แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
ครั้งที่ ๑๐๙๘
สาระสำคัญ
กุศล อกุศลเกิดทางปัญจทวารได้
วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
วิสยัปปวัตติ คือ การเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวารมี ๒ วาระ
ทรงแสดงวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมาก
วิปัสสนาญาณ คือ สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารทีละอย่าง
ปสาทรูปทั้งหมดเป็นสภาพที่ใส เมื่อเปรียบเทียบกับความใสของกระจก ซึ่งสามารถจะรับกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่ภวังคจิตดับแล้ว นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ต้องในขณะที่อารมณ์กระทบกับทวารหนึ่งทวารใด ทวารนั้นจึงเป็นอายตนะ ด้วยเหตุว่าอายตนะมี ๖ คือ จักขวายตนะ ได้แก่ จักขุปสาทรูป โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาทรูป ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป และมนายตนะ ได้แก่ จิตทุกดวง เพราะจิตทุกดวงรู้อารมณ์
เพราะฉะนั้น เวลาที่ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อโดยอนันตรปัจจัย และขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขวายตนะ คือ กระทบกับจักขุปสาทรูป โดยความละเอียด ท่านอรรถกถาจารย์ ท่านยังให้คำอธิบายไว้ว่า เมื่อรูปารมณ์กระทบจักขุปสาท ทำไมภวังคจิตจึงไหว เพราะภวังคจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของสภาพที่เป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้แต่ พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ซึ่งอยู่ไกล ก็ยังเป็นอารมณ์ได้ สามารถกระทบกับ จักขุปสาทรูปได้ แต่สำหรับจักขุปสาทกับหทยวัตถุรูป อยู่ไกลกันถึงกับจักขุปสาทกับพระอาทิตย์พระจันทร์ไหม หรือว่าใกล้กว่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาที่ว่าเมื่อ รูปารมณ์กระทบจักขวายตนะ คือ จักขุปสาทแล้ว ภวังคจิตไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ต่อไป เพราะถ้าภวังคจลนะไม่เกิดขึ้นไหว วิถีจิตจะเกิดไม่ได้
ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ต้องอาศัยรูปหนึ่งรูปใดกระทบกับทวารหนึ่งทวารใด เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตไหว ซึ่งคำอุปมาในอรรถกถามีว่า เหมือนกับแมลงวันที่เกาะอยู่ ที่ก้อนกรวดบนกลองด้านหนึ่ง เวลาที่มีคนตีกลองอีกด้านหนึ่ง ก้อนกรวดก็ไหวไปตามความไหวของกลองและเชือกและหนังกลอง จากนั้นแมลงวันก็บินไป
นี่แสดงให้เห็นความเป็นปัจจัย แม้ว่ารูปารมณ์ไม่ได้กระทบกับหทยวัตถุ ซึ่งภวังคจิตกำลังเกิด แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้ไกลกันเหมือนอย่างพระอาทิตย์พระจันทร์ที่จะมาเป็นอารมณ์ของการเห็นได้ ฉันใด เวลาที่รูปารมณ์กระทบกับจักขวายตนะ คือ จักขุปสาท ภวังคจลนะก็เกิดและดับไป เมื่อดับไปแล้วภวังคจลนะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้เกิดภวังคุปัจเฉท และเมื่อภวังคุปัจเฉทดับ ภวังคุปัจเฉทะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นและดับ ต่อจากนั้น อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยทำให้จักขุวิญญาณเกิดและดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดและดับ สันตีรณจิตเกิดและดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดและดับ จากนั้นชวนะซึ่งต้องเป็นกุศลหรืออกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ต้องเกิดถึง ๗ ขณะ ทั้งๆ ที่เป็นปัญจทวารวิถีอย่างรวดเร็ว แม้เป็นปรมัตถอารมณ์และยังไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร
แสดงให้เห็นสภาพความเป็นปัจจัยว่า เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับแล้ว ชวนะต้องเกิด และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ชวนะต้องเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อ สติปัฏฐานไม่เกิด ชวนะต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต เกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ และถ้าเป็นตทาลัมพนวาระ คือ รูปารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ตทาลัมพนจิตก็เกิดต่อ
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อกุศลมากแค่ไหน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ก็ไม่มีทางจะรู้เลยว่า เป็นอกุศลมากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด นี่คือ อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยทางปัญจทวาร
สำหรับทางมโนทวารวิถี วิสยัปปวัตติ คือ การเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวารมี ๒ วาระ คือ ถ้ามโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนจิตเกิดต่อ และตทาลัมพนจิตเกิดต่อ นั่นเป็น ตทาลัมพนวาระ แต่บางครั้งบางคราวมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนวิถีจิตเกิดสืบต่อ ๗ ขณะ และไม่มีตทาลัมพนจิต ก็เป็น ชวนวาระ
เพราะฉะนั้น สำหรับทางปัญจทวาร ขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่กระทบว่า เมื่อกระทบแล้วภวังคจิตจะไหวทันที หรือว่ากระทบหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งวิถีจิตไม่สามารถที่จะเกิดถึงตทาลัมพนะได้ หรือไม่สามารถที่จะเกิดถึงชวนะได้ มีเพียงแค่โวฏฐัพพนะ หรือว่าวิถีจิตไม่สามารถที่จะเกิดเลย มีแต่เพียงภวังคจลนะเท่านั้น นั่นก็เป็นวิถีจิตทาง ปัญจทวารซึ่งต้องอาศัยรูป ตามกำหนดอายุของรูป
สำหรับทางมโนทวารมีเพียง ๒ วาระ คือ ตทาลัมพนวาระ และชวนวาระ ตามอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ขณะจิตที่ดับไป หมดแล้ว แต่ว่าเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้จิตขณะนี้เกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ความสงสัย หรือว่าความเคลือบแคลง ความไม่แจ่มชัดในธรรมประการต่างๆ จะหมดสิ้นไปเมื่อได้ศึกษาเรื่องของปัจจัยโดยละเอียด เช่น ในเรื่อง ของอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ที่ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร แม้ยังไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร แต่ชวนะซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลก็ต้องเกิดตาม อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิตทางมโนทวาร
บังคับไม่ได้เลย เป็นภวังค์อยู่ดีๆ ก็ไม่สามารถที่จะเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ หรือตลอดไป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ถ้าอนันตรปัจจัยหรือสมนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยเพียงให้ปฏิสนธิจิตที่เกิดแล้วดับและภวังคจิตเกิดต่อเท่านั้น ก็ไม่ต้องมีสุข มีทุกข์ใดๆ ในโลกทั้งสิ้น แต่ที่มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามทวารต่างๆ นั้น เพราะ อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยนั่นเอง
ถ. จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ต่อจาก จักขุทวารวิถี เมื่อมีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวารวิถีต่อจากทาง จักขุทวารวิถีแล้ว ปัญจทวารวิถีอื่นๆ เช่น ทางโสตทวารวิถี ทางฆานทวารวิถี รู้ได้ด้วยไหม
สุ. แล้วแต่ขณะนั้นสภาพธรรมใดปรากฏ ถ้าถึงขั้นประจักษ์แจ้ง ก็ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมอื่นที่ไม่ได้ปรากฏในขณะนั้น
ถ. ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมทางมโนทวารวิถีที่เกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ต่อจากทางจักขุทวารวิถีแล้ว ทวารอื่นๆ จะประจักษ์แจ้งด้วยไหม
สุ. ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นมโนทวารวิถี ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นอารมณ์ใดทางปัญจทวารหรือทางมโนทวารจะปรากฏ แต่ไม่ใช่ปรากฏทั้งหมด คือ ไม่ใช่ทั้งจิต ๘๙ หรือเจตสิกทั้งหมด ๕๒ หรือว่ารูปทั้ง ๒๘
ถ. ไม่ใช่อย่างนั้น หมายความว่า ในเมื่อประจักษ์ลักษณะของโสตทวารแล้ว ทางจักขุทวารจะต้องประจักษ์ด้วยไหม หรือปัญญาจะต้องอบรมต่อไปอีกจึงจะประจักษ์ได้
สุ. ในขณะนั้นสภาพธรรมใดปรากฏให้ประจักษ์ ก็ประจักษ์ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ส่วนสภาพธรรมใดที่ยังไม่ปรากฏในขณะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะประจักษ์
ในขณะนี้อะไรกำลังเป็นอารมณ์ ตาเห็น บางครั้งหูไม่ได้ยิน เสียงไม่ได้ปรากฏ กลิ่นกำลังปรากฏไหม รสกำลังปรากฏไหม สุขหรือทุกขเวทนากำลังปรากฏไหม ตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ นี่คือขณะที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่ในขณะที่ปัญญาที่ได้อบรมแล้วประจักษ์แจ้ง ก็ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกำลังเป็นอารมณ์ของขณะที่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งในขณะนี้นั่นเอง
ขณะที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง คือ ในขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังปรากฏเป็นอารมณ์บ้าง ก็กำลังปรากฏกับอกุศลถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดแทนอกุศลเหล่านั้น ก็คือ การประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ในขณะนี้เท่านั้น
ถ้าสภาพธรรม เช่น กลิ่นก็ตาม หรือว่ารสก็ตามในขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็คือ ประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่กลิ่น และไม่ใช่รส เพราะว่ากลิ่นและรสในขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ
เพราะฉะนั้น อารมณ์ตามปกติเป็นอารมณ์ของอกุศล และบางขณะสติปัฏฐานเกิด ก็อารมณ์ตามปกตินั่นเองเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน และในขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้ง ก็ไม่ได้ประจักษ์แจ้งอารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ตามธรรมดาที่กำลังปรากฏนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงไม่พอ เพียงแค่นี้ไม่พอ จนกว่าจะบรรลุ อริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ก็ยังไม่พอ เพราะเป็นเพียงพระเสกขบุคคล ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ต้องศึกษาต่อไปจนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์
สภาพธรรมตามปกติในขณะนี้จริงๆ ถ้าอกุศลกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ สติปัฏฐานไม่เกิด ก็เป็นอารมณ์ตามปกติอย่างนี้ ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกบ้าง ก็เป็นการรู้อารมณ์ตามปกติแทนอกุศลเท่านั้นเอง และถ้าเป็นการประจักษ์แจ้ง ก็คือ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง
ถ. ถ้าประจักษ์แจ้งทางจักขุทวารวิถีกับมโนทวารวิถี ขณะนั้นชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ใช่ไหม
สุ. วิถีไหนก็ได้ อารมณ์อะไรก็ได้ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นทางมโนทวาร แทงตลอดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทีละอย่าง
เวลานี้ไม่ใช่ทีละอย่างใช่ไหม เป็นโลกที่เต็มไปด้วยบุคคลหลายคน แสดงว่ามโนทวารวิถีเกิดสืบต่อจากทางตา และทางหูก็ยังได้ยินเสียงต่างๆ เสียงอะไร เสียงรถจักรยานยนต์ เสียงอะไร เสียงกบ กบอยู่ที่ไหน จักรยานยนต์อยู่ที่ไหน สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เสียงเท่านั้นที่ปรากฏทางหู แต่เวลาที่เสียงเกิดขึ้น เสียงอะไร ในขณะนั้นถ้านึกว่าเป็นเสียงกบ ขณะนั้นก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงเสียงปรากฏและไม่นึกถึงกบ หรือว่าเสียงปรากฏและไม่นึกถึงจักรยานยนต์ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ถ้าเพียงเท่านั้นยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นวิปัสสนาญาณทางมโนทวาร แต่ที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ คือ สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารทีละอย่าง ไม่ปนกันเลย
ถ. อินทรียสังวร พระพุทธพจน์ทรงแสดงไม่ให้ยึดในนิมิตอนุพยัญชนะ คำว่า ไม่ให้ยึดในนิมิตอนุพยัญชนะ ตามธรรมดาเวลาเราเห็น หรือได้ยินเสียง เสียงรถยนต์เราก็รู้ เสียงมอเตอร์ไซค์เราก็รู้ ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น แต่ที่จะไม่ให้รู้ว่า เป็นเสียงรถยนต์ จะต้องปฏิบัติอย่างไร
สุ. มีที่ไหนที่แสดงว่า ไม่ให้รู้
ถ. ก็พยัญชนะทรงแสดงไว้อย่างนั้น ไม่ให้ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ
สุ. แต่ไม่ใช่ไม่ให้รู้ นี่เป็นความละเอียดของธรรมจริงๆ ไม่ให้ติด ไม่ใช่ไม่ให้รู้
ถ. พระองค์ทรงแสดงว่า ไม่ให้ยึด
สุ. แต่ไม่ใช่ไม่ให้รู้
ถ. ไม่ให้ยึด ไม่ให้ติด ไม่ใช่ไม่ให้รู้หรือ
สุ. ไม่ใช่ อย่างเวลานี้ ท่านผู้ฟังเห็นคน ไม่ให้ติด หรือว่าไม่ให้รู้
ทางปัญจทวารวิถี หรือทางโสตทวารวิถี เกิดและดับไป เมื่อมีการเห็นครั้งหนึ่ง หรือการได้ยินครั้งหนึ่ง วิถีจิตทางปัญจทวารแล้วแต่ว่าจะเป็นจิตกี่ประเภท เกิดและดับไปแล้วทั้งหมด ทางมโนทวารวิถีจิตจะต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ หรือว่าถ้าเป็นทางหู ก็ต้องรู้เสียงที่ปรากฏทางหูต่อจากจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงทางหูที่ดับไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏทางตา หรือว่านึกถึงรูปร่างสัณฐานของเสียง คือ เสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และก็รู้ความหมาย
แต่ไม่ควรจะติดว่าเป็นคนจริงๆ ซึ่งกำลังนั่งอยู่ ไม่ดับ ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง จิตที่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง และที่จิตรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตารูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่งเป็นคนชื่อหนึ่ง บุคคลหนึ่ง หรือว่ารูปร่างสัณฐานของสิ่งอื่นที่ปรากฏทางตาเป็นวัตถุต่างๆ ก็รู้ว่าเนื่องมาจากการเห็น ถ้าไม่มีการเห็น รูปร่างสัณฐานต่างๆ ปรากฏไม่ได้ การที่จะมีความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ติด ไม่ยึดถือว่าเที่ยง ว่าต้องมีคน จริงๆ ซึ่งกำลังนั่งอยู่ไม่เกิดดับ ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตา สามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่ขณะที่นึกคิดถึงรูปร่างสัณฐาน แต่การนึกคิดถึงรูปร่างสัณฐานก็มีจริง การนึกถึงบัญญัติสมมติต่างๆ ก็มีจริง ซึ่งเป็นจิตทางมโนทวารไม่ใช่ในขณะที่เห็น นี่คือการไม่ติด เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ ที่เป็นรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และก็ดับไปหมด เมื่อสักครู่นี้เอง ดับหมดสิ้น ขณะนี้เท่านั้นที่กำลังปรากฏ และกำลังเกิดดับอยู่ นี่คือการไม่ติด เพราะรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเพราะไม่รู้และก็พยายามที่จะไม่รู้ ใครก็ตามที่พยายามจะไม่รู้ทางตา ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา และไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส
ถ. เห็นแล้วไม่รู้ ในอดีตมีพระเถระองค์หนึ่ง เห็นแล้วท่านก็ไม่รู้จริงๆ และด้วยความไม่รู้ทำให้ท่านได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ คือ ในวิสุทธิมรรค มีพระเถระองค์หนึ่ง ชื่อพระมหาติสสเถระ ท่านออกบิณฑบาต เจอผู้หญิงคนหนึ่งที่ทะเลาะกับสามี ผู้หญิงคนนั้นแต่งตัวสวยไปสู่บ้านแม่ เมื่อเดินไปพบพระเถระก็หัวเราะออกมา พระเถระหันไปดูเห็นฟันของหญิงนั้น ซึ่งพระเถระองค์นี้ท่านเคยเจริญอัฏฐิกสัญญา มาก่อน เมื่อเห็นฟันก็พิจารณาว่าเป็นกระดูก และท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น ต่อมาสามีของหญิงนั้นตามมา พบพระเถระก็ถามว่า เห็นหญิงคนหนึ่งไหม พระเถระตอบว่า ท่านไม่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายเดินไปที่เส้นทางใหญ่ เห็นแต่โครงกระดูกเดินไป แสดงว่าท่านเห็นและไม่รู้จริงๆ ว่า เป็นหญิงหรือชาย แต่เห็นเป็นโครงกระดูก
สุ. สามีของหญิงนั้น ท่านพระเถระเห็นเป็นโครงกระดูกด้วยหรือเปล่า
ถ. ไม่ได้กล่าวถึง
สุ. เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดและโดยตลอดจริงๆ ไม่ใช่ว่าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไปพระเถระรูปนั้นไม่เห็นอะไรอีกเลย นอกจากโครงกระดูกชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้จิตของใครจะนึกถึงอะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ใจของใครจะนึกถึงอะไรก็ได้ อาจจะนึกถึงโครงกระดูกที่โรงพยาบาลศิริราชก็ได้ ถ้าไม่ใช่การรู้ลักษณะของกระดูกอย่างของท่านพระมหาติสสเถระ ชั่วขณะหนึ่งใครจะนึกถึงอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า หลังจากนั้นแล้วจะไม่รู้ ก็เป็นปกติธรรมดา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๐๙๑ – ๑๑๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140