แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097


    ครั้งที่ ๑๐๙๗

    สาระสำคัญ

    ทางปัญจทวารวิถีจะมีนามเป็นอารมณ์ไม่ได้

    การแยกขาดของปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถี

    ปัญญาเกิดทางจักขุทวาร น้อมไปที่จะรู้

    ขณะที่ฟังเป็นการศึกษาเรื่องของสภาพธรรม

    นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ


    ถ. เรื่องการเจริญสติ ขณะที่เป็นสี สมมติว่าสีปรากฏ เป็นจักขุทวารวิถี ถ้าปัญญาเกิดในขณะที่เป็นชวนวิถีนั้น ปัญญาต้องมีสีเป็นอารมณ์ใช่ไหม ถ้าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

    สุ. ต้องมีรูปเป็นอารมณ์สำหรับทางปัญจทวารวิถี ทางปัญจทวารวิถีจะมีนามเป็นอารมณ์ไม่ได้เลย

    ถ. ในขณะนั้นปัญญาจะรู้อะไร

    สุ. รู้รูปที่กำลังปรากฏถูกต้อง รู้ได้ไหม

    ถ. ขณะที่สัมปฏิจฉันนะดับไป สัมปฏิจฉันนะในขณะนั้นมีสีเป็นอารมณ์ ชวนะก็ต้องมีอารมณ์เหมือนสัมปฏิจฉันนะ ใช่ไหม

    สุ. ตลอดวิถีทางปัญจทวารจะเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ คือ ถ้าเป็นทางตา ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต มีรูปซึ่งยังไม่ดับไปเป็นอารมณ์

    ถ. ปัญญาในขณะนั้น จะต่างกับขณะที่ไม่เป็นสติปัฏฐานอย่างไร

    สุ. มีหลายขั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ได้หมายความว่า ปัญจทวารวิถีจิตไม่เกิด ถูกไหม

    ถ. ถูก

    สุ. ปัญญาที่ถึงขั้นของวิปัสสนาญาณ จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังปรากฏในขณะนั้นทีละอย่าง เพราะฉะนั้น สำหรับวิปัสสนาญาณต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี แต่อารมณ์ที่ปรากฏจะปราศจากปัญจทวารวิถีไม่ได้ เพราะในขณะนั้นเสียงก็ปรากฏเป็นอารมณ์ให้วิปัสสนาญาณรู้ว่า ไม่ใช่นามธรรม

    ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ลักษณะของนามธรรมปรากฏโดยสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของธาตุรู้แต่ละชนิด และรูปธรรมในขณะนั้นก็ต้องปรากฏ เพื่อแสดงความเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่นามธรรม วิปัสสนาญาณจึงจะประจักษ์ชัดแจ่มแจ้งในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมเพราะฉะนั้น ต้องมีปัญจทวารวิถีด้วย มิฉะนั้น รูปธรรมก็ปรากฏไม่ได้ แต่หลังจากที่ปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด รู้รูปธรรมนั้นเองต่อจากปัญจทวารวิถี

    มโนทวารวิถีสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ทั้งนามธรรมและรูปธรรม แต่ในขณะนั้นก็ไม่สามารถปราศจากปัญจทวารวิถีด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดทางปัญจทวารวิถีก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นก็ต้องขาดตอนของปัญญา

    ถ. ปัญญาในขณะนั้น สมมติว่ารู้สี

    สุ. ก็มีสีเป็นอารมณ์ ลักษณะของสีในขณะนั้น ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ปรากฏว่า เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. ถ้าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่เป็นระดับที่ต่ำกว่า

    สุ. ระดับที่ต่ำกว่าก็สามารถที่จะพิจารณารู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หมายความว่า รู้สีนั่นเอง ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ทางปัญจทวารต้องมีสีปรากฏ

    ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องการแยกขาดของปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถี ใช่ไหม ซึ่งปัญจทวารวิถีก็ไม่ใช่มโนทวารวิถี และก็มีภวังค์คั่น เพราะฉะนั้น จึงสงสัยในความต่างกันของชวนจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เช่น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ในขั้นของ สติปัฏฐาน ว่าจะเกิดได้ไหมในทางปัญจทวารวิถี ใช่ไหม

    ถ. ผมเข้าใจว่าเกิดได้ แต่สงสัยว่า ถ้าเกิดแล้ว

    สุ. ก็มีสีเป็นอารมณ์ อย่างรวดเร็วที่สุด สั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุด

    ถ. สมมติว่า ปัญญาเกิดทางจักขุทวาร จะทันให้รู้เรื่องไหมว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียง ...

    สุ. ขณะนั้นมีสีเป็นอารมณ์ พอไหม ขณะที่มีสีเป็นอารมณ์และรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะทางจักขุทวารเองไม่สามารถที่จะเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรได้เลย ปกติก็เป็นอย่างนั้น แต่ที่ต่าง เพราะถ้าปัญญาไม่เกิด โลภะเกิด โมหะเกิด

    แม้ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่เพียงลักษณะของนามธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ รูปธรรมก็ต้องปรากฏ เพราะฉะนั้น จะปราศจากปัญจทวารได้ไหม

    ถ. ตอนที่ยังไม่ถึงวิปัสสนาญาณ

    สุ. สติไม่เกิดอะไรเกิด ก็ต้องเป็นโลภะ โมหะ แต่ไม่รู้ลักษณะของโลภะ โมหะในขณะที่เห็นเกิดขึ้น บางคนเข้าใจว่าไม่มีโลภะเลย เนื่องจากไม่ปรากฏอาการที่พอใจ เพราะความไม่รู้ แต่เวลาที่สติเกิด ต่างกันใช่ไหม กำลังพิจารณาลักษณะสภาพของรูปที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องไม่ใช่โลภะ โมหะ

    ถ. ขณะที่กำลังพิจารณา ก็คือ กำลังคิดไม่ใช่หรือ

    สุ. พิจารณาโดยไม่คิด มีไหม ถ้ายังไม่มีก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ. พิจารณาอย่างไรโดยไม่คิด

    สุ. น้อมไปที่จะรู้ เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงขั้นสติปัฏฐาน มีปัญญาขั้นฟัง มีปัญญาขั้นตรึกเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะใดที่สติระลึก ตรงลักษณะ ไม่ได้หมายความว่าคิดเกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะจิตที่คิดก็ดับ ใครจะคิดได้ตลอดเวลาที่เป็นคำ ไม่ได้คิดเป็นเรื่องเป็นคำอยู่ตลอดเวลา

    ลองกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนี้ มีการคิดเป็นคำหรือเปล่าในขณะที่ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่า แข็ง ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่า แข็งเป็นรูป ยังไม่ได้คิดว่า สภาพที่กำลังรู้ในลักษณะที่แข็งนั้นเป็นนาม

    ไม่ต้องคิด แต่นามธรรมกำลังรู้แข็ง เป็นธาตุรู้ และแข็งกำลังเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อเป็นเพียงลักษณะแข็ง ก็ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่แข็ง เป็นของจริงซึ่งกำลังปรากฏในขณะนั้น และสภาพรู้กำลังรู้แข็งโดยไม่ต้องคิดเป็นคำ

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ น้อมไปที่จะรู้ในลักษณะที่รู้ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และบางครั้งสติปัฏฐานก็น้อมไปที่จะไม่ยึดถือแข็งว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะกระทบแข็งที่นี่ หรือว่าจะไปกระทบหญ้าที่พระวิหารเชตวัน ไม่ว่าจะกระทบที่ไหนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางกายก็แข็ง เป็นแต่เพียงธาตุแข็งเท่านั้น จึงจะไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

    แต่การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีมาไม่น้อยกว่าแสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกที่ลักษณะแข็ง อย่าลืม ความเป็นตัวตนที่เคยสะสมมาเนิ่นนานยิ่งกว่าแสนโกฏิกัปป์ทำให้มีความรู้สึกเหมือนว่า เรากำลังนั่งและกระทบแข็ง ความเป็นเรานี้ไม่ได้ออกไป มีความรู้สึกว่า เป็นตัวตนที่กำลังนั่งอยู่ หรือยืนอยู่ก็ตาม และกำลังกระทบแข็งด้วย

    เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็คือ ในขณะที่กำลังกระทบแข็ง และความทรงจำในความเป็นตัวตนที่นั่งอยู่ หรือยืนอยู่ หรือเดินอยู่และกระทบลักษณะที่แข็งต้องหมดสิ้น เหลือแต่เพียงอาการแข็ง และธาตุที่กำลังรู้แข็งในขณะนั้นเท่านั้น ชั่วขณะนั้นจึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือเราอีกต่อไป เพราะมีเพียงสภาพที่กำลังรู้สิ่งเดียว คือ แข็ง ไม่ใช่ไปจำเอาไว้หมด ทรงจำไว้ว่า ที่แท้ก็เป็นเราซึ่งกำลังยืนอยู่หรือนั่งอยู่และรู้แข็ง ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    แต่ทุกท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานจะมีความรู้สึกว่า ตัวตนยังไม่หมด แม้ว่าแข็งปรากฏ ยังมีความเป็นเราที่กำลังนั่งกระทบแข็ง แต่ความเป็นเราที่กำลังนั่งกระทบแข็งต้องหมดสภาพธรรมจึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังกระทบแข็งไม่ได้นึก ใช่ไหม ไม่ต้องนึก เวลาที่ใช้คำว่า คิด หมายความถึงนึกถึงเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ แต่ตามความเป็นจริงขณะที่กระทบแข็งไม่ได้นึกถึงคำอะไรเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาและสติน้อมไปที่จะรู้ ไม่ได้หมายความว่า ให้คิดว่าแข็งเป็นรูป นี่ต่างกัน ไม่ใช่ให้คิดว่าแข็งเป็นรูป แต่ในขณะที่แข็งปรากฏ น้อมไปที่จะศึกษาในขณะนั้นเพื่อรู้ว่า ลักษณะที่รู้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งกำลังรู้แข็งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิดใช่ไหม ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยทั้งนั้น

    ถ. คิดก็เป็นการรู้อารมณ์

    สุ. การคิดเป็นการรู้อารมณ์ทางทวารไหน

    ถ. มโนทวาร

    สุ. มโนทวาร ไม่ใช่รู้แข็งทางปัญจทวาร

    ถ. ที่อาจารย์บอกว่า น้อมไป ขณะนั้นแข็งหมดไปแล้วใช่ไหม

    สุ. กำลังปรากฏอยู่ รู้ตรงแข็ง ไม่ใช่ให้ไปนึกอย่างอื่น ถ้านึก ขณะนั้นไม่ได้รู้ที่แข็ง แต่นี่แข็งกำลังปรากฏ รู้ตรงแข็ง น้อมไปที่แข็งไม่ใช่ไปที่อื่น ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ ไม่ต้องใช้ชื่อ

    ถ. ไม่ต้องใช้ชื่อ ก็ไม่ต่างกับขณะที่ ...

    สุ. ต้องต่างกับขณะที่หลงลืมสติแน่นอน และต้องต่างกับขณะที่คิดเป็นคำ

    ถ. ขณะนั้นปัญญาจะเจริญหรือ

    สุ. ถ้าปัญญาไม่เกิดในขณะนั้น ปัญญาจะรู้อะไร ขณะไหน

    ถ. ก็ต้องขณะนั้น

    สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ขณะที่กระทบแข็ง ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ไม่ต้องพิจารณายาวนานเลยว่า ลักษณะนี้เป็นธาตุรู้ หรือว่าลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม เพราะบุคคลนั้นอบรมเจริญนานจนกระทั่งมีกำลัง ปัญญาเป็นพละที่เมื่อระลึกแล้วรู้ทันทีได้ว่า สภาพรู้เป็นอย่างไร ลักษณะที่แข็งที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นอย่างไร นี่คือผู้ที่อบรมเจริญแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นปัญญารู้แข็ง ว่าต่างกับสภาพที่รู้แข็ง

    ความเข้าใจลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง และไม่ใช่เพียงขั้นรู้ตาม หรือคิดตาม แต่เป็นความรู้ในขณะที่สภาพนามธรรมนั้นเองซึ่งเป็นธาตุรู้ กำลังรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. ที่อาจารย์พูดนี้ หมายความถึงวิปัสสนาไหม

    สุ. เริ่มตั้งแต่การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะรู้ว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่รู้อื่น ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จึงค่อยๆ ละคลายความเป็นตัวตน

    ในขณะที่จะเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่ขณะอื่นจากที่กำลังเห็นตามปกติ กำลังได้ยินตามปกติ กำลังได้กลิ่นตามปกติ กำลังลิ้มรสตามปกติ กำลังกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามปกติ กำลังคิดนึกตามปกติ และสามารถบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ในขณะที่สภาพธรรมตามปกตินี้เองกำลังปรากฏ เพราะปัญญาเจริญขึ้นๆ จนกระทั่งเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ. ขณะที่กระทบ ปัญญารู้ว่าเป็นลักษณะที่แข็ง ซึ่งต่างกับลักษณะที่รู้แข็ง ขณะนั้นจิตก็ต้องรู้อย่างนี้ด้วย ใช่ไหม

    สุ. ปัญญาเกิดพร้อมกับจิต

    ถ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่การรู้แข็ง แต่เป็นการรู้ว่า แข็งต่างกับสภาพที่รู้แข็ง

    สุ. โดยที่แข็งกำลังปรากฏหรือไม่ปรากฏ

    ถ. ต้องโดยที่แข็งกำลังปรากฏ

    สุ. เมื่อแข็งกำลังปรากฏ แข็งเป็นอารมณ์ของมหากุศลที่เกิดพร้อมกับปัญญาได้ และขณะที่รู้แข็งกำลังปรากฏ มหากุศลที่เกิดพร้อมสติและปัญญามีสภาพนามธรรมที่รู้แข็งเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือว่า สภาพที่รู้แข็งนั้นเป็นเรา

    ถ. ยาก

    สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป คนในสมัยนี้อยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ชาติเดียว ก็เป็นไปไม่ได้

    ขณะที่ฟังเป็นการศึกษาเรื่องของสภาพธรรม โดยที่สติยังไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น แต่กำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม นี่ขั้นหนึ่ง และขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะเริ่มศึกษา คือ น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดลักษณะใดเป็นลักษณะของนามธรรม ขณะใดลักษณะใดสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นลักษณะของรูปธรรม ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    ถ. ที่อาจารย์ว่าเป็นมโนทวารวิถี แต่ที่เห็นจริงๆ คือ จักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่ในขณะนี้ รูปก็เช่นกัน เป็นปัจจุบันอยู่ภายนอก แต่อาจารย์ว่า เป็นมโนทวารวิถีที่รู้ เกี่ยวข้องกันอย่างไรไม่เข้าใจ

    ส. จะต้องสงสัยไปเรื่อยๆ จนกว่าลักษณะนั้นจะปรากฏลักษณะทีละอย่างโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คำพูดเดิม คือ ท่านผู้ฟังจะรู้ว่า สภาพธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คำนี้ไม่เปลี่ยน แม้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏโดยการแทงตลอดหรือประจักษ์แจ้ง ก็ยังคงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ในขณะที่สติเริ่มระลึก อย่าเข้าใจว่าขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏโดยลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว เพราะว่ายังไม่ใช่ขั้นประจักษ์ ยังไม่ใช่ขั้นแทงตลอด ยังเป็นขั้นที่ กำลังน้อมไปศึกษาเพื่อที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ. อารมณ์ที่เกิดทางปัญจทวารวิถี ตลอดวิถีจะเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล และในปัญจทวารวิถีจะต้องมีชวนะเกิด ในชวนวิถีนั้น ถ้าหากอารมณ์เป็นปรมัตถ์ คือ ไม่รู้ว่าเป็นสัตว์บุคคล ตอนนั้นจะเป็นบุญเป็นบาปได้อย่างไร

    สุ. ท่านผู้ฟังเห็นว่า การเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตาช่างเล็กน้อย และช่างสั้นนิดหน่อยเสียเหลือเกิน แต่แม้กระนั้นก็ตามเมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ จิตในขณะนั้นต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นชวนะ คือ เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นโทสมูลจิต หรือว่าเป็นโมหมูลจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ชวนวิถีทางปัญจทวารหรือทางมโนทวารต้องเป็นกุศลหรืออกุศล

    ถ. ทั้งๆ ที่อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถ์

    สุ. แน่นอน เล็กน้อย สั้นแสนสั้น เร็วแสนเร็วแค่ไหนก็ตาม อกุศลจิตก็เกิดแล้ว

    ถ. ผมคิดว่า อารมณ์ทางปัญจทวาร กุศลและอกุศลไม่สามารถจะเกิดได้ จะต้องทางมโนทวารรับต่อจึงจะมีความหมายรู้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตอนนั้นกุศล อกุศลจึงจะเกิด

    สุ. ถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดในเรื่องของอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย อาจเข้าใจอย่างนั้น แต่สำหรับอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยแสดงวิสยัปปวัตติ คือ จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปรู้อารมณ์ตามทวารต่างๆ โดยละเอียดว่า จิตขณะไหนเป็น อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้จิตดวงใดเกิดต่อ

    ขอยกตัวอย่างทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท นามรูปซึ่งได้กล่าวถึงแล้วว่าได้แก่ เจตสิกและกัมมชรูป ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ หลังจากนั้นก็เป็นปัจจัยให้อายตนะเกิด เพราะนามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ เมื่อมีตาซึ่งเป็นกัมมชรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ที่จะไม่ให้อายตนะ คือ ไม่เป็นทางที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น อนันตรปัจจัย เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด ภวังคจิตดับแล้ว นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ สำหรับจักขุปสาทเมื่อถึงกาลหรือเวลาที่จะเกิด กรรมก็เป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับ แต่ยังไม่เป็นอายตนะถ้าขณะนั้นผัสสะยังไม่กระทบกับรูปารมณ์ ก็ยังคงเป็นแต่เพียงกัมมชรูป เป็นจักขุปสาทรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่ใส ที่จะรับกระทบเฉพาะกับสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตปสาทรูปก็เป็นกัมมชรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ไม่สามารถจะมองเห็นได้ ใครจะใช้กล้องจุลทรรศน์ไปส่องไปขยายอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถเห็นจักขุปสาท หรือโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท หรือรูปอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งใช้คำว่า แสง หรือสี หรือวัณณะ หรือรูปารมณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือไม่ต้องใช้คำอะไรเลย ก็ได้ เพราะในขณะนี้สภาพธรรมนั้นเองเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ เพราะกระทบกับจักขุปสาท



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๐๙๑ – ๑๑๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ