราะจริงๆ
สำหรับกิริยาจิตที่เป็นหสิตุปปาทจิต ซึ่งทำให้เกิดการยิ้มหรือแย้มเพียงเห็นไรฟันของพระอรหันต์ ในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้น ไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย
แต่พระอรหันต์ท่านไม่ได้ยิ้มด้วยหสิตุปปาทจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิตดวงเดียว ท่านยังมีมหากิริยาจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาซึ่งเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก เป็น ญาณสัมปยุตต์หรือญาณวิปปยุตต์ที่ทำให้เกิดการยิ้มแย้มด้วย
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์บางครั้งยิ้มด้วยมหากิริยาจิตญาณสัมปยุตต์ บางครั้งยิ้มด้วยมหากิริยาจิตญาณวิปปยุตต์ บางครั้งยิ้มด้วยหสิตุปปาทจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิต ไม่เกิดร่วมกับเหตุเจตสิกเลย แต่ขณะที่ยิ้มด้วยจิตอื่นซึ่งไม่ใช่หสิตุปปาทจิต จึงจะมี สหชาตาธิปติปัจจัยได้
ถ. เหตุที่พระอรหันต์ยิ้ม อาศัยเหตุอะไร
สุ. น่าคิดใช่ไหม ธรรมดาผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยิ้มด้วยโลภมูลจิตบ้าง มหากุศลจิตบ้าง แต่เวลาที่เป็นพระอรหันต์ จะหมดเหตุปัจจัยที่จะเกิดการยิ้มเลยหรือ จะไม่มีความรู้สึกโสมนัสใดๆ ทั้งสิ้นเลยหรือ หรือว่ายังมีเหตุที่จะให้เกิดโสมนัสเวทนา โสมนัสเวทนาก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดจริง แต่ไม่ได้ดับเหตุที่จะทำให้เกิดโสมนัสเวทนา
ถ้าพระอรหันต์เห็นสถานที่ที่เหมาะควรแก่สมณธรรม จะมีปัจจัยให้เกิดความพอใจในสถานที่นั้นถึงกับยิ้มได้ไหม หรือว่าทางหู เวลาที่อาจจะได้ยินเสียงดัง วุ่นวาย แสดงความโลภของผู้ที่ยังเป็นปุถุชนหรือผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ พระอรหันต์เกิดโสมนัสเวทนาที่ท่านดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ไม่ต้องวุ่นวายอีกต่อไป
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเห็นความวุ่นวายของโลกหรือยัง แต่ถึงจะเห็นอย่างไร ก็ยังไม่เท่าที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเห็น เพราะที่จริงแล้วความวุ่นวายมีอยู่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นปกติ เพียงแต่ไม่รู้สึกว่าขณะนั้นวุ่นวาย เรื่องของโลภะทั้งหมดวุ่นวายแน่นอน
ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เปรียบเทียบจึงจะรู้ว่า ขณะที่ไม่วุ่นวาย คือ ขณะที่กำลังศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงรูปธรรมชนิดหนึ่งหรือว่านามธรรมประเภทหนึ่ง และก็ดับทันที เมื่อหมดไปแล้ว และไม่ใช่เพียงครั้งเดียว เมื่อสติระลึกต่อไป สภาพธรรมลักษณะหนึ่งปรากฏและดับอีก จึงเห็นว่าสูญทุกขณะ ไม่มีตัวตนที่เที่ยง ไม่มีสาระ เพราะว่าปรากฏแล้วก็หมดไป มีแล้วก็ไม่มี เมื่อสภาพธรรมปรากฏอย่างนี้ จึงรู้ว่า ในขณะนั้นเท่านั้นที่ไม่วุ่นวาย
แต่ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้วุ่นวายก็ยังไม่สามารถรู้สึกถึงสภาพที่วุ่นวายในขณะนั้นได้ แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏจึงจะรู้ได้ว่า ขณะที่ไม่วุ่นวายจริงๆ คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น เมื่อพระอรหันต์ยังมีเหตุที่จะทำให้เกิดโสมนัส มหากิริยาจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเป็นญาณสัมปยุตต์ทำให้เกิดการยิ้มแย้มได้ หรือบางครั้งก็เป็นมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ และบางครั้งก็เป็นหสิตุปปาท ซึ่งเป็นอเหตุกจิต
สำหรับทางจมูก เวลาที่ได้กลิ่นหอม เวลาที่บูชาพระเจดีย์ด้วยของหอม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโสมนัสได้สำหรับพระอรหันต์ หรือทางลิ้น เมื่อท่านได้อาหารบิณฑบาตที่ประณีตแบ่งให้เพื่อนพรหมจรรย์ และโสมนัสที่ได้กระทำสาราณียธรรม คือ การเอื้อเฟื้อกับเพื่อนพรหมจรรย์ ก็เป็นปัจจัยให้โสมนัสเวทนาเกิดได้
หรือทางกาย ในขณะที่ท่านกระทำวัตรทางกาย เช่น อภิสมาจาริกวัตร ตามวินัย และสติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ที่เป็นโสมนัส ทำให้จิตยิ้มแย้มเกิดได้
หรือทางใจ เวลาที่นึกถึงอดีต หรืออนาคต ก็เป็นปัจจัยให้โสมนัสเวทนาเกิดได้
ท่านผู้ฟังคล้ายๆ อย่างนี้หรือเปล่า เพียงแต่ว่าไม่ใช่มหากิริยาจิต ที่นึกถึงอดีตและก็หัวเราะ มีอะไรขำๆ ขันๆ ไหมในอดีตที่นึกถึงแล้วก็ยังหัวเราะได้ ขณะนั้นก็มีปัจจัยที่จะทำให้โสมนัสเวทนาเกิดขึ้นทำให้ยิ้มหรือหัวเราะ ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึก ในขณะนั้นจะรู้ลักษณะของโสมนัสเวทนาที่กำลังปรากฏว่า เพราะกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยให้การยิ้มหรือการหัวเราะเกิดขึ้น
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ หรือเปล่า ที่นึกและก็เกิดการยิ้มหรือการหัวเราะได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๘๑ – ๑๐๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140