แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111


    ครั้งที่ ๑๑๑๑


    สาระสำคัญ

    อารัมมณาธิปติปัจจัยมีทั้งที่เป็นอกุศลและกุศล

    ขณะนี้กำลังสะสมอารัมมณูปนิสสยปัจจัยฝ่ายกุศล

    รู้เมื่อไรก็จริงเมื่อนั้น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๔


    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ให้อบรมสภาพของนิพพานให้เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย แต่เมื่อสภาพของนิพพานเรายังไม่ประจักษ์ สิ่งที่เรายังไม่ประจักษ์เราจะอบรมได้อย่างไร

    สุ. มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดขึ้น พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก และรูป รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของนิพพาน

    เพราะฉะนั้น จะขาดการศึกษาไม่ได้ จะขาดการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะกุศลแม้ที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี แต่อย่าพึงพอใจเพียงกุศลญาณวิปปยุตต์ เพราะถ้าไม่ได้อบรมเจริญมหากุศลญาณสัมปยุตต์เพิ่มขึ้น ไม่มีวันที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ แม้ว่านิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ในขณะที่ท่านผู้ฟังมีฉันทะบ้าง หรือว่ามีวิริยะบ้างที่สนใจศึกษา พระธรรม นี่เป็นการเริ่มแล้วสำหรับอารัมมณูปนิสสยปัจจัยที่ถูก เพราะว่าต้องศึกษาให้เกิดความรู้ก่อน

    ถ้าไม่มีมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่จะรู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม และการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่มีทางที่นิพพานจะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยได้ เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ลักษณะของนิพพาน ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่รู้ลักษณะของปัญญา ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม ไม่รู้ลักษณะของรูปธรรม ไม่รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ก็ต้องเป็นตัวตน

    แต่ขณะใดก็ตาม ถ้าโทสะเกิดขึ้น สติระลึกจะรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่จะต้องเป็นไปตามลักษณะของโทสะ เพราะว่าโทสเจตสิกเกิดแล้ว ที่จะให้จิตเป็นอื่น นอกจากโทสมูลจิตเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้รูปซึ่งเกิดเพราะโทสมูลจิตเปลี่ยนสภาพเป็นรูปอื่นก็ไม่ได้ ลักษณะของรูปต้องหยาบกระด้าง หรือว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่มีใครพอใจลักษณะกิริยาอาการซึ่งเกิดจากโทสมูลจิต

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ ไปทำอย่างอื่นจะเห็นเหตุปัจจัยไหม หรือแม้แต่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

    อกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไรก็ไม่รู้ กุศลเกิดขึ้นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่มีตัวตนที่พยายามไปเปลี่ยนแปลง หรือจะไปดับอกุศลโดยไม่รู้ปัจจัยทั้งหลาย ก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้

    ถ. หมายความว่า ถ้าเราศึกษาสภาพของนิพพาน รู้ว่านิพพานเป็นสภาพที่ดับกิเลส ดับตัณหา ดับสังขารทั้งหลาย เมื่อศึกษาอย่างนี้ รู้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ารู้นิพพานแล้ว ใช่ไหม

    สุ. ขณะนั้นกุศลจิตเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะว่าทำให้ใฝ่ใจแสวงหา อบรมเจริญกุศล

    การที่กุศลจิตจะเกิด ลองพิจารณาว่ายากไหม มีการสั่งสอนเรื่องศีลธรรมมากมายประการต่างๆ แต่ว่าในวันหนึ่งๆ โลภมูลจิตก็ยังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยและเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น กว่ากุศลประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิด ลักษณะของกุศลซึ่งโดยสภาพของกุศลแล้วเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ใครจะเห็นคุณค่า หรือใครจะเห็นประโยชน์ หรือใครจะเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งควรจะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือ เป็น สภาพธรรมที่ควรเจริญหรืออบรม แม้กุศลญาณวิปปยุตต์ และยิ่งเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย จนกว่าจะถึงโลกุตตรกุศล ซึ่งนิพพานขณะนั้นจะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลกุตตรกุศล

    ต้องค่อยๆ พากเพียรไป และเห็นประโยชน์ของอารัมมณาธิปติปัจจัยที่เป็นฝ่ายกุศล โดยรู้ว่าอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้นมีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ควรสะสมอบรมอารัมมณาธิปติปัจจัยโดยเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยทางฝ่ายกุศล เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จะไปฝืนบังคับอย่างไรก็ไม่ได้ที่จะให้หมดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ นอกจากปัญญาจะอบรมเจริญขึ้น

    ท่านผู้ฟังเคยคิดถึงกุศลที่เคยทำมาแล้วบ้างไหม ระลึกถึงแล้วเป็นอย่างไรบ้าง นี่เป็นข้อสำคัญต่อไป ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่เคย เพราะว่าทุกคนก็เคยคิดถึงกุศลบ้าง อกุศลบ้างที่ผ่านมาแล้ว อย่าลืม สติปัฏฐานระลึกรู้สภาพจิตซึ่งกำลังมีกุศลที่ได้เคยกระทำมาแล้วเป็นอารมณ์ หรืออกุศลที่เคยกระทำมาแล้วเป็นอารมณ์ ประโยชน์อยู่ที่ขณะนั้น เพราะถ้าระลึกถึงกุศลที่ได้เคยกระทำมาแล้ว จิตผ่องใสเบิกบาน ขณะนั้นเป็นกุศลอีก และอาจจะคิดถึงกุศลที่จะกระทำต่อไปอีก เพราะว่าได้เคยกระทำกุศลอย่างนั้นแล้วก็ใคร่ที่จะกระทำกุศลอย่างนั้นอีก เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการที่คิดถึงกุศลที่เคยทำแล้ว คือ สามารถทำให้กุศลเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้น แต่ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ระลึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้วเกิดมานะ ความสำคัญตน หรือว่าเกิดโลภะ หรือว่าเกิดความปรารถนาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นโดยไม่รู้ เช่น มีท่านผู้หนึ่ง ท่านเคยดื่มสุรา และท่านก็ศึกษาธรรมและเห็นประโยชน์ว่า ควรที่จะรักษาศีลให้ครบถ้วน ไม่ควรจะขาดข้อหนึ่งข้อใดในศีล ๕ ท่านก็รักษาศีล ๕ และท่านก็ถามว่า ทำไมรักษาศีล ๕ แล้ว ไม่ปีติเลย

    ต้องการอะไร มาแล้ว ต้องการปีติ เพื่อปีติ เพื่ออย่างหนึ่งอย่างใด

    แต่ถ้าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นการสะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยโดยการรู้เหตุ จะเกิดปีติได้ว่า กำลังสะสมสภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติที่เป็นฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะไม่ให้โลภะเกิด ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และต้องรู้ด้วยว่า เหตุอะไรจะทำให้โลภะไม่เกิด หรือว่ากุศลจะเกิดได้ คือ แทนที่จะคอยว่า น่าจะปีติเพราะได้รักษาศีล ๕ แล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นอาการของความหวังอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอกุศล แต่ถ้าไม่หวังปีติ เพียงรู้ว่าขณะนี้กำลังสะสมอารัมมณูปนิสสยปัจจัยฝ่ายกุศล ซึ่งวันหนึ่งจะต้องมีกำลังขึ้น ขณะนั้นปราศจากความหวัง หรือความเป็นตัวตน ก็ย่อมจะเกิดปีติได้

    นี่เป็นเรื่องที่แต่ละคนควรจะพิจารณาสภาพธรรม ซึ่งต้องเป็นสติสัมปชัญญะจึงจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วกุศลและอกุศลซึ่งเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว จะทำให้ไม่สามารถรู้ชัด แจ่มแจ้งได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยต่างๆ เช่น อารัมมณาธิปติปัจจัย หรือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ถ้าได้เข้าใจโดยละเอียด จะเกื้อกูลทำให้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ได้เข้าใจโดยขั้นของการฟังและการพิจารณา และจะเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยจนกระทั่งถึงขั้นที่เป็นอารมณ์ที่กำลังปรากฏของกุศลจิตได้ เพราะว่าต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จึงจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ในขณะที่ฟัง ขั้นการศึกษา เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นฟัง แต่จะสะสมอบรมไปจนถึงขณะที่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นอารมณ์ให้สติสัมปชัญญะเกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา

    วันหนึ่งๆ ปัจจัยทั้งนั้น ถ้าสติระลึกก็รู้ แต่ถ้าสติไม่ระลึก ไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งต่างเป็นปัจจัยโดยปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นเอง แม้ในขณะนี้เอง เหตุปัจจัยมี อารัมมณปัจจัยมี อนันตรปัจจัยมี สมนันตรปัจจัยมี สหชาตปัจจัยมี อัญญมัญญปัจจัยมี นิสสยปัจจัยมี อุปนิสสยปัจจัยก็มี รู้เมื่อไรก็จริงเมื่อนั้น มีจริงๆ เป็นจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    . อารัมมณาธิปติมีกี่ชนิด

    สุ. อารัมมณาธิปติปัจจัย รูปที่ดีเป็นอธิปติ เป็นใหญ่ในฐานะที่เป็นอารมณ์ที่ดี มีสภาพน่าใฝ่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ เพราะทุกคนชอบรูปที่ดีเท่านั้น รูปที่ไม่ดี ไม่ชอบ จิตทุกดวง เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และ ทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง สรุปคือ ในอกุศลจิต ๑๒ เฉพาะโลภมูลจิต ๘ เท่านั้นที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย สำหรับวิบากจิต คือ ทุกขกายวิญญาณเท่านั้นที่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เพราะว่าไม่มีใครชอบ สำหรับเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็เว้นตามประเภท เช่น เว้นโทสเจตสิก อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้เท่านั้น จึงต้องเว้น และเว้นวิจิกิจฉาเจตสิกซึ่งเกิดได้เฉพาะกับโมหมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    . เมื่ออารมณ์นั้นผ่านไปแล้ว เรานึกขึ้นมา แต่สิ่งนั้นดับไปแล้ว แต่ระลึกขึ้นมาได้ อย่างนี้อยู่ในขันธ์อะไร

    สุ. คำว่า ขันธ์ หมายถึงอะไร ที่จัดว่าเป็นขันธ์ เพราะอะไร เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน

    ธรรมที่จำแนกออกได้โดยลักษณะ ๑๑ ประการ จัดว่าเป็นขันธ์ คือ เป็น สภาพธรรมที่เกิดดับ จึงเป็นอดีต ๑ อนาคต ๑ ปัจจุบัน ๑ ภายใน ๑ ภายนอก ๑ หยาบ ๑ ละเอียด ๑ เลว ๑ ประณีต ๑ ใกล้ ๑ ไกล ๑ รวมเป็น ๑๑ ตามที่ได้เคยกล่าวแล้วในการจำแนกรูป

    . สงสัยว่า ดับไปแล้ว ระลึกถึงใหม่ เป็นสัญญาขันธ์ปรากฏใช่ไหม

    สุ. ลักษณะที่จำเป็นสัญญาขันธ์ แต่รูปไม่ใช่สัญญา

    . เราระลึกถึงอารมณ์ที่ผ่านมา จะเป็น ...

    สุ. รูปดับไหม ถ้ารูปดับ รูปก็เป็นอดีต รูปที่กำลังปรากฏยังไม่ดับเป็นปัจจุบัน รูปที่จะเกิดต่อเป็นอนาคต จึงเป็นขันธ์ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่รูปปัจจุบัน รูปอดีตไม่มี รูปอดีตมีและดับไปแล้วจึงเป็นอดีต ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี เกิดแล้ว ดับแล้ว มีแล้ว เป็นอดีตแล้ว จะปฏิเสธได้ไหมว่า ไม่มี

    มีจริงๆ เมื่อสักครู่นี้ และก็ดับแล้ว จึงเป็นอดีต จึงเป็นขันธ์ สิ่งใดก็ตามซึ่ง เกิดดับ เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นขันธ์ ถ้ารูปเมื่อสักครู่นี้ไม่มีเลย ก็จะกล่าวได้ว่า รูปอดีตไม่มี แต่ในขณะนี้เองซึ่งเป็นปัจจุบันดับแล้ว เป็นอดีต ถ้าปัจจุบันมีได้ ปัจจุบันนั่นเองที่ดับ หมดสิ้นไปแล้วเป็นอดีต เพราะดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะยาก จะนานไหม อย่าเพิ่งไปประจักษ์การเกิดดับอะไรทั้งนั้น ต้องรู้ลักษณะแท้จริงซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางจนชิน ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม

    . แต่อารมณ์ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยที่ดับไป เมื่อเราระลึกถึง จะกระตุ้นให้เราประพฤติตามได้

    สุ. แน่นอน จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย มิฉะนั้นก็บอกไม่ได้ว่า อารมณ์อะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ทุกท่านได้เคยกระทำกุศลมาแล้วมากมายหลายประเภท มีกุศลครั้งไหนบ้างซึ่งเมื่อนึกถึงแล้วจิตใจผ่องใสปลาบปลื้มเป็นพิเศษ ที่จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย หรือว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดกุศลปลาบปลื้มผ่องใสเป็นพิเศษ เกิดพอใจติดยึดมั่นสำคัญตนก็ได้ กุศลนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    ตลอดชีวิตที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมายหลายอย่าง แต่จิตจะหวนคิดถึงอารมณ์อะไร แสดงให้เห็นว่า อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นอารมณ์ที่ดี

    . ถ้าไม่ดี

    สุ. ไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย เพราะว่าไม่ต้องการ แต่ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย โดยสภาพที่อารมณ์นั้นเป็นใหญ่ เป็นอธิบดี เพราะเป็นอารมณ์ที่น่าใฝ่ใจเป็นพิเศษ

    . อย่างผมเคยเจริญสติ เคยรู้นามและรูปที่กำลังปรากฏ ครั้งใดที่ฟังธรรมและระลึกถึงช่วงที่เราเคยรู้ลักษณะนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้มีกำลังมากพอสมควร ทำให้สติเกิดขึ้นระลึกถึงนามรูปในปัจจุบันในขณะนั้น และมักจะย้อนทำให้นึกถึงอดีตที่ได้เคยรู้มาตามไปด้วย รู้สึกว่าเป็นอารมณ์ที่แรงพอสมควร

    สุ. ดีใจไหม ดีใจเสียแล้ว เรื่องของโลภมูลจิตเป็นเรื่องที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงจึงจะละได้ ลักษณะของปัญญา คือ ละ อย่าลืม ถ้าลักษณะใดเป็นลักษณะที่ติด นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ถ้าตราบใดยังติด ยังมีกำลังที่จะทำให้เกิดความพอใจขึ้น ให้ทราบว่า ขณะนั้นปัญญายังไม่พอ เพราะยังไม่สามารถกระทำกิจละได้

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องละตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด แต่ส่วนใหญ่ บางท่านจะขาดการสังเกต จะมีการติด หรือมีความพอใจ เวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือมีการตรึก นึกคิด พิจารณาถึงลักษณะของ สภาพธรรมบ้าง แต่อย่าลืมว่า ปัญญาจริงๆ ต้องละ ไม่มีแม้แต่การจะติดเพียงเล็กน้อยในปัญญา หรือในสติ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๑๑ – ๑๑๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564