แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
ครั้งที่ ๑๑๐๖
สาระสำคัญ
ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ
จิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตตชรูป
เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖
รู้แล้วละความไม่รู้ (จึงจะค่อยๆ คลายการติด)
สำหรับปัจจัยที่ ๖ และปัจจัยที่ ๗ โดยชื่อ สหชาตปัจจัย หมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับ ว่าจะต้องดับพร้อมกันหรือเปล่า คำนึงถึงเพียงประการเดียว คือ สภาพธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย สภาพธรรมนั้นต้องเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันธรรมซึ่งตนเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด ๖ หมวด ขอทบทวน คือ
หมวดที่ ๑ จิต ๘๙ และเจตสิก ๕๒ เป็นปัจจัยให้จิตทุกดวง และเจตสิก ทุกดวงเกิดขึ้น
แสดงให้เห็นว่า จิตและเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน จะเกิดแยกจากกันไม่ได้ เมื่อจิตต้องอาศัยเจตสิก และเจตสิกต้องอาศัยจิต จิตและเจตสิกซึ่งต่างอาศัยกันและกันนี้ ก็เป็นอัญญมัญญปัจจัย คือ ปัจจัยที่ ๗ ด้วย
ปัจจัยที่ ๖ สหชาตปัจจัย แสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยและที่เป็นปัจจยุปบันต้องเกิดพร้อมกัน สำหรับปัจจัยที่ ๗ อัญญมัญญปัจจัย แสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต้องอาศัยปัจจยุปบันธรรม และสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันธรรมก็ต้องอาศัยปัจจัย คือ ต่างต้องพึ่งพิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เช่น จิตและเจตสิก
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมในขณะนี้เอง เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ แต่เรื่องของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างไร ก็ควรที่จะได้ทราบด้วย เพราะถึงแม้จะเข้าใจแล้วว่า ธรรมทั้งหลายต้องอาศัยปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดย่อมเกิดไม่ได้ทั้งสิ้น นี่เป็นสิ่งที่ทุกท่านทราบ แต่ควรจะเป็นผู้ที่ละเอียดกว่านั้น คือ เมื่อกล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะจิตต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ก็ควรจะทราบโดยละเอียดว่า เป็นปัจจัยอะไรในแต่ละขณะด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย หรือว่าตามแต่เหตุปัจจัย อาศัยเหตุปัจจัย แต่ต้องทราบด้วยว่า ปัจจัยอะไร
เช่น สหชาตปัจจัย หมวดที่ ๑ ได้แก่ จิตและเจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน อัญญมัญญปัจจัย จิตต้องอาศัยเจตสิก เจตสิกต้องอาศัยจิต เพราะฉะนั้น จิตเป็นอัญญมัญญปัจจัยของเจตสิก ทำให้เจตสิกเป็นปัจจยุปบันเกิดขึ้น และเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตนั้นนอกจากจะเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ก็เป็นอัญญมัญญปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรซึ่งเป็นของใหม่ เพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง
สำหรับสหชาตปัจจัยหมวดที่ ๒ ได้แก่ รูปธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน คือ มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๔ ในขณะที่มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้น โดยยกมหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๓ หรือมหาภูตรูป ๒ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๒ หรือมหาภูตรูป ๓ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๑ คือ ธาตุดินเป็นปัจจัยให้เกิดธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำก็เป็นปัจจัยให้เกิดธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุไฟก็เป็นปัจจัยให้เกิดธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุลมก็เป็นปัจจัยให้เกิดธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ทั้งโดยสหชาตปัจจัยและโดยอัญญมัญญปัจจัย เพราะที่ธาตุดินจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือที่ธาตุลมจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ
เพราะฉะนั้น ความต่างกันของสหชาตปัจจัยและอัญญมัญญปัจจัย คือ สหชาตปัจจัยเป็นสภาพธรรมซึ่งทำให้ปัจจยุปบันเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่อัญญมัญญปัจจัยนั้น นอกจากจะเกิดพร้อมกันแล้ว ยังต้องต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันด้วย
สำหรับหมวดที่ ๑ และหมวดที่ ๒ ของสหชาตปัจจัย เป็นทั้งสหชาตปัจจัยและอัญญมัญญปัจจัย
หมวดที่ ๓ ของสหชาตปัจจัย คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า ปัญจโวการปฏิสนธิจิตและเจตสิก เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุเพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ ก็เกิดพร้อมกับปฏิสนธิหทยวัถตุ ปฏิสนธิหทยวัตถุไม่ได้เกิดก่อนปฏิสนธิจิต และไม่ได้เกิดหลังปฏิสนธิจิต แต่ต้องพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตนั่นเอง ซึ่งหลังจากปฏิสนธิกาลแล้ว รูปทุกรูปไม่สามารถจะเป็นปัจจัยในอุปาทขณะของรูป ไม่ว่าจะโดยเป็นทวาร หรือโดยเป็นวัตถุ หรือโดยเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องสังเกตความละเอียดของหมวดนี้ที่ว่า ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ ซึ่งปฏิสนธิหทยวัตถุนี้เป็นกัมมชรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ถึงแม้ว่าจิตไม่เกิด กัมมชรูปก็เกิดได้ เช่นในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ คือไม่มีจิตและเจตสิกเกิดในรูปพรหมภูมินั้นเลย หรือในขณะที่เข้านิโรธสมาบัติ ขณะนั้นพระอรหันต์หรือพระอนาคามีที่ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ สามารถดับจิตและเจตสิกได้ แต่รูปอื่นซึ่งไม่ใช่จิตตชรูป คือ รูปซึ่งไม่ได้เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ยังเกิดได้ เช่น กัมมชรูป แต่ถึงแม้ว่ากัมมชรูปจะเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมก็จริง แต่ขณะแรกที่จะเกิดในชาติหนึ่งภพหนึ่ง ต้องมีปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย
สำหรับหมวดที่ ๓ ของสหชาตปัจจัย คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หรือ ปัญจโวการปฏิสนธิจิต เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ และปฏิสนธิหทยวัตถุก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น หมวดนี้จึงเป็นทั้งสหชาตปัจจัยและอัญญมัญญปัจจัย เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ
สำหรับหมวดที่ ๔ ของสหชาตปัจจัย คือ จิต ๗๕ ดวง เว้นจิต ๑๖ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง อรูปาวจรวิบากซึ่งทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหม ๔ ดวง ปฏิสนธิจิต และจุติจิตของพระอรหันต์ จิต ๗๕ ดวงนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป โดยสหชาตปัจจัย หมายความว่า ทันทีที่จิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ จิตตชรูปก็เกิด พร้อมกัน แต่ว่าจิตตชรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้จิตเกิด เพราะฉะนั้น จิต ๗๕ ดวงนี้ เป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด แต่ไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัย เพราะถ้าเป็น อัญญมัญญปัจจัย จิตที่จะเกิดต้องอาศัยจิตตชรูปด้วย แต่จิตตชรูปไม่ได้มีกำลังหรือว่าเป็นสมุฏฐานให้จิตเกิด จิตเท่านั้นที่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตตชรูป แต่ไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัย
หมวดที่ ๕ คือ มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยแก่อุปาทายรูป ๒๔
รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รูปอื่นไม่สามารถเกิดขึ้นเป็นไปได้ถ้าปราศจากมหาภูตรูป ๔ เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ เป็นประธาน เป็นที่อาศัยของรูปอีก ๒๔ รูปที่เกิดขึ้นพร้อมกัน มหาภูตรูป ๔ จึงเป็นสหชาตปัจจัยของอุปาทายรูป ๒๔ รูป แต่อุปาทายรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๔ เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ ไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่อุปาทายรูป เป็นเพียงสหชาตปัจจัยเท่านั้น
สำหรับหมวดที่ ๖ ของสหชาตปัจจัยได้กล่าวถึงแล้วว่า หทยวัตถุในปฏิสนธิกาลเป็นสหชาตปัจจัยแก่ปัญจโวการปฏิสนธิจิตได้ แต่หทยวัตถุในปวัตติกาลเป็น สหชาตปัจจัยไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงอัญญมัญญปัจจัยซึ่งเป็นปัจจัยที่ ๗ ก็มีเพียง ๓ หมวดเท่านั้น คือ
หมวดที่ ๑ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เป็นอัญญมัญญปัจจัยของจิต ๘๙ และ เจตสิก ๕๒
หมวดที่ ๒ มหาภูตรูป ๔ เป็นอัญญมัญญปัจจัยของมหาภูตรูป ๔
หมวดที่ ๓ ปฏิสนธิจิตและเจตสิกในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นอัญญมัญญปัจจัยของปฏิสนธิหทยวัตถุ เนื่องจากว่าปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตและเจตสิกในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะถ้าปฏิสนธิหทยวัตถุไม่เกิด ปฏิสนธิจิตและเจตสิกก็เกิดไม่ได้
เรื่องของปัจจัยและปัจจยุปบันเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถึงแม้ว่าจะได้กล่าวถึงปัจจัยมาแล้ว ๗ ปัจจัย ก็สามารถจะทวนกลับไปได้ทุกปัจจัย เช่น ถ้าจะทวนไปถึง เหตุปัจจัย เพื่อความแจ่มแจ้ง เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ เจตสิกอื่นเป็นเหตุปัจจัยไม่ได้เลย จิตทั้งหมดเป็นเหตุปัจจัยไม่ได้ รูปทั้งหมดเป็นเหตุปัจจัยไม่ได้ นิพพานเป็นเหตุปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ยกเหตุปัจจัย ๑ คือ โลภเจตสิกซึ่งเป็นโลภเหตุ เป็นปัจจัยให้อะไรเกิดบ้าง นี่ทวนกลับไปโดยสหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย
โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้จิตเกิด และเป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกันด้วยและเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกันกับโลภมูลจิตหรือโลภเจตสิกนั้นด้วย
ผัสสเจตสิกเกิดเพราะโลภเหตุหรือเปล่า ถ้ากล่าวถึงเหตุปัจจัย เวลาที่ โลภเจตสิกเกิด เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก และจิตตชรูปเกิด
ลักษณะของโลภะเป็นสภาพที่ติด แต่ว่าไม่รู้ตัวเลยใช่ไหม ท่านอาจจะรู้ตัวว่าติดสิ่งของบางอย่าง ซึ่งแล้วแต่อัธยาศัย บางคนอาจจะติดชา ติดกาแฟ เป็นสภาพที่ละไม่ได้ ติดแล้ว นั่นเป็นลักษณะของโลภะ เวลาที่โลภเจตสิกเกิดจะห้ามจิตในขณะนั้นไม่ให้ติด ไม่มีทางเป็นไปได้เลย นี่คืออนัตตา ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ และจะรู้ลักษณะของความติด หรือความต้องการ หรือความเพลิดเพลิน หรือความยินดี ถ้าลักษณะของเหตุปัจจัยนี้คือโลภะเกิดขึ้นแล้ว ใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของ โลภมูลจิตซึ่งต้องเกิดได้ เพราะว่าโลภเจตสิกเป็นเหตุเกิดขึ้น ทำให้จิตในขณะนั้นต้องเป็นสภาพที่ติด เป็นสภาพที่ต้องการ รวมทั้งเจตสิกอื่นทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นก็มีโลภะนั้นเป็นเหตุ
ขณะที่กำลังเห็นทั่วๆ ไปโดยที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้สึกว่าติดในสิ่งที่เห็นใช่ไหม ดูเป็นธรรมดา ก็เห็นอยู่เป็นประจำทุกวันๆ แต่ทำอย่างไรจึงจะสังเกตและพอจะรู้ได้ว่าติดแล้ว ตั้งแต่เกิด เมื่อลืมตาก็ติด เพราะว่าเมื่อมีการเห็นก็ติดในสิ่งที่เห็น และติดในการเห็น
ที่จะรู้ได้ว่าติด ก็ต่อเมื่อเริ่มจะคลาย จึงจะรู้ว่าก่อนนั้นเคยติด เพราะว่าลักษณะของการติด ไม่รู้ จนกว่าจะมีการค่อยๆ ระลึก และรู้ และก็ละความไม่รู้ จึงจะค่อยๆ คลายการติด
ทั้งๆ ที่ติดอยู่ทุกขณะนี้ แต่ไม่รู้สึก เช่น ในขณะที่เห็น ถ้าสติไม่เกิด ไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จะไม่มีการคลายเลย เมื่อไม่มีการคลาย ก็ติดเสียแล้ว และติดมานานแล้ว และก็ติดอยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุใด ก็เพราะว่ายังไม่คลาย ยังไม่มีความรู้สึกที่จะคลายเพราะความรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้นเป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งคนตาบอดไม่เห็น ถ้ากล่าวโดยกว้างๆ ทั่วๆ ไป ก็อาจจะยังไม่เป็นตัวอย่างที่สติจะระลึกได้ แต่ถ้าขณะที่กำลังรับประทานอาหารและสติเกิด อาจจะเป็นขั้นพิจารณาก็ได้ว่า ข้าวสีนี้ กับข้าวในจานแต่ละจานนี้ก็แต่ละสี ไม่ว่าจะเป็น แกงเผ็ด หรือว่าแกงจืด หรือผักนานาชนิด อาหารนานาชนิด ซึ่งคนตาบอดไม่มีโอกาสเห็นเลยแม้แต่สีของข้าว คนตาบอดสามารถกระทบสัมผัสข้าว สามารถที่จะลิ้มรสของข้าว แต่ไม่สามารถที่จะเห็นสีของข้าวได้ ในขณะนั้นถ้ามีการระลึกได้จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ซึ่งคนตาบอดไม่มีโอกาสที่จะเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มรู้จริงๆ นอกจากขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ยังขณะอื่นๆ อีก ทุกขณะที่สติสามารถระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ต้องแยกออกโดยเด็ดขาดจึงจะปรากฏสภาพธรรมแท้จริงว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างทางตา ไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ทางจมูก ไม่ใช่ทางลิ้น ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางใจ
ทุกท่านคงจะเคยกราบนมัสการพระพุทธรูป ระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งสติก็อาจจะเกิดระลึกได้อีกว่า คนตาบอดสามารถที่จะเช็ดถูทำความสะอาด แต่ไม่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ แต่ละขณะที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ละความไม่รู้ จึงจะถึงการคลายได้ในวันหนึ่งว่า การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะทำให้ไม่ติดในสิ่งซึ่งติดแล้ว และติดมานานแล้ว และติดอยู่ทุกขณะที่สติไม่ได้ระลึกทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น จะซาบซึ้งในลักษณะของโลภะไหมว่า เมื่อโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเกิดขึ้น ที่จะไม่ให้จิตเป็นโลภะ เป็นไปไม่ได้ และผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้หลอกตัวเอง และไม่ได้หลอกคนอื่นด้วย เรื่องของโลภะเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ละยาก แม้แต่การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่จะละได้ก็ต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงจะดับความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้เป็นสมุจเฉท พระอนาคามีก็เห็นเหมือนอย่างปุถุชน เหมือนอย่าง พระโสดาบัน เหมือนอย่างพระสกทาคามี เหมือนอย่างพระอรหันต์ แต่แม้กระนั้นความต่างกันของพระอนาคามี และพระสกทาคามี และปุถุชน และพระอรหันต์ ก็ต้องมีตามขั้นของกิเลสซึ่งได้ดับไปแล้วเป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชนซึ่งเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสด้วยความไม่รู้ และถ้าเป็นปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยละเอียด ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้รู้สภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง เมื่อเป็นพาลปุถุชน ไม่ใช่กัลยาณปุถุชน จึงไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
ที่ปุถุชนไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะเรียน
ผู้ที่จะเรียนอะไรได้ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา จึงจะสามารถเรียนได้ ตามโรงเรียนสามัญทั่วๆ ไป ผู้ที่จะเรียนได้ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่ พระโสดาบัน หรือไม่ใช่กัลยาณปุถุชนผู้ได้สดับ ข้อความในอรรถกถาจึงอธิบายว่า ที่ชื่อว่ายังไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะเหตุว่ายังไม่มีแม้ปัญญาเพียงที่จะเรียน หรือที่จะศึกษา แต่สำหรับพระโสดาบันบุคคล ท่านเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะศึกษาต่อไปจนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๑๐๑ – ๑๑๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140