แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
ครั้งที่ ๑๐๙๓
สาระสำคัญ
สภาพธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา
ปัญญาหยั่งลงถึงความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
น้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ละการยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา
เรื่องของปัจจัยเป็นส่วนที่ยากที่สุด จึงได้ขอกล่าวถึงเรื่องของปัจจัยก่อน เพราะถ้าจะรอจนถึงปริจเฉท ๘ ก็เป็นเวลาที่นานมาก และที่จะกล่าวถึงปัจจัยในตอนต้นนี้ ก็จะไม่กล่าวถึงโดยละเอียด เพียงแต่จะแสดงความเป็นปัจจัยเท่าที่ท่านผู้ฟังจะสามารถพิจารณาได้เมื่อกล่าวถึงจิตหรือเจตสิกนั้นๆ เพราะข้อความในอรรถกถามีว่า แม้ว่าผู้นั้นจะมีอายุยืนยาวนานสักเท่าไรก็ตาม และพูดถึงแต่เฉพาะเรื่องของปัจจัยเรื่องเดียวตลอดชีวิต ก็ยังไม่จบ
เพราะฉะนั้น ปัจจัยเป็นเรื่องที่จะแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมโดยละเอียด แต่ในตอนต้นจะขอกล่าวถึงปัจจัยเพียงเพื่อให้รู้ในความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันเท่านั้น
ถ. เจริญพร อาจารย์ อาตมาภาพฟังอยู่ทางชัยนาท อำเภอมโนรมย์ มีความสงสัยเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อาตมาเผยแพร่อยู่ในแนวทางนี้เหมือนกัน โยมๆ ปฏิบัติไป อาตมาก็กระทำไปด้วย อยากจะถามโยมอาจารย์ว่า ในขณะที่ ตาเห็นสี สติระลึกรู้สี อย่างนี้ชื่อว่าระลึกรู้รูป ใช่หรือไม่ใช่
สุ. ต้องหยั่งลงถึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้นเองเจ้าค่ะ
ถ. หมายความว่า ลักษณะที่ปรากฏทางตานั้น ไม่เฉพาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ในขณะที่ลักษณะนั้นปรากฏทางตา สติระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏทางตานั้น ขณะนั้นอาตมาขอทราบชัดๆ ว่า เป็นการระลึกรู้ตรงรูปลักษณะสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นใช่ไหม อาตมาสงสัยเท่านี้
สุ. ขณะที่เริ่มพิจารณารู้ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏได้ทางตา ในขณะนั้นเป็นการน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริงเจ้าค่ะ จนกว่าลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจะปรากฏจริงๆ ว่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุใดๆ เลยในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ถ. ทางตา เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พอจะทำความเข้าใจได้ ส่วนทางตา การสะสม ที่เรียกว่าอนุสัย สะสมทีละเล็ก ทีละน้อยจนเห็นทีไรที่จะเพิกถอนได้ รู้สึกว่ายากมาก
สุ. สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นอนัตตา ต้องเป็นอนัตตาจริงๆ จะเป็นอนัตตาเพียงตัวหนังสือ หรือว่าเป็นอนัตตาแต่เพียงชื่อไม่ได้ เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องหมายความว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละอย่าง ซึ่งปรากฏแต่ละทาง
สำหรับทางตา ต้องทราบจริงๆ ว่า เมื่อเห็นแล้วมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานแน่นอนจึงปรากฏเป็นคน หรือเป็นวัตถุ หรือเป็นสิ่งของต่างๆ ถ้าเพียงเห็นและ ไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานจะปรากฏเป็นคนแต่ละคน หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ลองดู เพียงชั่วขณะที่หลับตา และลืมตาทันที ชั่วขณะเดียวที่ลืมตาขึ้นมาจะบอกได้ไหมว่าเห็นอะไร ก็จะเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน
เพราะฉะนั้น ทางตา หลังจากที่วิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นอย่างรวดเร็ว มโนทวารวิถีเกิดต่อทันที ไม่มีใครไประงับยับยั้งการเกิดต่อของมโนทวารวิถีได้ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ดูเสมือนปรากฏว่า เห็นคนกำลังนั่ง กำลังยืน กำลังนอน กำลังเดิน หรือว่าเห็นวัตถุสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
ถ้าเพียงแต่ทางมโนทวารวิถีจิตไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานเท่านั้น จะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น บางครั้งท่านผู้ฟังเห็น แต่ไม่ชัด ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เคยมีไหมอย่างนี้ ซึ่งแสดงว่า ทางมโนทวารไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้นจึงไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หรือบางทีเห็นรูปร่างสัณฐาน แต่ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จนกว่าจะสัมผัสกระทบ หรือว่าหยิบขึ้นมาพิจารณาดูจึงจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แสดงให้เห็นว่า ตามความเป็นจริง ทางตาเพียงเห็น ทางตาจะรู้ไม่ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร คือ ถึงแม้ว่าเห็นแล้ว บางอย่างยังต้องสัมผัส ยังต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาดูจนกว่าจะแน่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ซึ่งในขณะที่กำลังพิจารณาถึงรูปร่างสัณฐาน ในขณะนั้นไม่ใช่จิตเห็นทางตา เพราะฉะนั้น สำหรับทางตาเพียงเห็น และก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ต้องไม่เว้น ทางตาก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา ทางหูก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา ทางจมูกก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา ทางลิ้นก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา ทางกาย ทางใจก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา
ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่าปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งโดยที่ไม่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ในขณะนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ ก็เพราะสติระลึกได้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังเป็นนามธรรมที่ปรากฏ สภาพใดเป็นรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งนี่คือการอบรมเจริญปัญญา ถ้าในขณะนี้ยังหานามธรรมและรูปธรรมไม่พบ หาไม่เจอ การที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้
ขณะนี้ สภาพรู้ทางตาที่กำลังเห็น ทางหนึ่งที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม สภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ระลึกหรือยัง ถ้ายังไม่ระลึกเพราะว่าระลึกยาก ก็ให้รู้ว่าขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่มีทางที่จะดับกิเลส เพราะทางตายังปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ยังไม่ใช่อนัตตา เมื่อไม่ใช่อนัตตา ก็ต้องเป็นตัวตน ยังเป็นอัตตาอยู่ ก็ดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ทั้งหมดต้องเข้าใจว่า สภาพธรรมใดเป็นนามธรรม เพื่อสติจะได้ระลึกได้ และศึกษาจนกระทั่งเป็นความรู้ชัด
แต่ในตอนต้นๆ ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพของความเป็นอนัตตาได้โดยรวดเร็ว ถ้าไม่เคยอบรมเจริญปัญญาในอดีตมาก่อน แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอบรมพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ได้เป็นพระโสดาบันในชาติใดชาติหนึ่งมาก่อนชาติสุดท้ายที่จะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันวิสาขบูชา แสดงให้เห็นว่า การอบรมปัญญาที่จะประจักษ์ความเป็นอนัตตา สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเองที่จะดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังต้องอบรมพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาน้อยกว่านั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญานาน เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ต้องอบรมบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป หรือ ๘ อสงไขยแสนกัป หรือ ๑๖ อสงไขยแสนกัป ตามประเภทของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จะเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยศรัทธา หรือด้วยวิริยะ หรือด้วยปัญญา
เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ควรจะอบรมไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ในขณะใด ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ การฟังธรรม และการพิจารณาธรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง
ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ถ้ามโนทวารวิถียังไม่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมากระทบ ขณะที่พิจารณา ขณะนั้นจะพิจารณานามก็ดี รูปก็ดี คล้ายๆ กับว่า น้อมเอาหรือนึกเอาว่า นี่เป็นรูป หรือว่านี่เป็นนาม เพราะอารมณ์ยังไม่ปรากฏชัด เพราะฉะนั้น ที่เราพิจารณาว่า นี่เป็นรูป นี่เป็นนาม ก็คล้ายกับว่านึกเอาเท่านั้น ใช่ไหม
สุ. เป็นเรื่องยากจริงๆ สำหรับการเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อยของ สติปัฏฐาน
ถ. เวลานี้ สภาพที่เป็นรูปกับสภาพที่เป็นนามนั้น ปัญญายังแยกไม่ออก เพราะฉะนั้น ที่ว่านึกเอาๆ ก็เพราะว่า เวลาที่รู้สึกตัว อารมณ์ทางตาปรากฏ น้อมไปคิดว่านี่เป็นรูป บ้างครั้งก็น้อมไปว่านี่เป็นนาม คล้ายๆ กับว่า นึกเอา แต่แท้ที่จริง รูปก็ดี นามก็ดี ยังแยกไม่ออก
สุ. เป็นการถูกต้องทุกประการที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะไม่มีใครสามารถที่จะเกิดปัญญาอย่างรวดเร็วและประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม โดยความเป็นอนัตตาทันที อย่าลืม ๔ อสงไขยแสนกัป หรือ ๒ อสงไขยแสนกัป หรือแสนกัป หรือเมื่อไม่เป็นพระมหาสาวกก็น้อยกว่านั้น แต่ไม่ใช่เมื่อวานนี้กับวันนี้ หรือว่าเดือนก่อนกับเดือนนี้ หรือว่าปีก่อนกับปีนี้ หรือว่าชาติก่อนกับชาตินี้
ที่น้อมไปนั้น ถูกต้องแล้วที่จะต้องเริ่มจากการน้อมโดยการคิด แต่ไม่ใช่หมายความว่าต้องคิด แล้วแต่การคิดจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ขณะใดที่ยังไม่รู้ชัด ขณะนั้นก็ยังเป็นส่วนของการน้อมด้วยความคิด เพราะยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เป็นการถูกต้องที่จะมีการเริ่มน้อมไปสู่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าความรู้ชัดหรือการประจักษ์แจ้งจะเกิดขึ้นเพราะอาศัยการน้อมไปเรื่อยๆ จากชาติหนึ่งเป็นอีกชาติหนึ่งๆ เรื่อยๆ ไป
มีใครมีวิธีที่จะทำให้พืชที่ต้องอาศัยกาลเวลาเป็นเดือน เป็นปี ให้ดอกให้ผล ภายในวันสองวันที่ปลูกได้บ้าง ก็เป็นไปไม่ได้ และยิ่งเป็นปัญญา ก็ยิ่งเจริญยากจริงๆ
ถ. ขณะที่น้อมไป ใช่เป็นสติที่ระลึกรู้หรือไม่
สุ. เป็น สติเกิด เพราะขณะนั้นไม่ได้ระลึกที่อื่น แต่กำลังน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ลืมใช่ไหมว่า ขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นของจริง และจะจริงยิ่งกว่านั้นเมื่อปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น
การที่เคยมีตัวตน คือ ตัวเอง และมีบุคคลอื่นมากหน้าหลายตา รวมทั้งวัตถุ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้หลายแสนกัปชาติมาแล้ว กับการที่จะรู้ว่าไม่มีตัวตนเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นและดับ เป็นแต่เพียงรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและดับ เป็นรูปธรรมแต่ละชนิดประชุมรวมกัน และเป็นนามธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดดับสืบต่อกันจึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง ของรูปธรรมบ้าง แต่ละชนิด แต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ
จริงไหม ที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จริงหรือเปล่า ที่เป็นนามธรรม แต่ละชนิด คือ สภาพเห็นไม่ใช่สภาพได้ยิน ไม่ใช่สภาพคิดนึก ไม่ใช่สภาพที่รู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ จริงหรือเปล่าที่ว่า รูปธรรมแต่ละลักษณะปรากฏแต่ละทางและก็ ดับไป จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ก็จะต้องให้ประจักษ์แจ้งความจริงถึงขั้นยิ่งกว่านี้ คือ ประจักษ์ในสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ไม่ใช่ว่ากำลังเห็นเป็นคน และคนนี้เกิดดับ นั่นยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของอนัตตา จนกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่คน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน กระทบสัมผัสไม่ได้ เพียงเห็นได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ อบรมจากการฟัง การพิจารณา การน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไปเรื่อยๆ
ถ. อีกประการหนึ่ง ขณะที่สติระลึกรู้ตรงเย็น ในขณะนั้นที่พูดกันว่า แยกรูปแยกนาม อาตมาเข้าใจว่า ในขณะที่สติระลึกรู้ตรงเย็นที่ปรากฏ ในขณะนั้นแยกแล้ว อย่างนี้อาตมาจะเข้าใจผิดหรือถูก ขอเจริญพรถาม
สุ. ขณะที่ระลึกที่รูปที่เย็น ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นแขนเราเย็น หรือว่าตัวเราเย็น ในขณะนั้นศึกษาลักษณะที่เย็นรู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ในขณะนั้นรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะที่เย็น แต่สักกายทิฏฐิมีถึง ๒๐ คือ ยึดถือรูปว่าเป็นตน ยึดถือเวทนาขันธ์ ยึดถือสัญญาขันธ์ ยึดถือสังขารขันธ์ ยึดถือวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของรูป กำลังรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพเย็น จึงไม่ใช่เรา ขณะนั้นรู้ลักษณะของรูปขันธ์ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่ได้อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่รู้เย็น ขณะนั้นก็ยังเป็นเราซึ่งกำลังรู้รูปเจ้าค่ะ
เพราะฉะนั้น กว่าการยึดถือขันธ์ ๕ จะค่อยๆ ละคลายลงไปด้วยการรู้ลักษณะของรูปและด้วยการรู้ลักษณะของนาม ก็จะต้องพิจารณาลักษณะของขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ เพราะแม้ว่าบางครั้งกำลังพิจารณาลักษณะของสภาพรู้ เช่น กำลังเห็นก็ดี หรือกำลังได้ยินก็ดี เสียงปรากฏเพราะมีสภาพรู้เสียง ขณะนั้นก็ยังยึดถือเวทนา ความรู้สึกว่าเป็นเราได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกขันธ์ ๕ ก็เพื่อให้อบรมเจริญปัญญาพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ จนกว่าจะละคลายการยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเจ้าค่ะ
และในวันหนึ่งๆ ที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ควรมีได้ตลอดเวลา โดยไม่เลือกกาล หรือว่าไม่เลือกสถานที่ เพราะขณะใดที่มีการเห็น สติก็ระลึกได้ ขณะที่ได้ยินสติก็ระลึกได้ ขณะที่ได้กลิ่นสติก็ระลึกได้ ขณะที่ลิ้มรส สติก็ระลึกได้ ขณะที่กำลังกระทบสัมผัสขณะนี้ สติก็ระลึกได้ ขณะที่คิดนึกต่างๆ ทางใจสติก็ระลึกได้ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด แต่เมื่อไรปัญญาจะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างที่กำลังปรากฏ
ถ้าระลึกแล้วยังไม่รู้ จะทำอย่างไรดี จะโกรธ หรือจะอึดอัดใจ ก็เปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ว่าระลึกรู้อีก ศึกษาอีก ในขณะนั้นเป็นสัมมาวายาโม ระลึกชอบ เพียรชอบ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะท้อถอย หรือว่าควรที่จะหงุดหงิดรำคาญใจ เมื่อความไม่รู้สะสมมามาก กว่าความรู้จะเจริญขึ้น ก็ต้องอาศัยกาลเวลานานมากทีเดียว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๐๙๑ – ๑๑๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140