แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096


    ครั้งที่ ๑๐๙๖

    สาระสำคัญ

    ชีวิตในชาติหนึ่งๆ แบ่งออกเป็น ๒ กาล

    ปฏิสนธิขณะประมวลมาซึ่งปัจจัยและปัจจยุปบันของธรรมทั้งหลาย (โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท - วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป)

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา - วิถีจิตแรกที่เกิดขึ้นไม่ว่าในภพภูมิใดต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร

    การเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามทวาร ๖


    สำหรับชีวิตในชาติหนึ่งๆ แบ่งออกเป็น ๒ กาล คือ ปฏิสนธิกาล และ ปวัตติกาล

    ปฏิสนธิกาล คือ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเป็นปฏิสนธิกาล หลังจากนั้นทั้งหมด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดับไป เป็นปวัตติกาล

    ทั้งหมดนี้ คือ อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ทำให้จิตเกิดดับสืบต่อไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ จึงไม่มีปัจจัยทำให้นามธรรมเกิดสืบต่อไปได้

    สำหรับปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่แม้อย่างนั้นในขณะของปฏิสนธิจิตนั่นเอง ประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัยและปัจจยุปบันธรรมของรูปธรรมและอรูปธรรม คือ นามธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดตลอดชีวิต เหตุที่จะให้เกิดสุข ทุกข์ หรือการเห็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด การได้ยิน การได้ลาภ ได้ยศ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือว่าสรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ แม้ในขณะนี้ ก็เป็นผลของปฏิสนธิจิตที่ประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัย และปัจจยุปบันธรรมของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลาย

    ถ้ากล่าวโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นตอนที่ว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เพราะปฏิสนธิจิตเป็นวิญญาณซึ่งเป็นปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น และเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูปซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้น

    ในขณะปฏิสนธิจิตขณะเดียวนั้นเอง ปฏิสนธิจิตเป็นวิญญาณ เป็นจิตปรมัตถ์ เป็นปัจจัยให้กับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเกิดขึ้นพร้อมกัน และเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกันในขณะอุปปาทขณะของปฏิสนธิจิตนั้น

    กัมมชรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ไม่ใช่รูปกลุ่มที่เกิดเพราะจิต ไม่ใช่รูปกลุ่มที่เกิดเพราะอุตุ ไม่ใช่รูปกลุ่มที่เกิดเพราะอาหาร แต่ถ้าปฏิสนธิขณะ คือ ปฏิสนธิกาล ปราศจากปฏิสนธิจิต กัมมชรูปก็เกิดไม่ได้ แสดงให้เห็นความพิเศษของสภาพธรรมในขณะหนึ่งว่า ในขณะปฏิสนธิ คือ ในปฏิสนธิกาล เป็นขณะที่พิเศษต่างจากขณะ หลังๆ ซึ่งขณะหลังๆ กัมมชรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยโดยไม่ต้องอาศัยจิต

    ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กัมมชรูปในขณะนั้นเป็นปัจจัยและปัจจยุปบัน คือ เป็นปัจจยุปบันของปฏิสนธิจิต และเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรม คือ จิตและเจตสิก ไม่สามารถจะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูปธรรม ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะจนกระทั่งถึงจุติ

    นี่แสดงให้เห็นถึงแต่ละขณะที่มีความพิเศษ มีความต่างออกไป ซึ่งเป็นความละเอียดที่จะต้องรู้ว่า ทุกอย่างเป็นเพราะปฏิสนธิขณะประมวลมาซึ่งปัจจัยและ ปัจจยุปบันของธรรมทั้งหลายที่เกิดสืบต่อตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติโดยอนันตรปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับ เป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตดวงแรกเกิดสืบต่อ ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะปฏิสนธิจิตและเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด จะไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสืบต่อทันที จะไม่เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินสืบต่อทันที แต่ต้องเป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ

    ปฐมภวังคจิตที่ดับไปก็เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตดวงที่ ๒ เกิดสืบต่อ ไม่มีใครไปบังคับหรือว่าไปเปลี่ยนแปลงความเป็นอนันตรปัจจัยของ ปฐมภวังค์ว่า เมื่อดับไปแล้วให้จิตดวงอื่นซึ่งไม่ใช่ภวังคจิตดวงที่ ๒ เกิด

    นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติ ซึ่งไม่ใช่มีแต่ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเท่านั้น ยังมีการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยอนันตรปัจจัย

    ถ้ามีเพียงปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ และมีภวังคจิตเกิดแล้วดับเท่านั้น ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครเป็นสุขเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะไม่ได้รู้อารมณ์ซึ่งทำให้เกิดความรักหรือความชัง ซึ่งทุกคนก็เห็นได้ว่า ขณะที่นอนหลับสนิทไม่เกิดความรักความชังใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ อนันตรปัจจัยทำให้เกิดการรู้อารมณ์ขึ้น

    การที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใหม่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ตาม ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเปลี่ยนอารมณ์ของภวังคจิต เพราะภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่อนันตรปัจจัยทำให้วิถีจิตเกิดขึ้น เปลี่ยนการรู้อารมณ์ของ ภวังคจิตมาเป็นการรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งสำหรับชวนวิถีแรก ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา อธิบายปริจเฉทที่ ๔ แสดงว่า เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป และภวังคจิตเกิดดับสืบต่อหลายขณะ วิถีจิตแรกที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นวิถีจิตทาง มโนทวาร ซึ่งมีโลภมูลจิตเป็นชวนะต่อจากมโนทวารราวัชชนจิต

    สำหรับชวนวิถีแรกเป็นมโนทวารวิถี ซึ่งมโนทวารได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ เพราะถ้ายังไม่เป็นวิถีจิต กระแสของภวังค์จะเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ แต่เวลาที่จิตจะเปลี่ยนอารมณ์ หมายความว่ารู้อารมณ์อื่นต่างจากภวังค์ ภวังค์จะเป็นภวังคจลนะ คือ เริ่มไหวที่จะเปลี่ยนอารมณ์ หรือรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ภวังคจลนะเกิดขึ้นขณะหนึ่งและดับไป เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น

    ภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้ว ที่จะยับยั้งให้จิตดวงต่อไปไม่เป็นวิถีจิตไม่ได้ เพราะภวังคุปัจเฉทะเป็น อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้น

    ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร คือ ทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า วิสยัปปวัตติ

    วิสยะ เป็นอีกคำหนึ่งของคำว่า อารมณ์ จะใช้คำว่า อารัมมณะ หรือวิสยะ หรือโคจระ ก็ได้

    โคจรรูป คงเคยได้ทราบมาแล้วว่า หมายความถึงรูปที่เป็นอารมณ์ ๗ รูป คือ ทางตา ๑ รูป ทางหู ๑ รูป ทางจมูก ๑ รูป ทางลิ้น ๑ รูป ทางกาย ๓ รูป ได้แก่ ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟ ลักษณะที่เย็นหรือร้อน ธาตุลม ลักษณะที่ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นไปโดยการรู้อารมณ์ตามทวาร เป็นวิสยัปปวัตตินั้น สำหรับทางปัญจทวารแสดงไว้ว่ามี ๔ วาระที่ต่างกัน คือ

    บางขณะที่รู้อารมณ์ทางตา วิถีจิตเกิดมาก ตั้งแต่อาวัชชนวิถี ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุวิญญาณเกิดต่อเป็นวิถีที่ ๒ ต่อจากนั้นสัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิถีที่ ๓ สันตีรณจิตเป็นวิถีที่ ๔ โวฏฐัพพนจิตเป็นวิถีที่ ๕ ชวนจิตเป็นวิถีที่ ๖ และตทาลัมพนจิตเป็นวิถีที่ ๗ มีวิถีจิตถึง ๗ วิถี จึงเป็น ตทาลัมพนวาระ

    ในขณะที่เป็นไปกับการเห็นครั้งหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนี้เป็นตทาลัมพนวาระหรือเปล่า แต่ทรงแสดงไว้ว่า ในการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทาง ปัญจทวารครั้งหนึ่งๆ จะมีวิสยัปปวัตติ คือ ความต่างกันตามความมากน้อยของวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในขณะนั้น โดยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยนั่นเอง

    ขณะใดมีการรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร แต่วิถีจิตไม่ถึง ๗ วิถี คือ มีเพียง อาวัชชนวิถี ปัญจวิญญาณวิถี สัมปฏิจฉันนวิถี สันตีรณวิถี โวฏฐัพพนวิถี และ ชวนวิถีเท่านั้น ไม่มีตทาลัมพนะ ขณะนั้นก็เป็น ชวนวาระ

    และบางครั้ง วิสยัปปวัตติ คือ การเกิดขึ้นเป็นไปในการรู้อารมณ์นั้น ก็อาจจะมีวิถีจิตเกิดน้อยกว่านั้นอีก คือ แม้ชวนะก็ไม่เกิด มีแต่ปัญจทวาราวัชชนวิถี ปัญจวิญญาณวิถี สัมปฏิจฉันนวิถี สันตีรณวิถี และโวฏฐัพพนะวิถี คือ มีเพียง ๕ วิถีเท่านั้น วิสยัปปวัตติ การเป็นไปเกิดขึ้นของจิตที่รู้อารมณ์ในขณะนั้นก็เป็น โวฏฐัพพนวาระเพราะชวนะไม่เกิด กุศลจิตและอกุศลจิตไม่เกิดในขณะนั้น

    และบางขณะวิสยัปปวัตติน้อยกว่านั้นอีก คือ มีแต่ภวังคจลนะเท่านั้น แม้ ภวังคุปัจเฉทก็ไม่มี เพราะถ้าภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น จะต้องเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้วิถีจิตเกิด วิสยัปปวัตติที่ไม่มีวิถีจิตเกิดเลยนั้นเป็น โมฆวาระ เพราะว่ารูปที่กระทบปสาทนั้นดับไปก่อนที่วิถีจิตจะเกิดขึ้นได้

    ถ. ปกติอายุของรูปมี ๑๗ ขณะของจิต ในเมื่อจิตเกิดดับยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ รูปจะดับไปก่อนได้อย่างไร หมายความว่า รูปเกิดก่อนจิตเกิดหรืออย่างไร

    สุ. แน่นอน เพราะบางทีรูปเกิดก่อนหลายขณะ ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด

    ถ. อยากทราบความต่างกันของคำว่า อนันตรปัจจัย กับสมนันตรปัจจัย

    สุ. สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย บางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างโดยพยัญชนะเพื่อเน้นความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย

    นัตถิ แปลว่า ไม่มี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่จะเป็นนัตถิปัจจัยได้ต้องเป็นปัจจัยในขณะที่สภาพธรรมนั้นไม่มี ไม่ใช่ขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังมีอยู่ แต่ถ้าใช้เพียงพยัญชนะว่า นัตถิปัจจัย เท่านั้น ก็อาจจะทำให้เข้าใจความหมายผิด หรืออาจจะทำให้เข้าใจไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้น แม้ในความเป็นปัจจัยของสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกในขณะนั้นเอง ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นวิคตปัจจัย หมายความว่า ไม่มีโดยการปราศไป ดับไป ไม่ใช่ว่าเพราะไม่เคยมี

    เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกนี้เป็นอนันตรปัจจัยที่เมื่อดับไปแล้วทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดต่อ โดยในขณะนั้นต้องเป็นนัตถิปัจจัยด้วย คือ ต้องเป็นสภาพที่ไม่มีอยู่ในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วจิตดวงต่อไปจะเกิดไม่ได้ และต้องเป็นสภาพที่ไม่มีโดยปราศไป คือ โดยดับไป ไม่ใช่เพราะไม่เคยมีมาก่อน

    สำหรับอนันตรปัจจัย หมายความถึงจิตและเจตสิกเป็นปัจจัยทำให้ ปัจจยุปบันธรรม คือ จิตและเจตสิกดวงต่อไป เกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่นเลย

    สำหรับสมนันตรปัจจัย แสดงถึงอนันตรปัจจัย ซึ่งทำให้จิตอะไรเกิดต่อ เช่น เมื่อภวังคุปัจเฉทจิตดับไป ต้องมีอนันตรปัจจัย จิตอื่นจึงเกิดต่อได้ แต่ว่าจิตที่จะเกิดต่อ ถ้าเป็นการกระทบอารมณ์ทางปัญจทวาร ภวังคุปัจเฉทะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ไม่เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น การเป็นอนันตรปัจจัย คือ ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อ และสมนันตรปัจจัย คือ อนันตรปัจจัยที่ทำให้เฉพาะปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ ไม่ทำให้จักขุวิญญาณหรือจิตอื่นเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร

    นี่คือสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลง หรือบังคับบัญชาให้เป็นอย่างอื่นได้

    อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น สมนันตรปัจจัย คือ จิตและเจตสิกดวงก่อนเป็นสมนันตรปัจจัยโดยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดต่อด้วยดี คือ ตามสภาพความเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยของจิตดวงก่อนว่าเมื่อดับไปแล้วจะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทไหน ดวงไหน ชาติไหนเกิดขึ้น

    ถ. เมื่อรูปเกิดขึ้น ดับไปแล้ว จิตยังไม่เกิด ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างว่า เป็นอย่างไร

    สุ. ธรรมดารูปเกิด มีอายุ ๑๗ ขณะ และก็ดับ แล้วแต่ว่าจะกระทบกับปสาทและเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นมากหรือน้อยวิถีตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถไปยับยั้งว่า รูปที่เกิดแล้วจะต้องให้วิถีจิตเกิดครบทั้ง ๗ วิถีก่อนจึงดับ

    ซึ่งรูปเองก็มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น ถ้ารูปใดเกิดและกระทบกับปสาท แต่วิถีจิตยังไม่เกิด ภวังคจลนะก็เกิดและก็ดับ และภวังคจลนะนั่นเองก็เกิดอีกและก็ดับก่อนที่วิถีจิตจะเกิด เมื่อเป็นอย่างนั้น รูปก็ต้องดับก่อนที่ ตทาลัมพนจิตจะเกิดได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นชวนวาระ ถ้าตทาลัมพนจิตไม่เกิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๐๙๑ – ๑๑๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564