แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110


    ครั้งที่ ๑๑๑๐


    สาระสำคัญ

    สภาพธรรมที่เป็นอุปนิสสยปัจจัย

    ความเข้าใจเรื่องของสภาพปัจจัยต่าง ทำให้เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาถูกต้องขึ้น

    ความต่างกันของอารัมมณาธิปติปัจจัยและอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    หนทางที่จะดับกิเลสเป็นเรื่องละเอียด

    นิพพานเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๔


    ปัจจัยต่อไป

    ปัจจัยที่ ๙ อุปนิสสยปัจจัย

    ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นปัจจัยที่คล้ายๆ กัน และสัมพันธ์กัน เช่น อนันตรปัจจัยกับสมนันตรปัจจัย สหชาตปัจจัยกับอัญญมัญญปัจจัย และนิสสยปัจจัยกับอุปนิสสยปัจจัย

    คำว่า อุปนิสัย ในภาษาไทย มาจากคำว่า อุป + นิสสย + ปัจจัย นั่นเองเพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอุปนิสสยปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมากประการหนึ่ง หรือว่าเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้าของปัจจยุปบันธรรมอีกประการหนึ่ง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท หรือ ๓ ปัจจัย ได้แก่

    อารัมมณูปนิสสยปัจจัย อารมณ์ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น ๑

    อนันตรูปนิสสยปัจจัย การเกิดขึ้นและดับไปเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้ ปัจจยุปบันธรรมเกิดต่อ คือ ให้จิตและเจตสิกดวงหลังเกิดต่อ ๑

    และปกตูปนิสสยปัจจัย สภาพการสะสมจนเป็นปกติเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไป ๑

    สำหรับคำอธิบายของอารัมมณูปนิสสยปัจจัยมีว่า อารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือ อารมณ์ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก หรือที่มีกำลังอย่างแรงกล้า ได้แก่ อารัมมณาธิปติปัจจัยนั่นเอง

    ทวนกลับไปหาอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่ามีข้อที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องทราบว่า อารัมมณาธิปติปัจจัยได้แก่อะไร ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว แต่ต้องทบทวนอีกเพื่อจะได้ไม่ลืม และเพื่อจะได้เข้าใจอารัมมณูปนิสสยปัจจัยว่า มีความต่างจากอารัมมณาธิปติปัจจัยอย่างไร

    สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในฐานะที่เป็นอารมณ์ที่ดี ลักษณะของอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดี เช่น เป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ เป็นอิฏฐนิปผันนรูป โดยศัพท์หมายถึงอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อารมณ์ซึ่งมีสภาวธรรมจริงๆ เกิดขึ้น

    รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป และรูปที่เป็นนิปผันนรูป คือ รูปที่มีลักษณะจริงๆ ของตน มี ๑๘ รูป เท่าที่ปรากฏ คือ รูปทางตา รูปทางหู รูปทางจมูก รูปทางลิ้น รูปทางกาย ซึ่งเป็นอารมณ์อยู่ทุกวันนี้ เป็นอารมณ์ที่ดี ที่น่าพอใจก็มี เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็มีเพราะฉะนั้น อารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ ต้องเป็นอารมณ์ที่ดีเท่านั้น จึงจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย กลิ่นหอมเป็นอารมณ์ที่ดี โดยลักษณะสภาพของกลิ่นที่ดี เป็นอารัมมณธิปติปัจจัย นั่นคือความหมายของอธิปติปัจจัย

    แต่ถ้าเป็นอุปนิสสยปัจจัย อารมณ์ที่ดีนั้นต้องมีกำลังที่ทำให้จิตเกิดขึ้นพอใจอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น

    บางคนเฉยๆ ใช่ไหม อารมณ์ที่ดี สมมติว่าไปที่ร้านเพชรนิลจินดา ก็มีอารมณ์ที่ดีปรากฏ สีต่างๆ แต่ว่าใจก็เฉยๆ ไม่ได้สนใจ ถึงแม้ว่าอารมณ์นั้นโดยลักษณะสภาพของอารมณ์เป็นอารัมมณาธิปติ เป็นอารมณ์ที่ดี เป็นอารมณ์ที่น่าใฝ่ใจเป็นพิเศษ แต่ไม่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะว่าไม่สามารถทำให้จิตเกิดขึ้นติด หรือว่าพอใจอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น นี่คือความต่างกันของอารัมมณาธิปติปัจจัย และอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    เป็นชีวิตประจำวัน ใช่ไหม อารมณ์ที่ดี คือ รูปที่ดีทั้งหมด ลักษณะของรูปนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ขณะใดก็ตามซึ่งมีกำลังทำให้จิตเกิดขึ้นพอใจหนักแน่นในอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นนอกจากจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้จิตเกิดพอใจใฝ่หาอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น โลภมูลจิตใช่ไหม ตามปกติของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันว่า อารมณ์ที่ดีมี และอารมณ์ที่ดีเหล่านั้นเองเป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตพอใจอย่างหนักแน่น เกิดขึ้นโดยไม่ขาดสาย ซึ่งจะเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    การที่จะดับกิเลส ถ้าไม่ทราบเรื่องของปัจจัยจริงๆ ว่า เกิดขึ้นสืบต่อเป็นมาอย่างแรงกล้า อย่างมีกำลัง และอย่างเหนียวแน่นแค่ไหน จะไปเพียรทำการบังคับไม่ให้กิเลสเกิด หรือว่าบังคับที่จะดับกิเลส โดยที่ไม่รู้สภาพที่แท้จริงของปัจจัยทั้งหลาย ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสภาพปัจจัยต่างๆ โดยละเอียดขึ้น จะทำให้เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาถูกต้องขึ้น และสามารถที่จะละคลาย ดับกิเลสได้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าไม่เข้าใจ จะไม่รู้กำลังของปัจจัยทั้งหลายเลย แม้แต่อารัมมณาธิปติปัจจัยซึ่งเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยอยู่เสมอสำหรับทุกคนที่ยังมีโลภมูลจิต ซึ่งโลภมูลจิตเองก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นพอใจใน ทุกสิ่งได้ แม้ในโลกียกุศล เพราะนอกจากอิฏฐนิปผันนรูป คือ รูปซึ่งโดยลักษณะเป็นรูปที่ดี ที่น่าปรารถนาแล้ว จิตทุกดวง เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และทุกขกายวิญญาณ คือ การปวด เจ็บ เมื่อย ความทุกข์กายต่างๆ ๑ ดวง จิตอื่นทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    ซึ่งโดยลักษณะก็เป็นที่พอใจของทุกคนที่ต้องการจะมีจิตอยู่เรื่อยๆ แต่ว่ามีจิตหลายประเภท คือ ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ดวง เมื่อเว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวงแล้ว โลภมูลจิต ๘ ดวงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แสดงให้เห็นว่า ในบรรดาอกุศลจิตทั้งหมด ๑๒ ดวง ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยซึ่งเป็นสภาพที่น่าพอใจ ได้แก่ เฉพาะโลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้น ไม่มีใครปรารถนาโทสมูลจิต ทุกคนถามเสมอว่า เมื่อไรจะไม่มีโทสะ ไม่ชอบเลย โมหมูลจิตก็ไม่เป็นที่ปรารถนาเหมือนกัน รวมทั้ง ทุกขกายวิญญาณด้วยสำหรับประเภทวิบากจิต แต่สำหรับประเภทอกุศลจิต ๑๒ ดวง ตัดโทสมูลจิตและโมหมูลจิต เฉพาะโลภมูลจิตประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะว่าลักษณะของโลภะเป็นลักษณะที่เพลิดเพลิน สนุก พอใจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารัมมณาธิปติ โดยลักษณะสภาพของเจตสิกคือโลภเจตสิกก็ดี หรือว่าโลภมูลจิตก็ดี เป็นสภาพซึ่งทุกคนพอใจ ติดใจ เพลิดเพลินยินดี เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    จิตไม่สามารถจะฝืนกระแสที่จะไม่ยินดีพอใจในโลภะนั้นๆ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตนั้นๆ จึงเป็นอารัมมณูปนิสสยะ คือ เป็นอารมณ์ซึ่งมีกำลังที่ทำให้จิตและเจตสิกติด หรือยินดีต้องการในอารมณ์นั้นอยู่เรื่อยๆ

    นี่คือความต่างกันของอารัมมณาธิปติปัจจัยและอารัมมณูปนิสสยปัจจัย อารัมมณาธิปติปัจจัย หมายเฉพาะลักษณะสภาพของอารมณ์นั้นเป็นที่พอใจ แต่ ขณะใดก็ตามที่มีกำลังทำให้จิตเกิดติดหรือพอใจขึ้น ขณะนั้นนอกจากจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยด้วย เพราะว่าเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้จิตติดหรือว่าพอใจ ใฝ่ใจเป็นพิเศษในอารมณ์นั้น

    แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว จะละอย่างไรในชาตินี้ชาติเดียว จะเป็นพระอรหันต์ชาตินี้โดยไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้กำลังของอารัมมณาธิปติปัจจัยหรืออารัมมณูปนิสสยปัจจัยเลยว่า ทุกวันๆ นี้ นอกจากอิฏฐนิปผันนรูป คือ รูปที่ดีซึ่งเป็นที่พอใจ และนอกจากโลภมูลจิตแล้ว จิตอื่นที่ดีก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยด้วย เช่น มหากุศลจิต โดยสภาพแล้วเป็นสภาพที่ดีแน่ กุศลจิตใครไม่ชอบ เป็นจิตซึ่งปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ประกอบด้วยอโลภะ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นไม่ติด ไม่ได้ติดในอารมณ์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นมีอโทสเจตสิกเกิดด้วย เป็นสภาพของจิตซึ่งผ่องใส สงบ ปราศจากโลภะ โทสะ เพราะฉะนั้น โดยลักษณะแล้วกุศลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แม้มหากุศลหรือกามาวจรกุศลซึ่งเป็นกุศลขั้นที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น กุศลจิตทั้งหมด ทั้งโลกียกุศลและโลกุตตรกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ต้องแยกอีกว่า สำหรับโลกียกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตประเภทใด และโลกุตตรกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตประเภทใด

    ถ้าไม่เข้าใจความละเอียด สับสนอีก คิดว่าอกุศลเป็นกุศลอีก เข้าใจผิด คิดผิดเมื่อไร เมื่อนั้นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลสอีกแล้ว เพราะฉะนั้น หนทางที่จะดับกิเลสเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เป็นผู้ที่ประมาท และอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะแม้แต่ กุศลจิตที่เป็นขั้นกามาวจร คือ เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังมี ๒ ประเภท คือ มหากุศลจิตซึ่งประกอบด้วยปัญญา และมหากุศลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า ตัวของท่านกุศลประเภทใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย หรือเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน เป็นขบวนการของจิต เจตสิก รูปเกิดดับสืบต่อสะสมมาเนิ่นนานแสนโกฏิกัปป์จนกระทั่งถึงขณะนี้ เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่า แต่ละบุคคลมีอุปนิสัยต่างๆ ตามปัจจัยต่างๆ บางท่านก็มีอุปนิสัย คือ มีอารัมมณาธิปติและอารัมมณูปนิสสยปัจจัยในทางอกุศลมาก เต็มไปด้วยโลภะในรูปไม่พอ ในเสียงไม่พอ ในกลิ่นไม่พอ ในรสไม่พอ ในโผฏฐัพพะไม่พอ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่ละขณะจิตที่เกิดดับสะสมสืบต่อด้วยกำลังของปัจจัยต่างๆ

    และสำหรับบางท่านซึ่งสะสมอุปนิสัยในทางกุศลมาบ้าง ก็ยังเป็นกุศลที่ต่างกัน เพราะว่าบางท่านเป็นผู้ที่ให้ทาน สละวัตถุได้ แต่ยังไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัย หรืออารัมมณูปนิสสยปัจจัยทางฝ่ายมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน ใช่ไหม ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้จากญาติสนิทมิตรสหายทั่วๆ ไป บางท่านมีกุศลศรัทธาในการให้ทาน แต่ไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมที่จะให้เข้าใจเหตุในผล เพราะฉะนั้น กุศลญาณวิปปยุตต์สำหรับท่านผู้นั้น ขณะใดที่เกิดขึ้นก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยและเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น ฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ แล้วแต่อธิปติปัจจัยบ้าง เหตุปัจจัยบ้าง หรืออารัมมณาธิปติปัจจัยบ้าง อารัมมณูปนิสสยปัจจัยบ้าง

    นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่าเป็นเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยของใครบ้างแล้ว เวลาที่พูดถึงนิพพาน ทุกคนก็ต้องยกไว้ว่า เป็นอารมณ์ที่ประณีต ที่ดับกิเลส เป็นโลกุตตระ สงบอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่เกิดขึ้น ไม่ดับไป ไม่สามารถที่จะเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้เลย เพราะฉะนั้น นิพพานปรมัตถ์เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยโดยสภาพของนิพพาน แต่มีใครที่ต้องการนิพพานบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ยังไม่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือ ยังไม่มีกำลังมากที่จะให้จิตเริ่มขวนขวายอบรมเจริญหนทางข้อปฏิบัติให้รู้แจ้งนิพพานได้

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีการฟังและเข้าใจว่า นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยก็จริง แต่ขึ้นอยู่กับจิตว่า สภาพธรรมของนิพพานซึ่งเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น จะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยให้จิตเริ่มที่จะประพฤติปฏิบัติ ศึกษา ขวนขวาย เพื่อประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานหรือยัง

    การที่จะบรรลุถึงนิพพาน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่ปรารถนาอยากจะถึง ก็ไปนั่งจดจ้องที่จะให้ถึงนิพพาน แต่ต้องเข้าใจว่า แม้แต่นิพพานซึ่งเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น ได้เริ่มเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยแก่มหากุศลญาณสัมปยุตต์แล้วหรือยัง เพราะว่าหลายท่านก็อาจจะได้ฟังและเห็นด้วยว่า นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ซึ่งขณะที่คิดอย่างนั้นอย่าลืมอธิปติปัจจัยว่า เป็นอธิปติปัจจัยประเภทไหน เป็นฉันทาธิปติ หรือว่าเป็นวิริยาธิปติ หรือว่าเป็นจิตตาธิปติ หรือว่าเป็นวิมังสาธิปติ เพราะถ้าไม่มีเหตุผลมากกว่านั้น เพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่า นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส ขณะที่มีความเห็นถูกอย่างนั้น ขณะนั้นเป็นจิตตาธิปติได้ โดยที่ยังไม่ใช่วิมังสาธิปติ เพราะว่ายังไม่ได้พิจารณาไตร่ตรอง สอบทาน จนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่า การที่จะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้จริงๆ นั้น จะต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญาอย่างไร

    เพราะฉะนั้น แม้อารมณ์ที่เป็นกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลก็ได้ เพียงขาดความรอบคอบเพียงเล็กน้อย โลภะเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นอารัมมณาธิปติของอกุศลเสียแล้ว

    เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจละเอียดจริงๆ จึงจะประจักษ์แจ้งได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    อย่าลืม การที่จะให้นิพพานเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย จะต้องเริ่มตั้งแต่ ให้เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยของมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เข้าใจถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ และอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงอนันตรูปนิสสยปัจจัย และ ปกตูปนิสสยปัจจัย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๑๐๑ – ๑๑๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564